xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เวียงวังหมื่นปี (9) พระที่นั่งองค์หลัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พระที่นั่งเป่าเหอ (ด้านหลัง) กับพระที่นั่งจงเหอ
ในความเป็นไป
วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ถัดจากพระที่นั่งองค์กลางก็จะเป็นพระที่นั่งองค์หลังคือ พระที่นั่งพิทักษ์บรรสานหรือเป่าเหอเตี้ยน  พระที่นั่งองค์นี้มีความยาวเก้าห้องและลึกห้าห้อง หรือยาว 49.68 เมตรและกว้าง 24.97 เมตร เนื่องจากมีขนาดค่อนใหญ่ พระที่นั่งองค์นี้จึงมีเสาอยู่เป็นจำนวนมาก

 ลักษณะพิเศษของเป่าเหอเตี้ยนก็คือ ตรงกลางที่มีขั้นบันไดสองข้างที่เดินขึ้นสู่พระที่นั่งองค์นี้จะมีหินสลักเป็นรูปมังกรดั้นเมฆที่งดงามมาก หินสลักมังกรดั้นเมฆนี้มีความยาว 16.57 เมตร กว้าง 3.07 เมตร และหนา 1.7 เมตร น้ำหนักราว 250 ตัน


มังกรดั้นเมฆนี้มีเก้าตัว แต่ละตัวจะถูกสลักให้อยู่ท่ามกลางเมฆที่มีลวดลายที่อ่อนช้อย และทุกตัวล้วนมีท่วงท่าที่ร่าเริงและมีชีวิตชีวา จนดูราวกับมีชีวิตจริงๆ

กล่าวกันว่า หินที่นำมาสลักเป็นมังกรดั้นเมฆนี้นำมาจากเมืองฝังซันที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของชานเมืองปักกิ่ง เนื่องจากเป็นหินขนาดมหึมา การขนย้ายหินจึงเป็นเรื่องที่หนักหนาเกินจินตนาการ โดยบันทึกการก่อสร้างพระราชวังต้องห้ามได้เล่าไว้ว่า แรงงานที่ขนย้ายหินขนาดมหึมานี้จะกระทำกันก็แต่ในฤดูหนาวเท่านั้น เพราะต้องอาศัยความลื่นของน้ำแข็งเป็นตัวช่วย

 วิธีการคือ แรงงานราว 20,000 คนและทหารราว 6,000 นายจะสร้างถนนให้เป็นทาง จากนั้นก็จะถมหลุม และขุดบ่อน้ำสองข้างซ้ายขวาทุกๆ 50 เมตร บ่อน้ำที่ขุดขึ้นนี้มีไว้เพื่อให้แรงงานและทหารดื่มกิน แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ นำมาใช้ราดถนนเพื่อให้พื้นเป็นน้ำแข็ง โดยถนนเส้นนี้จะมีระยะทางยาว 50 กิโลเมตร จากนั้นแรงงานทั้งหมดก็จะใช้ม้าและล่อนับพันตัวช่วยกันลากเลื่อนหินดังกล่าวบนพื้นน้ำแข็งนั้น 

วิธีการเช่นนี้นับว่าหฤโหดอย่างมาก เพราะทั้งคนทั้งสัตว์ต่างต้องใช้แรงร่วมกันท่ามกลางอากาศที่หนาวเหน็บเจ็บเข้ากระดูก หนาวขนาดไหนนั้นก็ลองคิดดูง่ายๆ ว่า ก็ขนาดเอาน้ำมาราดบนพื้นถนนแล้วพื้นถนนจะแข็งเป็นน้ำแข็งทันทีก็แล้วกัน

 ที่สำคัญ การขนย้ายนี้ต้องใช้เวลาถึง 28 วันจึงจะมาถึงบริเวณที่ก่อสร้างพระราชวังต้องห้าม 

การก่อสร้างดังกล่าวเกิดขึ้นในยุคศักดินา ซึ่งเป็นอุดมการณ์ทางการเมืองในยุคสมัยหนึ่ง เราคงตอบได้ยากว่าผู้คนสมัยนั้นพอใจหรือไม่พอใจ รู้แต่เพียงว่าชาวจีนอยู่กับอุดมการณ์นี้มาเป็นเวลากว่าสองพันปี และในเวลากว่าสองพันปีนี้ก็มีทั้งสุขทั้งทุกข์สลับกันไปมา ไม่ต่างกับที่เราต้องอยู่กับอุดมการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน เป็นอยู่แต่ว่าอุดมการณ์ทางการเมืองในอดีตคงไม่เหมาะกับยุคสมัยแล้วจึงมิอาจตั้งยืนอยู่ได้

