xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

แบงก์อุ้ม “อิตาเลียนไทย” รอดตาย คุมเข้มให้กู้ “เอสเอ็มอี” ปล่อยเจ๊งระนาว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  ไม่เพียงแต่ประชาชนคนรากหญ้าเท่านั้นที่ทำมาหากินลำบาก ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางขนาดเล็ก หรือ “เอสเอ็มอี” ที่เป็นเศรษฐกิจฐานรากก็มีสภาพไม่แตกต่างกัน เพราะไม่แค่มีปัญหาแบงก์คุมเข้มการปล่อยกู้ ไหนจะแบกต้นทุนธุรกิจสูง ทั้งภาระดอกเบี้ย วัตถุดิบ ค่าพลังงาน ที่ขึ้นเอา ๆ ถึงวันนี้จงอย่าแปลกใจที่ตัวเลขหนี้เสียกลุ่มเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้นและแจ้งเลิกกิจการระนาว 

อาการฝีแตกจนเก็บทรงไม่อยู่ของกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีที่เดือดร้อนอย่างสาหัส มีคำพรั่งพรูจากปากของ  แสงชัย ธีรกุลวาณิช  ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย คล้อยหลังจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเสียงข้างมาก (5:2) คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.5% เช่นเดิม เมื่อวันที่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยบอกเล่าผ่านสื่อว่า เวลานี้เอสเอ็มอีกว่า 2.7 ล้านราย วิสาหกิจชุมชนนับแสนราย และเกษตรกรกว่า 7 ล้านครอบครัวต่างประสบปัญหาอย่างหนักจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบ ราคาปัจจัยการผลิต ค่าครองชีพ อัตราดอกเบี้ยที่สูงมานานนับปี สะท้อนจากหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 91 ของจีดีพี และกระทบต่อคุณภาพหนี้ หนี้ค้างชำระ หนี้เสีย หนี้นอกระบบที่สูงขึ้น ข้อมูลของแบงก์ชาติบ่งบอกสินเชื่อธุรกิจชะลอลง เติบโตติดลบ -1.1% ต่ำสุดในรอบ 5 ปี โดยสินเชื่อเอสเอ็มอีวงเงินต่ำกว่า 500 ล้านบาท ติดลบถึง -5.1% นั่นหมายถึงการปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอีลดลง

ส่วนดัชนีความเชื่อมมั่นเอสเอ็มอีของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) พบว่าความเชื่อมั่นลดลงจากรอบก่อนหน้าทุกภูมิภาค ยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เท่าเดิม และความเชื่อมั่นลดลงในทุกภาคธุรกิจ คือ การผลิต การค้า และบริการ ซึ่งสะท้อนสภาวะเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างชัดเจน โดยผลสำรวจของ สสว. ยังพบว่า เอสเอ็มอีร้อยละ 35.3 ต้องการให้ลดดอกเบี้ยเงินกู้ และร้อยละ 28.2 ต้องการเพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน

ล่าสุด ภายใต้ข้อเสนอขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อรัฐบาลเมื่อวันที่ 16 เม.ย.ที่ผ่านมา สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน หนี้เสีย หนี้นอกระบบ เพราะกลไกแก้หนี้ทั้งระบบที่เป็นวาระแห่งชาติยังไม่เห็นผล การเข้าถึงแหล่งการเงินต้นทุนต่ำยังทำไม่ได้ รัฐบาลต้องส่งเสริมเพิ่มจำนวนและเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าสู่ระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้มากขึ้น

ก่อนหน้านี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ แบงก์ชาติ แสดงความกังวลถึงกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีที่พบว่าสินเชื่อหดตัว การเข้าถึงแหล่งเงินทุนมีข้อจำกัด มีความเสี่ยงที่ไม่ค่อยมีหลักประกัน ทำให้แบงก์พาณิชย์งดปล่อยสินเชื่อ ซึ่ง ธปท.จะเข้าไปช่วยเหลือให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น รวมถึงเรื่องการค้ำประกัน เพื่อลดความเสี่ยง หนุนให้มีเงินลงทุนและเงินหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ

แม้แบงก์ชาติ และรัฐบาลจะลั่นนโยบายช่วยอุ้มเอสเอ็มีที่ซวนเซหนักมาตั้งแต่โควิด-19 ระบาดจนถึงบัดนี้ แต่ความที่ กนง.ยังตรึงดอกเบี้ยนโยบายไว้สูง ความสามารถในการชำระหนี้ของเอสเอ็มอีลดน้อยถอยลง หนี้เสียจึงเบ่งบาน เพราะธุรกิจยังไม่ฟื้นตัวและอยู่ในอาการน่าเป็นห่วง ทำให้บรรดาแบงก์พาณิชย์ต่างคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อเพราะมีความเสี่ยง สวนทางกับการสร้างภาพแบงก์จะไม่ชักร่มกลับเมื่อเวลาฝนตก

 ศิริเดช เอื้องอุดมสิน รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวผ่านสื่อว่า ในปี 2567 นี้ ทุกธนาคารยังคงให้ความระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี โดยจะเน้นประคองลูกค้ามากกว่าจะเร่งปล่อยสินเชื่อเพื่อการเติบโต ปีนี้จะยังเห็นการเติบโตติดลบหรือทรงตัวสะท้อนตามทิศทางเศรษฐกิจ หากจะปล่อยสินเชื่อก็จะโฟกัสกลุ่มที่ฟื้นตัวและเติบโตต่อได้ เช่น กลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยว

ทางด้าน  ดวงกมล ลิมป์พวงทิพย์  ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY กล่าวว่า ธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อเอสเอ็มอีปีนี้โต 2-3% ซึ่งจะส่งผลให้สินเชื่อคงค้างสิ้นปี 2567 มาอยู่ที่ 350,000 ล้านบาท ส่วนหนี้เสีย ธนาคารตั้งเป้าคุมไม่ให้เกิน 2.5%

 อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย สะท้อนภาพในทำนองเดียวกันว่า หนี้ของภาคธุรกิจขนาดใหญ่ไม่น่าห่วงแม้ภาพรวมสินเชื่อจะชะลอตัวลงจากความระมัดระวังในการลงทุนมากขึ้น แต่สินเชื่อเอสเอ็มอีติดลบต่อเนื่อง ภาพรวมสินเชื่อที่หดตัวบวกหนี้เสียสะท้อนปัญหาที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะระดับรากหญ้า ที่น่าเป็นห่วงคือหนี้ครัวเรือนที่มีปัญหาค่อนข้างมากและฉุดรั้งการบริโภคในระยะข้างหน้า

อีกดัชนีชี้วัดว่าเอสเอ็มอีไทยไปไม่รอดเพิ่มสูงขึ้น ดูจากการแจ้งเลิกกิจการ ตามที่  อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผยตัวเลขขอจดทะเบียนเลิกกิจการในช่วง 11 เดือนของปี 2566 ว่ามีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นกว่า 17,858 ราย มูลค่า 107,728.90 ล้านบาท แม้สถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 จะคลี่คลาย แต่ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มที่มีเงินทุนน้อยที่ยังไม่สามารถกลับมาฟื้นกิจการได้ตามปกติ บวกกับพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปใช้บริการออนไลน์มากยิ่งขึ้น โดยธุรกิจแจ้งยกเลิกสูงสุด 3 อันดับ คือ ก่อสร้าง -ร้านอาหาร-อสังหาฯ

ขณะที่แบงก์พาณิชย์ทั้งระบบใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่งในการปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการรายเล็กรายย่อย เพราะไม่อยากตั้งสำรองหนี้เสีย แต่สำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ที่ขาดสภาพคล่องกลับโดยได้รับการโอบอุ้มจากแบงก์อย่างเต็มที่ อย่างกรณีของ  บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด หรือ ITD ที่ขาดสภาพคล่องมาตั้งแต่ปลายปี 2566 ถึงตอนนี้มีรายงานข่าวว่าได้รับการเติมเงินจากแบงก์พาณิชย์เจ้าหนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

 สำหรับธนาคารที่ปล่อยกู้ให้กับ ITD หลัก ๆ มี 4 แห่ง วงเงินรวม 24,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.ธนาคารกรุงเทพ 8,000 ล้านบาท เป็นเงินกู้ไม่มีหลักประกัน 4,000 ล้านบาท 2.กสิกรไทย 6,000 ล้านบาท เป็นเงินกู้ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท 3.ไทยพาณิชย์ 6,000 ล้านบาท เป็นเงินกู้ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท และ 4.ธนาคารกรุงไทย 4,000 ล้านบาท เป็นเงินกู้ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท 

 ชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BBL) เปิดเผยในที่ประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2567 ที่ผ่านมาว่า กรณี ITD เป็นลูกค้าของธนาคารมาหลายปี มั่นใจว่า ITD สามารถจะดำเนินธุรกิจได้ต่อในอนาคต เพราะมีขีดความสามารถสูง ขณะนี้ธนาคารได้มีการเข้าช่วยเหลือ ITD ในเรื่องของสภาพคล่อง เพื่อให้ธุรกิจสามารถก้าวข้ามผ่านช่วงนี้ไปให้ได้ และได้ตั้งสำรองกรณี ITD เรียบร้อยแล้วในระดับที่เหมาะสม

 ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK เปิดเผยในที่ประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2567 เช่นกันว่า ธนาคารได้ตั้งสำรองหนี้รายใหญ่ กรณีของ ITD เป็นที่เรียบร้อยแล้วตามการจัดชั้นของลูกหนี้ดังกล่าว ส่วนระยะถัดไปจะติดตามการดำเนินธุรกิจอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นด้านงบการเงิน หรือข้อมูลอื่น ๆ รวมถึงธุรกรรมต่าง ๆ ที่มีอยู่กับธนาคารประกอบกัน และไม่เพียงแต่รายนี้ ธนาคารยังติดตามดูแลกลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่โดยรวมด้วยเช่นกัน

หลังจากได้รับการเติมเงิน  วรวุฒิ หิรัญยไพศาลสกุล  เลขานุการ ITD เชื่อมั่นว่าบริษัทมีศักยภาพและโอกาสที่จะได้รับงานโครงการก่อสร้างพื้นฐานต่างจากภาครัฐและเอกชนที่อยู่ระหว่างการประมูลจำนวนมาก ทั้งถนน ทางด่วน รถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง การขยายสนามบิน ฯลฯ ส่วนการขอวงเงินสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องกำลังเจรจากับกลุ่มธนาคารแล้วมีความคืบหน้าที่ดี คาดจะได้ข้อสรุปในเร็ววันนี้ และยืนยันว่าปัญหาสภาพคล่องในเวลานี้ไม่ส่งผลกระทบต่อการประมูลงานของภาครัฐในอนาคต สถาบันการเงินยังออกหนังสือค้ำประกันการประมูลงานตามปกติ ไม่ว่าจะเป็นงานภาครัฐและเอกชน

 เป็นความต่างและแต้มต่อของธุรกิจขนาดใหญ่ ผิดกันกับธุรกิจขนาดกลางและเล็กที่มีโอกาสเข้าถึง “แหล่งเงินทุน” ได้ยากยิ่งกว่า 


กำลังโหลดความคิดเห็น