xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ทักษิณ” เดินเร็ว-แรง ชักธงรบ “พิฆาตส้ม” ที่คอพาดเขียงยุบพรรค

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ถูกยกเป็นอีกภาพประวัติศาสตร์ วงดินเนอร์ต้อนรับ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ นักโทษเด็ดขาดชายอยู่ระหว่างได้รับการพักโทษ ที่บ้านพักในกรีนวัลเลย์ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ของ เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ น้องสาวนายทักษิณ เมื่อวันที่ 15 มี.ค.67 โดยมีการจัดโต๊ะอาหารให้ “ทักษิณ” ถูกขนาบข้างด้วย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน และ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี อยู่กลางโต๊ะ

ถือการสะท้อน “สัญญะ” ถึงลำดับความสำคัญของบุคคลในวงดินเนอร์วันนั้นได้เป็นอย่างดี
อีกทั้งต้องไม่ลืมว่าวงดินเนอร์เดียวกันยังมี “ลูกอิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อทไย บุตรสาวของนายทักษิณ ที่ว่ากันว่าถูกวางตัวเป็นว่าที่นายกฯ คนถัดไป นั่งอยู่ฝั่งตรงข้ามด้วย

เรียกว่าเป็นวงดินเนอร์วีวีไอพี มีนายกฯ ร่วมวงด้วย 3-4 คนเลยทีเดียว นำมาซึ่งคำถามเกี่ยวกับภาวะ “อำนาจซ้อน” ที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ “ทักษิณ” ได้รับการพักโทษมาอยู่ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า แม้ “นายกฯเศรษฐา” จะยืนกรานหลายวาระว่า ไม่สนใจกับครหา หรือภาพนายกฯ ทับซ้อน อย่างที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กัน พร้อมยืนยันว่าตัวเองเป็นนายกฯ ผู้มีศักดิ์และสิทธิ์ตามกฎหมายแต่เพียงผู้เดียว และพร้อมเปิดกว้างรับฟังคำแนะนำจากอดีตนายกฯ หรือผู้ที่มีความหวังดีต่อประเทศชาติเสมอ

แต่ก็ยอมรับว่า อาจมีโอกาสลงพื้นที่คู่กับ “อดีตนายกฯทักษิณ” ด้วย

ในขณะที่ “นายกฯ เศรษฐา” แสดงออกถึงความนอบน้อม และให้เกียรติ “ทักษิณ” ในฐานะอดีตนายกฯ ที่ได้รับความนิยมสูงสุด แต่ “ทักษิณ” กลับปฏิบัติในทางตรงข้าม ด้วยความเคลื่อนไหวที่เสมือนต้องการแสดงให้เห็นว่า ตัวเองเป็น “ศูนย์กลางอำนาจ” มากขึ้นทุกขณะ
โดยเฉพาะการวางโปรแกรมกลับบ้านเกิด จ.เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 14-16 มี.ค.67 ที่ผ่านมา ก็ดูมีความพยายามสอดแทรก “แย่งซีน” อย่างเห็นได้ชัด เพราะทั้งๆ ที่มีข้อครหาวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นศูนย์กลางอำนาจหนาหู แต่ก็จงใจจัดโปรแกรมแบบ “หมายเปิด” ให้นักข่าวติดตามแทบทุกกำหนดการ ในทำนองต้องการชิงพื้นที่สื่อเต็มที่

แน่นอนว่า ในแง่ความสำคัญของตัว “ทักษิณ” ประกอบกับไทม์มิ่งที่ “ทัพนักข่าว” เตรียมไปเกาะติดรายงานข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ (ครม.สัญจร) ที่ จ.พะเยา ช่วงวันที่ 18-19 มี.ค.67 ก็ทำให้มีกองทัพนักข่าวไปติดตามการลงพื้นที่ของ “ทักษิณ” อย่างคับคั่ง ทั้งที่เอาเข้าจริง หากไม่ต้องการแย่งซีน รวมไปถึงรักษาข้ออ้างเรื่องอาการป่วยต่างๆ นานาแล้ว “ทักษิณ” ก็สามารถเดินทางไป จ.เชียงใหม่ แบบ “หมายปิด” เป็นการส่วนตัวได้ รวมถึงคงไม่แสดงวิสัยทัศน์แก้ปัญหา หรือให้สัมภาษณ์ประเด็นการเมือง ในวันที่ “นายกฯ ตัวจริง” ปฏิบัติภารกิจอยู่ในจังหวัดเดียวกัน

