ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ปรากฎการณ์อุบัติใหม่ของบรรดา “ผู้ชี้นำทางจิตวิญญาณ” หรือ “ผู้วิเศษ” เป็นผลมาจากพื้นฐานศรัทธาความเชื่อที่ฝังลึกอยู่ในสังคมไทย สะท้อนความเปราะบางภายในจิตใจ ความไม่แน่นอน ความกังวลในชีวิต ทำให้ผู้คนจำนวนหนึ่งต่างหันไปหาที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยวทางใจ โดยเฉพาะล่าสุดคือกรณีของ “เอ จักรพรรดิ” หลังเดบิวด์เป็น “ไอดอลสายมู” กับคอนเทนต์สุดปังที่ลงเผยแพร่ในโซเซียลฯ ทำให้มีผู้คนจำนวนมากเคารพนับถือ
จุดเริ่มต้นของกระแส “เอ จักรพรรดิ” เกิดขึ้นหลังโซเชียลมีเดียแชร์คลิปชายผู้หนึ่งเดินลงจากรถหรู โดยมีคนกางร่มให้พร้อมกับปูพรมต้อนรับ บรรยากาศโดยรอบมีผู้คนมารอรับ และพนมมือไหว้ด้วยความเคารพนับถือ ซึ่งก็คือ “เอ จักรพรรดิ” หรือ “นายธนกฤต โรจนตรีภูมิ” นักพยากรณ์สายมู ทำนายดวง ลงนะหน้าทอง ประกอบพิธีกรรมต่างๆ นอกจากนี้ ยังเป็นผู้สร้างมูลนิธิเพื่อช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสภายใต้ชื่อ “บ้านนีออน” และจัดตั้ง “จักรพรรดิเทวาลัย”
“เอ จักรพรรดิ” มีภูมิหลังเป็น “พ่อค้าออนไลน์” ที่รู้จักในชื่อ “เอ นีออน” เจ้าของธุรกิจขายสบู่ผิวขาว โมเดลธุรกิจ Dropship หรือเป็นตัวแทนที่ไม่ต้องสต๊อกสินค้า ทำรายได้ต่อปีไม่ต่ำ 100 ล้านติดกันนานถึง 5 ปี แต่เจอวิกฤตทางเศรษฐกิจและโรคระบาดทำให้ธุรกิจหยุดชะงัก
ชีวิต “เอ จักรพรรดิ” เริ่มพลิกจากคำแนะนำของ “ซินแส” ทำให้ผันตัวเข้ามาสู่วงการ “มูเตลู” เริ่มเปิดแผงของขลัง ของมงคลต่างๆ ให้ผู้คนได้เช่าบูชา สร้างเทวาลัยพญานาค พระพิฆเนศ เพื่อให้คนที่ศรัทธาเข้ามากราบไหว้ขอพร ปัจจุบันเป็นเจ้าของ “บริษัท จักรพรรดิมั่งคั่ง จำกัด” ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการจำหน่ายเครื่องรางของขลัง
และด้วยภาพลักษณ์ “ไอดอลสายมู” กับคอนเทนต์สุดปังที่ลงเผยแพร่ในโซเซียลฯ ทำให้มีผู้คนจำนวนมากเคารพนับถือจนคลิปภาพดังกล่าว โดยลูกศิษย์เชื่อว่าแรงศรัทธา “อาจารย์เอ” จะส่งผลให้มีชีวิตดีๆ เฮงๆ ปังๆ
แน่นอนว่า เป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทันที หลังภาพการปรากฎตัวของ “เอ จักรพรรดิ” ขณะลงจากรถหรู มีคนกางร่มให้พร้อมกับปูพรมต้อนรับ รวมทั้งมีผู้คนมารอและพนมมือไหว้ด้วยความเคารพนับถือ เผยแพร่ในโซเซียลฯ เชิงตั้งคำถามว่า เขาเป็นใคร? และ ทำไมผู้คนให้ความเคารพถึงเพียงนั้น?
