xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

Planet of the Apes @ ลพบุรี จากสัตว์คู่เมืองสู่วิกฤตใหม่คุกคามมนุษย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -“ลิง” เป็นสัตว์คู่เมืองละโว้มาอย่างยาวนาน

“คน” กับ “ลิง” ในพื้นที่ จ.ลพบุรี เคยอยู่ร่วมกันอย่างผาสุข


ทว่า ณ วันนี้ ลิงที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นโดยไร้การควบคุมได้กลายเป็น “วายร้าย” คุกคามชุมชนเมือง มุ่งแย่งชิงอาหารจากชาวบ้าน ก่อกวนผู้คนที่สัญจรไปมา กระทั่งยกระดับเป็น “วาระร้อน” ท้าทายรัฐบาลโดยเฉพาะ “กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” ที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ซึ่งล่าสุด ทำคลอด “แผนงานและการจัดตั้งกองอำนวยการจับลิงลพบุรี” พร้อมเดินเครื่องยุทธศาสตร์เร่งด่วนออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว


 ป่วนเมือง เพราะการจัดการล้มเหลว

“ลิงลพบุรีเป็นลิงที่อยู่มานาน มีหลักฐานการอยู่อาศัยของมนุษย์และลิงลพบุรีตั้งแต่พันกว่าปีที่แล้วที่มีรูปปั้นคนจูงลิง หรือถ้าย้อนไปใกล้ที่สุดร้อยกว่าปีที่ผ่านมา ก็มีหลักฐานการพบลิงแล้วก็มีการให้อาหารกับลิงที่ศาลพระกาฬ รวมถึงที่พระปรางค์สามยอดด้วย เพราะฉะนั้นจึงไม่อยากให้มองว่า ลิงเป็นผู้ร้าย ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา ลิงสร้างคุณประโยชน์ให้กับจังหวัดลพบุรีไม่น้อย แล้วก็ประชาชนและประชาชนชาวลพบุรีได้ประโยชน์จากลิงด้วยทั้งเรื่องของสัญลักษณ์และเรื่องของการท่องเที่ยว เพียงแต่ว่าเราอาจจะไม่ได้บริหารจัดการประชากรลิงที่ดีจนกลายมาเป็นการคุกคามและทำร้ายประชาชน แต่เราก็ไม่รู้ว่าคนก็อาจจะไปทำร้ายลิงบ้างเหมือนกัน” นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าว

คำสัมภาษณ์ข้างต้น เป็นประเด็นชวนให้พิจาราณาถึงบริหารจัดการประชากรลิงที่ล้มเหลวของหน่วยงานรัฐ จนลิงลพบุรีกลายมาเป็นภัยคุกคามชุมชนเมืองทำร้ายประชาชนในพื้นที่

กล่าวสำหรับ ปัญหาลิงใน จ. ลพบุรี กลับมาอยู่ในความสนใจของคนไทย หลังจากไม่นานมานี้เกิดไวรัลของเด็กหญิงที่ถือปืนปลอมขู่ลิง จ้องจะเข้ามาแย่งอาหารในมือจากเพจ Wildlife Photographer of the Year และภาพลิงถือปืนนั่งอยู่บนรั้วพระปรางค์สามยอด จากผู้ใช้เฟซบุ๊ก Narongdad Eiamtim
นอกจากนี้ ที่ผ่านมายังปรากฎข่าวเหตุปะทะรุนแรงต่อเนื่อง อาทิ กรณีลิงวิ่งไล่ตามมอเตอร์ไซค์เพื่อชิงถุงอาหาร กระโดดขึ้นเบาะหลังจนทำให้ชายผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ล้มคว่ำจนได้รับบาดเจ็บ, กรณีหญิงสาวโดนลิงแย่งชิงถุงกับข้าวขณะข้ามถนน ทำให้เธอล้มหงายหลังฟาดพื้น ได้รับบาดเจ็บสาหัส สะโพกและหัวเข่าหลุด, กรณีลิงกระโดดจากกันสาดมาแย่งอาหารในมือของเด็กชายที่ถือไม้คอยไล่ลิง เป็นต้น

ความขัดแย้งระหว่างลิงกับมนุษย์มายาวนานไม่ใช่ปัญหาใหม่ แต่ปัจจุบันปรากฎภาพความรุนแรงมากขึ้น สำหรับเหตุการณ์รุนแรงโดนลิงลพบุรีทำร้ายบาดเจ็บ สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย  ให้ความรู้แก่ประชาชนผ่านเฟซบุ๊กสมาคมฯ ความว่า สามารถฟ้องคดีปกครองเรียกร้องให้กรมอุทยานฯ และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง รับผิดชอบค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมได้ เหตุละเลยการปฏิบัติหน้าที่ไม่ดูแลปล่อยให้ลิงทําร้ายประชาชน

