xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ผ่าเกมต่อเวลา แจกเงินหมื่นดิจิทัล เพื่อไทยปลุกเร้า(อีกครั้ง)สิ้นปีนี้ได้แน่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  นโยบายเรือธงแจกเงินหมื่นดิจิทัลที่เป็น “จุดขาย” กลายสภาพเป็น “จุดตาย” ทำให้พรรคเพื่อไทยต้องเล่นเกมต่อเวลาไปเรื่อย ๆ จากคำสัญญาเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ได้แน่ ขยับเป็นดีเดย์เดือนพฤษภาฯ ล่าสุดเลื่อนยาวถึงสิ้นปีนี้ แต่ไม่รู้ว่าถึงเวลาจะเป็นแค่คำสัญญาลม ๆ แล้ง ๆ หลอกชาวบ้านหน้าแห้งเหี่ยวอีกหรือไม่ 


“วันที่ 10 เมษายน ได้ข้อสรุปทั้งหมด และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาภายในเดือนเมษายนนี้ ยืนยันกรอบไทม์ไลน์ตามที่ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง แถลง โดย หนึ่ง ไตรมาสที่ 3 ลงทะเบียนร้านค้าและประชาชน สอง ไตรมาสที่ 4 เงินถึงมือประชาชน ที่ประชุมวันนี้เห็นแล้วว่าประชุมกันประมาณครึ่งชั่วโมงทุกภาคส่วนเห็นด้วยหมด ไม่ว่าจะเป็นเลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เห็นด้วยในขั้นตอนทั้งหมด ฉะนั้นเดี๋ยวคอยฟังข่าวดีในวันที่ 10 เมษายนนี้” นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา

เป็นการให้คำมั่นสัญญาอีกครั้ง ไม่ว่าจะอย่างไรโครงการแจกเงินดิจิทัลหนึ่งหมื่นบาทให้กับประชาชนคนไทยกลุ่มเป้าหมาย 50 กว่าล้านคน ที่พรรคเพื่อไทยชูเป็นนโยบายหาเสียงในสมัยเลือกตั้งใหญ่ครั้งที่ผ่านมา และรัฐบาลแถลงต่อรัฐสภา ต้องทำให้สำเร็จให้ได้

เหตุผลที่นายกรัฐมนตรี ยืนยันถึงความจำเป็นต้องดำเนินโครงการนี้ยังเป็นเรื่องที่ย้ำทุกครั้งคือ  เศรษฐกิจมีปัญหา มีความจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีของไทยเติบโตต่ำมาตลอดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงกว่า
การประชุมคราวนี้ นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ สรุปหลักเกณฑ์ของร้านค้าและสินค้า ส่วนกระทรวงดิจิทัลเศรษฐกิจและสังคม และคณะกรรมการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (บอร์ดรัฐบาลดิจิทัล) ไปสรุปการพัฒนาระบบ และการจัดทำในลักษณะเปิด (Open Loop) เพื่อให้สถาบันและผู้ประกอบธุรกิจกระเป๋าเงินเข้าร่วมโครงการ ส่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ไปวางกรอบการตรวจสอบวินิจฉัยร้องทุกข์และกล่าวโทษและการเรียกเงินคืน ซึ่งหน่วยงานทั้งหมดที่ได้รับมอบหมายให้มารายงานผลต่อที่ประชุมใหญ่ในวันที่ 10 เมษายน 2567
ส่วนประเด็นสำคัญที่สุดที่ทำให้โครงการแจกเงินหมื่นดิจิทัลติดขัด คือ แหล่งเงินงบประมาณที่จะนำมาใช้ในโครงการประมาณ 500,000 ล้านบาทนั้น นายกรัฐมนตรี บอกว่า กระทรวงการคลัง เสนอความเป็นไปได้ของแหล่งเงินในโครงการดิจิทัลวอลเลตนอกเหนือจากการออก พ.ร.บ.เงินกู้ เรื่องนี้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณ ไปดำเนินการ และรายงานต่อที่ประชุมใหญ่ในวันที่ 10 เมษายนนี้ เช่นกัน
แหล่งเงินโครงการจะมาจากไหน  นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง ขยายความว่า มี 3 แนวทางที่เป็นไปได้ หนึ่ง การใช้เงินกู้เพื่อดำเนินโครงการอย่างเดียว ซึ่งเป็นแนวทางเดิมที่ได้มีการหารือกันมาก่อนหน้านี้ สอง การใช้งบประมาณประจำปี ขณะนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 อาจปรับเปลี่ยนวงเงินในการจัดทำงบฯ เพื่อใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเลตที่มีความจำเป็นต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนจะดึงงบประมาณปี 2567 มาใช้ในโครงการนี้ด้วยหรือไม่นั้น ต้องหารือกับสำนักงบประมาณอีกครั้ง และ สาม สูตรผสมกันระหว่างเงินกู้กับเงินงบประมาณ ซึ่งก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่อาจทำได้หากมีความเหมาะสม

