"ปัญญาพลวัตร"
"ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"
โรเบิร์ต เอ. ดาห์ล (Robert A. Dahl) เป็นนักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกันที่มีอิทธิพลมากในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 เกิดเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม ค.ศ.1915 และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2014 มีอายุยืนยาวเกือบ 100 ปี ผลงานของโรเบิร์ต ดาห์ลมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อรัฐศาสตร์ในการพัฒนาความเข้าใจเกี่ยวกับทฤษฎีประชาธิปไตย โครงสร้างอำนาจ และการทำงานของระบบการเมือง ผลงานของเขาได้รับการอ่านอย่างกว้างขวางและยังคงมีอิทธิพลต่อนักวิชาการ นักศึกษา และผู้ทำงานในสาขารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ และแวดวงการเมืองเชิงปฏิบัติ
ผลงานที่สำคัญของ ดาห์ล มีหลายเรื่องด้วยกัน ในที่นี้จะหยิบยกมากล่าวบางเรื่องที่เชื่อมโยงกับแนวคิดอำนาจ เรื่องแรกคือ “ใครปกครอง? ประชาธิปไตยและอำนาจในเมืองอเมริกัน”(Who Governs? Democracy and Power in an American City, 1961) หนังสือเล่มนี้เป็นหนึ่งในผลงานที่มีชื่อเสียงที่สุดของดาห์ล เป็นการศึกษาพลวัตของอำนาจในนิวเฮเวน รัฐคอนเนตทิคัต ดาห์ลพบว่า อำนาจในนิวเฮเวนมีความหลากหลายและไม่ได้รวมศูนย์อยู่ในมือของชนชั้นนำไม่กี่คน ซึ่งท้าทายแบบจำลองชนชั้นนำของอำนาจทางการเมืองที่มีอิทธิพลในขณะนั้น
หนังสือที่ทรงอิทธิพลทางความขอิงดาห์ลอีกเล่มคือ “พหุธิปไตย: การมีส่วนร่วมและการต่อต้าน” (Polyarchy: Participation and Opposition,1971) ในหนังสือที่มีอิทธิพลเล่มนี้ ดาห์ลแนะนำแนวคิด “พหุธิปไตย” เพื่ออธิบายรูปแบบการปกครองที่อำนาจกระจายในหลายกลุ่มหลายฝ่ายในสังคม โดยเน้นเงื่อนไขที่ทำให้ระบบดังกล่าวดำรงอยู่ได้ และเน้นบทบาทของการมีส่วนร่วมของประชาชนและการโต้แย้งอำนาจ
ต่อมา ดาห์ล ได้หยิบยกปมปัญหาสำคัญที่ยังคงดำรงอยู่ในสังคมประชาธิปไตยขึ้นมาอภิปรายในหนังสือชื่อ “ปัญหาของประชาธิปไตยแบบพหุนิยม: อัตตาณัติ vs. การควบคุม”(Dilemmas of Pluralist Democracy: Autonomy vs. Control, 1982) ผลงานนี้ศึกษาความซับซ้อนและความท้าทายที่มีอยู่ในการรักษาประชาธิปไตยแบบพหุนิยม กล่าวถึงความตึงเครียดระหว่างเสรีภาพของปัจเจกบุคคลกับความจำเป็นในการควบคุมเพื่อรักษาเสถียรภาพของสังคม
ดาห์ลเป็นนักวิชาการที่มีอิทธิพลสูงต่อการศึกษาแนวคิดและทฤษฎีอำนาจยุคใหม่ เขาเป็นผู้เริ่มต้นที่ทำให้ความหมายของอำนาจชัดเจนมากขึ้น แม้ว่าภายหลังการนิยามอำนาจของเขาจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อยก็ตาม ดาห์ลนิยามอำนาจว่า “เป็นความสัมพันธ์ที่ผู้กระทำการคนหนึ่ง (A) สามารถทำให้บุคคลอื่น (B) กระทำบางอย่างตามที่ A ต้องการ แม้ว่า B จะไม่ประสงค์ทำเรื่องนั้นก็ตาม” คำจำกัดความนี้เน้นย้ำถึงอำนาจในฐานะแนวคิดเชิงสัมพันธ์และเชิงพฤติกรรม โดยมุ่งเน้นไปที่ความสามารถในการมีอิทธิพลหรือเปลี่ยนแปลงการกระทำของผู้อื่น
