xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“โจ๊ก” ดิ้นหลายที สุดท้ายจบที่ “หมายจับ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -หลังจากใช้สารพัด “เล่ห์เหลี่ยม” เพื่อหลีกเลี่ยงการรับ “หมายเรียก” ถึง 3 ครั้ง 3 ครา ในที่สุด ศาลก็อนุมัติให้ออก “หมายจับ” บิ๊กโจ๊ก-พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นที่เรียบร้อยเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา จะเรียกว่า “โจ๊กจนมุม” ก็คงไม่ผิดไปจากความเป็นจริงเท่าใดนัก ที่สำคัญคือได้ทำให้การดิ้นเพื่อขอให้ “กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)” และ “สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)” เป็นผู้ทำคดี ต้องจบลงไปด้วย เนื่องเพราะมีคำวินิจฉัยออกมาชัดเจนว่า “คดีนี้เป็นอำนาจของศาล”

อย่างไรก็ตาม กว่าที่ศาลจะอนุมัติหมายจับ ก็มีเรื่องราวระหว่างบรรทัดที่น่าสนใจ และแสดงให้เห็นว่า “บิ๊กโจ๊ก” ดิ้นและหาแง่มุมทางกฎหมายสุดตัว

กล่าวคือ ในช่วงเช้า คณะพนักงานสอบสวนใน “คดี BNK Master” ได้รวบรวมพยานหลักฐานขออนุมัติหมายจับในข้อหาฟอกเงินและสมคบกันฟอกเงิน และเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันฟอกเงิน แต่ “บิ๊กโจ๊ก” ได้ส่งหนังสือชี้แจงมายังคณะไต่สวน แสดงข้อมูลว่าขณะนี้ในส่วนของคดีอยู่ในขั้นตอนการยื่นกรมสอบสวนคดีพิเศษ เนื่องจากมูลฐานความผิดเข้าเงื่อนไขเป็นคดีพิเศษ ทำให้ทางศาล เรียกไต่สวนรอบ 2 ภายในวันเดียวกันในช่วงบ่าย

ก่อนที่ในเวลา 16.40 น. พ.ต.ท.สราวุธ บุตรดี รองผู้กำกับการ (สอบสวน) สน.สายไหม ในฐานะคณะพนักงานสอบสวนคดี BNK Master จะเปิดเผยว่าศาลอาญาอนุมัติหมายจับ “บิ๊กโจ๊ก” และหากพบตัวก็สามารถจับกุมได้ทันที

ความน่าสนใจของ “หมายจับ” ครั้งนี้ก็คือ พยานหลักฐานที่พนักงานสอบสวนในคดีดำเนินการรวบรวมมาเสนอต่อศาล “แน่นหนาเพียงพอ” และเป็นสิ่งที่พนักงานสอบสวนในคดีนี้สามารถดำเนินการได้ ประกอบกับพฤติการณ์ของผู้ต้องหาในคดี “มีความพยายามในการหลบเลี่ยง การแสดงตัวกับพนักงานสอบสวน หลังจากพนักงานสอบสวนมีการอนุมัติหมายเรียกถึงสามครั้ง”

ที่สำคัญคือ ศาลระบุเอาไว้ด้วยว่า “คดีนี้เป็นอำนาจของศาลอาญา” จึงเป็นสาเหตุให้มีคำสั่งอนุมัติหมายจับ

ข้อหาที่ถูกออกหมายจับก็คือ สมคบกันกระทำความผิด ฐานฟอกเงิน และเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันฟอกเงิน ตามที่สมคบกัน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 5, 9, 10

จากนั้นในเวลา 17.30 น. “บิ๊กโจ๊ก” ได้เดินทางเข้ามอบตัวที่ สน.เตาปูน โดยมี “ลูกน้องคนสนิท” อย่าง พล.ต.ต.นำเกียรติ ธีระโรจนพงษ์ พ.ต.อ.ภาคภูมิ พิสมัย พ.ต.อ.อาริศ คูประสิทธิ์รัตน์ พ.ต.ท.คริษฐ์ ปริยะเกตุ เป็นต้น ตามมาสมทบเพื่อให้กำลังใจ ก่อนที่จะได้รับการประกันตัวออกมาสู้คดี

“ขอไม่พูดรายละเอียด ตอนนี้ทุกอย่างอยู่ในกระบวนการยุติธรรมแล้ว ได้ประกันตัวตามปกติ วันนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการกล่าวหาตามหลักกระบวนการยุติธรรมไทย ตราบใดที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษายังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ และก่อนหน้านี้ ตนถูกออกหมายเรียกมาหลายครั้ง วันนี้ถูกศาลออกหมายจับก็ต้องยอมรับ และต่อสู้ตามกระบวนการ ส่วนเรื่องพิมพ์ลายนิ้วมือก็ยืนยันว่าทำตามขั้นตอนปกติ”บิ๊กโจ๊กกล่าวหลังได้รับการประกันตัวออกมา

