ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การเปิดพรมแดนธุรกิจการเงินใหม่ “ธนาคารไร้สาขา” หรือ “Virtual Bank” ที่แบงก์ชาติดีเดย์ให้ยื่นขอใบอนุญาตได้เมื่อวันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา บรรดาบิ๊กคอร์ปต่างให้ความสนใจคับคั่ง ทั้งเครือซีพี ปตท. กัลฟ์ เอสซีบีเอ็กซ์
การลงสนามของคู่แข่งขันรายใหม่จะทำให้ลูกค้ารายเล็กรายย่อยเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น มีโอกาสชีวิตดีขึ้นหรือไม่ยังไม่แน่ แต่นี่เป็นน่านน้ำธุรกิจใหม่ที่น่าห่วงไม่น้อย โดยเฉพาะ “โจทย์ใหญ่” ก็คือการปิดจุดเสี่ยงรอบทิศทางเพื่อสร้างความมั่นใจและความปลอดภัยสูงสุดให้กับประชาชนผู้เป็นเจ้าของเงิน
Virtual Bank หรือธนาคารไร้สาขา อาจฟังดูงงๆ สำหรับผู้ที่คุ้นเคยกับการใช้บริการแบงก์พาณิชย์แบบดั้งเดิมที่ไม่โหลดกระทั่งแอปฯแบงก์ ซึ่ง Virtual Bank มาในรูปแบบใหม่ที่ไม่มีสาขา มีเพียงการตั้งสำนักงานใหญ่เท่านั้น โดยให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลเป็นหลัก ทั้งบริการรับฝากเงิน ให้สินเชื่อ โอนและชำระเงิน บริการด้านการลงทุน รวมทั้งบริการอื่น ๆ ในลักษณะเดียวกันกับธนาคารพาณิชย์ที่มีสาขาทุกประการ
เมื่อเป็นการให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลเป็นหลัก ผู้ให้บริการธนาคารไร้สาขาจึงต้องเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญในการให้บริการทางการเงิน มีความสามารถดูแลความปลอดภัยของระบบที่ให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลเป็นพิเศษ สามารถใช้เทคโนโลยีเสาะหาข้อมูลการเงินที่หลากหลายเพื่อประกอบการให้บริการทางการเงินแก่ลูกค้า เช่น วิเคราะห์พฤติกรรมการใช้จ่ายและรายได้ของลูกค้าผ่านทางออนไลน์และออฟไลน์มาประเมินความเสี่ยง การให้สินเชื่อแบบเฉพาะเจาะจงตอบโจทย์ลูกค้า ข้อมูลส่วนบุคคลไม่รั่วไหล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่โจรไซเบอร์ระบาดหนักอย่างทุกวันนี้
กล่าวสำหรับกลุ่มธุรกิจที่แสดงความสนใจยื่นขอใบอนุญาต Virtual Bank ช่วงแรกที่เปิดรับฟังความคิดเห็นเมื่อต้นปี 2566 ตอนนั้นมีผู้สนใจมากถึง 10 ราย แต่ถึงขณะนี้มีอยู่ 5 กลุ่มพันธมิตรธุรกิจ ประกอบด้วย
กลุ่มที่ 1 ธนาคารกรุงไทย, เอไอเอส ยักษ์ใหญ่ในกิจการโทรคมนาคม, GULF บริษัทธุรกิจด้านพลังงานอย่าง และบริษัท OR เจ้าของปั๊มน้ำมัน ปตท.
