xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

กองทุนประกันวินาศภัยถังแตก ชะลอจ่ายหนี้ เจอ จ่าย จบ(เห่) รอกู้3พันล้าน-รัฐฯอุดหนุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ประกันภัยโรคระบาดโควิด-19 “เจอ-จ่าย-จบ” ยังเป็นปัญหาเรื้อรังไม่จบสิ้น ล่าสุดกองทุนประกันวินาศภัย (กปว.) เงินหมดเกลี้ยง แจ้งชะลอจ่ายคืนหนี้ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2567 เป็นต้นไป และยังไม่แน่ว่าจะกลับมาชำระหนี้ที่ติดค้างผู้เอาประกันโดยเร็วที่สุดเมื่อไหร่ เพราะต้องรอเงินสนับสนุนจากรัฐบาลและแผนกู้เงิน 3,000 ล้านบาท  

การแจ้งชะลอจ่ายหนี้ครั้งนี้นับเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของสังคม โดยเฉพาะผู้เอาประกันภัย (เจ้าหนี้) เกือบ 7 แสนราย ที่ทำประกันกับบริษัทประกันภัย 4 แห่งที่ปิดกิจการไปจากการรับประกันภัยโควิด ซึ่งมีมูลหนี้กว่า 60,000 ล้านบาท ยังไม่นับอีกรายคือ สินมั่นคงที่มีพอร์ตเจ้าหนี้เบิ้มๆ กว่า 300,000 ราย คิดเป็นมูลหนี้กว่า 30,000 ล้านบาท ที่อาจถูกโอนมาให้ กปว.ชำระหนี้แทน เช่นเดียวกับบริษัทประกันภัย 4 แห่งที่ปิดกิจการไปก่อนหน้านี้ ซึ่งหากรวมหนี้สองก้อนแล้วตกประมาณ 90,000 ล้านบาท ขณะที่ กปว. พิจารณาอนุมัติจ่ายหนี้เพียงเดือนละ 300-400 ล้านบาท และบัดนี้กองทุนฯก็ไม่มีเงินเหลือแล้ว
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา กองทุนฯ ขอแจ้งเรื่องการปรับเปลี่ยนรอบการขออนุมัติการจ่ายเงินให้แก่เจ้าหนี้ ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัย ในกรณีที่บริษัทถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย โดยสรุปรวมความว่า นับตั้งแต่จัดตั้งกองทุนฯ ตามพ.ร.บ.ประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 จนถึงปัจจุบันมีบริษัทประกันภัยถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจวินาศภัย จำนวนทั้งสิ้น 14 บริษัท

โดยเฉพาะช่วงปี 2562-2565 ซึ่งเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้บริษัทประกันภัยที่รับประกันภัยจากการติดเชื้อโควิด ไม่มีเงินจ่ายค่าสินไหมทดแทน จนทำให้บริษัทถูกเพิกถอนใบอนุญาตและปิดกิจการลงอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน), บริษัท เดอะ วัน ประกันภัย จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน)  

การปิดตัวลงของบริษัทดังกล่าว ส่งผลทำให้กองทุนประกันวินาศภัยต้องชำระหนี้แทนตามกฎหมาย และทำให้กองทุนประกันวินาศภัยมีภาระหนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ประมาณ 60,000 ล้านบาท มีจำนวนเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัยมากกว่า 600,000 ราย

ที่ผ่านมา กปว.ดำเนินการตามภารกิจที่กฎหมายกำหนด โดยกองทุนฯ ได้ดำเนินการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้เสร็จสิ้นแล้ว 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท ศูนย์สุขภาพประเทศไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท สัญญาประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท สัจจะประกันภัย จำกัด (มหาชน) ปัจจุบันกองทุนประกันวินาศภัยอยู่ระหว่างการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้อีกจำนวน 7 บริษัท ได้แก่ บริษัท สัมพันธ์ประกันภัย จำกัด, บริษัท เอ.พี.เอฟ. อินเตอร์เนชั่นแนล อินชัวร์รันส์ จำกัด, บริษัท เจ้าพระยาประกันภัย จำกัด (มหาชน), บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน), บริษัท เดอะ วัน ประกันภัย จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน)

