xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

วัคซีนโควิด-19 อำมหิต...จริงหรือไม่? ทำไมสร้างแรงกระทบสะทือนคนทั้งโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  การออกมายอมรับผลกระทบวัคซีนโควิด-19 “โควิชิลด์ (Covishield)” ของบริษัทยายักษ์ใหญ่ “แอสตร้าเซนเนก้า” เป็นประเด็นใหญ่ที่ทั่วโลกกำลังจับตา ด้วยสนับสนุนข้อกังขาเกี่ยวกับ “วัคซีนโควิด-19” และผลกระทบภาวะ “ลองวัคซีน” ที่อาการไม่ต่างจาก “ลองโควิด” ของ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา และ “อ.ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์” ที่ออกมาเปิดเผยก่อนหน้านี้ พร้อมทั้งเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐ “สธ. - สปสช.” เร่งความหาความจริงและเปิดเผยความจริงต่อสาธารณชน 

ทั้งนี้ “ดิ อินดิเพนเดนท์” สำนักข่าวของอังกฤษ รายงานว่า บริษัทยายักษ์ใหญ่ “แอสตร้าเซนเนก้า” ออกมายอมรับแล้วว่าวัคซีนป้องกันโควิด ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในชื่อโควิชิลด์ (Covishield) สามารถก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่พบได้ยาก รวมถึงลิ่มเลือดและภาวะเกล็ดเลือดต่ำ

โดยการยอมรับครั้งนี้ เกิดขึ้นขณะที่ทาง “แอสตร้าเซนเนก้า” กำลังต่อสู้กับการยื่นฟ้องร้องคดีแบบกลุ่ม ในคำกล่าวหาที่ว่าวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทฯ ซึ่งทำการพัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัย อ้างอิงตามเอกสารของศาล โดย “แอสตร้าเซเนก้า” ได้ยอมรับในเอกสารทางกฎหมายที่ยื่นต่อศาลว่า วัคซีนโควิดของบริษัทสามารถทำให้เกิด  Thrombosis with Thrombocytopenia Syndrome หรือ TTS  ซึ่งทำให้คนเกิดลิ่มเลือดและมีเกล็ดเลือดต่ำ

สำหรับ วัคซีนโควิชิลด์ (Covishield)  ถูกใช้ฉีดไปในกว่า 150 ประเทศทั่วโลก ทั้งในสหราชอาณาจักร อินเดียและไทย ทั้งนี้ งานวิจัยพบว่าวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า อาจทำให้บางคนเกิดลิ่มเลือด ซึ่งอาจถึงแก่ชีวิตได้ ในขณะที่คดีฟ้องร้องแบบกลุ่มในสหราชอาณาจักรอ้างว่าวัคซีนตัวนี้ทำให้ผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บสาหัส และเรียกร้องค่าเสียหายสูงถึง 100 ล้านปอนด์ (ราว 4,600 ล้านบาท) แก่เหยื่อประมาณ 50 ราย

แม้ทาง  “แอสตร้าเซนเนก้า”  พยายามโต้แย้งคำกล่าวอ้างดังกล่าว แต่ยอมรับเป็นครั้งแรกผ่านเอกสารของศาลฉบับหนึ่งว่า วัคซีนสามารถก่อให้เกิด TTS (Thrombosis with Thrombocytopenia Syndrome) หรือภาวะลิ่มเลือดอุดตัน-ภาวะเกล็ดเลือดต่ำได้ในบางกรณี หรือก็คือภาวะที่มีลิ่มเลือดอุดตันและมีเกล็ดเลือดต่ำภายหลังได้รับวัคซีน

อนึ่ง จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก พบว่าวัคซีนต้านโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า มีประสิทธิภาพราว 72% และจนถึงเดือนเมษายน 2564 มีประชาชนกว่า 17 ล้านคนที่ฉีดวัคซีนตัวนี้ในอียูและสหราชอาณาจักร และมีรายงานเกี่ยวกับเคสภาวะลิ่มเลือดอุดตันไม่ถึง 40 ราย

ทั้งนี้ จากกรณีที่บริษัทแอสตราเซเนกา (AstraZenaca) ผู้พัฒนาวัคซีนโควิด-19 ชื่อดังได้ยอมรับในเอกสารที่ยื่นต่อศาลว่า วัคซีนโควิด-19 ของบริษัทมีความเสี่ยงทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ภาวะลิ่มเลือดอุดตันและเกล็ดเลือดต่ำ (TTS) จริงนั้น  ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา  ได้ออกมาโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุความว่าวัคซีนอื่นๆ กำลังมีการฟ้องร้องในต่างประเทศ ซึ่งในไทยก็มีการดำเนินการอยู่ แต่ประเด็นที่ต้องจับตาคือหน่วยงานไทยยังคงยืนยันว่าวัคซีนปลอดภัย การตาย พิการไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน โดยทางการประกาศว่ามีการตาย 5 รายจากวัคซีนโควิดทั้งประเทศเท่านั้น และปฏิเสธผลข้างเคียงระยะยาว