แต่เมื่อมาคิดชั่งน้ำหนักกันว่า แรงงานที่ทุ่มลงไปขนาดนั้นและด้วยความยากลำบาก แลกกับการได้มาซึ่งผลงานศิลปะที่งดงามอย่างมังกรดั้นเมฆแล้วคุ้มหรือไม่นั้น เรื่องนี้คงต่างคนต่างคิด เราไม่อาจรู้แม้กระทั่งใจของนักท่องเที่ยวที่ไปเที่ยวพระราชวังต้องห้ามว่า พอมาถึงจุดที่เป็นมังกรดั้นเมฆแล้วตั้งท่าถ่ายรูปเป็นที่ระลึกนั้น แท้จริงแล้วพอใจหรือกำลังวิพากษ์วิจารณ์อุดมการณ์ศักดินาอยู่ในใจ

ทั้งที่ถ้าหากเป็นอย่างหลังแล้วก็ไม่ควรถ่ายรูปด้วยซ้ำ เพราะมันจะเข้าข่าย “เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง”  

ที่ยกประเด็นนี้ขึ้นมาก็เพราะจะบอกว่า ตอนที่พวกเรดการ์ดตั้งท่าจะบุกเข้าไปทำลายพระราชวังต้องห้ามนั้น เรดการ์ดก็อ้างว่าวังแห่งนี้สร้างโดยชนชั้นผู้ใช้แรงงานที่ถูกพวกศักดินากดขี่ขูดรีด วังนี้จึงเป็นสัญลักษณ์ของการกดขี่ขูดรีดจึงควรที่จะถูกทำลาย พูดอีกอย่างคือ เรดการ์ดเป็นเดือดเป็นแค้นแทนราษฎรที่เป็นแรงงานในเวลานั้น แต่โชคดีที่ทหารได้เข้ามาปกป้องวังนี้เอาไว้ วังนี้จึงรอดเงื้อมมือของเรดการ์ดมาได้

ลองคิดดูว่า ถ้าวังนี้ถูกเรดการ์ดทำลายได้สำเร็จ เราควรที่จะยินดีหรือไม่ คำตอบที่ได้นั่นแหละที่จะบอกเราเองว่าเราคิดอย่างไรกับอดีตและปัจจุบัน

ที่นี้ก็กลับมาที่เรื่องของเราอีกครั้ง ว่าเมื่อพ้นจากมังกรดั้นเมฆอันตระการตาแล้วก็จะถึงองค์พระที่นั่งพิทักษ์บรรสานหรือเป่าเหอเตี้ยน พระที่นั่งองค์นี้เมื่อแรกสร้างเสร็จในสมัยราชวงศ์หมิงนั้น มักจะถูกใช้เป็นสถานที่ทำพิธีแต่งตั้งองค์จักรพรรดินีและรัชทายาท เป็นที่ที่จักรพรรดิเปลี่ยนฉลองพระองค์ก่อนที่จะเสด็จในการพิธีหรือเทศกาลต่างๆ ยังไท่เหอเตี้ยน

ครั้นล่วงเข้าสู่สมัยราชวงศ์ชิง ในยุคนี้พระที่นั่งองค์นี้จะถูกใช้เป็นสถานที่จัดสอบบัณฑิต โดยในปี ค.ศ.1789 จักรพรรดิเฉียนหลง (ค.ศ.1711-1799) ทรงให้ย้ายการสอบบัณฑิตระดับสูงจากไท่เหอเตี้ยนหรือพระที่นั่งบรมบรรสานมายังพระที่นั่งองค์นี้ ซึ่งก็หมายความว่า ผู้ที่สอบผ่านในระดับอำเภอ จังหวัด และมณฑลมาแล้วจึงจะสามารถเข้ามานั่งสอบในพระที่นั่งองค์นี้ได้

บัลลังก์ในพระที่นั่งเป่าเหอ (ภาพ : วิกิพีเดีย)
 การสอบระดับสูงนี้มีความสำคัญอย่างไรนั้นนับว่าน่าสนใจอย่างมาก กล่าวคือ ตำราทุกเล่มที่จะนำมาใช้ในการสอบจะต้องผ่านพระราชานุญาตจากจักรพรรดิก่อน โดยจักรพรรดิจะเป็นผู้ตรวจสอบตำราเหล่านี้ด้วยพระองค์เอง เมื่อผ่านขั้นตอนนี้ไปแล้วขั้นตอนต่อไปก็คือ ขุนนางระดับสูงจะเป็นผู้ออกข้อสอบแล้วนำไปถวายจักรพรรดิ จากนั้นจักรพรรดิจะทรงเป็นผู้พิจารณาอนุมัติข้อสอบดังกล่าว เมื่อทรงอนุมัติแล้วการสอบก็จะเริ่มขึ้น

ผลการสอบจะคัดผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดในสิบอันดับแรกโดยจักรพรรดิทรงเป็นผู้อนุมัติ โดยทั้งสิบคนนี้ในเบื้องต้นจะได้เป็นขุนนางในระดับจิ้นซื่อ (进士) จากนั้นก็จะคัดเอาผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดสามอันดับแรกมาเป็นขุนนางชั้นหนึ่งเรียกว่า จิ้นซื่อจี๋ตี้ (进士及第) โดยผู้ที่ได้คะแนนอันดับหนึ่งจะได้เป็นขุนนางระดับจ้วงหยวน (状元) หรือที่ภาษาจีนแต้จิ๋วเรียกว่า จอหงวน คนที่ได้คะแนนอันดับสองจะได้เป็นขุนนางระดับปั๋งเอี่ยน (榜眼) และอันดับสามจะได้เป็นขุนนางในระดับทั่นฮวา (探花)  

หลังจากนั้นขุนนางชั้นสูงทั้งสามก็จะเป็นมหาอำมาตย์ที่ถวายงานใกล้ชิดองค์จักรพรรดิต่อไป

ทั้งนี้ควรกล่าวด้วยว่า การสอบบัณฑิตที่กล่าวไว้ข้างต้นนั้นเป็นเฉพาะยุคสมัยดังกล่าว โดยแต่ยุคก่อนหน้านี้การสอบบัณฑิตของจีนจะมีรายละเอียดที่มีการปรับเปลี่ยนอยู่เป็นระยะๆ และที่ควรกล่าวด้วยก็คือว่า ระบบการศึกษาของจีนนั้นมีตั้งแต่ระดับประถมสำหรับเด็กหรือเยาวชนที่เรียกว่า  ถงเซิน (童生) จากนั้นจึงสอบในระดับที่เรียกว่า เซิงหยวน (生元) ซึ่งโดยทั่วไปจะเรียกว่า  ซิ่วไฉ (秀才)  ซึ่งเทียบได้กับปริญญาตรีในปัจจุบัน ผู้ที่จบในระดับนี้ก็นับว่าสูงในระดับหนึ่งแล้ว และถือเป็นหน้าเป็นตาแก่วงศ์ตระกูลได้พอสมควร

จากนั้นก็จะเป็นการสอบในระดับที่เรียกว่า จี่ว์เหญิน (举人) ที่เทียบได้กับระดับปริญญาโทในปัจจุบัน แล้วจึงจะเป็นการสอบในระดับจิ้นซื่อดังได้กล่าวไปแล้วที่เทียบได้กับปริญญาเอกในปัจจุบัน แต่ก็ดังได้กล่าวไปแล้วว่า การสอบแต่ละยุคแต่ละสมัยมีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดอยู่เป็นระยะ ที่กล่าวมานี้จึงเป็นการกล่าวแต่โดยสังเขปเช่นกัน

แม้จีนจะเป็นชาติแรกในโลกที่มีการจัดสอบบัณฑิต แต่การสอบบัณฑิตดังกล่าวได้กลายเป็นอดีตไปแล้วเพราะไม่เหมาะแก่ยุคสมัยอีกต่อไป กลายเป็นอดีตไปพร้อมกับการล่มสลายลงของราชาธิปไตยจากการปฏิวัติสาธารณรัฐใน ค.ศ.1911 จากนั้นการศึกษาจีนก็เข้าสู่ยุคสมัยใหม่ตราบจนปัจจุบัน

 ทุกวันนี้เป่าเหอเตี้ยนกลายเป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงวัตถุโบราณมากกว่า 1,600 ชิ้น โดยวัตถุโบราณที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดคือ 6,000 ปี และที่มีอายุใกล้ที่สุดก็คือวัตถุโบราณในสมัยราชวงศ์ชิง จนเป่าเหอเตี้ยนไม่เหลือร่องรอยสถานที่จัดสอบบัณฑิตเหลืออยู่อีกเลย 


กำลังโหลดความคิดเห็น