“แพรรี่” หรือ “ไพรวัลย์ วรรณบุตร” ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเตือนสติว่า “อย่าตั้งตนเป็นผู้วิเศษ อย่าหากินกับความเชื่อของคน...ไม่สนับสนุนให้ใครตั้งตัวเป็นเจ้าลัทธิ เพราะเราสามารถช่วยเหลือคนอื่นได้โดยที่เราไม่จำเป็นต้องตั้งตัวเป็นผู้วิเศษ ไม่ต้องให้ใครมากราบหรือมาไหว้เรา เพราะสุดท้ายก็ลงเอยด้วยการขายเครื่องรางของขลังอยู่ดี และก็น่าจะรู้อยู่แก่ใจว่าเมื่อก่อนตัวเองเป็นแค่แม่ค้าขายครีม หากเจตนาบริสุทธิ์จริง ขอให้ทำตัวเป็นคนปกติ...”
สำหรับกรณีการอุบัติใหม่ของ “ผู้ชี้นำทางจิตวิญญาณ” มีคนแห่กราบไหว้ให้ความเคารพอย่างสุดใจ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่เป็นประเด็นร้อนในสังคมก่อนหน้านี้ คือ กรณี “อาจารย์น้องไนซ์ เชื่อมจิต หรือ “น้องไนซ์ เทวานิรมิตจุติ” ผู้อ้างตนเป็น “ร่างทรงองค์พชรภัทรนาคานาคราช” ที่เป็น “ร่างองค์ใหม่ของพระพุทธเจ้า” โดยมีผู้ใหญ่จำนวนมากก้มกราบเด็กวัยแค่ 8 ขวบ และอีกไม่น้อยยอมเสียเงินเสียทองที่จะเข้าร่วม “คอร์สเชื่อมจิต” กับ “อาจารย์น้องไนซ์”
อย่างไรก็ดี การหันไปพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตลอดจนความเชื่อเรื่องโชคลาง แม้กระทั่งผู้ชี้นำทางจิตวิญญาณ ล้วนเป็นการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดอย่างหนึ่งของมนุษย์ ดร. บุญยิ่ง คงอาชาภัทร หัวหน้าสาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) กล่าวว่าเมื่อโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะด้านใด ๆ ก็ตาม โดยธรรมชาติของมนุษย์ก็จะมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตให้สอดคล้องไปกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นเพื่อความอยู่รอด
อ้างอิงงานวิจัยการตลาด “Marketing in the Uncertain World การตลาดของคนอยู่เป็น” ระบุว่าหลากหลายปัจจัยที่ทำให้คนไทยเกิดความกังวลและรับรู้ถึงความไม่แน่นอน ซึ่งจากความกังวลและความไม่แน่นอนดังกล่าว ทำให้คนไทยต้องหาวิธีจัดการกับความรู้สึกซึ่งพบว่าคนไทยหันหน้าพึ่งความเชื่อโชคลาง (Superstitious) ซึ่ง 5 อันดับความเชื่อโชคลางที่มีผลต่อคนไทยมากที่สุดคือ 1.พยากรณ์ โหราศาสตร์ ลายมือ ไพ่ยิปซี 2.พระเครื่องวัตถุมงคล 3.สีมงคล 4.ตัวเลขมงคล และ 5.เรื่องเหนือธรรมชาติ
นอกจากนี้ ข้อมูลจากศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “เป็นสายมู หรือเปล่า!” สุ่มจากกลุ่มตัวอย่าง 1,310 หน่วยตัวอย่าง พบว่าสิ่งที่ขอพรจากการกราบไหว้หรือบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ร้อยละ 46.56 ระบุว่า ขอพรด้านการเงิน โชคลาภ