นอกจากนั้น ยังเปิดเผยว่า จวบจนถึงวันที่ 1 เมษายน 2567 ในไทยยังมีการบังคับฉีดวัคซีนที่เป็นปัญหาในองค์กรอีกหลายแห่ง รวมทั้งมีการบริการฉีดโดยคิดค่าใช้จ่าย ดังนั้น ต้องมีค่าเสียหายชดใช้ และต้องมีการเยียวยา

ขณะเดียวกัน ศ.นพ.ธีระวัฒน์ยังยกตัวอย่างถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบด้วยว่า ผู้ป่วยหญิงอายุ 32 ปีเริ่มมีอาการตั้งแต่ฉีดแอสตร้าสองเข็มและต่อด้วยไฟเซอร์อีกหนึ่งเข็มมีการอักเสบปวดตามเนื้อตัว ความดันและชีพจรผิดปกติ นั่งไม่ขยับความดันสูงเกือบถึง 200 และชีพจร 130 ถึง 160 ขยับเขยื้อนเคลื่อนที่เหนื่อยใช้หายใจไม่ออกและบางครั้งความดันและชีพจรตกมีอาการนอนไม่หลับหดหู่การตรวจพบมีการอักเสบรุนแรงในเลือด

ผู้ป่วยชายอีกหนึ่งรายรายอายุ 63 ปี ได้รับวัคซีนแอสตร้าสองเข็มในระยะแรกอาการไม่มากตรวจพบมีภาวะสมองเสื่อมช่อน และในระยะต่อมามีอาการหลงลืมความจำสั้น

ผู้ป่วยอีกรายเด็กชายอายุ 14 ปี ฉีดวัคซีนไฟเซอร์สามเข็มหลังจากเข็มสุดท้าย เก้าเดือน มีหัวใจวายและกล้ามเนื้อแขนขาอักเสบเป็นอัมพาตแต่รู้สติ การตรวจชิ้นกล้ามเนื้อหัวใจและกล้ามเนื้อขา พบการอักเสบ และมีเศษซากของวัคซีนติดอยู่ในกล้ามเนื้อหัวใจโดยไม่พบสาเหตุอื่นจากการติดเชื้อไวรัสและจากภูมิคุ้มกันแปรปรวนต่างๆ

ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าวัคซีนที่ฝากไปกับไวรัสเป็นๆ เช่น astra รวมทั้งวัคซีนปรับแต่ง mRNA ที่อยู่ในอนุภาคนาโนไขมันไม่ได้เพียงแต่ก่อให้เกิดอาการแทรกซ้อนในระยะสั้นหรือระยะกลางภายในสามเดือนเท่านั้น แต่ยังคงเกิดในระยะยาวต่อในรูปแบบของอาการทางสมอง จิตอารมณ์ ชัก นอนไม่หลับ กล้ามเนื้อเจ็บปวด ข้อเส้นเอ็นอักเสบ ความผิดปกติทางเพศ ทางประจำเดือน รวมทั้งอาการอักเสบทางผิวหนัง ทางตา ผมร่วง และทางเดินอาหารลำไส้หงุดหงิดท้องผูกท้องเสียสลับ การตรวจภาวะสมองเสื่อมแม้กระทั่งการอักเสบถ้าตรวจวันนี้ไม่เจอ ไม่ได้หมายความว่าจะปลอดภัยตลอดไปเพราะจะเกิดปะทุขึ้นมาเมื่อใดก็ได้

ตามที่กล่าวข้างต้น วัคซีนโควิชิลด์ (Covishield) ถูกใช้ฉีดไปในกว่า 150 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ในประเด็นที่เกิดขึ้น  นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์  รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่าทางบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ได้มีการแจ้งข้อมูลที่เป็นวารสารทางการแพทย์ออกมาตั้งแต่ในช่วงที่มีการอนุญาตในลักษณะฉุกเฉิน (EUA) แต่ในขณะนี้มีการอนุญาตใช้โดยทั่วไปแล้ว จึงเก็บข้อมูลผลข้างเคียงในลักษณะที่เป็นหลักฐาน รวมถึงมีเรื่องของการฟ้องร้องดังกล่าวด้วย

