xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

คุม “กัญชา-กัญชง-กระท่อม” ในเด็ก อุดช่องโหว่ กม.ห้ามใช้เพื่อ “สันทนาการ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -การที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ  “ร่างกฎกระทรวงกำหนดเด็กที่เสี่ยงต่อการกระทำผิด (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....” ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจยิ่ง เนื่องเพราะสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงฉบับนี้เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดเด็กที่เสี่ยงต่อการกระทำความผิด พ.ศ.2549 โดยเพิ่มพฤติกรรมเด็กที่ใช้ “พืชกระท่อม กัญชา กัญชง หรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของพืชกระท่อม กัญชา หรือกัญชงในลักษณะเพื่อสันทนาการ ให้ถือเป็นเด็กที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการกระทำผิด” เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มีหน้าที่และอำนาจการคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็กที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการกระทำผิดดังกล่าว

อำนาจที่ว่า ได้แก่ 1. ส่งตัวเด็กเข้าสถานคุ้มครองสวัสดิภาพหรือสถานพัฒนาและฟื้นฟู หรือ 2. มอบตัวเด็กให้แก่ผู้ปกครองหรือบุคคลที่ยินยอมรับเด็กไปปกครองดูแล โดยอาจแต่งตั้งผู้คุ้มครองสวัสดิภาพแก่เด็กหรือไม่ก็ได้ โดยวางข้อกำหนดเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กมีความประพฤติเสียหาย หรือเสี่ยงต่อการกระทำผิด เช่น ระมัดระวังไม่ให้เด็กเข้าไปในสถานที่อันจะจูงใจให้เด็กประพฤติตนไม่สมควร และระมัดระวังไม่ให้เด็กคบหาสมาคมกับบุคคลที่อาจจะชักนำไปในทางเสื่อมเสีย เป็นต้น

ทั้งนี้ เด็กที่เสี่ยงต่อการกระทำผิด หมายถึง เด็กที่ประพฤติตนไม่สมควร เด็กที่ประกอบอาชีพหรือคบหาสมาคมกับบุคคลที่น่าจะชักนำไปในทางกระทำผิดกฎหมายหรือขัดต่อศีลธรรมอันดี หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมหรือสถานที่อันอาจชักนำไปในทางเสียหาย และเด็กหมายถึงบุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ แต่ไม่รวมถึงผู้ที่บรรลุนิติภาวะด้วยการสมรส เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เด็กใช้พืชกระท่อม กัญชา กัญชง หรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของพืชกระท่อม กัญชา และกัญชงในลักษณะสารเสพติด ซึ่งจะกระทบต่อพัฒนาการทางด้านสติปัญญา การเจริญเติบโตของร่างการและเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี

แน่นอนว่า ด้วยความอยากรู้อยากลองความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ทำให้เด็กไทยสูบกัญชาเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ มีข้อมูลพบว่า ผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปี สูบกัญชามากขึ้น 2 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงกฎหมายกัญชาในช่วงปี 2563 - 2564 ซึ่งมีเด็กสูบกัญชาน้อยกว่า 2% โดยภาวะสุญญากาศทางกฎหมายและการควบคุมที่หละหลวมเป็นช่องโหว่ให้เด็กที่สูบกัญชาเพิ่มขึ้น

ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยผลสำรวจผลกระทบแนวทางการแก้ไขปัญหาสารเสพติดจากผู้เชี่ยวชาญ จากการเก็บข้อมูลสำรวจ ทัศนคติและพฤติกรรมการใช้สารเสพติด จากกรณีศึกษาประชาชนอายุ 18 – 65 ปี ใน 20 จังหวัด ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ระหว่างปี พ.ศ. 2563 – 2565 โดยสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 5,630 คน

 รศ.พญ.รัศมน กัลป์ยาศิริ  ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด เปิดเผยว่าจากผลการสำรวจดังกล่าวพบว่าการใช้กัญชาแบบสูบเพื่อนันทนาการสูงขึ้นในช่วงระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมาในทุกกลุ่มอายุ โดยเฉพาะในปี 2565 การใช้กัญชาแบบสูบในเด็กและเยาวชนไทยอายุ 18 -19 ปี สูงขึ้น 10 เท่า จาก 1 - 2% ในปี 2563 เป็น 9.7% ในปี 2565

ทั้งนี้ เห็นควรว่าต้องใช้กฎหมายเข้าควบคุมสารเสพติดโดยเร่งด่วน โดยเป็นกฎหมายที่มีการบังคับใช้ ได้จริงในพื้นที่ทั่วประเทศเพื่อบรรเทาผลกระทบ รวมทั้ง ติดตามผลกระทบทางกายและจิตที่เกิดจากการใช้สารเสพติดที่เพิ่มมากขึ้นของประชากรไทยโดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน

