xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ถึงเวลารื้อใหญ่ “มหากาก” เกลื่อนเมือง สกัดต้นตอไฟไหม้ ก่อมลพิษท่วมท้น ไม่ทำไม่ได้แล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - อุณหภูมิที่ร้อนระอุเป็นประวัติการณ์ กลายเป็น “ผู้ต้องหา” ในเหตุการณ์อุบัติภัยจากโรงงานขยะและกากอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นนับสิบกว่าแห่งจากต้นปีถึงบัดนี้ ทว่าแท้จริงแล้วเบื้องลึกเบื้องหลังเพลิงเผาผลาญเป็นการสะท้อนภาพความเหลวแหลก ปล่อยปละละเลยของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง และความเห็นแก่ได้ของ “นักค้ากาก” เป็นมหากาพย์ความทุกข์ระทมของประชาชนที่ต้องแบกรับปัญหามลพิษที่เกิดขึ้น 

 พิสิทธิ์ ศรีพุ่มไข่  มูลนิธิบูรณะนิเวศ รวบรวมข้อมูล ในช่วงเวลา 4 เดือนกับ 13 เหตุการณ์อุบัติภัยจากโรงงานและกองขยะ/กากอุตสาหกรรม ทำให้คนไทยต้องเผชิญกับเหตุการณ์อุบัติภัยจากสารเคมีและผลกระทบทางมลพิษ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดส่งผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพของประชาชน รวมถึงก่อความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อม
กลายเป็นที่มาของคำถามสำคัญคือ ขยะที่ซุกใต้พรมสะสมจนเกิดเปลวเพลิงปะทุขึ้นเป็นผลจากการประกอบกิจการของภาคอุตสาหกรรม และปัญหาเชิงโครงสร้างของภาครัฐที่ไม่สามารถกำกับบังคับใช้กฎหมายกับภาคเอกชน และไม่ทำหน้าที่ดูแลประชาชนได้มากพอ หรือมีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์แก่คนบางกลุ่ม ใช่หรือไม่?
สำหรับเหตุการณ์อุบัติภัยจากโรงงานและขยะ/กากอุตสาหกรรม 4 เดือนแรกของปี 2567 ไล่เรียงจาก เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 67 ไฟไหม้โรงงานกระดาษ จ.ปทุมธานี ขณะเกิดเหตุโรงงานอยู่ระหว่างถูกสั่งปิดหลังพบว่าก่อมลพิษมีกลิ่นรบกวน
17 ม.ค. 67 โรงงานพลุระเบิด จ.สุพรรณบุรี มีผู้เสียชีวิต 23 คน บ้านเรือนในรัศมี 300 ม.เสียหาย และเมื่อ พ.ย.2565 เคยเกิดเหตุมาแล้ว

26 ม.ค. 67 ไฟไหม้กองขยะรีไซเคิล จ.พิษณุโลก เพลิงลุกไหม้กองขยะสูงเท่าตึก 5 ชั้น คาดว่ามีปริมาณไม่ต่ำกว่า 50 ตัน

17 ก.พ. 67 ไฟไหม้บ่อขยะ จ.ปราจีนบุรี อาจมีการลักลอบนำขยะอุตสาหกรรมมาทิ้งร่วมด้วย
29 ก.พ.67 ไฟไหม้โกดังสารเคมี อ.ภาชี จ.อยุธยา สารเคมีเป็นของกลางที่ ตร.อายัดเพื่อดำเนินคดี ภายหลังพบหลักฐานว่าเป็นการลอบวางเพลิง
5 มี.ค.67 ไฟไหม้โกดังกากอุตสาหกรรม จ.ชลบุรี ชาวบ้านได้รับผลกระทบจากกลิ่นสารเคมีลอยฟุ้งไปทั่วบริเวณ
6 มี.ค. 67 เหตุระเบิดโรงงาน อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี เกิดควันสีส้ม-แสดซึ่งเป็นไอกรดพวยพุ่งและพบการลักลอบทิ้งขยะและสารเคมีลงบ่อน้ำหน้าโรงงานด้วย

