xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ล้วงลึกกฎใหม่ “Spending Cap” แก้ปัญหาผูกขาดแชมป์พรีเมียลีกได้จริงหรือ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -นอกเหนือจากผลการแข่งขันว่า ทีมได้จะสามารถคว้าแชมป์พรีเมียร์ลึกฤดูกาล 2023-2024 ไปครองแล้ว หนึ่งในความเคลื่อนไหวสำคัญที่บรรดาทีมต่างๆ รวมทั้งแฟนบอลเฝ้าติดตามก็คือ ความพยายามที่จะนำ “กฎ Spending Cap” หรือกฎเพดานการใช้จ่ายมาใช้

คำถามก็คือ กฎ Spending Cap คืออะไรและวัตถุประสงค์ในกรนำมาใช้คืออะไร

ทั้งนี้ ปัญหาของฟุตบอลพรีเมียร์ลีกในช่วงหลายปีที่ผ่านมาคือความสามารถในการแข่งขันระหว่างสโมสรใหญ่กับสโมสรเล็กต่างกันมากเกินไป ทำให้มีความกังวลว่าจะเกิดการผูกขาดความสำเร็จต่างๆ ไว้กับแค่สโมสรไม่กี่แห่งที่มีอำนาจทางการเงินเหนือกว่าสโมสรในระดับกลางและระดับเล็กที่มีโอกาสน้อยกว่า ซึ่งที่ผ่านมาแม้มีเกณฑ์การควบคุมคือ The Profit and Sustainability Rules (PSR) หรือห้ามใช้จ่ายมากว่ารายได้ที่หาได้ และแม้จะมีทีมอย่าง “เอฟเวอร์ตันและน็อตติงแฮม ฟอเรสต์” ถูกตัดแต้มหลังละเมิดกฎ PSR แต่ก็มิได้ทำให้สถานการณ์การผูกขาดแชมป์ของทีมใหญ่ๆ และทีมที่มีเงินถุงเงินถังดีขึ้นมากมายอะไรนัก

สโมสรจำนวนไม่น้อยวนเวียนอยู่กลางตารางลงไปจนถึงท้ายตาราง ประหนึ่งเป็น “ตัวประกอบ” ที่ไม่มีหวังจะได้ลุ้นแชมป์อะไรเลย มิหนำซ้ำวันดีคืนดียังอาจตกชั้นไปอยู่ในลีกรองคือ “แชมป์เปี้ยนชิพ” อีกต่างหาก

ดังนั้น ทางออกที่มีการนำเสนอในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมาก็คือ การควบคุมการใช้จ่ายของทุกสโมสรไม่ให้เกินกว่าเพดานการใช้จ่ายที่กำหนดให้ ซึ่งจากการลงมติมีสมาชิก 20 สโมสรโหวตเห็นชอบในหลักการนี้มากถึง 16 ทีม โดยมี 3 ทีมที่โหวตไม่เห็นด้วยคือ 1.แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, 2.แมนเชสเตอร์ ซิตี้, 3.แอสตัน วิลล่า

ส่วนอีกหนึ่งทีม คือ เชลซีที่งดออกเสียง

ความเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ ส่งผลให้ทุกทีมในลีกสูงสุดสามารถใช้เงินไม่เกินเพดานที่จะกำหนด ซึ่งยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าตัวเลขจะเป็น 4.5 หรือ 5 เท่าของเงินรางวัลและค่าถ่ายทอดสดที่ทีมอันดับ 20 ในฤดูกาลก่อนได้รับ ยกตัวอย่างเช่นในฤดูกาลที่แล้ว ทีมที่ได้อันดับ 20 ก็คือ “เซาธ์แฮมป์ตัน” ซึ่งได้เงินรางวัล รวมกับค่าถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์อยู่ที่ 103.6 ล้านปอนด์

ดังนั้น ถ้าหากกฎใหม่นี้ถูกนำมาใช้โดยกำหนดตัวเลขอยู่ที่ 4.5 เท่า ก็แปลว่า ทุกสโมสรจะมีเพดานค่าใช้จ่ายในฤดูกาลต่อไปอยู่ที่ 103.6 x 4.5 = 466.2 ล้านปอนด์ แต่ถ้าเป็น 5 เท่า ก็แปลว่า ทุกสโมสรจะมีเพดานค่าใช้จ่ายในฤดูกาลต่อไปอยู่ที่ 103.6 x 5 = 518 ล้านปอนด์ โดยค่าใช้จ่ายจำนวนนี้ครอบคลุมทั้งการใช้เงินซื้อนักเตะ ค่าเหนื่อย และค่าเอเย่นต์ ขณะที่ทีมแชมป์ฤดูกาลที่แล้วคือ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ใช้จ่ายไปทั้งหมด 624 ล้านปอนด์ ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจอะไรว่าทำไมเขาถึงยกมือโหวตไม่เห็นด้วยกับกฎดังกล่าว