 เมื่อรวมเงินค่าสินไหมทดแทนที่กองทุนประกันวินาศภัย พิจารณาอนุมัติชำระหนี้แทนบริษัทที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตแล้วทั้งสิ้นมากกว่า 8,517 ล้านบาท เจ้าหนี้ที่ได้รับชำระหนี้แล้วทั้งสิ้น 145,948 ราย ทั้งนี้ยังไม่รวมอีก 4 บริษัทที่อยู่ระหว่างการชำระบัญชีของบุคคลภายนอกและรอการนำส่งมาให้กองทุนประกันวินาศภัยชำระหนี้ต่อไป 


ในช่วงปี 2566 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2567 กองทุนประกันวินาศภัย สามารถพิจารณาคำทวงหนี้ และเสนอขออนุมัติจ่ายเงินให้แก่เจ้าหนี้ได้ประมาณเดือนละ 7,000-8,000 กรมธรรม์ คิดเป็นเงินที่ขออนุมัติจ่ายให้แก่เจ้าหนี้แต่ละเดือนไม่น้อยกว่า 350-400 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน กองทุนฯ ได้พยายามจัดหาแหล่งเงินทุนเพื่อนำมาชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ โดยแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาเกี่ยวกับการจัดหาแหล่งเงินทุน กล่าวคือ

 ประการแรก  เสนอขอปรับเพิ่มอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนประกันวินาศภัย ตามมาตรา 80/3 จากเดิมอัตราร้อยละ 0.25 ปรับเพิ่มเป็นอัตราร้อยละ 0.25 ของเบี้ยประกันภัยที่บริษัทได้รับ ซึ่งเป็นอัตราเงินนำส่งสูงสุดที่ กฎหมายกำหนด

 ประการที่สอง  เสนอแผนขอบรรจุวงเงินในแผนบริหารหนี้สาธารณะในวงเงิน 3,000 ล้านบาท ต่อสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ โดยเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติอนุมัติการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2567 ครั้งที่ 1 และรับทราบตามที่คณะกรรมการนโยบายและกำกับบริหารหนี้สาธารณะเสนอ ซึ่งแผนดังกล่าวอยู่ระหว่างดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง

 ประการสุดท้าย ทำหนังสือถึงสำนักงบประมาณ ขอรับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลตามมาตรา 80 (11) เพื่อให้ได้เงินมาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้โดยเร็วที่สุด

การจ่ายหนี้ของกองทุนฯ จึงต้องรอเงินเข้ากองทุนฯ ตามกำหนดระยะเวลาที่บริษัทจะต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนฯ ตามมาตรา 80/3 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ขณะที่ยังไม่ได้รับจากช่องทางอื่น ๆ ดังนั้น นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2567 เป็นต้นไป กองทุนฯ ต้องปรับเปลี่ยนรอบการจ่ายเงินแก่เจ้าหนี้ให้สัมพันธ์กับรายได้ และรอบการนำส่งเงินเข้ากองทุนฯ ของบริษัทประกันภัยตามที่กฎหมายกำหนด หากกองทุนฯ ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลหรือแหล่งเงินอื่น จะเร่งชำระหนี้โดยเร็วที่สุดต่อไป

สำหรับในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 กองทุนฯ พิจารณาอนุมัติจ่ายเงินแก่เจ้าหนี้ ตามสัญญาประกันภัย จำนวนทั้งสิ้น 4,943 คำขอ (จำนวน 7,025 กรมธรรม์) ดังนี้ บมจ.เอเชียประกันภัย 1950 จำนวน 1,551 คำขอ (จำนวน 2,721 กรมธรรม์) บมจ.เดอะ วัน ประกันภัย จำนวน 1,371 คำขอ (จำนวน 2,247 กรมธรรม์) บมจ.ไทยประกันภัย จำนวน 754 คำขอ (จำนวน 762 กรมธรรม์) บมจ.อาคเนย์ประกันภัย จำนวน 1,267 คำขอ (จำนวน 1,295 กรมธรรม์)