จากนิยามอำนาจดังกล่าวของดาห์ลทำให้เห็นแง่มุมหลายประการของอำนาจ แง่มุมแรกคือ อำนาจเป็นความสัมพันธ์ กล่าวคือ อำนาจไม่ใช่คุณลักษณะที่มีตัวแสดงโดยลำพัง หากแต่เป็นสิ่งที่มีความสัมพันธ์กันของตัวแสดงอย่างน้อยสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งใช้อิทธิพลและอีกฝ่ายที่ได้รับผลกระทบจากอิทธิพล แง่มุมที่สองคือ การเน้นในเชิงพฤติกรรม คำนิยามของดาห์ลมุ่งเน้นพฤติกรรมที่สังเกตได้ของตัวแสดง หรืออำนาจเห็นได้จากความสามารถในการก่อให้เกิดหรือมีอิทธิพลต่อการกระทำของผู้อื่น
แง่มุมที่สามคือ องค์ประกอบของการขัดแย้งกับความเป็นไปตามธรรมชาติ ส่วนสำคัญของคำนิยามของดาห์ลอีกประการคือ อำนาจแสดงออกผ่านการกระทำที่ขัดแย้งกับการกระทำตามปกติของหน่วยทางสังคม นั่นคือ การกระทำใดของบุคคลหรือหน่วยทางสังคมที่ผิดเพี้ยนไปจากภาวะปกติที่เคยกระทำอย่างสม่ำเสมอ ก็สามารถอนุมานได้ว่า การกระทำนั้นได้รับผลกระทบจากอำนาจ
แง่มุมที่สี่ อำนาจในเชิงศักยภาพ ดาห์ลชี้ให้เห็นว่าอำนาจไม่ได้มีเพียงแค่การใช้อิทธิพลจริงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความสามารถหรือศักยภาพในการใช้อิทธิพลด้วย กล่าวอีกนัยหนึ่ง อำนาจไม่ได้ถูกจำกัดอยู่เพียงแค่การกระทำที่เกิดขึ้นจริง แต่ยังรวมถึงความเป็นไปได้ของการกระทำในอนาคตด้วย
ตัวอย่างเช่น ประเทศที่มีกองทัพที่แข็งแกร่งอาจไม่จำเป็นต้องใช้กำลังทางทหารเสมอไป แต่เพียงแค่การมีอยู่ของกำลังทางทหารนั้นก็อาจมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของประเทศอื่น ๆ ได้ ในทำนองเดียวกัน ผู้นำทางการเมืองอาจไม่จำเป็นต้องใช้อำนาจของตนอย่างชัดเจนเสมอไป แต่เพียงแค่การรับรู้ถึงอำนาจที่พวกเขามีอาจมีผลต่อการตัดสินใจและการกระทำของผู้อื่น
ดาห์ลเน้นว่าศักยภาพในการใช้อิทธิพลนี้อาจเท่ากับการใช้อำนาจจริง เพราะมันกำหนดขอบเขตของสิ่งที่เป็นไปได้และมีบทบาทสำคัญในการกำหนดรูปแบบปฏิสัมพันธ์และผลลัพธ์ นอกจากนี้ การรับรู้ถึงอำนาจมักจะสำคัญพอๆ กับอำนาจจริง หากตัวแสดงเชื่อว่าอีกฝ่ายมีอำนาจ พวกเขาอาจปรับพฤติกรรมของตนเองตามความเชื่อนั้น แม้ว่าการประเมินอำนาจอาจไม่ถูกต้องก็ตาม
สำหรับแนวคิดเกี่ยวกับโครงสร้างอำนาจในสังคมประชาธิปไตย ดาห์ลไม่เห็นด้วยกับแนวคิดชนชั้นนำที่มองว่าอำนาจกระจุกตัวในมือของกลุ่มเพียงไม่กี่กลุ่ม เขาเสนอ “ทฤษฎีพหุนิยมของอำนาจ” (Pluralist Theory of Power) ขึ้นมาในฐานะที่เป็นแนวคิดคู่แข่งแนวคิดชนชั้นนำในการอธิบายโครงสร้างอำนาจในสังคมประชาธิปไตย โดยชี้ว่า ในสังคมประชาธิปไตย อำนาจกระจายไปตามศูนย์กลางหลายแห่ง อันได้แก่กลุ่มสมาคม องค์กร และสถาบันทางการเมืองและสังคมอันหลากหลาย หน่วยทางสังคมเหล่านี้ต่างก็แข่งขันและต่อรองเพื่อให้ได้มาและรักษาอำนาจและผลประโยชน์ของตนเอง
สำหรับคุณลักษณะหลักบางประการของทฤษฎีพหุนิยมของอำนาจมีดังนี้
1. การกระจายอำนาจ อำนาจไม่ได้รวมศูนย์อยู่ที่จุดใดจุดหนึ่ง แต่กระจายไปตามกลุ่มและสถาบันต่าง ๆ ในสังคม ซึ่งรวมถึงกลุ่มผลประโยชน์ พรรคการเมือง สื่อ และกลุ่มอื่น ๆ