ข้อจำกัดในลักษณะนี้ถูกนำมาใช้ในกีฬาอเมริกันตั้งแต่ทศวรรษ 1980 โดยที่ NFL, MLS และ NBA ทั้งหมดดำเนินงานภายใต้วิธีการควบคุมทางการเงินที่คล้ายคลึงกัน


ทั้งนี้ หลังจากผ่านการโหวตรับหลักการจากบรรดาสโมสรต่างๆ ที่มีความเห็นเป็นเอกฉันท์แล้ว ก็คงมีการลงลึกในรายละเอียดว่า ตัวเลขค่าใช้จ่ายที่จะให้คุมนั้น ควรเป็นจำนวนเท่าไหร่ ซึ่ง “ตุ๊กตา” ที่ตั้งไว้มีอยู่ 2 แนวทางหรือ ควรเป็น 4.5 เท่า หรือ 5 เท่า ของรายได้ทีมอันดับ 20 รวมทั้งกำหนดการใช้กฎ Spending Cap ว่าจะเริ่มทันทีหรือไม่ อย่างไร โดยการโหวตขั้นสุดท้าย จะมีขึ้นในงานประชุมใหญ่ประจำปีของพรีเมียร์ลีก (AGM) เดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งก็คงไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะคงจะผ่านการลงมติอย่างแน่นอน

ส่วนถ้าใช้จริงแล้ว จะประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้หรือไม่ ก็คงต้องติตตามกันต่อไป เพราะปัญหาน่าจะเกิดกับทีมใหญ่ที่มีเงินถุงเงินถังว่า การจำกัดค่าใช้จ่ายดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อทีมอย่างไร รวมทั้งส่งผลต่อการซื้อตัวนักเตะมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะนักเตะที่มีค่าตัวสูงๆ ซึ่งทางสโมสรต้องการที่จะนำมาร่วมทีม เนื่องจากอาจทำให้รายได้ของนักเตะลดลงจากเดิมที่เป็นไปอย่างไร้ขีดจำกัด

อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ สมาคมนักฟุตบอลอาชีพ หรือ PFA ยังคงดูรายละเอียดเพิ่มเติมในเรื่องนี้ เพราะทางด้านสมาคมได้แสดงความชัดเจนมาโดยตลอดกับการต่อต้านมาตรการใดๆ ก็ตามที่จะจำกัดค่าจ้างผู้เล่นอย่างเข้มงวด มีกระบวนการที่กำหนดไว้เพื่อให้แน่ใจว่าข้อเสนอเช่นนี้ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อสมาชิกของของสมาคมที่จะต้องได้รับการปรึกษาหารืออย่างเหมาะสม

ขณะเดียวกันนักวิจารณ์เรื่องเพดานการใช้จ่ายเชื่อว่ากฎใหม่นี้อาจขัดขวางตำแหน่งของลีกพรีเมียร์ลีกในฐานะลีกที่ร่ำรวยที่สุดและมีผู้ชมมากที่สุดในโลกก็เป็นได้

แต่สำหรับสโมสรในกลุ่มระดับกลางและระดับเล็ก นี่เป็นโอกาสสำหรับพวกเขาที่จะได้ลืมตาอ้าปากและต่อสู้กับสโมสรยักษ์ใหญ่ได้สูสีขึ้น เพียงแต่ทุกอย่างจะต้องมีการพิจารณาร่วมกันอย่างรอบคอบที่สุด เพราะกฎนี้อาจเปลี่ยนแปลงวงการฟุตบอลอังกฤษได้เลย

นอกจากนี้ อีกหนึ่งความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นก็คือ สโมสรในพรีเมียร์ลีกได้ตกลงที่จะปฏิบัติตามกฎระเบียบการเงินแฟร์เพลย์ใหม่ของยูฟ่าตั้งแต่ฤดูกาล 2025-2026 โดยจำกัดการใช้จ่ายไว้ที่ 85 %ของรายได้ทั้งหมดจากค่าจ้าง การโอนเงิน และค่าธรรมเนียมเอเยนต์ (หรือ 70% ในกรณีของสโมสรที่เล่นในยุโรป)


กำลังโหลดความคิดเห็น