อย่างไรก็ดี ถ้าหากไล่เรียงดู “เส้นเรื่อง” ก็จะเห็นชัดว่า “บิ๊กโจ๊ก” พยายามที่จะให้คดีนี้หลุดออกไปจากมือของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยได้ไปยื่นเรื่องต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 อ้างว่า เป็นความผิดมูลฐานซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวคือเป็นคดีเกี่ยวกับการกระทำความผิดที่มีมูลค่าตั้งแต่ 300 ล้านบาทขึ้นไป


ต่อมาเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2567 ดีเอสไอก็ได้ออกเอกสารเผยแพร่โดยสรุปรวมความได้ว่า “คดีในทำนองนี้ทางดีเอสไอได้เคยมีหนังสือหารือไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช. เกี่ยวกับแนวปฏิบัติตามมาตรา 30 วรรคสองแล้ว ซึ่วสำนักงาน ป.ป.ช.ได้มีหนังสือที่ ปช 0026/0089 ลงวันที่ 22 ต.ค.2562 แจ้งว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่า คดีลักษณะใดเป็นคดีที่มีการกระทำความผิดเกี่ยวข้องกัน และความผิดเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่จะต้องดำเนินการในคราวเดียวกันนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช.จะพิจารณาวินิจฉัยตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเป็นรายกรณีไป ซึ่งกรณีดังกล่าวเป็นประเด็นสำคัญเกี่ยวกับอำนาจการสืบสวนและสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ แต่เมื่อกรมสอบสวนคดีพิเศษไม่มีข้อเท็จจริงในคดีอาญาหลักที่มีการกล่าวอ้างที่จะเป็นข้อมูลประกอบการวินิจฉัย และเมื่อพิจารณาประกอบหนังสือสำนักงาน ป.ป.ช.ข้างต้น คณะพนักงานสืบสวนจึงมีมติเสนออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษให้ส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช.เพื่อพิจารณาพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 30 วรรคสอง

“แต่หากภายหลังคณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาแล้ว เห็นว่ามิใช่กรณีที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรมสอบสวนคดีพิเศษจะพิจารณาดำเนินการตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม”

แปลไทยเป็นไทยก็คือ ดีเอสไอก็ไม่แน่ใจว่าจะอยู่ในอำนาจของตนหรือไม่ เพราะไม่มีข้อเท็จจริงแห่งคดีประกอบการพิจารณา ดังนั้น จึงขอให้ ป.ป.ช.เป็นผู้วินิจฉัยให้

นอกจากนั้น หากยังจำกันได้จะเห็นว่า ทาง “ทีมโจ๊ก” และ “ทนายตั้ม-ษิทรา เบี้ยบังเกิด” พยายามออกมาให้ข้อมูลว่า คดี BNK Master นั้น มี “เส้นเงิน” ที่เชื่อมโยงกับ 34 บัญชี ซึ่งรวมไปถึงนายตำรวจระดับสูง บุคคลในครอบครัว ทั้งภรรยา พี่สาว และคนใกล้ชิด แต่ไม่มีการดำเนินการใดดังที่ทีมทนายใช้คำว่า “อินทรีเลือกเหยื่อ” ขณะเดียวกันกลับพยายามเชื่อมโยงเส้นทางการเงินของผู้ต้องหาคดีเว็บพนันออนไลน์ให้มาถึงตัว พล.ต.อ.สุรเชษฐ์

“จากการตรวจสอบเส้นทางการเงินของเว็บพนันออนไลน์ BNK Master ที่มีชื่อของ น.ส.พิมพ์วิไล พบมีความเชื่อมโยงกับ 34 บัญชี ซึ่งได้สอบถาม พล.อ.สุรเชษฐ์ และตรวจสอบเอกสารประกอบแล้วไม่พบความเชื่อมโยง แต่กลับมีความพยายามผูกไปถึงคดีเว็บพนันมินนี่ในพื้นที่ สน.ทุ่งมหาเมฆ เพื่อให้โยงไปถึง พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ จากเส้นทางการเงินของผู้ต้องหาเชื่อมโยงไปถึงบัญชีของ พ.ต.ท.คริษฐ์ ปริยะเกตุ อดีต รอง ผกก.สส.สภ.สำโรงเหนือ ลูกน้องของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ขณะที่มีการโอนเงินจาก น.ส.พิมพ์วิไล กว่าสิบล้านบาทไปยังผู้ต้องหาในคดีเว็บพนันออนไลน์ BNK Master ของ สน.เตาปูน คดีนี้จึงมีความเกี่ยวข้องกับคดีเว็บพนันออนไลน์มินนี่ที่อยู่ในอำนาจการสอบสวนของ ป.ป.ช. ดังนั้นพนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจที่จะไปตรวจสอบอีกแล้ว” นายณัฐวิชช์ เนติจารุโรจน์ ทีมทนายความอธิบายก่อนหน้าที่จะมีการออกหมายจับ “บิ๊กโจ๊ก”

