xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

พลิกปูมมหันตภัยโลกเดือด หายนะ...นิเวศทางทะเล อากาศร้อน...ฆ่าคนได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - หลังจากเข้าสู่ “ยุคโลกเดือด (Global Boiling)” ในปี 2566 ซึ่งนับเป็นปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ แต่สภาพอากาศร้อนจัดยังคงทุบสถิติใหม่ต่อเนื่อง ปี 2567 คลื่นความร้อนจาก “ปรากฎการณ์เอลนีโญ” ยังคงลากยาวส่งผลกระทบต่อภูมิอากาศอย่างรุนแรง อุณหภูมิผิวน้ำทะเลสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เกิดภาวะ “ทะเลเดือด” เป็นภัยร้ายแรงต่อระบบนิเวศทางทะเล เกิดวิกฤตปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่ทั่วโลก 

และแม้ว่าคนไทยจะคุ้นชินกับอากาศร้อน แต่อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นในเดือนเมษายน จนเกิน 40 องศาฯ นับว่าเป็นสภาพอากาศที่ร้อนจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ อีกทั้ง ภาวะ “ฮีทสโตรก” จากสภาพอากาศร้อนมาก สามารถฆ่าคนให้ตายได้

ภัยพิบัติจากสภาพภูมิอากาศแปรปรวนเป็นประเด็นใหญ่ ที่มนุษยชาติต้องร่วมกันหาทางออกเพื่อทางรอด


 จากยุคโลกร้อนสู่ยุคโลกเดือด 

ปี 2566 องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้แจ้งถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยระบุว่า “ยุคโลกร้อน (Global Warming)” สิ้นสุดลงแล้ว และ  “ยุคโลกเดือด (Global Boiling)”   ได้เริ่มขึ้นแล้ว

รอบปีที่ผ่านมา ทั่วโลกต้องเผชิญกับภัยพิบัติภูมิอากาศอย่างสาหัส ซึ่งผลกระทบจากภัยจากคลื่นความร้อนส่งผลให้ ปี 2566 เป็นปีที่ร้อนที่สุดนับตั้งแต่มีการบันทึกมา ยิ่งไปกว่านั้น ปี 2566 ที่ผ่านมา นับเป็นปีที่ร้อนที่สุดในรอบกว่า 125,000 ปี แต่ยังไม่หยุดเท่านั้นเพราะอุณภูมิของโลกยังมีแนวโน้มร้อนขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลให้แนวโน้มระยะยาวเป็นเรื่องน่ากังวลอย่างยิ่ง หากดูจากสถิติสูงสุดเดือนต่อเดือนเป็นการสะท้อนว่าสภาพภูมิอากาศกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดย ปี 2566 นับเป็นปีที่โลกร้อนสูงสุดนับตั้งแต่มีการบันทึกสถิติไว้ใน ปี 2393

ล่าสุด หน่วยงานด้านสภาพภูมิอากาศของสหภาพยุโรป เปิดเผยว่า เดือนมีนาคม 2567 เป็น เดือน มี.ค. ที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยอุณหภูมิพุ่งทุบสถิติทุกเดือนติดต่อกันนับสิบเดือนแล้ว เรียกได้ว่าสภาพอากาศร้อนทำลายสถิติเดิมมาอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ รายงานจากโครงการบริการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโคเปอร์นิคัส (Copernicus Climate Change Service – C3S) ของสหภาพยุโรป (EU) ระบุว่า ช่วงเดือนมีนาคม 2567 ที่ผ่านมาอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 14.14 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงกว่าสถิติเดิมเมื่อปี 2559 ถึงประมาณ 10 องศาเซลเซียส โดย เดือน มี.ค. 2567 ที่ผ่านมา อุณหภูมิเฉลี่ยนั้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยของเดือนมีนาคม ตั้งแต่ ปี 2392 – 2443 (ค.ศ. 1850 – 1900) ซึ่งเป็นช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม อยู่ที่ประมาณ 1.68 องศาเซลเซียส
 ดร.หนิง เจียง  จากสถาบันวิทยาศาสตร์อุตุนิยมวิทยาจีน คาดการณ์ว่าอุณหภูมิพื้นผิวเฉลี่ยทั่วโลกระหว่างเดือนกรกฎาคม 2566 ถึงเดือนมิถุนายน 2567 จะเพิ่มขึ้นอยู่ระหว่าง 1.1-1.2 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในยุคก่อนอุตสาหกรรมถึง 1.4-1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นระดับเกณฑ์สำคัญในข้อตกลงปารีสปี 2015 ในการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติ หรือ COP ครั้งที่ 21 ที่พยายามควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับระดับก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม



ภาพจากเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat
ขณะที่ข้อมูลจากงานวิจัยของ Statista ระบุว่า ปี 2565 ปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกสูงขึ้น 1.7% สอดคล้องกับ ข้อมูลจากองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ระบุว่า ความหนาแน่นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศมีค่าสูงเป็น 2 เท่าของระดับความหนาแน่นก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมโดยมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างไม่มีทีท่าว่าจะลดลง โดยทาง WMO คาดการณ์ว่า นับตั้งแต่ ปี 2556 - 2570 จะเป็นช่วงเวลาที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์

อย่างไรก็ตาม สภาพอากาศร้อนจัดทั่วโลกเป็นผลมาจากสภาวะโลกร้อน เนื่องจากการสะสมของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ โดยเฉพาะการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และมลพิษอื่นๆ จากการเผาใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเช่น ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ นับตั้งแต่ช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรม ราวๆ ศตวรรษที่ 19 ส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยโลกทะยานสูงขึ้นต่อเนื่อง

 อุณหภูมิผิวน้ำทะเลทุบสถิติ
ระบบนิเวศเสียหายหนัก 


ขณะที่อุณหภูมิผิวน้ำทะเลก็ทำลายสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ กล่าวคือเดือนมีนสาคม 2567 อุณหภูมิอยู่ที่เฉลี่ย 21.07 องศาเซลเซียส ทั้งนี้ เมื่ออุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้นจะยิ่งเพิ่มความชื้นในชั้นบรรยากาศทำให้เกิดสภาพอากาศแปรปรวนอย่างหนัก กำลังส่งผลกระทยอย่างร้ายแรงต่อระบบนิเวศทางทะเล

สืบเนื่องจากปรากฎการณ์เอลนีโญ ปี 2566 ซึ่งยังคงมีกำลังแรงต่อเนื่องจนถึงช่วงกลาง ปี 2567 ปรากฎการณ์เอลนีโญส่งผลให้อุณหภูมิผิวน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกสูงขึ้นกว่าปกติ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้อุณหภูมิโลกในปี 2567 ร้อนขึ้นไปอีก ทั้งนี้ อุณภูมิน้ำทะเลที่ร้อนขึ้นจะเกิดการถ่ายเทความร้อนผ่านการระเหยของไอน้ำจากผิวมหาสมุทรขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศมากขึ้น

มีข้อมูลเปิดเผยว่าปรากฏการณ์เอลนีโญที่รุนแรงจะทำให้เกิดคลื่นความร้อนทั่วภูมิภาคแคริบเบียน อ่าวเบงกอล และทะเลจีนใต้ และส่งผลกระทบถึงประเทศไทยด้วย คลื่นความร้อนในมหาสมุทรส่งผลกระทบระบบนิเวศทางทะเลฟอกขาวและทำลายแนวปะการัง

กล่าวสำหรับ  “ปะการัง” เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อมในมหาสมุทร สถานกาณ์  “ปะการังฟอกขาว”  กระทบต่อสมดุลระบบนิเวศในมหาสมุทร ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิ่งมีชีวิตในท้องทะเล เนื่องจากสัตว์ทะเลหลากหลายใช้ชีวิตอยู่ตามแนวปะการัง ซึ่งเป็นทั้งแหล่งพักอาศัยและแหล่งอาหาร การสูญเสียแนวปะการังที่อุดมสมบูรณ์ย่อมกระทบเป็นวงกว้าง

ย้อนกลับไป ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2566 เกิดปะการังฟอกขาวในฤดูหนาว ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยพบเจอในทะเลไทย พบว่า เกาะยักษ์ใหญ่ อุทยานฯ หมู่เกาะช้าง เกิดปะการังฟอกขาวประมาณ 90% จากอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้น และปะการังบางส่วนมีร่องรอยเกิดโรค สอดคล้องกับสถานการณ์เอลนีโญรุนแรงสุดในช่วงเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม

มีรายงานว่า น้ำทะเลร้อน 30 - 32 องศาฯ ซึ่งตัวเลขนี้สูงเป็นอย่างยิ่งในหน้าหนาว เพราะในหน้าหนาวคือช่วงที่อุณหภูมิน้ำต่ำสุดในรอบปี ตามข้อมูลในอดีตทะเลภาคตะวันออก อุณหภูมิน้ำในหน้าหนาวต่ำกว่า 30 องศา ทั้งนี้ ปะการังอาจเริ่มฟอกขาวเมื่ออุณหภูมิน้ำสูงเกิน 30.5 องศา ทุกครั้งจึงเกิดในหน้าร้อน

 ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ความว่าโมเดลล่าสุดทำนายว่า ปีนี้เอลนีโญอาจทำให้เมืองไทยร้อนเป็นประวัติการณ์ เอลนีโญจะจบลงช่วงเดือนมิถุนายน แต่ช่วงครึ่งปีแรกโลกจะร้อนเดือดไปทุกหนแห่ง หลายประเทศอาจร้อนจนทะลุสถิติเดิมในปีก่อน ปี 2567 อาจเป็นปีที่ร้อนยิ่งกว่าร้อน

เกี่ยวกับปรากฎการณ์ปะการังฟอกขาวในทะเลไทย คาดการณ์ว่าจะมีปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่ในช่วง 3 เดือนข้างหน้าทั้งในอ่าวไทยและอันดามัน โดยตามข้อมูลเผยว่าอุณหภูมิน้ำทะเลไทยเกินเส้นวิกฤตฟอกขาวติดต่อกัน 10 วัน อันเป็นผลกระทบจากปรากฎการณ์โลกร้อนทะเลเดือด

อ.ธรณ์ อธิบายปรากฎการณ์ทะเลเดือดที่กำลังส่งผลให้ปะการังฟอกขาว กล่าวคือทะเลดูดซับและกักเก็บความร้อนส่วนเกินของโลกไว้กว่า 90% ความร้อนที่มนุษย์สร้างขึ้นจากก๊าซเรือนกระจก ทะเลปกคลุม 70.8% ของผิวโลก แต่ทุกอย่างย่อมมีข้อจำกัด อุณหภูมิน้ำจึงสูงขึ้นเรื่อยๆ Ocean Heat ที่สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์กรีดร้องว่าแย่แล้ว แต่ไม่มีคนสนใจ ตราบจน 8 ปีก่อน ผลเริ่มชัดเจนเมื่อทะเลเดือด + เอลนีโญ

เอลนีโญเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ ในอดีตแม้น้ำร้อน แต่ทุกอย่างปรับตัวได้ แต่เมื่อทะเลเดือดเข้ามาหนุน วัฏจักรโลกใต้น้ำไม่เหมือนเดิมต่อไป 2016 เป็นปีเอลนีโญบวกทะเลเดือด ส่งผลให้ GBR ฟอกขาวครั้งใหญ่ ชาวออสเตรเลียเศร้าทั้งประเทศ GBR คือแนวปะการังใหญ่สุดในโลก เป็นมรดกโลก และเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันดับหนึ่งของออสเตรเลีย

“ในไทยจากการตามข้อมูลโทรมาตรเรียลไทม์ สถานีวิจัยคณะประมงที่ศรีราชา น้ำร้อนระดับ 31 – 32.5 องศาตลอดเวลา ติดต่อกันมาเกิน 10 วัน หมายถึงน้ำร้อนเกินค่าวิกฤต 30.5 องศาตลอด ไม่ว่ากลางวัน/กลางคืน ยิ่งเข้าเดือดเมษา แม้แต่กลางคืนก็ถึง 31.5 จึงแทบจะเชื่อได้ว่า เราคงเจอปะการังฟอกขาวในช่วงปลายเมษา/ต้นพฤษภา ยกเว้นมีอะไรที่ทำให้น้ำทะเลร้อนน้อยลง ซึ่ง “อะไร” ดังกล่าวยังมองไม่เห็นว่าเป็นอะไร” ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อมฯ ระบุ

"ระวังภาวะฮีทสโตรก”

ผลกระทบอย่างรุนแรงจากจากสภาวะ “โลกเดือด” และปรากฎการณ์ “เอลนีโญ”ส่งผลให้ประเทศไทยมีสภาพอากาศร้อนจัด และแม้ว่าคนไทยจะคุ้นชินกับอากาศร้อน แต่อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในฤดูร้อน เดือน เม.ย. หลายพื้นที่อุณภูมิเกิน 40 องศาฯ นับว่าเป็นสภาพอากาศที่ร้อนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ตั้งแต่เจ็บปวดเล็กน้อย หรืออาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต

ยิ่งสภาพอากาศร้อนจัด ยังส่งผลให้ประชากรไทย 80% ตกอยู่ในความเสี่ยงจากภัยสุขภาพ โดยสถานการณ์ที่ต้องเฝ้าระวังท่ามกลางสภาพอากาศร้อนจัด คือ   “ภาวะฮีทสโตรก”  หรือ   “ภาวะลมแดด" อันมีสาเหตุหลักๆ มาจากความร้อนสูงร้อนอบอยู่ในร่างกาย เป็นภาวะที่เกิดจากร่างกายมีความร้อนสูงเกินไปและไม่สามารถระบายความร้อนออกจากร่างกายได้ทัน มักเกิดขึ้นเมื่ออุณหภูมิร่างกายสูง 40 องศาเซลเซียส

ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ระหว่างเดือนมีนาคม - พฤษภาคม ปี 2558 - 2564 มีรายงานผู้เสียชีวิตจากภาวะอากาศร้อน ทั้งสิ้น 234 คนเฉลี่ย 33 คนต่อปี และมีรายงานผู้ป่วยประมาณ 2,500 - 3,000 คนต่อปี

ภาพจากเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat


ขณะที่ องค์การอนามัยโลก (WHO) คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุเสียชีวิตจากความร้อนในอัตรา 58 ต่อแสนประชากร หรือ 14,000 คน ภายในปี 2623 หรือในอีก 57 ปีข้างหน้า โดยเตือนให้ประชาชนเตรียมรับมือและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เช่นเดียวกับ กรมการแพทย์ ได้มีคำเตือนออกมาเพื่อให้ประชาชนเฝ้าระวังและสังเกตอาการ “ฮีทสโตรก” หรือ “โรคลมแดด” ในฤดูร้อนของไทยท่ามกลางอุณหภูมิสูงแตะ 40 องศาเซลเซียส ทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทย

 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์  ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เผยผลคาดการณ์ว่าอุณหภูมิ ปี 2567 จะสูงขึ้นกว่าปีก่อน อาจถึง 44.5 องศาเซลเซียส ซึ่งมีความเสี่ยงส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยดูได้จากค่าดัชนีความร้อน ซึ่งเป็นค่าที่สะท้อนความรู้สึกร้อนของร่างกาย จากการนำอุณหภูมิของอากาศมาคิดร่วมกับความชื้นสัมพัทธ์ เนื่องจากเมื่อความชื้นสัมพัทธ์สูงจะทำให้เหงื่อระเหยยาก และส่งผลให้รู้สึกร้อนกว่าอุณหภูมิจริงของอากาศ หากค่าดัชนีความร้อนเกิน 40 องศาเซลเซียส จะมีความเสี่ยงเกิดโรคลมแดด หรือโรคฮีทสโตรก (Heat Stroke) ซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายร้อนจัดจนส่งผลกระทบต่อระบบต่างๆ ในร่างกาย และเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้

“กลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดโรคฮีทสโตรก ได้แก่ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง และโรคอ้วน จึงควรอยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก ส่วนผู้ที่มีร่างกายแข็งแรงแต่ต้องอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน จะมีโอกาสเกิดฮีทสโตรกได้เช่นกัน ดังนั้น หากต้องทำงานกลางแจ้ง ควรเลี่ยงการสวมชุดที่มีสีเข้ม เนื่องจากจะดูดซับความร้อนได้ดี ดื่มน้ำมากๆ และสลับเข้าพักในที่ร่มเป็นระยะ เช่น ทุก 30 นาที หรือทุกชั่วโมง”

 นพ.มานัส โพธาภรณ์  รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่าประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากภาวะฮีตสโตรกไม่มากนัก หากเทียบกับบางประเทศที่อากาศร้อนสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ในช่วง 5 - 6 ปีที่ผ่านมา เริ่มมีคนไทยเสียชีวิตจากฮีตสโตรกมากขึ้น เพราะหลายคนมีความจำเป็นต้องออกไปพื้นที่กลางแจ้งแดดจัด แม้แต่การอยู่ในพื้นที่อับ ร้อนจัด มีความชื้น อากาศถ่ายเทไม่สะดวก จะมีความเสี่ยง รวมถึงกลุ่มเสี่ยงจะต้องระวังทั้งทารก เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ คนพิการทางสมอง เป็นโรคหัวใจ และความดัน

ขณะที่ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ แสดงความกังวลว่าฮีทสโตรกเป็นอีกภัยสุขภาพที่คนทั่วไปอาจไม่ได้ให้ความสนใจเท่าใดนัก แม้ว่าโรคดังกล่าวกำลังมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ และหากรักษาไม่ทันกาลอาจส่งผลร้ายแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต

 ทั้งหมดนี้เป็นผลกระทบเพียงส่วนหนึ่งจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอย่างรุนแรง ต้องติดตามว่าทั่วโลกจะดำเนินการแก้ไขสภาวะโลกเดือด หรือผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้นได้อย่างไร 


กำลังโหลดความคิดเห็น