4 เม.ย.67 ลักลอบขนกากแคดเมียม เส้นทาง จ.ตาก - จ.สมุทรสาคร - จ.ชลบุรี - กทม. พบค่าแคดเมียมเกินเกณฑ์ในคนงาน 31 คน
17 เม.ย.67 แอมโมเนียรั่วในโรงงานน้ำแข็ง จ.ชลบุรี แอมโมเนียฟุ้งกระจายในรัศมี 1 กม. มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 155 คน

22 เม.ย. 67 ไฟไหม้โรงเก็บสารเคมีที่หนองพะวา จ.ระยอง ของบริษัทวิน โพรเสส ไฟลุกไหม้นานกว่า 5 วัน ปล่อยควันพิษจำนวนมาก เบื้องต้นสาธารณสุขตรวจสุขภาพ 194 คน พบว่า 90% ได้รับผลกระทบ
27 เม.ย.67 สารเคมีรั่วไหลในโรงงาน อ.อุทัย จ.อยุธยา มีกรดรั่วไหลไปทำปฏิกิริยากับเหล็กจนเกิดควันสีส้ม
28 เม.ย.67 ไฟไหม้โรงงานรีไซเคิล อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี มีพยานพบเห็นว่ามีคนจุดไฟเผาขยะใกล้ที่เกิดเหตุ
30 เม.ย. 67 ไฟไหม้โรงงานผลิตและจำหน่ายเยื่อกระดาษ เคมีภัณฑ์ และพลาสติก อ.เมือง จ.สมุทรสาคร สาเหตุคาดอากาศร้อนจัดและการรวมแสงของแก้วกับอะลูมิเนียมที่ปะปนอยู่ในขยะก้อนเมื่อเจอความร้อนจากแสงแดดจึงอาจลุกไหม้ขึ้นได้
เหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้น นอกเหนือไปจากกรณีโรงงานพลุระเบิดที่จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งมีผู้ล้มตายมากถึง 23 รายแล้ว เคสที่สร้างผลกระทบมหาศาลตามมาต้องยกให้กรณีของ  “มลพิษหนองพะวา” และ “กากแคดเมียม”  ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นภาพของผลประโยชน์บน  “กองกาก”  โดยเจ้าหน้าที่รัฐบางคนละเว้นปฏิบัติหน้าที่ และหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบปล่อยปละละเลยไม่บังคับใช้กฎหมายให้เข้มงวดจนกระทั่งเกิดปัญหาตามมาใหญ่หลวง ซึ่งไม่เพียงแต่การฟุ้งกระจายของสารพิษในระหว่างที่เกิดเหตุเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบที่จะตามมาหลังเหตุการณ์อีกด้วย

เอาเฉพาะเรื่องการขนย้ายกลับแหล่งฝังกลบแคดเมียมที่เกิดปัญหาถุงบิ๊กแบ็กแตกในเที่ยวขนแรก แหกหน้าหน่วยงานที่รับผิดชอบอีกครั้ง กระทั่ง  ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะทำงานแก้ไขปัญหาและขนย้ายกากตะกอนแคดเมียมฯ สั่งให้หยุดกระบวนการทดสอบนำกากตะกอนแคดเมียมกลับยังพื้นที่จังหวัดตากเอาไว้ก่อน เนื่องจากพบว่าขั้นตอนการขนย้ายถุงกากตะกอนแคดเมียมจากรถบรรทุกไปยังรถขนส่งภายในเพื่อไปเก็บไว้ที่โกดังพักคอยไม่มีปลอดภัยเพียงพอ โดยจากการทดลองยกถุงกากตะกอนแรกเกิดปัญหาคือโซ่ที่ใช้เกี่ยวไว้กับรถแบคโฮสำหรับยกถุงกากตะกอนเกิดความไม่สมดุลระหว่างการยกทำให้โซ่ขาด พร้อมปรับแผนหาวิธีที่ดีสุดโดยเร็ว