ไม่เพียงเท่านั้นการลงพื้นที่แต่ละจุดก็ยังจัดเต็ม ตามสไตล์ “พญาเหยียบเมือง” มีข้าราชการ-ท้องถิ่น แห่แหนมาต้อนรับ พร้อมมีการบรรยายงานในแต่ละจุด ยิ่งกว่ารัฐมนตรีมาติดตามงานเสียอีก

เรียกว่า เลยป้ายเรื่องความเหมาะสมไปไกล รวมถึงลืมสถานะว่า “ทักษิณ” ยังถือเป็นนักโทษเด็ดขาดที่อยู่ระหว่างได้รับการพักโทษเท่านั้นด้วย
ตลอดจนโชว์ “ความอหังการ” เมื่อจู่ๆ “ทักษิณ” ที่เดินเหินคล่องแคล่ว ไม่มีร่องรอยคนป่วย ก็ไม่สวมเฝือกคอ ซึ่งเป็น “พร๊อพ” ที่ติดตัวมาตั้งแต่ออกจากโรงพยาบาลตำรวจ ในระหว่างทริปเชียงใหม่ได้อย่างอัศจรรย์

เป็นความอหังการที่ “ทักษิณ” ต้องการส่งสัญญาณว่า ขื่อแปกฎหมายบ้านเมืองไม่อาจทำอะไรตัวเขาได้ จึง ไม่จำเป็นต้องแสดงบท “ผู้ป่วยวิกฤต” และไม่ได้ยี่หระด้วยว่า ใครจะตกพุ่มซวยเพราะช่วยกันรับรองว่า เจ้าตัวมีอาการป่วยหนักในช่วง 6 เดือนที่รับโทษบนชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ
แล้วดูท่าว่า หลังจากนี้การเคลื่อนไหวของ “ทักษิณ” ก็จะหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในการลงพื้นที่ รวมทั้งการให้คำปรึกษา หรือชี้แนะรัฐบาล ตามที่คาดการณ์ไว้
โดยมีรายงานว่า เจ้าตัวจะกลับไปที่ จ.เชียงใหม่อีกครั้ง ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ และกำลังวางคิวเดินสายทั่วประเทศเพื่อฟื้นกระแสความนิยมให้กับพรรคเพื่อไทยและรัฐบาล ตามยุทธศาสตร์ “เรียกเสื้อแดงกลับบ้าน รากหญ้าคืนถิ่น”
โดยหมายต่อไปของ “ทักษิณ” ปักหมุดไว้ที่ จ.อุดรธานี ที่เปรียบเหมือนเป็น “เมืองหลวงคนเสื้อแดง” โดย “นายใหญ่เพื่อไทย” ตั้งใจจะไปเยี่ยมอาการป่วยของ ขวัญชัย สาระคำ หรือ ขวัญชัย ไพรพนา แกนนำเสื้อแดง และประธานชมรมคนรักอุดร ที่ขณะนี้ป่วยอัมพฤกษ์ซีกขวา แขน ขาขยับแทบไม่ได้ และสายตาใกล้มองไม่เห็น ซึ่งนอกเหนือจากความผูกพันส่วนตัวแล้ว ”ทักษิณ“ ยังต้องการแสดงให้เห็นว่า ไม่เคยทอดทิ้งผู้ที่ร่วมต่อสู้ด้วยกันมา ตามที่มักถูกเหน็บแนมบ่อยครั้งจากฝ่ายตรงข้าม และจะถือโอกาสจัดงานระดมพลคนเสื้อแดงเพื่อแสดงความขอบคุณที่ให้การสนับสนุนมาโดยตลอดด้วย
อีกหมุดหมายที่เดินทางไปเร็วๆนี้ คือที่ จ.นครราชสีมา ที่ถือเป็นพื้นที่คนเสื้อแดงเช่นกัน โดย “ทักษิณ” ตั้งใจจะไปร่วมไว้อาลัย และเป็นเจ้าภาพพิธีเผาศพส่งวิญญาณ “น้าวิชัย” คนขับรถคู่ใจ และตัวละครสำคัญในคดีซุกหุ้น ที่เสียชีวิตตั้งแต่เดือน ก.ค.66 ก่อนที่ “ทักษิณ” จะเดินทางกลับประเทศไทย โดยได้สั่งการไว้ว่า ให้ทำพิธีบรรจุเก็บศพไว้ก่อนเพื่อรอให้ “ทักษิณ” จะมาร่วมฌาปนกิจด้วยตัวเอง
ทั้งนี้ยุทธศาสตร์ “เรียกเสื้อแดงกลับบ้าน รากหญ้าคืนถิ่น” จะเร่งแบบถี่ยิบในช่วง 1 ปีข้างหน้า เพื่อหวังผลไปถึงการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) ฐานสำคัญของการเมืองระดับชาติ ที่จะมีขึ้นช่วงต้นปี 2568

