xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เปิดปมปิดอาณาจักร “CARS24” ยูนิคอร์นรถมือสองล้มในไทย จับตาโดมิโนลามธุรกิจเต็นท์รถ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  นับเป็นเรื่องน่าตกใจสำหรับวงการซื้อขายรถยนต์มือสองกับการประกาศเลิกกิจการของบริษัทซื้อขายรถแลกเปลี่ยนชื่อดังอย่าง “CARS24” ที่ประสบปัญหาขาดทุนหลักพันล้านบาทจากวิกฤตหนี้เสียเช่าซื้อรถยนต์ทำให้จำนวนรถถูกยึดเข้าลานประมูลจนล้นลาน ส่งผลให้การระบายรถมือสองและราคาตกลงอย่างหนัก เหตุการณ์ในครั้งนี้นอกจากบริษัทจะต้องปิดตัวแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อพนักงานหลายพันคนต้องตกงานอย่างไม่ทันตั้งตัวอีกด้วย กระทั่งกระทรวงแรงงานได้สั่งการให้สำนักงานประกันสังคม(สปส.) เร่งเข้าไปชี้แจงสิทธิประโยชน์แก่เจ้าหน้าที่และผู้ประกันตนของทางบริษัทให้รับทราบ 

CARS24 เป็นหนึ่งในสตาร์ทอัพ “ยูนิคอร์น”  สัญชาติอินเดียก่อตั้งขึ้นในปี 2558 ถือเป็นสตาร์ทอัพยูนิคอร์นด้านออโต้เทคที่เติบโตเร็วที่สุดในเอเชีย เริ่มต้นการทลายกำแพงเดิมๆ ของวงการรถมือสองในสิงคโปร์ ก่อนจะผงาดขึ้นเป็นผู้นำตลาดอินเดียภายในเวลาเพียง 3 ปี จากนั้นเดินหน้าขยายอาณาจักรไปทั่วโลกทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์และปาปัวนิวกินี ด้วยเม็ดเงินกว่า 100 ล้านดอลลาร์ที่ได้รับการสนับสนุนจาก Softbank และ Tencent

คู่แข่งสำคัญของ CARS24 คือ Carro ของสิงคโปร์ และ  Carsome  ของมาเลเซีย

สำหรับประเทศไทย CARS24 ประกาศเจตนารมณ์หรือเป้าหมายในการทำธุรกิจชัดเจนว่า ต้องการปฏิวัติวิธีการซื้อขายรถยนต์มือสองด้วยความพยายามที่จะมอบประสบการณ์ให้กับลูกค้าคนไทยในการรับบริการที่ไม่ยุ่งยาก มีประสิทธิภาพ และเชื่อถือได้ โดยไม่แย่งส่วนแบ่งผู้เล่นที่มีอยู่ ด้วยการดึงดูดลูกค้าด้วยวิธีซื้อขายรถยนต์ผ่านออนไลน์ รวมทั้งข้อเสนอแก่ผู้ซื้อด้วยการรับประกันคืนเงินภายใน 7 วัน รับประกัน 1 ปี พร้อมทั้งสร้างจุดขายว่ามีเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยตรวจสอบ แยกแยะ ทำการวิเคราะห์ได้ว่ารถยนต์ที่รับซื้อเข้ามามีจุดข้อบกพร่องประเภทใดและสร้างประสบการณ์การซื้อขายรถที่สะดวกขึ้น

แน่นอน ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับ CARS24 เพราะธุรกิจรถมือสองในประเทศไทยเคยถูกวิเคราะห์ว่าอาจจะเป็นธุรกิจปราบเซียนของเหล่าสตาร์ทอัพซื้อขายแบบออนไลน์ เนื่องจากในไทยมีรูปแบบการขายรถแบบเต็นท์รถมือสอง และธุรกรรมรถยนต์ใช้แล้วซื้อขายด้วยวิธีออฟไลน์ถึง 70%


และแล้วในวันที่ 25 เมษายน 2567  “บริษัท คาร์ส24 กรุ๊ป (ประเทศไทย)” ก็เดินทางมาถึงจุดจบ โดยได้ประกาศปิดกิจการทุกสาขาทั่วประเทศ ซึ่งเมื่อได้ตรวจสอบ  “งบการเงิน”  ของบริษัทในช่วง 2 ปีหลังคือปี 2565 และ 2566 ก็ไม่น่าแปลกใจว่าทำไมถึงไปไม่รอดเนื่องจากพบ  “การขาดทุน” อย่างต่อเนื่อง

กล่าวคือ ในปี 2565 มีสินทรัพย์รวม 1,725,982,807.30 บาท หนี้สินรวม 154,184,336.83 บาท ส่วนรายได้สวนทางกับรายจ่าย โดยมีรายได้รวม 487,864,098.32 บาท และรายจ่ายรวม 487,601,279.61 บาท ส่งผลให้ขาดทุน 1,300,899.53 บาท ขณะที่ในปี 2566 สถานการณ์ก็ย่ำแย่กว่าเก่า คือมีสินทรัพย์รวม 812,469,864.66 บาทหนี้สินรวม 180,720,134.40 บาท มีรายได้รวม 1,704,697,782.79 บาท และรายจ่ายรวม 2,641,748,344.47 บาท หรือขาดทุนถึง 940,048,740.21 บาท

 รวม 2 ปีแล้ว ยอดขายทุนเฉียดหลักพันล้านบาทเลยทีเดียว 

คำถามมีอยู่ว่า อะไรคือปัจจัยที่ทำให้ขาดทุน โดยเฉพาะในปี 2566 ที่ตัวเลขขาดทุนสูงขึ้นมากผิดปกติ กระทั่งผู้บริหารตัดสินใจเลิกกิจการในเดือนเมษายนปี 2567