ตามข้อมูลสะท้อนว่าผู้เสพกัญชามีแนวโน้มเพิ่มผู้ใช้สูงมากกว่ายาเสพติดตัวอื่นๆ ขณะที่ใบกระท่อมมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นจากไม่ถึง 1% ใน ปี 2562 มาเป็น 7% ในปีที่ผ่านมา ส่วนส่วนยาบ้ายังอยู่ในจำนวนคงที่ ระะดับ 0.1% ตลอด 4 ปี

และหากนำข้อมูลของศูนย์ศึกษาปัญหายาเสพติดมาคำนวณกับจำนวนเยาวชนอายุ 18 - 19 ปี ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ราว 1,500,000 คน พอจะอนุมานได้ว่า 9% จะ เท่ากับ 140,000 คน ดังนั้น โอกาสที่เสพติดกัญชาและต้องใช้เป็นประจำจะมีถึง 8% เท่ากับว่าอาจจะมีกลุ่มเยาวชนเสพติดมากถึง 11,000 คน แม้เป็นตัวเลขประมาณการแต่น่ากังวลอย่างยิ่งหากเยาวชนนับแสนมีโอกาสติดกัญชาในจำนวนหลักหมื่นคน และอาจจะมีแนวโน้มสูงขึ้นในปีต่อๆ ไป นอกจากนี้ จากผลการศึกษาเด็กที่เสพกัญชามีแนวโน้มไปเสพยาเสพติดชนิดอื่นๆ อีกด้วย

 แต่อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยข้อมูลโต้แย้งโดยอ้างอิงข้อมูลการบำบัดรักษายาเสพติดทั้งประเทศ (ข้อมูล บสต.) ปี 2562 มีผู้ที่เสพกัญชาจนต้องเข้ารับการบำบัด 6.89% 2563 อยู่ที่ 4.85% ปี 2564 อยู่ที่ 4.28% และปี 2565 อยู่ที่ 3.85% จะเห็นว่ามีแนวโน้มลดลงไม่ได้เพิ่มมากขึ้น 

สำหรับท่าทีของ  “รัฐบาลเศษฐา ทวีสิน” ได้ยกระดับความเข้มข้นทำสงครามยาเสพติด Kick Off ตัดวงจรยาบ้าอย่างเข้มข้นเด็ดขาด ประกาศให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหายาเสพติด “เป็นวาระแห่งชาติ”  โดยมอบหมายให้ กระทรวงมหาดไทยดำเนินการป้องกัน ปราบปราม รวมถึงการบำบัดฟื้นฟูสภาพทางสังคมแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด เพื่อนำตัวเข้ารับการบำบัดให้กลับมาเป็นคนดีคืนสู่สังคมและครอบครัว

 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้จัดทำแผนปฏิบัติการ (Action Plan) การขับเคลื่อนวาระแห่งชาติการแก้ไขปัญหายาเสพติด ในระยะเร่งด่วน 3 เดือน ระหว่าง ก.พ. - เม.ย. 2567 โดยจะ Kick Off เปิดปฏิบัติการตัดวงจรยาเสพติดอย่างเข้มข้นและเด็ดขาดพร้อมกันทั่วประเทศ

ขณะเดียวกัน นพ.ศักดา อัลภาชน์  ผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงการดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัยได้สร้างความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ (Health literacy) เน้นการดำเนินการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติดโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน (Community Based Treatment and Rehabilitation: CBTx)

โดยทาง  พล.ต.ต.วรพจน์ ดิษยบุตร  ผู้บังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เผยพร้อมให้การสนับสนุนแก้ไขปัญหายาเสพติด เพื่อเป็นการยกระดับความเข้มข้นในการแก้ไขปัญหายาเสพติดในทิศทางเดียวกัน

ทั้งนี้ การดำเนินการต่อปัญหายาเสพติดของรัฐได้มีการบูรณาการร่วม 27 หน่วยงาน เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงยุติธรรม สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และกรมสรรพากร เป็นต้น โดยรัฐบาลได้กำหนดแผนปฏิบัติการ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายภายใต้นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ซึ่งได้กำหนดเป้าหมายของแผนปฏิบัติ ไว้ใน 4 ลด คือ 1. ลดความรุนแรงจากภาวะทางจิตเวชในสังคม 2. ลดผู้เสพ/ผู้ติด 3. ลดการค้ายาเสพติดที่แพร่ระบาดในหมู่บ้าน/ชุมชน และ 4. ลดปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลต่อการแพร่ระบาดยาเสพติด โดยให้ความสำคัญในการใช้กลไกชุมชนเป็นฐานสร้างความเข้มแข็ง

 สุดท้าย หลังรัฐบาลประกาศสงครามยาเสพติดอย่างเข้มข้น และการบังคับใช้กฎหมายควบคุมการใช้ “กระท่อม - กัญชา - กัญชง” ในเด็กและเยาวชน สถานการณ์ปัญหาต่างๆ จะคลี่คลายลงหรือไม่อย่างไร เป็นประเด็นที่ต้องติดตาม. 


กำลังโหลดความคิดเห็น