 .นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์ไฟไหม้โรงงานวิน โพรเสส

 พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม
 แผนขนกากแคดเมียม ไม่หมูอย่างที่คิด 

ตามแผนการขนกากแคดเมียมกลับไปฝังกลบอย่างถาวรที่จังหวัดตาก กระทรวงอุตสาหกรรมจะเริ่มดำเนินการขนกากตั้งแต่วันที่ 29 เม.ย. – 17 มิ.ย. 67 จำนวนทั้งหมด 1.3 หมื่นกว่าตัน นั้น

 สนธิ คชวัฒน์  นักวิชาการสิ่งแวดล้อม และอาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ให้ความเห็นในการขนกากพิษอันตรายจำนวนมากว่า ควรต้องจัดทำแผนประเมินความเสี่ยงของการที่จะเกิดการหกรั่วไหลในทุกรูปแบบ ตั้งแต่การสวมถุงบิ๊กแบ็กสองชั้น การขนย้ายขึ้นรถเทรเลอร์, การนำกากไปกองเก็บที่โรงงานแต่งแร่, การปรับเสถียรกาก, การทำให้แข็งและการทดสอบการซึมน้ำ, การเตรียมหลุมการขนย้ายลงหลุม เป็นต้น และต้องจัดเตรียมแผนฉุกเฉินและแผนเผชิญเหตุกรณีเกิดการรั่วไหล เช่น รถขนย้ายเกิดอุบัติเหตุสารแคดเมียมหกรั่วไหล, ฝนตกขณะทำการขนย้าย, ฝนตกลงไปในหลุมที่เตรียมไว้ เป็นต้น รวมทั้งต้องมีแผนการสื่อสารกับประชาชนในทุกขั้นตอนการขนย้าย

ทั้งยังตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการเร็วเกินไปที่รีบร้อนขนกากแคดเมียมกลับไปจังหวัดตาก และเร่งรัดให้  บริษัทบาวด์ แอนด์ บียอน จำกัด  เตรียมรับกากแร่ไปเก็บในโรงแต่งแร่ การเตรียมหลุม Secured Landfill ทั้ง ๆ ที่ โรงงานนี้ได้ถอนเครื่องจักรและอุปกรณ์ออกไปและเป็นโรงงานร้างตั้งแต่ปี 2560 แล้ว เพราะไม่มีแร่สังกะสีให้ถลุง ดังนั้นการเร่งรัดโดยไม่มีความพร้อมและดำเนินการไม่รอบคอบอาจทำให้กากแคดเมียมปนเปื้อนได้ ควรต้องมีผู้เชี่ยวชาญบุคคลที่ 3 ร่วมตรวจสอบหรือ Audit ด้วยหรือไม่

หากบริษัทต้นทางที่จ.ตาก ขอยกเลิกใบรง.4 เนื่องจากไม่มีแร่สังกะสีให้ถลุงอีกต่อไป ใครจะดูแลหลุมฝังกลบดังกล่าวต่อ ใครจะตรวจสอบคุณภาพน้ำใต้ดินและน้ำผิวดินและจะมั่นใจได้อย่างไรว่าแผ่นพลาสติก HDPE ในอนาคตที่ก้นหลุมจะไม่มีการฉีกขาดรั่ว หลุมไม่แตก ซีเมนต์ไม่ร้าว ดินไม่ทรุด กากไม่ปนเปื้นน้ำใต้ดิน หากเป็นโรงรับกำจัดกากลำดับที่ 101 ตามสัญญาจะต้องมีเงินประกันความเสี่ยงใส่ไว้ในกองทุนและมีสัญญาที่ต้องดูแลหลุมฝังกลบต่อไปอีกไม่ต่ำกว่า 30 ปี

ส่วนการขนกากดังกล่าวเป็นระยะทางไกลมากกว่า 300 กม. จะให้ตำรวจจราจรนำทางให้ตลอดไปจริงหรือไม่ มีการติดตามด้วยระบบจีพีเอส แต่จะทำได้ตลอดเวลาหรือไม่ รวมทั้งหน่วยงานราชการจะไปร่วมการตรวจสอบได้ตลอดเวลาจริงหรือ?