ขณะที่ทางพนักงานสอบสวนยืนยันว่า เป็นคนละคดีกับเว็บพนันมินนี่ ซึ่งการฟ้องผู้ต้องหาในคดี เป็นข้อหาสมคบกันฟอกเงินและร่วมกันฟอกเงิน เป็นความผิดเฉพาะตัว สอดคล้องกับนายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการ ป.ป.ช. ที่น่าจะหา “ร่อง” ไม่เจอ โดยระบุว่า หากพิจารณาตามข้อกล่าวหา คดีสมคบกันฟอกเงินไม่ต้องส่งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณา เพราะไม่อยู่ในกรอบอำนาจ แม้คนที่ถูกกล่าวหาจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ

ทั้งนี้ การให้สัมภาษณ์ของพนักงานสอบสวนและ เลขา ฯ ป.ป.ช.น่าจะมีความชัดเจนอยู่ในตัว แต่ “ทีมโจ๊ก” ก็ยังพยายามดิ้นในประเด็นนี้อยู่เหมือนเดิม และในที่สุดทุกอย่างก็เป็นอันยุติเมื่อศาลอาญาไต่สวนกระบวนความและตัดสินใจอนุมัติ “หมายจับ” ด้วยเห็นว่า “คดีนี้เป็นอำนาจของศาลอาญา” ซึ่งนั่นก็หมายความว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีอำนาจในการทำคดี ดังนั้น ความพยายามที่จะให้ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษหรือการโอนคดีไปให้ ป.ป.ช.ดำเนินการก็เป็นอันว่า จบไป

แน่นอน เมื่อตกเป็นผู้ต้องหาคดีฟอกเงินตามหมายจับของศาลอาญาแล้ว คงต้องติดตามกันต่อไปว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไปกับ “บิ๊กโจ๊กและคณะ” เพราะเรื่องคดีความคงต้องสู้กันอีกยาว ว่ากันไปตามพยานหลักฐาน ทั้งในชั้นตำรวจ อัยการ และอีก 3 ศาล

อย่างไรก็ตาม ตามหลักการบริหารของสำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้ว เมื่อมีนายตำรวจต้องคดีอาญาร้ายแรงขนาดนี้ก็จะมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัย สอบให้รู้ผลภายใน 30 วัน หากพบว่าอยู่ในตำแหน่งไปก็สร้างความเสื่อมเสียให้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งโดยทั่วไป ก็จะมี “คำสั่งให้พักราชการ” หรือ “ให้ออกจากราชการไว้ก่อน” เพื่อรอผลได้ โดยยังคงได้รับเงินเดือน มีเบี้ยหวัดบำนาญตามเดิม


เรียกว่าเป็นไฟท์บังคับ ในการดำเนินการกับตำรวจที่โดนคดีอาญาร้ายแรง เป็นแนวทางปกติทั่วไปที่กระทำกันมาตลอด

งานนี้จึงอยู่ในมือของ “พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์” รักษาราชการ ผบ.ตร. ที่ “นายเศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะนายใหญ่ของตำรวจ ตัดสินใจส่งมากวาดบ้าน จะต้องดำเนินการกับ “บิ๊กโจ๊ก” อย่างตรงไปตรงมา ซึ่งก็น่าจะรวมไปถึงบรรดาลูกน้องรอบตัวทั้ง 8 ที่โดนคดีส่วยมินนี่ชุดแรก และลูกน้องอีก 4 นาย ที่โดนคดีส่วยมินนี่ชุดสอง แต่กลับถูก “ต่อ เฟรนด์ลี่” พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เข้าเกียร์ว่างปล่อยให้ตำรวจกลุ่มนี้ได้อยู่ในตำแหน่งตามเดิม ส่งผลทำให้มีปัญหาในการยุ่งเกี่ยวหรือแทรกแซงคดี โดยแม้แต่ “อัยการอาวุโส” ยังเคยโดน “กลุ่มลูกน้องบิ๊กโจ๊ก” ไปตามข่มขู่คุกคาม