จากการตรวจสอบข้อมูลและการวิเคราะห์สถานการณ์การปิดตัวของ CARS 24 สะท้อนให้เห็นภาพของธุรกิจรถมือสองที่เปลี่ยนไป โดยมีสัญญาณอันตรายให้เห็นมาอย่างต่อเนื่องจากหลากหลายปัจจัย ดังจะเห็นได้จากในช่วงหลังๆ ธุรกิจเต้นท์รถมือ 2 ทั่วประเทศทยอยปิดตัวลงเป็นจำนวนมาก เนื่องจาก  “อุปสงค์สวนทางกับอุปทาน” บวกกับสภาพเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัว ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค ผู้คนหันมาประหยัดค่าใช้จ่ายมากขึ้นรวมถึงส่งผลต่อยอดขายรถมือสองที่ลดลง ขณะที่แนวทางการทำธุรกิจด้วยการ  “สต๊อกรถยนต์”  เอาไว้จำนวนมากอย่างที่ผู้ประกอบการนิยมทำกันนอกจากจะไม่ตอบโจทย์ทางธุรกิจแล้ว ยังกลายเป็นภาระด้านการลงทุนที่หนักหน่วงจนไม่สามารถแบกรับภาระได้

อีกทั้งสถานการณ์ขณะนี้ที่ตลาดรถมือสองในประเทศไทยก็กำลังระส่ำจากสถาบันการเงินไม่ปล่อยสินเชื่อ รวมทั้งโครงสร้างตลาดรถยนต์มือ 2 ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับตัวสู่รถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว จนต้องปรับราคาขายเพื่อสร้างแรงจูงใจแต่ก็ยังไม่มีอะไรดีขึ้นมากนัก


 “นายพิชิต จันทรเสรีกุล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงไทย คาร์เร้นท์ แอนด์ ลีส จำกัด (มหาชน) หรือ KCAR ผู้ดำเนินธุรกิจให้เช่าและซื้อขายรถมือสอง เคยให้ข้อมูลเอาไว้ว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมรถยนต์มือสองหดตัว โดยเฉพาะช่วงปลายปี 2566 ที่ผ่านมา ที่ซัพพลายรถยนต์ล้นตลาด จากการยึดทรัพย์ NPL กลุ่มรถยนต์ของสถาบันการเงิน ขณะที่ยอดขายออกมีประมาณ 600,000 คัน ส่งผลให้เกิดแบงก์เข้มการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ ดันยอดปฏิเสธสินเชื่อ (รีเจคชั่น เรต) รถยนต์มือสองขึ้นแตะระดับ 40% โดยเฉพาะกลุ่มรถกระบะที่มีการผ่อนต่อไม่ไหวสูง ทำให้ยอด “รีเจกชัน เรต” ทะยานไปมากกว่า 50% และมียอดขายออกได้น้อย

ขณะที่ “นายวิสิทธิ์ พึ่งพรสวรรค์”  กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีไอเอ็มบี ไทย ออโต้ เปิดเผยว่าแนวโน้มราคารถมือสองจะเห็นว่าปรับลดลงเฉลี่ย 10 - 20% หากเป็นรถยนต์ญี่ปุ่นจะลดลง 10 - 15% และรถยุโรป 15 - 20% มาจากปัจจัยรถยึดที่เข้าลานประมูลค่อนข้างเยอะทำให้สต๊อกรถล้น ประกอบกับสถาบันการเงินอนุมัติสินเชื่อยากขึ้น ทำให้คนที่ต้องการซื้อรถไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้

ส่วนแนวโน้มการตัดขายหนี้เสียของสถาบันการเงินในปี 2567 นั้น  “นายประชา ชัยสุวรรณ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เชฎฐ์ เอเชีย จำกัด (มหาชน) วิเคราะห์แนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปี 2566 โดยจะเป็นหนี้กลุ่มเช่าซื้อรถยนต์ปรับเพิ่มขึ้นค่อนข้างสูง ส่วนหนึ่งมาจากคุณภาพสินเชื่อ และความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ด้อยลง รวมถึง แนวโน้มราคารถมือสองปรับลดลง และรถยึดที่ไหลเข้ามาจำนวนมาก และรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เข้ามาทำตลาดมีการปรับลดราคา ทำให้ความต้องการซื้อรถมือสองลดลง

ทิศทางดังกล่าวสถาบันการเงินจึงเน้นตัดขายหนี้แทนการยึดรถ เนื่องจากการยึดรถจะทำให้ขาดทุนจากการขาย เพราะเดิมยึดรถมาขายทอดตลาด จากเดิมเคยขายได้ 70% ของราคาหลักประกัน แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 50% ของราคาหลักประกัน ดังนั้น สถาบันการเงินจะใช้วิธีเร่งตัดขายหนี้ดีกว่าการตามยึดรถลูกหนี้

อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงแค่ในประเทศไทยเท่านั้นที่ทางบริษัทจะประกาศกิจการ เพราะก่อนหน้านี้ CARS24 ก็ปิดกิจการใน  อินโดนีเซียและซาอุดีอาระเบีย ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเมื่อปีที่แล้ว โดยแถลงการณ์ของ  “Vikram Chopra”  ซีอีโอ CARS24 ระบุไว้ตอนปิดกิจการจากทั้งสองประเทศดังกล่าวว่า หลังจากถอนตัวออกจากสองประเทศดังกล่าว บริษัทจะให้ความสำคัญกับตลาดหลักคือ อินเดีย ออสเตรเลีย ไทย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

 ทว่า สุดท้ายแล้วก็ไปไม่รอดในประเทศไทยเช่นเดียวกัน 


กำลังโหลดความคิดเห็น