เมื่อมีคำแนะนำหรือข้อมูลทางวิชาการออกมา กระทรวงสาธารณสุขก็นำคำแนะนำนั้นมาปรับในแนวทางการให้วัคซีน เช่นที่บริษัทแอสตร้าฯ มีข้อมูลการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในกลุ่มผู้ที่มีอายุน้อย สธ.ก็ออกคำแนะนำให้ฉีดในกลุ่มผู้ที่อายุ 30 ปีขึ้นไป

และการใช้ยารวมถึงวัคซีน จึงจำเป็นต้องใช้ภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเฝ้าระวังและติดตามผลหลังจากการรับยานั้นๆ ซึ่งการฉีดวัคซีนก็เป็นหนึ่งในผลข้างเคียงที่จะต้องติดตามและรายงานผล ซึ่งโดยทั่วไปแล้วหลังจากมีการใช้วัคซีนทุกชนิดทั้งโควิด-19 และวัคซีนโรคอื่นๆ อย่างแพร่หลายมากขึ้น 1-2 ปี ก็เริ่มเห็นข้อมูลมากขึ้น ก็จะมีการออกคำแนะนำและเฝ้าระวังมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้รายงาน “ผู้ที่ยื่นคำขอ” ว่าได้รับผลกระทบจากวัคซีนโควิด-19 ถึงสำนักงานหลักประกันสุขภาพระหว่างวันที่ 1 มีนาคม 2564 ถึงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 23,082 คน

ในจำนวนผู้ยื่นคำร้อง 23,082 คนระบุว่ามีผู้ที่ผ่านเกณฑ์จำนวน 19,328 คน แบ่งเป็นประเภทเสียชีวิต/ทุพพลภาพ 5,483 คน พิการหรือสูญเสียอวัยวะ 815 คน บาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่อง 13,031 คน โดยมีการจ่ายเงินไปแล้ว 2,560 ล้านบาท

ซึ่งในความเป็นจริงคนที่ได้รับผลกระทบของวัคซีน “ส่วนใหญ่” ทั้งที่เจ็บป่วยหรือเสียชีวิตไม่เคยได้รู้ตัวว่าที่เจ็บป่วยหรือเสียชีวิตนั้นเป็นผลจากวัคซีน ยังไม่นับว่าความเจ็บป่วยจำนวนมากได้ถูกเปิดเผยว่าเป็นผลกระทบจากวัคซีน

สำหรับเรื่องของผลกระทบจากวัคซีนโควิด-19  ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์  คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต ได้โพสต์ข้อความในเฟสบุ๊กส่วนตัว เรื่อง  “สรุปผลข้างเคียงวัคซีนเทพล่าสุด จากข้อมูล 99 ล้านคน!!!” อ้างอิงผลการสำรวจผลกระทบจากวัคซีนตีพิมพ์ในวารสารวัคซีน (Vaccine) เผยแพร่ออนไลน์โดย ScinceDirect เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2567 โดยได้มำการการสำรวจอาการบางอย่างที่นักวิจัยสนใจ ในประชากร 99 ล้านคนที่ฉีดวัคซีนต่างชนิดกัน ในเครือข่ายต่างๆ ใน ประเทศ อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย แคนาดา เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส นิวซีแลนด์และสกอตแลนด์

โดยการฉีดการฉีดวัคซีนไฟเซอร์เอ็นเทค (BNT162b2) จำนวน 184 ล้านโดส, ฉีดวัคซีนโมเดอร์นา (Moderna mRNA-1237) จำนวน 36 ล้านโดส, ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า (ChAdOx1) จำนวน 23 ล้านโดส จากการติดตามผล 42 วัน

สรุปผลการวิจัยพบว่ากลุ่มอาการที่มีผลข้างเคียงจากวัคซีน มากกว่าที่คาดการณ์ไปอย่างมากและมีนัยสำคัญทางสถิติเป็นระดับสัญญาณเตือนความปลอดภัย (Lower bound with 95% confidence interval >1.5) หรือมีสถิติค่าความเชื่อมั่น 95% ที่มีขอบเขตขั้นต่ำซึ่งมีผลข้างเคียงมากกว่าที่คาดการณ์ไป 1.5 เท่าตัวขึ้นไป

สรุปจากการวิเคราะห์ผลสำรวจในระดับนานาชาติยืนยัน ผลข้างเคียงจากวัคซีน ที่มากกว่าคาดการณ์ในระดับสัญญาณเตือนเรื่องความปลอดภัยได้แก่ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เนื้อเยื่อหัวใจอักเสบ อาการกิแลง บาร์แร ซินโดรม (Guillain-Barré Syndrome) หรือการอักเสบเฉียบพลันที่เส้นประสาทส่วนปลายทำให้เกิดการอ่อนแรงของกล้ามเนื้ออย่างเฉียบพลัน ภาวะหลอดเลือดดำในสมองอุดตัน ส่วนสัญญาณเตือความปลอดภัยที่มีศักยภาพอื่นๆ ต้องทำการสืบสวนเพิ่มเติมเพื่อชี้ชัดต่อไป 


