“รมว.ดีอีเอส” เยี่ยมสวนเห็ดกรรณิกา จ.เชียงราย ใช้เทคโนโลยี IoT คุมความชื้นในโรงเรือน ลดรายจ่าย-เพิ่มผลผลิต โกยรายได้มากขึ้น 20% ผสานภูมิปัญญาท้องถิ่น ดันซอฟต์พาวเวอร์ด้านไลฟ์สไตล์แบบไทย ๆ ดึงดูดนักท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ
วันนี้ (18 มี.ค.67) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และคณะ ร่วมตรวจเยี่ยมผลการดําเนินโครงการระบบควบคุมความชื้นในโรงเรือนเห็ดอัจฉริยะของวิสาหกิจชุมชนสวนเห็ดกรรณิกา จ.เชียงราย โดยการนำเทคโนโลยี IoT : Smart Farm มาประยุกต์ใช้ควบคุมความชื้นด้วยระบบการให้น้ำแบบพ่นหมอก
สำหรับวิสาหกิจชุมชนสวนเห็ดกรรณิกา ผลิตดอกเห็ดในถุงพลาสติกหลายชนิด เช่น เห็ดนางฟ้า, เห็ดนางรม และเห็นโคนญี่ปุ่น เป็นต้น เดิมใช้แรงงานคนรดน้ำด้วยวิธีการเปิดปั๊มน้ำ และพ่นละอองออกด้วยมินิสปริงเกอร์ โดยได้ทดลองใช้ตัวตั้งเวลา (Timer) แต่ก็ยังไม่สามารถตอบโจทย์ เนื่องจากความชื้นสัมพัทธ์ในแต่ละวันไม่เท่ากัน อีกทั้งกระบวนการและละอองน้ำที่ได้จากมินิสปริงเกอร์ไม่มีความสม่ำเสมอ ทําให้เห็ดที่โดนน้ำมากฉ่ำน้ำ ขณะที่เห็ดที่โดนน้ำน้อยกรอบแห้ง ผลผลิตจึงไม่สม่ำเสมอทั้งฟาร์ม ซึ่งวิสาหกิจชุมชนสวนเห็ดกรรณิกาได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี IoT: Smart Farm จาก สำนักงานส่งเสริทเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) โดยนำมาใช้กับโรงเรือนเพาะเห็ดทั้ง 7 โรงเรือน ผ่านการควบคุมโดยระบบชุดควบคุมอัจฉริยะสําหรับระบบพ่นหมอกในโรงเรือนเห็ด
หลังปรับใช้ระบบควบคุมความชื้นในโรงเรือนเห็ดอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยี IoT: Smart Farm ทำให้เกิดผลสําเร็จอย่างเป็นรูปธรรม โดย 1.ลดต้นทุนค่าแรงงานลงไม่น้อยกว่า 30% คิดเป็นจํานวนเงิน 46,537.50 บาทต่อปีโดยประมาณ, 2.ลดการสูญเสียของก้อนเห็ด ประมาณ 5-7% ของจํานวนก้อนเห็นในโรงเรือน คิดเป็น 250-350 ก้อนโดยประมาณ, 3.มีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 20% คิดเป็นเงิน 302,400 บาทโดยประมาณ และ 4.ระบบ Smart Farm เห็ด 1 ระบบ สามารถบริหารจัดการ 7 โรงเรือน
นายประเสริฐ กล่าวว่า กระทรวงดีอีเอส โดย ดีป้า มุ่งส่งเสริมให้เกิดการต่อยอดการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการพัฒนาด้านการเกษตร ทดแทนการทํางานรูปแบบเดิม การใช้เทคโนโลยีข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data)
เพื่อจัดการด้านเพาะปลูก โดยดําเนินการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ให้ออกมาเป็นแนวทาง หรือวิธีการต่าง ๆ ที่ช่วยเพิ่มผลผลิต และลดการสูญเสียของผลิตผล บูรณาการการปฏิบัติงานกับกรมอุตุนิยมวิทยาในการส่งเสริมเกษตรกรให้สามารถทราบผลการพยาการณ์อากาศล่วงหน้า ช่วยเตือนภัยธรรมชาติและรับทราบข้อมูลสภาพอากาศ รวมถึงปริมาณน้ำฝนล่วงหน้าในพื้นที่ได้อย่างแม่นยํา เพื่อช่วยให้เกษตรกรสามารถบริหารจัดการทรัพยากร ตลอดจนวางแผนการเพาะปลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล อีกทั้งต่อยอดกระบวนการและผลิตผลของชุมชนด้วยเอกลักษณ์ไทย กลายเป็นอีกหนึ่งซอฟต์พาวเวอร์ที่สามารถกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวของประเทศได้
“จากการร่วมลงพื้นที่ในวันนี้ นอกจากจะได้เห็นถึงความสำเร็จของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลผสมผสานเข้ากับภูมิปัญญาท้องถิ่นแล้วยังได้เห็นโอกาสของการต่อยอดสู่อุตสาหกรรมอื่น ๆ อาทิ อุตสาหกรรมอาหารด้วยมาตรฐานของผลิตผล รวมถึงกระบวนการการผลิตที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่จะสามารถนำมาเป็นจุดขายของชุมชน เปิดเมือง เปิดให้ทั้งชาวไทยเองและชาวต่างชาติได้เข้ามาเยี่ยมชม ท่องเที่ยว สร้างซอฟต์พาวเวอร์ด้านไลฟ์สไตล์แบบไทย ๆ และกลายเป็นแรงดึงดูด กระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้” นายประเสริฐ ระบุ.