xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

โลกร้อนทะเลเดือด หายนะระบบนิเวศ หญ้าทะเลตาย หายนะเผ่าพันธุ์พะยูน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เข้าสู่ ปี 2567 เพียงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ทะเลไทยพบ “การตายของ พะยูน 4 ตัว” ในลำดับเวลาไล่เลี่ยกัน อีกทั้งในโซเซียลฯ มีการแชร์ภาพ “พะยูน ซูบผอม” เพราะขาดอาหาร แหล่งหญ้าทะเลเสื่อมโทรม เชื่อมโยงปรากฎการณ์ “ทะเลเดือด” ความแปรปรวนของภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อนิเวศน์ทางทะเล 

ทั้งนี้ เมื่อช่วงต้นเดือน มี.ค. 2567 เพจเฟซบุ๊ก  ขยะมรสุม MONSOONGARBAGE THAILAND  เครือข่ายอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายากในพื้นที่เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง ได้โพสต์ภาพพะยูนเกยตื้น บริเวณท่าเรือบ้านพร้าว เกาะลิบง ในสภาพลำตัวซูบยาว ผอมโซ ขณะว่ายน้ำเข้ามาเกยตื้นใกล้เรือหางยาวของชาวบ้านที่จอดอยู่บริเวณท่าเรือบ้านพร้าว กลายเป็นภาพสะเทือนใจและสร้างความกังวลงต่อสถานการณ์พะยูนในทะเลตรังเป็นอย่างมาก

ก่อนจะพบว่าพะยูนตัวดังกล่าวตายในเวลาต่อมา โดยเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามันตอนล่าง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้นำซากพะยูนตัวดังกล่าวมาผ่าพิสูจน์ซากโดยทีมสัตวแพทย์ ตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า เป็นซากพะยูน เพศผู้ อายุประมาณ 20 ปี ความยาว 250 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 220 กิโลกรัม หลังผ่าพิสูจน์นานถึง 4 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่ลงความเห็นสาเหตุการตายว่า สัตว์ป่วยเรื้อรังเนื่องจากมีพยาธิตัวกลมเต็มกระเพาะอาหาร

 นายสันติ นิลวัฒน์  ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อันดามันตอนล่าง ทช. เปิดเผยว่าตั้งแต่ต้นปี 2567 เป็นต้นมา ทะเลตรังพบพะยูนเกยตื้นตายแล้ว 4 ตัว โดยที่ผ่านมาจะพบว่า พะยูนเกยตื้นมากที่สุดในช่วงปลายปีประมาณ พ.ย. - ธ.ค. ส่วนที่ตายในปีนี้อาจเกี่ยวเนื่องกับปลายปีที่ผ่านมา คาดว่าในช่วงกลางๆ ปีมีโอกาสการเกิดขึ้นน้อยลง แต่ถือว่าเป็นตัวเลขค่อนข้างน่าเป็นห่วง

จากที่มีการเก็บข้อมูลมาหลายปี สาเหตุหลักของการเกยตื้นส่วนใหญ่เกิดจากอาการป่วย แต่ว่าค่อนข้างวินิจฉัยยาก เพราะส่วนใหญ่พบตอนซากเน่า อวัยวะภายในค่อนข้างที่จะพิสูจน์ยาก ซึ่งกรณีพะยูนตัวล่าสุด พบพยาธิในกระเพาะมากขึ้นชี้ชัดว่ามันป่วย พบหนองพบก้อนเนื้อที่คล้ายมะเร็งลักษณะผิดปกติในอวัยวะภายใน ซึ่งค่อนข้างจะเจอในสัดส่วนเปอร์เซ็นต์ของการเกยตื้น

ส่วนสาเหตุที่พะยูนตัวดังกล่าวซูบผอม เป็นไปได้ 2 กรณี คือ “ป่วยแล้วทำให้ซูบผอม” หรือ “ขาดอาหารแล้วทำให้ป่วย”  โดยสัตวแพทย์ชันสูตรเบื้องต้นพบว่า ลักษณะของหัวใจอักเสบ และมีก้อนไขมันในหัวใจ ซึ่งถ้าพบว่าในกระเพาะของพะยูนมีแผล ก็อาจจะเป็นเพราะขาดอาหารได้ แต่พะยูนตัวนี้พบว่ามีพยาธิเต็มกระเพาะเกิดจากอาการป่วยเรื้อรัง

ทั้งนี้ จำนวนพะยูนในพื้นที่เกาะลิบง จ.ตรัง ถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีพะยูนมากที่สุดในประเทศไทย ปี 2566 สำรวจพบ 194 ตัว สำรวจล่าสุด ปี 2567 พบเหลือเพียง 36 ตัวเท่านั้น และไม่พบพะยูนแม่ลูกเลยแม้แต่คู่เดียว โดยสาเหตุหลักๆ คือ หญ้าทะเลตาย พะยูนไม่มีอาหารกิน ทำให้ป่วย อดตาย ส่วนสาเหตุที่ทำให้หญ้าทะเลตายเป็นผลมาจากปรากฏการณ์โลกร้อนทะเลเดือด