กระนั้นก็ดี การออกมายอมรับถึงผลกระทบวัคซีนของบริษัทยายักษ์ใหญ่ “แอสตร้าเซนเนก้า” ที่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่กล่าวมานั้น ทางด้าน  รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์  คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความคิดเห็นผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัวความว่าไม่ควรตื่นตระหนกเรื่องผลข้างเคียงหรืออาการไม่พึงประสงค์ ที่อาจเกิดขึ้นได้จากยาหรือวัคซีนใดๆ ไม่ว่าจะโควิดหรือโรคอื่น

โดยอธิบายว่า ยาหรือวัคซีน หรือแม้แต่พวกสมุนไพรต่างๆ ที่เคลมว่ามาจากธรรมชาตินั้น ล้วนมีโอกาสที่จะทำให้เกิดผลข้างเคียงหรืออาการไม่พึงประสงค์ หรือภาษาบ้านๆ คือมีโอกาสเกิดอาการแพ้ได้ โดยมีอาการน้อยไปถึงรุนแรงมากน้อยแตกต่างกันไป อาการไม่พึงประสงค์หรือ adverse events (AE) นั้นแบ่งได้หลายประเภท เช่น อาการไม่พึงประสงค์แบบไม่รุนแรง (general AE) อาทิ ปวดบวมแดงร้อน เป็นไข้, อาการไม่พึงประสงค์แบบรุนแรง (serious adverse events: SAE) ได้แก่ เสียชีวิต อาการแพ้รุนแรงจนคุกคามต่อชีวิต ช็อค ความดันตก อาการป่วยอื่นที่ทำให้ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลหรือนอนรพ.ยาวนานขึ้นกว่าที่ควร พิการ หรือทำให้เกิดความผืดปกติของทารกในครรภ์, อาการไม่พึงประสงค์ที่ไม่คาดคิด (Unexpected adverse events: UAE) ได้แก่ การเกิดภาวะผิดปกติต่างๆ ที่ไม่เคยมีการสังเกตพบมาก่อน เป็นต้น

“ประเด็นที่โหมกระพือข่าวกันตั้งแต่วันก่อนคือ ภาวะลิ่มเลือดอุดตันและเกร็ดเลือดต่ำที่เกี่ยวข้องกับการได้วัคซีนโควิดของแอสตร้านั้น ในทางการแพทย์แล้วเป็นอาการไม่พึงประสงค์แบบรุนแรง (SAE) ซึ่งมีการสังเกตพบตั้งแต่ช่วงแรกๆ ที่มีการเริ่มใช้วัคซีนนี้ในยุโรปและอเมริกา วัคซีนประเภทนี้ เรียกว่า วัคซีนชนิดใช้พาหะเป็นตัวนำส่งสารพันธุกรรมของไวรัสเพื่อใช้กระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกาย (vector based vaccine)

“สำหรับวัคซีนโควิดที่เป็น vector based นั้น ที่เราเห็นและมีใช้กันตั้งแต่ช่วงแรกๆ คือ ของแอสต้าเซนิก้า และของแจนเซ่น โดยทั้งสองนั้นใช้ adenovirus เป็น vector หลังมีการใช้กันเป็นหนึ่งในวัคซีนโควิดเข็มแรกๆ พบว่ามีรายงานการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงคือ ภาวะลิ่มเลือดอุดตันและเกร็ดเลือดต่ำ แม้โอกาสเกิดน้อย แต่จัดเป็น SAE ที่หน่วยงานที่ควบคุมดูแลมุกประเทศล้วนต้องเฝ้าระวัง บันทึกเหตุการณ์ รายงาน และทำการวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดภาวะนี้ จนนำไปสู่คำแนะนำตั้งแต่ช่วงปี 2021 ว่าภาวะนี้อาจต้องระวังเป็นพิเศษในกลุ่มหญิงที่อายุน้อย และคนที่อายุน้อยกว่า 50-60 ปีลงมา”

ทั้งนี้ รศ.นพ.ธีระ เน้นย้ำว่าอาการไม่พึงประสงค์นั้นมีโอกาสเกิดได้ แต่มักไม่รุนแรง ส่วนประเภทรุนแรงนั้นโอกาสเกิดน้อยถึงน้อยมาก การใช้ยาหรือวัคซีนต่างๆ แพทย์ก็จะชั่งน้ำหนักประโยชน์และความเสี่ยงประกอบกันไป


กำลังโหลดความคิดเห็น