“ในขั้นตอนกระบวนการสืบสวนข้อเท็จจริง จะยังไม่มีการพิจารณาในเรื่องของ การพักราชการ ออกราชการ หรือสำรองราชการไว้ก่อน เพราะเป็นการปฏิบัติภายใต้กฎ ก.ตร. ที่กำหนดไว้ การสืบสวนของเท็จจริงของคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงจะต้องใช้ระดับไม่ต่ำกว่าที่มียศต่ำกว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ซึ่งตรงนี้ตนต้องไปพิจารณาว่าจะมอบหมายให้ใคร ขณะนี้ยังไม่ถึงกระบวนการดังกล่าว

“แต่หากการสืบสวนข้อเท็จจริงปรากฎเหตุออกมาว่า มีการกระทำความผิดวินัยร้ายแรงเกิดขึ้นก็จะไปเข้าอีกบทบัญญัติหนึ่งของมาตรา 119 ใน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ว่าจะต้องมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนพิจารณาทางวินัยอีกระดับหนึ่ง ซึ่งในขั้นตอนนั้นก็จะมีการใช้การพิจารณาว่าเข้าเงื่อนไขในกฎ ก.ตร. หรือไม่ เข้าองค์ประกอบที่บัญญัติไว้ในกฎหมายตำรวจปี 2565 ในมาตรา 112 หรือไม่ ซึ่งมีการกำหนดไว้อยู่แล้ว” พล.ต.อ.กิตติ์รัฐว่าไว้อย่างนั้น

ส่วนที่ “ทนายตั้ม หวานเจี๊ยบ” ษิททรา เบี้ยบังเกิด หอบหลักฐานเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับ “บิ๊กต่อ” พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร.และภรรยา กับบัญชีม้าอีก 2 คน รวม 4 คน ในข้อหาร่วมกันฟอกเงินและสมคบกันฟอกเงินพร้อมนำพยานหลักฐานมอบให้นั้น ก็เป็นที่รับรู้กันว่า นั่นคือ “สงครามตัวแทน” เพราะ “ทนายตั้ม” นั้น มีความสัมพันธ์อันดีกับ “บิ๊กโจ๊ก” มาแต่เก่าก่อน

อย่างไรก็ดี นั่นเป็นเรื่องในทางกฎหมายที่คณะพนักงานสอบสวนจะต้องดำเนินการต่อไปตามขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม เพราะถ้ามีหลักฐานชัดแจ้งดังที่ว่า ก็คงไม่อาจ “เอามือซุกหีบ” ได้อย่างแน่นอน ด้วยทีมโจ๊กมิได้แค่แจ้งความที่สน.เตาปูนเท่านั้น หากยังยื่นเรื่องต่อ “สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ” หรือ ปปป. รวมทั้งร้องเรียนต่อคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ (ก.ร.ตร.) ที่มี พล.ต.ท.สรศักดิ์ เย็นเปรม เป็นประธานฯ

ไม่นับรวมถึงการวิ่งโร่ไปยื่นหลักฐานให้ทีมงานผู้นำฝ่ายค้าน อย่าง นายชัยธวัช ตุลาธน กับนายรังสิมันต์ โรม จากพรรคก้าวไกล ให้นำเรื่องดังกล่าวไปพิจารณาเป็นข้อมูลอภิปรายดิสเครดิตรัฐบาลอีกด้วย

ถึงตรงนี้ คำถามทั้งหลายทั้งปวงคงจะต้องย้อนกลับไปที่ “ป.ป.ช.” ที่มี “บิ๊กกุ้ย-พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ” เป็นประธานว่า เมื่อไหร่จะมีความคืบหน้าในการสอบสวนทวนความคดีเว็บพนันมินนี่ที่รับโอนมาดำเนินการเสียที เพราะเวลาก็เนิ่นนานมาพอสมควรแต่ก็ยังไม่มีอะไรออกมาเป็นชิ้นเป็นอัน จนสังคมอดตั้งข้อสังเกตไม่ได้ว่า “จะรอให้บิ๊กบราเธอร์สอย่างพี่ป้อมสั่งการมาก่อนหรืออย่างไร” ด้วยก็รู้ๆ กันอยู่ว่า ทั้ง “บิ๊กโจ๊กและบิ๊กกุ้ย” นั้น เป็น “คนบ้านเดียวกัน”

ยิ่งขยับช้าก็ยิ่งอาจทำให้เข้าใจไปได้ว่า ต้องการ “ดองคดี” และแสดงว่ามี “ธง” ในการเอื้อเฟื้อต่อ “บิ๊กโจ๊ก” หรือไม่ อย่างไร


กำลังโหลดความคิดเห็น