“..บันทึกจากนายกสมาคมทนายความฯ ตามที่ปรากฏข่าวทางสื่อมวลชนว่าลิงที่จังหวัดลพบุรี ซึ่งกรมอุทยาน สัตว์ป่า และพันธ์พืช ได้ขึ้นทะเบียนเป็นสัตว์ป่าสงวนฯ ได้ออกมาทําร้ายประชาชน เพื่อแย่งอาหาร สร้างความเดือดร้อน ซึ่งเดิมกรมอุทยานฯ ได้กําหนดหลักเกณฑ์การช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบไว้เฉพาะช้างป่ากับกระทิงเท่านั้น ซึ่งลิงยังไม่ได้ถูกบรรจุอยู่ในหลักเกณฑ์การช่วยเหลือดังกล่าว

“...การที่รัฐโดยกรมอุทยาน สัตว์ป่าและพรรณพืช ขึ้นทะเบียนลิงลพบุรีเป็นสัตว์ป่าสงวน แต่กลับปล่อยให้อยู่กับประชาชน รัฐจึงมีหน้าที่จะต้องดูแลไม่ให้การดำเนินการของรัฐกระทบต่อ สุขภาพอนามัยและคุณภาพชีวิตของประชาชน อันเป็นหน้าที่ของรัฐตามรัฐธรรมนูญ การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้รับผิดชอบกลับปล่อยปละละเลยไม่ดูแล ทําให้ลิงไปทําร้ายและแย่งอาหารจากประชาชน จนทําให้ได้รับบาดเจ็บตามที่เป็นข่าวนั้น จึงเป็นการปล่อยปละละเลยต่อหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ทําให้ประชาชนได้รับความเสียหายอันเป็นการละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420

“...ด้วยเหตุดังกล่าว หากประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากการกระทําของลิง และได้รับการเยียวยาจากรัฐไม่เพียงพอต่อความเสียหายที่ได้รับ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ กลุ่มนี้จึงยังมีสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมาย ที่จะฟ้องคดีปกครองเรียกร้องให้กรมอุทยาน สัตว์ป่า พรรณพืช และหรือ หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ให้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมให้รับ มูลค่าความเสียหายจริงจากเจ้าหน้าที่ของรัฐฯ ที่ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ไม่ดูแล ปล่อยให้ลิงทําร้ายประชาชน ตาม พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 9(2) ประกอบพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง”




ต่อมา  พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้สั่งการให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มอบหมายเจ้าหน้าที่เข้าช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บ พร้อมทั้งให้กำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยา ให้กับผู้ได้รับบาดเจ็บจากการถูกลิงทำร้าย

โดยหลักเกณฑ์และวิธีการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสัตว์ป่า พ.ศ.2567 ซึ่งกำหนดให้สามารถใช้เงินอนุรักษ์สัตว์ป่า จ่ายให้แก่ผู้ที่ถูกช้างป่า กระทิง ลิงและหมี กรณีถูกสัตว์ป่าชนิดเหล่านี้ทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ซึ่งมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป ดังนี้

1. กรณีบาดเจ็บ (1) ทุพพลภาพอัมพาต ได้รับเงินจำนวน 100,000 บาท, สูญเสียแขน ขา หรือสายตา (ตาบอด) ทั้งสองข้าง หรือ แขน ขา สายตา (ตาบอด) รวมสองแห่ง ได้รับเงินจำนวน 100,000 บาท, สูญเสียแขน ขา หรือสายตา (ตาบอด) หนึ่งข้าง ได้รับเงินจำนวน 50,000 บาท (2) บาดเจ็บทั่วไป ได้รับบาดเจ็บเท่าที่จ่ายจริง ได้รับเงินจำนวนไม่เกิน 30,000 บาท (3) ค่าขาดประโยชน์ในการทำมาหาได้ระหว่างพักรักษาตัว ระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน นับแต่วันที่ไม่สามารถประกอบการงานได้ตามปกติ ตามความเห็นแพทย์ ได้รับเงินจำนวนไม่เกิน 300 บาท (ต่อวัน) และ 2. กรณีเสียชีวิต (1) ค่าช่วยเหลือเยียวยา จำนวน 100,000 บาท