ที่ถือเป็นสนามสำคัญของภารกิจ “พิฆาตส้ม” วัดพลังชักธงรบกับ พรรคก้าวไกล

โดยปกติสนาม อบจ. พรรคเพื่อไทย จะไม่ได้ปูพรมส่งผู้สมัคร เลือกส่งในนามพรรคเฉพาะจังหวัดพื้นที่ยุทธศาสตร์ เพราะหลายจังหวัดโดยเฉพาะเหนือ-อีสาน มักมีคนของพรรคเสนอตัวชิงนายกฯ อบจ.มากกว่า 1 คน จึงต้อง “ปล่อยฟรี” ให้ผู้สมัครแข่งกันเองโดยไม่มีโลโก้ ด้วยมั่นใจว่าผู้ชนะจะเป็นคนของพรรค

แต่ครั้งนี้ต่างออกไป ด้วยการที่ “ค่ายสีส้ม” ปรับกลยุทธ์หวังใช้กระแส “พรรคก้าวไกล” ที่เชื่อว่ายังดีอยู่ ชิงเก้าอี้นายกฯ อบจ. หลังจากที่เคยใช้แบรนด์ “คณะก้าวหน้า” สำหรับการลงเลือกตั้งระดับท้องถิ่น แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร โดยเฉพาะในระดับ อบจ.เมื่อปี 2563 ที่พลาดเป้าไม่ได้เก้าอี้นายกฯ อบจ.แม้แต่จากจังหวัดเดียว และได้ ส.อบจ.มาเพียง 57 คนจาก 20 จังหวัดเท่านั้น
ทำให้พรรคเพื่อไทยต้องเน้นกับสนาม อบจ.มากกว่าในอดีต เพราะประเมินแล้วในหลายพื้นที่ หากพรรคเพื่อไทยไม่ชนะ ก็อาจจะเสร็จคู่แข่งอย่างพรรคก้าวไกลก็เป็นได้

หากพิจารณาจากผลเลือกตั้ง สส.ปี 2566 ที่หลายจังหวัดถูกพรรคก้าวไกลเจาะจนพรุน จนชนะมาเป็นอันดับ 1 บางจังหวัดแม้พรรคเพื่อไทยจะได้ สส.เขตมากกว่า แต่ก็แพ้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ที่รวมทั้งจังหวัด
ไม่ต้องอื่นไกล “เมืองหลวงเพื่อไทย” จ.เชียงใหม่ เป็นตัวอย่างที่ดี โดยพรรคก้าวไกลสามารถกวาด สส. ได้ 7 จาก 10 ที่นั่ง พรรคเพื่อไทยได้มาเพียง 2 ที่นั่ง เหลือ 1 ที่นั่งเป็นของ พรรคพลังประชารัฐ ขณะที่คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ พรรคก้าวไกลได้ 4.6 แสนคะแนน ส่วนพรรคเพื่อไทย ได้ 3.5 แสนคะแนน
เมื่ออ้างอิงตามผลเลือกตั้ง พ.ค.66 ก็มีโอกาสสูงที่ผู้สมัครจากพรรคก้าวไกลจะสามารถคว้าที่นั่งนายกฯ อบจ.เชียงใหม่ได้ไม่ยาก เช่นเดียวกับหลายจังหวัดที่พรรคก้าวไกล มีคะแนนปาร์ตี้ลิสต์มาเป็นอันดับ 1
เป็นที่น่าสังเกตว่า พรรคก้าวไกลโดย “เสี่ยทิม” พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาพรรค เลือกไทม์มิ่งลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ คาบเกี่ยวกับ “ทักษิณ-เศรษฐา” จนถูกมองว่าต้องการ “วัดพลัง” ไปในที

และยังใช้จังหวะเดียวกันในการเปิดตัว พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) เป็นแคนดิเดตผู้สมัครนายก อบจ.เชียงใหม่ ในนามพรรคก้าวไกลด้วย

หากแต่ก็มีความเชื่อที่ว่า หลักคิดของประชาชนในการลงคะแนนเลือกตั้งท้องถิ่นนั้นต่างจากสนามระดับประเทศ ที่ “บุคคล” มีความสำคัญเหนือกว่า “กระแส” จึงอาจไม่สามารถอิงตามผลเลือกตั้ง สส.ได้

อย่างไรก็ดี เชื่อว่า “ทักษิณ” ก็คงไม่ประมาท เหมือนที่พลาดมาแล้วในการเลือกตั้งกลางปี 66 อย่างแน่นอน และจำเป็นต้องเปิดหน้ารบกับพรรคก้าวไกลอย่างเต็มตัวตั้งแต่สนาม อบจ.