ปรากฎการณ์โลกร้อนทะเลเดือด ส่งผลกระทบให้แหล่งหญ้าทะเลเสื่อมโทรมอย่างหนัก

พะยูน เกาะลิบง จ.ตรัง ลำตัวซูบยาวผอมโซ คาดว่าขาดอาหาร เนื่องจากแหล่งหญ้าทะเลเสื่อมโทรม
จำนวนพะยูนที่พบน้อยลง แม้ยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าพะยูนจะย้ายถิ่นฐานหรือไม่ แต่โดยธรรมชาติหากพบแหล่งหญ้าเสื่อมโทรมสัตว์ก็จะย้าย นายสันติ นิลวัฒน์ ผอ.ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งฯ เปิดเผยต่อไปว่า จากเศษอาหารที่พบในกระเพาะพะยูนตัวล่าสุดที่มีการผ่าซากข้างต้น พบเป็นหญ้าเข็มซึ่งแสดงว่าพะยูน ไปหากินในระดับน้ำลึก แต่ก็พบเจอหญ้าใบมะกรูดซึ่งเป็นหญ้าที่พะยูนยังคงหากินในที่แหล่งเดิมอยู่ เพราะหลักๆ ที่เจอความเสื่อมโทรมของหญ้าทะเล จะเจอในแหล่งน้ำตื้นและเป็นในบริเวณที่หญ้าแห้งระดับน้ำลงต่ำสุด

ทั้งนี้ วิกฤตหญ้าทะเลลุกลามหนัก จ.ตรัง พบเสื่อมโทรมมาตั้งแต่ปี 2562 พบการตายของหญ้ามีเพิ่มขึ้นอีกหลายชนิด เช่น หญ้าคาทะเล หญ้าใบมะกรูด ซึ่งเป็นอาหารของพะยูน จากการสำรวจพบว่า มี 2 เกาะ ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง คือ รอบเกาะลิบง และ บริเวณเกาะมุกด์ กินพื้นที่กว่า 10,000 ไร่

สำหรับพื้นที่เกาะลิบงหญ้าทะเลหายไปมากกว่า 50% และส่งผลต่อสัตว์ทะเลหลายชนิด โดยเฉพาะ พะยูน ซึ่งเป็นสัตว์ทะเลหายากมีแนวโน้มใกล้สูญพันธ์ ซึ่งในแต่ละวันจะกินหญ้าทะเล 5 - 10% ของน้ำหนักตัว และพะยูนตัวเต็มวัย สามารถหนักได้ถึง 250 - 420 กิโลกรัม

 นายภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์  ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิอันดามัน จังหวัดตรัง และเป็นหนึ่งในคณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินงานและแก้ไขปัญหาการเสื่อมโทรมของแหล่งหญ้าทะเลในบริเวณจังหวัดตรังและจังหวัดกระบี่ เปิดเผยว่ามีสัญญาณมาประมาณ 3 - 4 ปี เพราะพบพะยูนเกยตื้นตายจำนวนมาก ส่วนใหญ่เกิดจากอาการป่วย และสาเหตุหลักเกิดจากภาวะการขาดแคลนอาหารที่มาจากความไม่สมดุลทางระบบนิเวศ

 ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล อธิบายว่าโลกอยู่ในจุดที่เรียกว่า  “โลกร้อนทะเลเดือด”  ซึ่งสถานการณ์ต่อจากนี้ค่อนข้างน่าเป็นห่วงมาก และจากกรณีการตายของพะยูน และวิกฤตหญ้าทะเลที่กำลังลดน้อยลงเรื่อยๆ ในทะเลตรัง ถือเป็นสัญญาณที่บอกให้ต้องรีบหันมาสนใจปัญหาอย่างจริงจัง โดยคือปรากฏการณ์โลกร้อนทำให้พะยูนไม่อาหารกิน (หญ้าทะเล) เริ่มผอม ป่วย และตายลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะพะยูนแก่ และพะยูนเด็ก ส่วนตัวที่เป็นหนุ่มสาวก็ว่ายน้ำขึ้นไปทางเหนือ ตามแนวหญ้าทะเล หรือขึ้นไปทาง จ.ภูเก็ต กระบี่ ซึ่งที่ผ่านมา ก็เริ่มมีการพบเห็นพะยูนที่กระบี่และภูเก็ตมากยิ่งขึ้น หากมองโลกในแง่ดี พะยูนบางส่วนอาจจะอพยพไปยังกระบี่และภูเก็ตก็ได้

ด้าน  นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี  อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เปิดเผยว่า กรมฯ ได้จัดตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินงานฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลในบริเวณ จ.ตรัง และ จ.กระบี่ เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา และกำหนดนโยบายมาตรการฟื้นฟูหญ้าทะเล เพื่อให้หญ้าทะเลสามารถฟื้นฟูตัวเองตามธรรมชาติ รวมถึง การบริหารจัดการเชิงพื้นที่เป็นรายพื้นที่ ซึ่งจะมีการศึกษาเพื่อกำหนดเขตรักษาพืชพันธุ์ ออกจากเขตการใช้ประโยชน์ เช่น เขตอนุญาตสำหรับกิจกรรมประมงพื้นบ้าน รวมทั้งส่งเสริมการวิจัยเพื่อการอนุรักษ์ การฟื้นฟูหญ้าทะเล

รวมทั้งมีแนวทางการอนุรักษ์พะยูน สร้างกลุ่มและขยายเครือข่ายช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายาก กับชุมชน และเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเพิ่มการลาดตระเวนคุ้มครองเชิงคุณภาพ (Smart Patrol) ในการเฝ้าระวังพะยูน และแหล่งที่อยู่อาศัยและลดผลกระทบจากอุบัติเหตุทางทะเลต่อพะยูน ซึ่งจะเป็นมาตรการสำคัญที่ให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว

 สุดท้ายยังคงต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด สำหรับการปัญหาการเสื่อมโทรมของแหล่งหญ้าทะเล โดยเฉพาะในทะเล จ.ตรัง และ จ.กระบี่ ตลอดจนการขับเคลื่อนแนวทางอนุรักษ์พะยูนในทะเลไทย ที่ต้องยอมรับว่าเป็นความท้าทายอย่างมาก นับเป็นภารกิจที่ต้องร่วมมือร่วมใจจากทุกฝ่าย. 



กำลังโหลดความคิดเห็น