กล่าวสำหหรับปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับลิงในพื้นที่ชุมชนมีความรุนแรงมากขึ้น สาเหตุหลักๆ เป็นเรื่องของพื้นที่ทับซ้อนกันระหว่างพื้นที่อยู่อาศัยของลิงกับชุมชน และเนื่องจากประชากรลิงมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่แหล่งที่อยู่อาศัยของลิงลดลง โดยถูกนำไปใช้ประโยชน์สร้างเป็นที่พักอาศัย ทำเป็นพื้นที่เกษตรกรรม รวมถึงสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง แห้งแล้ง ทำให้ปริมาณอาหาร และน้ำในป่าธรรมชาติลดลง

โดยก่อนหน้านี้ ลิงลพบุรีจะหากินอยู่ในบริเวณโบราณสถาน พระปรางค์สามยอด และ ศาลพระกาฬ แต่ภายหลังกลับบุกรุกเข้าไปตามบ้านเรือน โดยวัตถุประสงค์หลักๆ เพียงเพราะต้องการอาหาร จนก่อเหตุแย่งอาหาร จนเป็นเหตุทำร้ายชาวบ้านและนักท่องเที่ยว เกิดอุบัติเหตุและมีผู้บาดเจ็บอยู่หลายครั้ง






 MOU แก้ปัญหาลิงลพบุรี
ยุทธศาสตร์จัดการลิงยั่งยืน 

สำหรับจำนวนประชากรลิงประเทศไทย ข้อมูลกรมอุทยาน สัตว์ป่า และพันธ์พืช ตรวจสอบพบพื้นที่ 292 แห่งใน 52 จังหวัดทั่วประเทศ มีจำนวนลิง 68,960 ตัว โดย จ.ลพบุรี พบลิงมากถึง 8,584 ตัวในพื้นที่ 6 อำเภอ

อ้างอิงจากผลสำรวจประจำปีงบประมาณ 2566 ของ ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 สาขาสระบุรี ล่าสุด ปี 2566 พบจำนวนประชากรลิงลพบุรีในเขตเมืองเก่า อยู่ที่ 2,206 ตัว ซึ่งลดลงจาก ปี 2565 อยู่ที่ 2,423 ตัว หรือลดลง 217 ตัว

ลิงถือเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 มีอยู่ด้วยกัน 4 สายพันธุ์ ประกอบด้วย ลิงแสม, ลิงวอก, ลิงกัง และลิงเสน นอกจากนี้ ยังพบการผสมข้ามสายพันธุ์อีกด้วย

ที่ผ่านมา รัฐมีมาตรการควบคุมประชากรลิงโดยตรง แต่แม้จะดำนินการทำหมันลิงอย่างเข้มข้น แต่กลับถูกมองว่าการทำหมันอาจจะไม่ได้มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เพราะคนส่วนใหญ่ติดภาพจำประชากรลิงที่ล้นหลาม อย่างไรก็ดี การทำหมันลิงมีปัญหาติดขัดเรื่องงบประมาณไม่เพียงพอ อีกทั้งยังต้องกระจายออกไปแก้ปัญหาลิงในจังหวัดอื่นๆ เช่น นครสวรรค์, เพชรบุรี, ชลบุรี เป็นต้น

ข้อมูลจากกรมอุทยานฯ ระบุว่า ที่มีการทำหมันลิงใน จ.ลพบุรี ตัวเลขสะสมตั้งแต่ปี 2557 - ปัจจุบัน ทั้งหมด 5,135 ตัว (ตัวเลขสะสม) ซึ่งในเขตเทศบาลเมืองลพบุรี ทำได้ทั้งสิ้น 2,757 ตัว ส่วนจำนวนประชากรลิงเมื่อปี 2566 ระบุว่า ทั้งจังหวัด มีอยู่ 5,709 ตัว เฉพาะในเขตเทศบาลเมือง มี 2,206 ตัว

โดยช่วงต้นปีที่ผ่านมา มีการลงนามความร่วมมือ หรือ MOU ระหว่างกรมอุทยานแห่งชาติฯ กับเทศบาลเมืองลพบุรี โดยการลงนามจะช่วยแก้ปัญหาลิงที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมในบริเวณเมืองเก่า อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี และเพื่อเป็นการคุ้มครองสัตว์ป่า การบำบัดเยียวยาสัตว์ป่า การป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชน

เพราะลิงแสมเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 อยู่ในความดูแลและรับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ทั้งสองฝ่ายจึงตกลงร่วมมือกันดำเนินการบริหารจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาลิงในเขตเทศบาลเมืองลพบุรี