ในทางคดี ตำรวจ บก.ปทส. ยืนยันบริษัทเบาวด์ แอนด์ บียอนด์ จะต้องถูกดำเนินคดีความผิดฐานขนย้ายกากแคดเมียมโดยไม่ได้รับอนุญาต ร่วมกับผู้ครอบครองที่สมุทรสาคร กรุงเทพ และชลบุรี ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ขณะที่  กฤช ศิลปะชัย   ส.ส. พรรคก้าวไกล เรียกร้องให้ดำเนินคดีกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และเห็นว่ากระทรวงการคลัง ที่ถือหุ้นในบริษัท เบาวด์ แอนด์ บียอนด์ 10% ต้องร่วมแสดงความรับผิดชอบในเรื่องนี้ด้วย

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ยังคงยืนยันว่า ในกรณีกากแคดเมียมรัฐบาลต้องบังคับใช้กฎหมายจริงจังและไม่ปล่อยคนทำผิดลอยนวล เพราะความจริงที่คู่ขนานในเรื่องของเอกชนคู่สัญญาที่ทำการ “ค้ากากสารพิษ”บ่งบอกถึงความไม่ชอบมาพากล มีการหลบเลี่ยงและละเมิดกฎหมายมากมายของแต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้อง มีการกระทำความผิดอย่างซับซ้อน จึงจำเป็นต้องมีการตรวจสอบที่จริงจัง

 มหากาก “หนองพะวา” ปัญหาหนักหน่วง 


ส่วนกรณีของโรงงานกักเก็บกากสารพิษของ  บริษัท วิน โพรเสส จำกัด บ้านหนองพะวา ต. บางบุตร อ. บ้านค่าย จ. ระยอง งมีไฟลุกไหม้ยาวนานหลายวัน แม้เพลิงสงบลงแล้วแต่ยังมีควันคุกรุ่นอยู่ภายในกองซากที่ผ่านเหตุการณ์ไฟไหม้แล้ว ขณะที่พื้นใต้ดินยังสัมผัสได้ถึงความร้อนระอุมีไฟคุอยู่ภายในเช่นกัน

มูลนิธิบูรณะนิเวศ ที่เกาะติดเคส “มลพิษหนองพะวา”  มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ตั้งข้อกังขาว่า เราไม่รู้แน่ชัดว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น แต่บอกได้ (อีกครั้ง) ว่า โรงงานแห่งนี้มีการลอบขุดหลุมแล้วอัดฝังกากของเสียลงไปใต้ดินมานับสิบปีเฉพาะที่มีข้อมูลจากการเข้าตรวจสอบของหน่วยงานรัฐ รับรู้ว่ามีไม่น้อยกว่า 4 บ่อ ขนาดกว้างยาว 10x15 เมตร ลึก 5 เมตร และสารเคมีที่มีการขนย้ายเข้ามานั้นมีสารพัดชนิด ทั้งขยะกระดาษ พลาสติก กรดด่างใช้แล้ว น้ำมันเครื่องใช้แล้ว ตระกันโลหะ สารตัวทำละลายใช้แล้ว ฯลฯ อีกทั้งจนบัดนี้ยังไม่รู้สาเหตุที่เกิดไฟไหม้ครั้งแรก มีใครปฏิบัติการเพื่อวัตถุประสงค์ใดเป็นการเฉพาะหรือไม่?