นายอภินันท์ ธรรมเสนา ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารสังคมและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) อธิบายในมุมมานุษยวิทยาว่า มนุษย์จะดีลอยู่ 3 เรื่องเท่านั้น คือระหว่าง คนกับคน คนกับสังคม และคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ ไม่ว่าจากความกลัว หรือความไม่เข้าใจ การตกลงกับสิ่งเหนือธรรมชาติ ทั้งเรื่องฝนฟ้าอากาศ หรือความไม่แน่นอนของชีวิต ล้วนเป็นเรื่องที่มีอยู่เดิมทุกสังคม
แต่น่าสังเกตว่าในปัจจุบันปรากฎการณ์ดีลกับสิ่งเหนือธรรมชาติ เกิดขึ้นเพราะสังคมมีความไม่แน่นอนสูง เพราะคนรู้สึกไม่มีความมั่นคงจนต้องหาที่พึ่งพา หรือในแง่หนึ่งเพราะสังคมที่เปราะบางมาก จนไม่รู้เลยว่าพรุ่งนี้จะเป็นอย่างไร คนก็ต้องเชื่อเรื่องพวกนี้ไว้ก่อน เพราะมนุษย์เป็นสัตว์ที่มีความอ่อนไหวสูงมาก เพราะฉะนั้นอะไรก็ตามที่สามารถเป็นที่พึ่งได้ แม้แต่เรื่องทางใจที่ไม่สามารถเห็นเป็นรูปธรรมได้ แต่ถ้าทำให้สบายใจเราก็จะทำไว้ก่อน
ยกตัวอย่าง การปฏิบัติธรรม จากสมัยก่อนที่เป็นการทำเพื่อหลุดพ้น แต่ความหมายในการปฏิบัติธรรมในยุคใหม่ มักทำเพื่อสะสมอะไรบางอย่าง หวังชีวิตจะดีขึ้น จะรวยขึ้น เป็นการสะสมบุญ เป็นต้น
ที่น่าสังเกต คือ คนส่วนใหญ่ที่เชื่อเรื่องเหล่านี้ มักเป็นคนที่ฐานะดีอยู่ชนชั้นกลางระดับบน มีรูปแบบจะยึดถือการปฏิบัติมากว่าพิธีกรรมแบบชาวบ้าน อย่างเป่าน้ำมนตร์ เสกคาถา ดูเหมือนว่าจะไม่งมงาย แต่วิธีปฏิบัติก็เพื่อการสะสมบุญเพื่ออยากมีชีวิตที่ดีขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นกำลังบอกว่า “ชนชั้นกลางกำลังเจอกับปัญหา ความไม่แน่นอนของชีวิตที่สูงขึ้น” และด้วยคนกลุ่มนี้เข้าถึงสื่อได้มาก จึงเป็นเงื่อนไขให้ความเฟื่องฟูของระบบผู้ศักดิ์สิทธิ์แบบนี้เพิ่มมากขึ้น
“เรื่องนี้มันไม่ใช่ของใหม่ พระอาจารย์ดังๆ ในเมืองไทยก็รายล้อมไปด้วยผู้หลักผู้ใหญ่ที่เข้าไปเป็นลูกศิษย์ และวัดนั้นก็จะไปรับการบูรณะอย่างดี หรือพระรูปนั้นอาจจะได้เลื่อนชั้นยศ เพราะว่ามีผู้ใหญ่ไปกราบไหว้บูชา” นายอภินันท์ ธรรมเสนา ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารสังคมและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) กล่าว
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องของศรัทธาความเชื่อเป็นแรงขับเคลื่อน “ธุรกิจสายมู” ซึ่งสร้างเม็ดเงินมหาศาลโดยเฉพาะในยุคที่ผู้คนยู่ท่ามกลางสภาวะไม่แน่นอนของเศรษฐกิจและสังคม
ขณะที่ นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่าธุรกิจความเชื่อ สายมู หมอดู ฮวงจุ้ย และธุรกิจ Soft Power ไทย จะเป็นธุรกิจที่มาแรงในปี 2567 โดยเฉพะธุรกิจสายมูที่คาดว่ามีเงินสะพัดในธุรกิจเกี่ยวเนื่อง 10,000-15,000 ล้านบาท หรือโตขึ้นร้อยละ 10-20 เพราะคนไทยยังมีความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