กลุ่มที่ 2 SCBX ผู้นำแบงก์ไทยพาณิชย์ของไทย กับ KakaoBank ผู้นำธนาคารดิจิทัล และ Virtual Bank เกาหลีใต้
กลุ่มที่ 3 เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) โดย บริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด ผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน “ทรูมันนี่” ซึ่งมีผู้ใช้งานไม่ต่ำกว่า 25 ล้านคน จับมือกับ Ant Financial Services Group ในเครือ Alibaba
กลุ่มที่ 4 บริษัท JMART เจ้าของธุรกิจปล่อยสินเชื่อ KB J Capital และบริษัทจัดเก็บหนี้ JMT ร่วมกับ KB Financial Group กลุ่มธุรกิจการเงินเกาหลีใต้
และกลุ่มที่ 5 บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด
ตามไทม์ไลน์ แบงก์ชาติเปิดให้ผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และรายละเอียดต่าง ๆ วันที่ 19 มีนาคม 2567 วันที่ 20 มีนาคม 2567 เปิดรับสมัครผู้สนใจยื่นขอใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารไร้สาขาไปจนถึงวันที่ 19 กันยายน 2567 หลังจากนั้น แบงก์ชาติและกระทรวงการคลัง จะคัดเลือกผู้ที่เหมาะสม พร้อมประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือกภายในเดือนมิถุนายน 2568 หลังจากนั้นอีกหนึ่งปี ภายในเดือนมิถุนายน 2569 จะเริ่มให้บริการธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา
นายสารัชถ์ รัตนาวะดี กรรมการ รองประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เปิดเผยว่า GULF จะดำเนินการร่วมกับบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อรุกธุรกิจธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาโดยจะยื่นใบอนุญาตภายในปี 2567 ด้วยเงินลงทุนเบื้องต้น 5,000 ล้านบาท กลุ่มพันธมิตรของกัลฟ์มีความรู้ความเชี่ยวชาญ โดยเอไอเอ มีฐานลูกค้า 45 ล้านเลขหมาย และแบงก์กรุงไทยมีประสบการณ์ทำธุรกิจมายาวนาน และอาจหาพันธมิตรเพิ่มในอนาคต
บิ๊กบอสของกัลฟ์ มองว่า ฐานลูกค้าที่มีจำนวนมากจะทำให้มีโอกาสมากขึ้น จะช่วยให้ผู้ประกอบการรายเล็กรายย่อยและประชาชนเข้าถึงสินเชื่อง่าย สร้างโอกาสให้ผู้ไม่มีโอกาสกู้เงินได้เข้าถึงผ่านการใช้ข้อมูลมือถือโดยเสียดอกเบี้ยในอัตราที่ไม่สูงมากนัก ขณะที่แบงก์กรุงไทยจะตรวจสอบว่าจะให้กู้ได้ตอนไหน โดยปี 2568 เมื่อสร้างดาต้าเซ็นเตอร์ โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเสร็จ ธุรกิจจะขยายต่อไปได้เรื่อย ๆ ส่วนหลักเกณฑ์ที่แบงก์ชาติออกมาถือว่ามีความชัดเจนมากขึ้น กฎระเบียบที่เข้มงวดถือว่าดี สนับสนุนให้มีความปลอดภัยมากขึ้น ยิ่งมีเทคโนโลยีที่พร้อมจะสร้างความมั่นใจมากยิ่งขึ้น
ทางด้าน นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBX กล่าวว่า เอสซีบี เอ็กซ์ จะประกาศพันธมิตรรายที่สองจากจีนที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเพื่อเตรียมความพร้อมยื่นใบขออนุญาต Virtual bank จากเดิมที่เซ็นสัญญากับ KakaoBank ธนาคารดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้ไปแล้วเมื่อกลางปีก่อน และมองว่าการแข่งขันของ Virtual bank ยิ่งมีหลายไลเซนส์ยิ่งดี จะช่วยให้คนที่มีรายได้น้อยเข้าถึงบริการทางการเงินมากขึ้น
การให้ใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารไร้สาขา กระทรวงการคลัง ต้องการให้เกิดการแข่งขันในภาคธุรกิจการเงิน จึงไม่จำกัดจำนวนใบอนุญาต ขณะที่บงก์ชาติ ต้องการนำร่องระยะแรก 3 แห่งก่อน โดยมีเงื่อนไข คือ ต้องตั้งสำนักงานใหญ่ในไทย มีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท ในระยะแรก และไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท ในระยะต่อไป สามารถเป็นบริษัทร่วมทุนเพื่อผสานความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