“....ต้องดูว่าแหล่งเงินใดมีความเหมาะสมในสถานการณ์ขณะนี้มากที่สุด ซึ่งทั้งหมดจะได้ความชัดเจนในวันที่ 10 เมษายนนี้ จะแถลงให้ประชาชนรับทราบรายละเอียดทั้งหมดอีกครั้ง...” ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าว

 อย่างไรก็ดี การประชุมที่ใช้เวลาเพียง 30 นาที และดูราบรื่นไปได้สวยสำหรับโครงการนี้ มีหมายเหตุว่านายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่ได้เข้าร่วมการประชุมเนื่องจากติดภารกิจ โดยมอบหมายให้นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ธปท.เข้าร่วมประชุมแทน ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้ถามทันทีที่เข้านั่งประจำที่ที่หัวโต๊ะประชุมว่า “ผู้ว่าฯแบงก์ชาติหายไปไหนครับ” 

ต้องไม่ลืมว่า โครงการแจกเงินดิจิทัลหนึ่งหมื่นบาทนั้น ผู้ว่าการ ธปท. งัดข้อกับผู้นำรัฐบาลมาแล้วหลายยก ด้วยเหตุผลที่ผู้ว่าฯแบงก์ชาติมีความเห็นว่าควรทำเฉพาะกลุ่ม การกระตุ้นการบริโภคให้ระวังปัญหาเงินเฟ้อจะตามมา ควรให้ความสำคัญกับวินัยการคลังและคำนึงถึงเสถียรภาพในระยะปานกลางด้วย และถ้าจะกู้มาแจกแล้วจะยิ่งไปกันใหญ่

ประเด็นนี้  นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ผู้ว่าฯแบงก์ชาติไม่ได้เข้าร่วมประชุม มีรองผู้ว่าฯ มาแทน ซึ่งได้รับฟังเรื่องที่มีการเสนอ พิจารณา และให้ความเห็นชอบกับเรื่องที่เราดำเนินการอยู่ ส่วนจะมั่นใจหรือไม่ว่าผู้ว่าฯ แบงก์ชาติจะไม่เห็นต่างอีก เพราะไม่ได้เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง บอกว่า ความมั่นใจในเรื่องคนอื่นคงตอบไม่ได้ อย่าถามเรื่องคนอื่นตนตอบไม่ได้

เมื่อถามว่า ไม่ว่าผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ จะมีความเห็นอย่างไรหรือคัดค้าน รัฐบาลจะเดินหน้าต่อใช่หรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวยืนยันว่า เราเดินหน้าอยู่แล้ว รับฟังความคิดเห็นทุกคน ทุกฝ่าย เราไม่ปัดความเห็นใด ๆ และที่ประชุมครั้งนี้ก็มีความชัดเจน เราจะเดินหน้า ขอให้พี่น้องประชาชนรอรับฟังข่าวดีในวันที่ 10 เมษายนนี้

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังนำรายงานฉบับจริงของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เข้ามา “รับทราบ” ในที่ประชุม โดยไม่ได้มีการแสดงความเห็นในประเด็นที่ ป.ป.ช. เสนอแนะและทักท้วงต่อโครงการแจกเงินดิจิทัลแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ผลศึกษาของ ป.ป.ช. ชี้จุดเสี่ยงของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตฯ เอาไว้หลายประเด็น เช่น ความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย อาจเอื้อต่อบุคคล หรือกลุ่มบุคคล หรือพรรคการเมืองใดได้ อาจเกิดการรับจ้างลงทะเบียนลักษณะนอมินี หรือสมคบคิดกันทุจริตระหว่างผู้ประกอบการกับประชาชนกลุ่มเป้าหมาย ยังไม่มีกฎเกณฑ์หรือมาตรการป้องกันการทุจริตอย่างเป็นรูปธรรม ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ ภาระดอกเบี้ยหนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นหากกู้เงินมาดำเนินโครงการ ฯลฯ