2. การแข่งขันขยายอิทธิพล กลุ่มต่าง ๆ แข่งขันกันเพื่อส่งเสริมผลประโยชน์และความเชื่อของตนผ่านกระบวนการทางการเมือง การแข่งขันที่เปิดกว้างนี้ช่วยป้องกันไม่ให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งครอบงำสังคมมากเกินไป
3. การถ่วงดุลอำนาจ อำนาจของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจะถูกคานด้วยอำนาจของกลุ่มอื่น ๆ กระบวนการคานอำนาจนี้ทำให้เกิดการตรวจสอบและการถ่วงดุลที่จำเป็นในระบบประชาธิปไตย
4. บทบาทของรัฐ รัฐไม่ใช่เครื่องมือของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ทำหน้าที่เป็นองค์กรกลางหรือผู้ตัดสินในการแข่งขันทางการเมืองระหว่างกลุ่มต่าง ๆ
5. การเข้าถึงได้ ระบบพหุนิยมเชื่อว่ากระบวนการทางการเมืองเปิดกว้างและสามารถเข้าถึงได้สำหรับกลุ่มต่าง ๆ ไม่มีอุปสรรคที่ไม่สามารถเอาชนะได้สำหรับกลุ่มในการจัดตั้งและมีส่วนร่วมในการเมือง
6. นโยบายเป็นผลมาจากการต่อรอง นโยบายของรัฐเกิดขึ้นจากกระบวนการของการเจรจาต่อรอง การประนีประนอม และการสร้างพันธมิตรระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ไม่ใช่การผูกขาดการตัดสินใจโดยชนชั้นนำ
7. ความสำคัญของการมีส่วนร่วม ระบบพหุนิยมเน้นความสำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาชนจำนวนมากในการเมืองผ่านกลุ่มและองค์กรต่าง ๆ
ทฤษฎีพหุนิยมของดาห์ลได้ส่งอิทธิพลอย่างมากต่อความเข้าใจเกี่ยวกับการทำงานของอำนาจในสังคมประชาธิปไตย และยังคงเป็นกรอบการอ้างอิงที่สำคัญในการวิเคราะห์การเมือง รัฐบาล และนโยบาย
ในแง่แหล่งของอำนาจ ดาห์ลมองว่ามาจากการควบคุมทรัพยากรต่าง ๆ ทรัพยากรเหล่านี้อาจเป็นรูปธรรม เช่น เงินหรือโครงสร้างพื้นฐาน หรือเป็นนามธรรม เช่น ข้อมูล ความเชี่ยวชาญ หรือทุนทางสังคม การกระจายทรัพยากรเป็นปัจจัยสำคัญในพลวัตของอำนาจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ปรับเปลี่ยนและโต้แย้งได้เสมอ กลุ่มต่าง ๆ สามารถได้รับหรือสูญเสียอำนาจได้เมื่อเวลาผ่านไป และดุลยภาพของอำนาจสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามการเปลี่ยนแปลงทางสังคม การเคลื่อนไหวทางการเมือง การตัดสินใจด้านนโยบาย และปัจจัยอื่น ๆ
ดาห์ลยังเน้นย้ำถึงบทบาทของสถาบันการเมืองและกฎระเบียบที่เป็นทางการในการปรับเปลี่ยนพลวัตของอำนาจ สถาบันการเมืองสามารถชักนำและควบคุมอำนาจ และกฎที่ควบคุมกระบวนการทางการเมือง (เช่น การเลือกตั้งและการตัดสินใจของฝ่ายนิติบัญญัติ) สามารถส่งผลกระทบต่อวิธีการใช้และการโต้แย้งอำนาจ
และในการศึกษาอำนาจ ดาห์ลเสนอว่าควรใช้การวิเคราะห์เชิงประจักษ์ โดยมุ่งเน้นไปที่การกระทำและผลลัพธ์ที่สังเกตได้ หรือการศึกษาว่าใครมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ และอะไรคือผลลัพธ์ของนโยบาย ใครได้และใครเสียจากการตัดสินใจของรัฐบาล การศึกษาด้วยการตั้งคำถามลักษณะนี้จะทำให้สามารถอนุมานได้ว่าอำนาจอยู่ที่ไหนและใช้อย่างไร