จุดประสงค์หลักของ Virtual bank คือช่วยประชาชนคนไทยกลุ่มเป้าหมายหลัก ได้แก่ ผู้ไม่มีรายได้ประจำ ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือเอสเอ็มอี กลุ่มที่ไม่ได้รับบริการการเงินอย่างเพียงพอ กลุ่มที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน และกลุ่มเข้าไม่ถึงสินเชื่อและกลุ่มเป็นหนี้นอกระบบ ได้เข้าถึงแหล่งเงินทุน ผู้ฝากเงินกับ Virtual Bank จะได้รับความคุ้มครองจากสถาบันคุ้มครองเงินฝากเช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์อื่น ๆ คือ คุ้มครองวงเงิน 1 ล้านบาทต่อบัญชี ต่อ 1 สถาบันการเงิน
ธนาคารไร้สาขา อาจเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย ขณะที่หลายประเทศทั่วโลกต่างเปิดให้บริการกันไปแล้ว โดยแบงก์ชาติ ได้ศึกษากรณี Virtual Bank ในต่างประเทศ พบว่า ความได้เปรียบอยู่ที่ต้นทุนต่ำกว่าแบงก์พาณิชย์แบบเดิม ทำให้เกิดการแข่งขันด้านเงินฝากและการปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ทางการเงินจากนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้เข้าถึงผู้บริการทุกกลุ่ม การเปิดบัญชีทำได้รวดเร็ว เช่น การเปิดบัญชีกับธนาคารไร้สาขาของอังกฤษ จะมีขั้นตอนดาวน์โหลดแอปฯ ลงโทรศัพท์มือถือ ถ่ายภาพบัตรประจำตัว เอกสารยืนยันที่อยู่ ถ่ายคลิปวีดีโอตัวเองสั้น ๆ เพื่อยืนยันตัวตน สามารถเปิดบัญชีได้ในเวลาไม่ถึง 10 นาที
การช่วยให้ลูกค้าเข้าถึงสินเชื่อ Virtual Bank กรณี WeBank ของจีนที่ต่อยอดจากฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของ WeChat และ QQ กว่า 1,300 ล้านคน รวมถึง WeChat Pay ที่ทำให้รู้ถึงพฤติกรรมการใช้เงินของลูกค้า เมื่อนำมารวมกับการใช้ AI คลาวด์คอมพิวติ้ง ทำให้สามารถพิจารณาวงเงินสินเชื่อ 500-300,000 หยวน ได้ในเวลาเพียงเสี้ยวนาที และส่งเงินเข้าบัญชีผู้ขอสินเชื่อภายใน 1 นาที ซึ่งมีผู้ใช้บริการจำนวนมาก
WeBank ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาของกลุ่มเทนเซนต์ ผู้ให้บริการวีแชต แอปพลิเคชันส่งข้อความอันดับหนึ่งของจีน โดยปัจจุบันวีแบงก์สามารถขยายฐานลูกค้าได้กว่า 100 ล้านคน นับตั้งแต่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารเต็มรูปแบบในปี 2557
กรณี Nubank ของบราซิล นำเสนอผลิตภัณฑ์การเงินในรูปแบบบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคลให้แก่คนกลุ่มที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อด้วยดอกเบี้ยต่ำ การนำเสนอประกันชีวิตที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าตลาด ขณะที่ Virtual Bank ของอินโดนีเซีย ช่วยแก้ปัญหาลูกหนี้ที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินได้เช่นกัน
ประเด็นการกระตุ้นการแข่งขันในระบบสถาบันการเงิน จากการศึกษา Virtual Bank ส่วนใหญ่จะไม่เก็บค่ารักษาบัญชี และค่าธรรมเนียมหลายประเภท อย่างเช่น ฮ่องกงยกเลิกเก็บค่ารักษาบัญชีที่มีเงินฝากน้อย ยกเลิกค่าธรรมเนียมการขอสเตทเม้นท์ กรณี KakaoBank ในเกาหลีใต้ ยังเปิดศึกดอกเบี้ยเงินฝากสูงกว่าคู่แข่ง
อย่างไรก็ตาม ในอีกมุมหนึ่ง การเข้ามากระตุ้นการแข่งขันของระบบการเงินต้องไม่ทำให้เกิดการแข่งขันอย่างรุนแรง กระทั่งสร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพการเงินในระยะยาว เช่น การแข่งปล่อยสินเชื่อจนทำให้เกิดปัญหาก่อหนี้เกินตัว ฯลฯ