ด้วยการดำเนินการอย่างเป็นระบบตามหลักวิชาการ การสร้างกรงพักพิงลิงสำหรับเป็นที่ปรับพฤติกรรมลิง และนำลิงที่ได้รับการทำหมันแล้วไปไว้ที่กรงพักพิงลิง เพื่อเตรียมการเคลื่อนย้ายลิงไปดูแลในสถานอนุบาลลิง (สวนลิง) ตำบลโพธิ์เก้าต้น อำเภอเมืองลพบุรี รวมทั้ง มีแนวทางพิจาราณาปล่อยคืนสู่ธรรมชาติต่อไป

ล่าสุด นายอรรถพล เจริญชันษา  อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช แถลงเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาลิงในพื้นที่จังหวัดลพบุรี มีการทำคลอด  “แผนงานและการจัดตั้งกองอำนวยการจับลิงลพบุรี”  ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้กำหนดให้ตั้งกองอำนวยการจับเคลื่อนย้ายลิงเมืองเก่าลพบุรี

ทั้งนี้ จำนวนลิงในพื้นที่เมืองเก่าลพบุรีปัจจุบันคาดว่ามีจำนวนประมาณ 2,500 ตัว โดยมีแผนเตรียมการจับ เคลื่อนย้ายลิงเข้าศูนย์พักพิงลิงโพธิ์เก้าต้น อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี เฟสที่1 จำนวน 3 กรง ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้กำหนดให้ตั้งกองอำนวยการจับเคลื่อนย้ายลิงเมืองเก่าลพบุรี โดยมีแผนเตรียมการจับ เคลื่อนย้ายลิงเข้าศูนย์พักพิงลิงโพธิ์เก้าต้น อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี

โดยลำดับที่ 1 ดำเนินการจับลิงฝูงพื้นที่โรงแรมเอเชีย และร้านเซ่งเฮง จำนวนประมาณ 200 ตัว จะนำไปใส่กรงที่ 3 ดำเนินการระหว่างวันที่ 18-20 เมษายน 2567, ลำดับที่ 2 ดำเนินการจับลิงฝูงด้านหน้าและด้านหลังร้านชโยวานิช จำนวนประมาณ 300 ตัว จะนำไปไว้ในกรงที่ 2 ดำเนินการประมาณเดือนพฤษภาคม 2567 และลำดับที่ 3 ดำเนินการจับลิงฝูงตลาดมโนราห์ จำนวนประมาณ 237 ตัว จะนำไปไว้ในกรงที่ 1 ดำเนินการประมาณเดือนพฤษภาคม 2567 รวมดำเนินการจับเคลื่อนย้ายลิงเข้าศูนย์พักพิงโพธิ์เก้าต้นของกรงเฟสแรก จำนวนประมาณ 700 - 800 ตัว

ส่วนลิงที่เหลือประมาณ 1,500 ตัว จะรอการก่อสร้างกรงลิงเฟส 2 ของศูนย์พักพิงลิงโพธิ์เก้าต้น หรือบริเวณวัดพระบาทน้ำพุ หรือสถานที่อื่นที่เหมาะสมซึ่งกรมอุทยานฯ จะได้ประสานการดำเนินการต่อไป

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์(สบอ.) ที่ 1 สาขาสระบุรี ได้เข้าดำเนินการจับลิงที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว ด้วยการยิงยาสลบหรือวางกรงขนาดเล็กดักเป็นรายตัว ก็เพื่อช่วยเหลือประชาชนเบื้องต้นในระหว่างรอกรงพักพิงลิงโพธิ์เก้าต้น (เฟสที่ 1) ให้มีความพร้อมเท่านั้น เมื่อกรงพร้อมก็จะระดมกำลังจับเคลื่อนย้ายลิงเข้ากรง โดยกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ดำเนินการหารือวางแผนการจับเคลื่อนย้ายลิงร่วมกับเทศบาลเมืองลพบุรีไว้เรียบร้อยแล้ว ลิงทุกตัวที่จับมาพักไว้ที่กรงพักพิงลิงจะต้องทำหมันก่อนทุกตัว

 ท้ายที่สุด สถานการณ์จะคลี่คลายเป็นประจักษ์หรือไม่นั้นคงต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด งานนี้ต้องยอมรับว่า การแก้ปัญหา “ลิงลพบุรี” ยากเสียยิ่งกว่า “ลิงแก้แห” 
 


กำลังโหลดความคิดเห็น