อย่างไรก็ตาม แม้แนวคิดเรื่องอำนาจของโรเบิร์ต ดาห์ล มีอิทธิพลสูงในแวดวงวิชาการทางรัฐศาสตร์ แต่ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในหลายประเด็น
ประเด็นแรกคือ การประเมินอำนาจของชนชั้นนำต่ำเกินไป นักวิชาการสายมาร์กซิสต์ โต้แย้งว่าดาห์ลประเมินอำนาจของกลุ่มชนชั้นนำต่ำเกินไป โดยชี้ว่าอำนาจมีการรวมศูนย์มากกว่าที่ดาห์ลคิด ดังเห็นได้จากชนชั้นนำทางเศรษฐกิจสามารถใช้อิทธิพลเกินสัดส่วนต่อกระบวนการและผลลัพธ์ทางการเมือง และแบบจำลองพหุนิยมของดาห์ลไม่สามารถอธิบายปัจจัยโครงสร้างและเศรษฐกิจที่ฝังลึกที่ทำให้ชนชั้นนำทางเศรษฐกิจสามารถรักษาความเป็นใหญ่ของพวกเขาได้
ประเด็นที่สอง การละเลยอำนาจที่ไม่ใช่รัฐบาล กล่าวคือ ดาห์ลมุ่งเน้นไปที่พลวัตอำนาจภายในโครงสร้างทางการเมืองและรัฐบาล แต่มองข้ามอิทธิพลของหน่วยงานที่ไม่ใช่รัฐบาล เช่น สื่อมวลชน สถาบันการศึกษา และองค์กรทางวัฒนธรรม หน่วยงานเหล่านี้สามารถกำหนดความคิดเห็นของสาธารณชนและค่านิยมของสังคม ซึ่งใช้รูปแบบของอำนาจที่อยู่นอกกรอบความคิดของดาห์ล
ประเด็นที่สาม สมมติฐานเกี่ยวกับสนามการแข่งขันอำนาจที่เท่าเทียมกัน ทฤษฎีพหุนิยมของดาห์ลมีสมมติว่า การแข่งขันช่วงชิงอำนาจดำรงอยู่ในสนามที่มีความเท่าเทียมกัน โดยที่กลุ่มต่าง ๆ มีโอกาสเท่าเทียมกันในการมีส่วนร่วมและมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ แต่ความเป็นจริงคือ แต่ละกลุ่มในสังคมหาได้มีความเท่าเทียมกันอย่างใดในเรื่องการครอบครองทรัพยากร การเข้าถึงข้อมูล และการเผชิญกับอุปสรรคเชิงโครงสร้าง ความไม่เท่าเทียมของปัจจัยเหล่านี้สามารถจำกัดความสามารถในการใช้อำนาจของบางกลุ่มได้
ประเด็นที่สี่ การละเลยอิทธิพลของอุดมการณ์และวัฒนธรรม ดาห์ลไม่ได้พิจารณาอย่างเพียงพอว่าอุดมการณ์และวัฒนธรรมสามารถเป็นปัจจัยที่ทรงพลังในการกำหนดพลวัตของอำนาจ ทั้งที่อำนาจสามารถใช้ได้โดยการกำหนดบรรทัดฐาน ค่านิยม และความเชื่อของสังคม ซึ่งเป็นกระบวนการที่ขยายไปไกลกว่าขอบเขตของการตัดสินใจทางการเมือง
ประเด็นที่ห้า การเน้นพฤติกรรมที่สังเกตได้มากเกินไป ซึ่งเป็นการละเลยแง่มุมของอำนาจที่มีลักษณะเป็นนามธรรมและซ่อนเร้น โดยเฉพาะอำนาจที่ดำเนินการผ่านการจัดการวาระ การกำหนดการชอบ และการควบคุมการเล่าเรื่องทางการเมือง ซึ่งเป็นแง่มุมที่ไม่สามารถสังเกตได้โดยตรงเสมอไป รวมถึงความสามารถในการป้องกันไม่ให้บางเรื่องปรากฎขึ้นเป็นวาระสาธารณะ
กล่าวโดยสรุป ทฤษฎีอำนาจของ โรเบิตร์ต ดาห์ล เน้นธรรมชาติความสัมพันธ์ พฤติกรรม และกระจายตัวของอำนาจ เขามองว่าอำนาจเป็นความสามารถของตัวแสดงหนึ่งในการมีอิทธิพลต่อการกระทำของอีกฝ่ายหนึ่ง อำนาจไม่ได้เป็นคุณลักษณะคงที่ แต่แปรผันตามบริบทและทรัพยากร แนวคิดพหุนิยมของดาห์ลมองว่า ในสังคมประชาธิปไตยอำนาจกระจายไปตามศูนย์กลางหลายแห่งที่แข่งขันกัน แทนที่จะกระจุกตัวอยู่ที่ชนชั้นนำกลุ่มเดียว อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีของเขาถูกวิจารณ์ว่าประเมินอิทธิพลของชนชั้นนำต่ำเกินไปและมองข้ามรูปแบบอำนาจบางอย่าง