นอกจากนี้ จากกรณีศึกษายังพบว่า การเร่งแข่งขันด้านอัตราดอกเบี้ยที่สูงเกินไป และการพิจารณาสินเชื่อที่ไม่ครอบคลุมความเสี่ยงเพียงพอ ทำให้ Virtual Bank ในสหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย ต้องปิดกิจการลงในเวลาไม่นาน และมี Virtual Bank ในสหราชอาณาจักร และฮ่องกง อีกไม่น้อยในขณะนี้ที่อยู่ในสภาพขาดทุน
อีกประเด็นสำคัญคือ เรื่องความเชื่อมั่นของลูกค้า ซึ่งลูกค้าจำนวนมากยังใช้บัญชีธนาคารพาณิชย์แบบเดิมเป็นบัญชีหลัก เพื่อรับเงินเดือนหรือเงินออม ส่วน Virtual Bank เป็นบัญชีรองสำหรับจ่ายค่าน้ำค่าไฟ จิปาถะ และปัญหาเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์ ทำให้ Virtual Bank ขยายธุรกิจไปได้ไม่เต็มที่แม้ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น
จากกรณีศึกษาดังกล่าว แบงก์ชาติจึงกำหนดหลักเกณฑ์ในการขอจัดตั้ง Virtual Bank ของไทย อย่างเข้มข้น เช่น ต้องมีทุนจดทะเบียนเบื้องต้นไว้ที่ 5,000 ล้านบาท เพื่อให้มีฐานะแข็งแกร่งเพียงพอสำหรับการลงทุนเทคโนโลยี และรองรับการเริ่มดำเนินธุรกิจระยะแรกที่อาจยังไม่มีกำไร ส่วนการป้องกันความเสี่ยงที่มิจฉาชีพ เช่น การเปิดบัญชีม้า ธปท.กำหนดให้ Virtual Bank ต้องใช้มาตรฐานการยืนยันตัวตนเช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์ การให้ใบอนุญาตจะคำนึงถึงความยืดหยุ่น ปลอดภัยของเทคโนโลยี และการป้องกันทางไซเบอร์ที่เข้มข้น
ทั้งนี้ เกณฑ์คุณสมบัติของผู้ที่สมควรได้รับใบอนุญาตแบงก์ชาติ กำหนดไว้ 7 ข้อสำคัญ เช่น ความสามารถในการดำเนินธุรกิจธนาคารไร้สาขา โดยนำเสนอบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ที่ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการแต่ละกลุ่มได้ดียิ่งขึ้น ธรรมาภิบาลและความสามารถของผู้ขออนุญาตและผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ และความสามารถในการประกอบธุรกิจที่มีการใช้เทคโนโลยีและให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัล ความสามารถในการใช้และบริหารจัดการระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ยืดหยุ่น มั่นคง ปลอดภัย และสามารถให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง ฐานะทางการเงินของผู้ถือหุ้นใหญ่ เป็นต้น
กอบศักดิ์ ดวงดี ลขาธิการ สมาคมธนาคารไทย มองการมาของ Virtual Bank ว่าภาคธนาคารต้องตรียมการรับมือที่จะมีธนาคารเพิ่มมากขึ้น ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการเพิ่มการแข่งขันเพื่อให้เกิดการบริการลูกค้าที่ดีมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐมองว่าธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบันยังตอบโจทย์ได้ไม่ดีนัก
ขณะเดียวกัน วิภาวิน พรหมบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงสิ่งที่แบงก์ชาติอยากเห็นคือกระตุ้นการแข่งขันในระบบสถาบันการเงินอย่างเหมาะสม มีบริการทางการเงินเหมาะกับลูกค้าแต่ละกลุ่ม แต่ไม่อยากเห็นความเสี่ยงที่จะเกิดต่อระบบเสถียรภาพทางการเงิน
“..... จำนวนที่เหมาะสม ธปท.มองว่าประมาณ 3 ราย เมื่อเข้ามาแล้วมากระตุ้นการแข่งขันที่เหมาะสม และกำกับดูแลความเสี่ยงให้ประชาชน เกิดประโยชน์แก่พี่น้องประชาชนไม่อยากเห็นว่ามาแล้วปิดลงไป หรือเข้ามาแล้วไม่สามารถดูแลความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะกระทบกับผู้ใช้บริการ” ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ของแบงก์ชาติให้ความเห็นผ่านสื่อ
Virtual Bank ทางเลือกใหม่ของผู้คนตัวเล็กตัวน้อยที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อ อาจเป็นปรากฏการณ์ผีเสื้อขยับปีกให้บรรดาแบงก์พาณิชย์ที่ทำตัวเป็นเสือนอนกินมานมนานถึงเวลาต้องเปลี่ยนแปลง