ส่วนเดือนมกราคม 2567 กองทุนฯ อนุมัติจ่ายเงินให้แก่เจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัย จำนวนทั้งสิ้น 4,933 คำขอ (จำนวน 7,267 กรมธรรม์) ดังนี้ บมจ.เอเชียประกันภัย 1950 จำนวน 1,585 คำขอ (จำนวน 2,867 กรมธรรม์) บมจ.เดอะ วัน ประกันภัย จำนวน 1,321 คำขอ (จำนวน 2,336 กรมธรรม์) บมจ.ไทยประกันภัย จำนวน 781 คำขอ (จำนวน 797 กรมธรรม์) บมจ.อาคเนย์ประกันภัย จำนวน 1,246 คำขอ (จำนวน 1,267 กรมธรรม์)

สำหรับความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาของบมจ.สินมั่นคงประกันภัย ยังยืดเยื้อ

“.... ยอมรับว่าค่อนข้างยาก เพราะถ้าจะเพิกถอนใบอนุญาตแล้วไปเป็นภาระกองทุนฯ เพิ่มเติม กองทุนฯ ก็รับไม่ไหว แต่จะปล่อยล้มละลายก็ไม่ได้อีก” นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์สื่อเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา

หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 นายประหยัด ฐิตะธรรมกุล  กรรมการ บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ SMK รายงานตลาดหลักทรัพย์ฯว่า ตามที่บริษัทจะต้องนำส่งงบการเงินที่ผ่านการตรวจสอบโดยผู้สอบบัญชีสำหรับงวดปี สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ภายในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2567 บริษัทขอเรียนว่า เนื่องจากปัจจุบันการดำเนินงานบางส่วนของบริษัทอยู่ภายใต้การควบคุม โดยสำนักงานคณะกรรมการและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ทำให้มีการปฏิบัติงานบางส่วนต้องใช้ระยะเวลามากขึ้น และต้องใช้เวลาเพิ่มเติมในการตรวจสอบข้อมูลเพื่อให้การแสดงรายการและการเปิดเผยข้อมูลในงบการเงินของบริษัทมีความครบถ้วนถูกต้อง ส่งผลให้บริษัทจำเป็นต้องจัดส่งงบการเงินล่าช้ากว่ากำหนด ดังนั้นบริษัทจึงขอเลื่อนการนำส่งงบการเงินสำหรับงวดปี สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ออกไป หากมีความคืบหน้าประการใดเพิ่มเติมบริษัทจะแจ้งให้ทราบต่อไป

ถัดมา เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2567 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แจ้งขึ้นเครื่องหมาย NP (Notice Pending) หลักทรัพย์ SMK ของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) กรณีไม่สามารถแต่งตั้งกรรมการตรวจสอบให้ครบถ้วนภายในเวลาที่กำหนด มีผลตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2567 หาก SMK ไม่สามารถแต่งตั้งกรรมการตรวจสอบได้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะดำเนินการ ดังนี้ 1.หากขึ้นเครื่องหมาย NP ครบ 3 เดือนแล้ว SMK ยังไม่สามารถแต่งตั้งกรรมการตรวจสอบได้ครบถ้วน ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะขึ้นเครื่องหมาย SP (Suspension) ห้ามการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ของ SMK ตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน 2567 และ 2.หากขึ้นเครื่องหมาย SP ครบ 2 ปีแล้ว SMK ยังไม่สามารถแต่งตั้งกรรมการตรวจสอบได้ครบถ้วน ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะประกาศให้ SMK เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน และอาจพิจารณาเพิกถอนหลักทรัพย์ของ SMK ต่อไป

 นับเป็นปัญหาใหญ่ของวงการประกันภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากดูมูลหนี้ที่เป็นภาระของกองทุนฯ ที่ค้างชำระหลายหมื่นล้านเทียบกับความสามารถในการชำระหนี้ในแต่ละเดือนหลักร้อยล้าน แถมตอนนี้กองทุนฯ ยังถังแตกหมดตูดอีกต่างหาก ไม่รู้ว่าอีก 100 ปีกองทุนฯ จะชำระหนี้แทนบริษัทประกันภัยที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตและปิดกิจการ ได้หมดสิ้นหรือไม่  



กำลังโหลดความคิดเห็น