นอกเหนือจากสภาพ  “กากเกลื่อน”  ภายในบริเวณโรงงานซึ่งตกค้างเป็นกองซากหลังไฟไหม้แล้ว ยังมีมลพิษที่น่าหวาดหวั่นอีกอย่างคือน้ำสารเคมีสารพัดสีที่ปนเปื้อนอยู่ทั่วโรงงาน เป็นสถานการณ์แห่งพิษภัยที่ประชาชนบริเวณรอบนอกโรงงานต้องเผชิญ และไม่เพียงชาวหนองพะวาเท่านั้น เพราะพายุฝนฟ้าคะนองที่กำลังมาตามฤดูกาลจะชะล้างสารพิษไหลไปสู่สภาพแวดล้อมและชุมชนเป็นวงกว้าง

 “มหากากหนองพะวา” เป็นแหล่งซุกกากสารพิษที่มีปัญหาสะสมมายาวนาน นับเนื่องตั้งแต่ปี 2554 ที่บริษัท วิน โพรเสส ยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานคัดแยกสิ่งปฏิกูลและวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่ไม่เป็นอันตรายจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ท่ามกลางเสียงคัดค้านของชาวหนองพะวา และแม้ว่าทางการจะยังไม่ออกใบอนุญาตประกอบกิจการ แต่ในปี 2556 โรงงานก็ลักลอบรับกากของเสียเข้ามายังโรงงานเรื่อยมา และเมื่อทางการเข้าตรวจสอบพบว่าบริษัทมีการลักลอบฝังกากถึง 3 บ่อ มีทั้งก้อนกระดาษอัด เศษพลาสติก เศษเหล็ก ผงเหล็ก ทินเนอร์เก่า เศษสี น้ำมันเครื่องใช้แล้ว และตัวทำละลาย (Solvent) โดยรับมาจากบริษัทผู้ก่อกำเนิดขยะและกากอุตสาหกรรมถึง 150 บริษัท 


ช่วงปี 2557-2559 วิน โพเสส เย้ยฟ้าท้ากฎหมายขนของเสียเข้ามายังหนองพะวาอย่างต่อเนื่อง แล้วจู่ ๆ ปี 2560 กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานแก่ วิน โพรเสส ถึง 3 ใบ ทำให้กลายเป็นโรงงานที่ประกอบกิจการได้ทั้ง (1) ประเภท 40(1) และ 64(11) ประกอบกิจการอัดเศษกระดาษ เศษโลหะ เศษพลาสติก คัดแยกของใช้แล้วทั่วไป (2) ประเภท 60 ประกอบกิจการหล่อและหลอมโลหะ (3) ประเภท 106 ประกอบกิจการรีไซเคิล คืนสภาพกรดด่าง ทำเชื้อเพลิงผสม ล้างภาชนะบรรจุภัณฑ์ด้วยตัวทำละลาย และในปีเดียวกัน กรอ. ยังให้ใบอนุญาตถือครองวัตถุอันตรายจำพวกน้ำมันใช้แล้วแก่วิน โพรเสสฯ อีก 4 ใบ


 ที่น่าสนใจคือ ไม่ปรากฏหลักฐานว่า บริษัทฯ ได้แจ้งประกอบกิจการตามใบอนุญาตเหล่านี้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ต้องเข้าตรวจสอบเครื่องจักรและความพร้อมก่อนแต่อย่างใด ทว่า โรงงาน วิน โพรเสส กลับเดินหน้าทำธุรกิจอย่างต่อเนื่องท่ามกลางเสียงคัดค้านของชุมชน 
เหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานวิน โพรเสส ครั้งนี้คงจะช่วยแก้โจทย์ยากที่หลายฝ่ายกำลังเผชิญและปวดหัวมาข้ามปีแล้ว นับตั้งแต่วิน โพรเสส ต้องเลิกประกอบกิจการไป หลังจากศาลระยองได้มีคำพิพากษาตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2564 ว่า โรงงานมีความผิดทางอาญาฐานครอบครองวัตถุอันตรายโดยไม่ได้รับอนุญาต และช่วงปลายปี 2565 ศาลระยองมีคำพิพากษาคดีแพ่งที่ประชาชนในพื้นที่ได้ยื่นฟ้องโรงงาน โดยให้จำเลย คือ บริษัทวิน โพรเสส กรรมการ และอดีตกรรมการ ชดเชยค่าเสียหายที่เกิดแก่ประชาชนในพื้นที่และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม

ถึงจะมีคำสั่งศาลข้างต้น แต่สิ่งเดียวที่จำเลยทั้งสามทำก็คือการทิ้งพื้นที่ซึ่งพ่วงด้วยซากโรงงานที่เต็มไปด้วยกองกากสารเคมีอันตรายสารพัดชนิด ครบทั้งของเหลว ของหนืด ของแข็ง เถ้า ฯลฯ เอาไว้ให้ดูต่างหน้า

ในขณะที่ตัวที่ดินและซากโรงงานตกเป็นทรัพย์สินของธนาคาร ส่วนกองกากสารเคมีอันตรายทั้งหมดกลายเป็นมรดกแก่คนพื้นที่ เพิ่มเติมจากที่เคยมอบมลพิษแผ่กระจายไปยังที่ดินของชาวบ้านจนสวนยางขนาด 30 ไร่ของบางคนล้มตายไป เหลือไว้แต่ผืนดินกับแหล่งน้ำสีส้มที่มีความเป็นกรดสูงจนแทบจะปลูกอะไรไม่ได้ ส่วนธนาคารก็ปวดหัวเช่นกัน เพราะที่ดินย่อมจะแทบไม่มีราคาและใช้การไม่ได้ ตราบเท่าที่ยังมีกองกากเหล่านั้นกองค้างอยู่ ส่วนสิ่งปลูกสร้างก็มีมูลค่าไม่มาก เพราะนับวันมีแต่ผุพัง

นอกจากนั้น กองกากยังกลายเป็นภาระให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องต้องหาหนทางจัดการ ซึ่งเวลาผ่านมาหลายปีแทบไม่มีความคืบหน้าใด จนเมื่อราวปีเศษที่ผ่านมา กรมโรงงานอุตสาหกรรม ต้องดึงงบประมาณจากภาษีมาจ้างบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งเข้าบำบัดกากอันตรายบางส่วน ซึ่งมีความคืบหน้าน้อยมาก เหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งนี้ คงทำให้หลายฝ่ายมีภาระน้อยลงยกเว้นแต่คนพื้นที่กับสาธารณชนที่จำต้องเล่นบทผู้แบกรับภาระและความเจ็บปวดเช่นเคย

สนธิ คชวัฒน์ ตั้งคำถามที่ภาครัฐต้องเร่งให้คำตอบกรณีโกดังเก็บสารเคมีและกากอุตสาหกรรมของบริษัทวิน โพรเสส อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ที่ถูกอายัดไว้เพื่อดำเนินคดีเกิดไฟไหม้อย่างรุนแรงก่อให้ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนจำนวนมาก โดยคำถามที่ตามหลังจากเพลิงสงบลง ได้แก่ หน่วยงานใดจะเป็นผู้รับผิดชอบนำซากสารเคมีและกากอุตสาหกรรมที่ถูกไฟไหม้รวมทั้งขี้เถ้าจำนวนมากเหล่านี้ไปกำจัดและใครจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย หากดำเนินการขนย้ายชักช้าและเกิดฝนตกลงมาหรือมีลมกรรโชกแรงจะทำให้เกิดการชะ ล้างและพัดพาสารเคมีในโรงงานดังกล่าวลงไปในพื้นที่เกษตรกรรมของประชาชน รวมทั้งยังกลายเป็นฝุ่นละอองที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนด้วย

นอกจากนั้น จะใช้เวลานานแค่ไหนในการพิสูจน์ว่าเกิดไฟไหม้เองเนื่องจากความร้อนหรือเกิดจากการวางเพลิงโกดังเก็บสารเคมีและกากอุตสาหกรรม และใครจะเป็นผู้จ่ายค่าเยียวยาค่ารักษาพยาบาลให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบทั้งในระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงคำถามที่ว่าใครจะเป็นผู้จ่ายค่าชดเชยและฟื้นฟูที่ทำกินของประชาชนรวมทั้งฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยรอบ และใครจะเป็นผู้จ่ายค่าอุปกรณ์การดับเพลิง รวมทั้งค่าน้ำและค่าสารเคมีที่ใช้ในการดับเพลิงของราชการและเอกชน รวมทั้งควรจะต้องมีการปรับปรุงและปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการกากอุตสาหกรรมอันตรายหรือไม่? อย่างไร?