ในฐานะที่พรรคเพื่อไทยถูกจัดหมวดให้เป็น “อนุรักษ์นิยมใหม่” ที่ต้องฟาดฟัดกับ “ฝ่ายก้าวหน้า“ อย่างพรรคก้าวไกล ในฐานะคู่แข่งโดยตรงที่คงไม่กลับมาบรรจบกันอีกครั้งในเร็วๆ นี้
อีกตัวแปรสำคัญที่จะมีผลกับการสนามเลือกตั้ง อบจ. รวมไปถึงภูมิทัศน์การเมืองไทยหลังจากนี้ไป คงไม่พ้นคดียุบพรรคก้าวไกล ที่ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้พิจารณาสั่งยุบพรรคก้าวไกล และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าพรรคการเมือง มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) และ (2)
อันเป็นผลพวงจากกรณีที่ ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์วินิจฉัยว่า การกระทำของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และ พรรคก้าวไกล ที่เสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แล้วใช้เป็นนโยบายในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง เป็นการใช้สิทธิ หรือเสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ “คดีล้มล้างการปกครอง” เมื่อวันที่ 31 ม.ค.67
โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 20 มี.ค.67 ที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ยังไม่พิจารณาคำร้องยุบพรรคก้าวไกล เนื่องจากมีเอกสารบางรายการที่ กกต.ส่งไปไม่ชัดเจน จึงให้ กกต.ผู้ร้องส่งเอกสารฉบับที่ชัดเจนต่อศาลรัฐธรรมนูญ ภายในกำหนดระยะเวลา 7 วันนับแต่วันได้รับหนังสือ ซึ่งทาง กกต.ก็ได้ตรวจสอบแล้วพบว่า เอกสารที่ไม่ชัดเจนดังกล่าวเป็นเอกสารประกอบคำร้องที่ เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ยื่นร้องต่อ กกต.ขอให้พิจารณายุบพรรคก้าวไกล ซึ่งจะมีการดำเนินการตามที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งมาโดยเร็ว
คาดการณ์กันว่าหาก กกต.ดำเนินการวนส่วนของเอกสารแล้วเสร็จ ศาลรัฐธรรมนูญ ก็จะพิจารณาอีกครั้งว่าจะรับหรือไม่รับคำร้องของ กกต. ซึ่งหากไม่รับก็เท่ากับคดียุบพรรคก้าวไกลเป็นอันสิ้นสุด
แต่หากรับคำร้อง ก็คาดการณ์กันว่า ศาลรัฐธรรมนูญ จะใช้เวลาในการพิจารณาคำร้องไม่เกิน 2 เดือน เนื่องจากสาระสำคัญของคำร้องล้วนแล้วแต่มาจากคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญในคดีล้มล้างการปกครองเมื่อวันที่ 31 ม.ค.67
โดยมีการประเมินฉากทัศน์ “เลวร้ายที่สุด” คือพรรคก้าวไกลถูกยุบ พร้อมตัดสิทธิ์คณะกรรมการบริหารพรรค ผลที่ตามมาแน่นอนว่า จะไม่สามารถใช้แบรนด์ก้าวไกลได้อีก และ 10 กรรมการบริหารพรรคขณะกระทำผิดจะถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองอย่างน้อย 10 ปี ส่วน สส.ที่เหลืออยู่ก็ต้องหาสังกัดพรรคใหม่ ซึ่งมีข่าวว่า ปั้นพรรคสำรองเป็น “ค่ายสีส้ม เฟส 3” ไว้รอท่าแล้ว
โดยคนในพรรคก้าวไกลก็พยายามตีปิ๊บกระแส “ยิ่งยุบ ยิ่งโต” ดักทางหากพรคคถูกยุบ ปูทางหาเสียงในฐานะผู้ถูกกระทำเรียกคะแนนสงสารได้อีกคำรบ โดยมีตัวชี้วัดผ่านสนามเบือกตั้ง อบจ.ช่วงต้นปี 68

เชื่อแน่ว่า การยุบพรรคก้าวไกล ย่อมส่งผลเลือนลั่นต่อทิศทางการเมืองไทยอย่างหลีกเลียงไม่ได้

ส่วน “ทักษิณ” ก็ต้องเปิดหน้ารบกับ “ค่ายสีส้ม” ไปตลอด อยู่ที่ว่าจะต้องรบกับส้มยี่ห้อไหนเท่านั้นเอง.


กำลังโหลดความคิดเห็น