ขณะเดียวกัน คณะกรรมการกฤษฎีกา ยังทักท้วงว่า การออกกฎหมายกู้เงินจะต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง มาตรา 53 และ มาตรา 57 ต้องเป็นโครงการในสถานการณ์ “วิกฤต” เศรษฐกิจ จนไม่สามารถตั้งงบประมาณปกติมาดำเนินการได้ ต้องประเมินความคุ้มค่าของโครงการ

เอาเป็นว่าถึงตอนนี้ ไม่ว่าจะมีเสียงทักท้วงอย่างไร รัฐบาลเพื่อไทย ยืนยันชัดเจนว่าจะหาเม็ดเงินมาเดินหน้าโครงการแจกเงินดิจิทัล เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการบริโภคที่เชื่อว่าจะมีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ทำให้ GDP ขึ้นไปเฉลี่ย 5% ต่อปีใน 4 ปี ขณะที่ ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย  อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 3-4% เม็ดเงิน 560,000 ล้านบาท จะหมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจ 2-3 รอบ ก่อให้เกิดมูลค่าถึง 1.5 ล้านล้านบาท เช่นเดียวกันกับ  ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คาดว่า เงินก้อนนี้จะก่อให้เกิดรายได้ภาษีกว่า 100,000 ล้านบาท

 นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด ให้ความเห็นถึงนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตว่า หากเงินถึงมือประชาชนช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ ตามที่รัฐบาลคาดไว้ จะทำให้การใช้จ่ายเกิดขึ้นในช่วงปลายปี ซึ่งไม่ทันกับการกระตุ้นเศรษฐกิจปีนี้ แต่จะไปมีผลกับตัวเลขการขยายตัวเศรษฐกิจในปีหน้าแทน แต่การที่รัฐบาลมีการแถลงถึงความคืบหน้าและมีกรอบระยะเวลาชัดเจนขึ้น อาจเป็นผลดีกับการลงทุนในตลาดหุ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากเม็ดเงิน 500,000 ล้านบาท ที่จะอัดฉีดเข้าไปสู่ระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มอุปโภค-บริโภค

อย่างไรก็ดี ความมั่นใจในการผลักดันโครงการนี้ของรัฐบาลเพื่อไทยที่ผ่านมาก็เห็นแล้วว่า เจอโรคเลื่อนจนความหวังของประชาชนลางเลือนเต็มที

หากย้อนกลับไป เมื่อเดือนกันยายน 2566 นายกรัฐมนตรีให้สัญญามั่นเหมาะ  “... ยืนยันว่ารัฐบาลจะทำให้ได้ภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 ...เราไม่มีเวลาฮันนีมูน ....”  

หลังจากนั้น เมื่อเดือนธันวาคม 2566 นายเศรษฐากล่าวยืนยันอีกครั้ง  “... มีความมั่นใจว่าโครงการนี้จะออกแล้วเสร็จตามกำหนดคือเดือนพฤษภาคม 2567 ....”  

สอดรับกับ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่ลั่นว่า  “เรายังยืนยันเป้าหมายเดิมที่จะให้โครงการออกมาเดือนพฤษภาคม 2567” 
และการประชุมนัดล่าสุด นายกรัฐมนตรีวาดฝันอีกครั้งว่า “ไตรมาสที่ 4 เงินถึงมือประชาชน” 

ขณะที่เสียงสะท้อนจากประชาชนมีทั้งหมดหวังไม่รอเงินดิจิทัลหมื่นบาทแล้ว เพราะถ้าจะได้จริงควรได้นานแล้ว และหลักเกณฑ์การใช้ก็ยุ่งยาก แต่บางคนก็ยังเฝ้ารอเพื่อนำเงินมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

 โรคเลื่อนที่ทำให้ความหวังลางเลือน ถูกปลุกเร้าอีกครั้ง ตั้งตารอถึงสิ้นปีนี้ก็คงได้รู้ว่าจะเชื่อคำโฆษณาหาเสียงของพรรคเพื่อไทยได้หรือไม่ 


กำลังโหลดความคิดเห็น