 “เศรษฐา” ขันนอต สั่งรื้อใหญ่ 

เหตุการณ์ไฟไหม้ “มหากากหนองพะวา” ทำให้นายกรัฐมนตรี อารมณ์บ่จอยในการรับไม้รับมือกับปัญหาของหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบ โดย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ซึ่งลงพื้นที่ไฟไหม้โรงงานวิน โพรเสส เมื่อวันที่ 27 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้ตำหนิ นายจุลพงษ์ ทวีศรี  อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ว่าลงพื้นที่เกิดเหตุล่าช้า กว่าจะไปก็ช่วงเช้าวันที่ 26 เม.ย. ก่อนหน้านายกฯ หนึ่งวัน ขณะที่เหตุการณ์เพลิงไหม้เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 22 เม.ย. เนื่องจากในวันดังกล่าว นายจุลพงษ์ ติดประชุมเตรียมข้อมูลก่อนเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น เพื่อขอให้กระทรวงสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศญี่ปุ่น (MOEJ) ช่วยไทยแก้ปัญหาการจัดการกากอุตสาหกรรมของประเทศไทย ระหว่างวันที่ 23-25 เม.ย. 67

 “....เกิดเหตุเพลิงไหม้เมื่อไหร่ ทำไมจึงใช้ระยะเวลานานกว่าจะลงพื้นที่ เป็นอธิบดีกรมโรงงาน น่าจะมาให้ไวกว่านี้ เพราะนี่เป็นเรื่องซีเรียส…” นายกรัฐมนตรี ถามหาอธิบดี กรอ. ในวันดังกล่าว 

มีกระแสข่าวว่า พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล   รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ย้ายนายจุลพงษ์พ้นตำแหน่ง เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขี้น โดยเบื้องต้นอาจย้ายไปนั่งรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และสลับนายเอกภัทร วังสุวรรณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม มานั่งอธิบดีกรมโรงงานฯแทน สำหรับนายจุลพงษ์ จะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 ก.ย. 67 นี้

หลังมีกระแสกดดันหนัก นายจุลพงษ์ได้ประกาศลาออกจากราชการเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ที่ผ่านมา กลางวงประชุมคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นประธาน ซึ่งในการประชุมดังกล่าวมีการหารือ 2 วาระ คือ กรณีเหตุเพลิงไหม้สารเคมีของกลางของ บริษัท วินโพรเสส จำกัด จ.ระยอง และกรณีการลักลอบขนย้ายกากแร่ตะกอนแคดเมียมจาก จ.ตาก ไปยัง จ.สมุทรสาคร จนถูกกระจายไปยัง จ.ชลบุรี และเขตบางซื่อ กทม.

สำหรับข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ได้สั่งให้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหา พร้อมสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ โดยกระทรวงมหาดไทย จัดทำแผนเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ให้กรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กำหนดจุดตรวจวัดคุณภาพอากาศตามชุมชนและรายงานผลให้ทราบเพื่อเฝ้าระวังสุขภาพประชาชน

นอกจากนั้น ยังให้เร่งจัดการนำกากอันตรายในพื้นที่ไปกำจัดให้ถูกต้อง และเตรียมความพร้อมในการรับมือ และแก้ไขปัญหาในช่วงฤดูฝนซึ่งอาจทำให้วัตถุอันตรายรั่วไหลออกนอกพื้นที่ โดยให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมกำหนดแนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน รวมทั้งให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด บูรณาการตรวจสอบโรงงานประเภทนี้ทั่วประเทศ และจัดทำแนวทางมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ในพื้นที่อื่น ๆ อีก

 “มหากาก” สร้างปัญหาซ้ำ ๆ ซาก ๆ ไม่จัดการรื้อใหญ่ไม่ได้แล้ว  



กำลังโหลดความคิดเห็น