รมว.ดีอี สั่งหน่วยงานในสังกัดผลักดันการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อยกระดับเกษตรกรรม และคุณภาพชีวิตเกษตรกร ทั้งโครงการ 1 ชุมชน 1 ดิจิทัล การใช้เทคโนโลยีข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อการจัดการเพาะปลูก การส่งเสริมเกษตรกรใช้บริการระบบ และอุปกรณ์อัจฉริยะเพื่อการพยากรณ์ที่พัฒนาโดยดิจิทัลสตาร์ทอัปของไทย การใช้อุปกรณ์ไอโอทีเพื่อการยกระดับสู่สมาร์ทฟาร์ม พร้อมกำชับให้ดีป้า เร่งรัดการนำผลิตภัณฑ์ดิจิทัลที่ผ่านมาตรฐาน dSURE สร้างกลไกการยกระดับเกษตรกรรมไทยสู่ Smart Agriculture ทั้งในรูปแบบพืชสวนและพืชไร่
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า กระทรวงดีอีเชื่อว่าเทคโนโลยีดิจิทัลในปัจจุบันสามารถช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ จึงได้เร่งสั่งการหน่วยงานในสังกัดให้เร่งดำเนินการส่งเสริมให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อยกระดับเกษตรกรรมและคุณภาพชีวิตของเกษตรกร
โดยสิ่งที่ได้ดำเนินการแล้วในนามกระทรวงดีอี โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือดีป้า คือ โครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (ชุมชนโดรนใจ) มีวัตถุประสงค์ที่จะส่งเสริมการสร้างระบบนิเวศดิจิทัลเพื่อการยกระดับชุมชนด้วยเทคโนโลยีโดรนเพื่อการเกษตรผ่านการพัฒนาความรู้ ความเข้าใจ และทักษะที่ถูกต้องเกี่ยวกับการบินและการซ่อมบำรุงโดรนแก่กลุ่มเกษตรกรและชุมชนในทุกภูมิภาคทั่วประเทศโดยคณาจารย์และผู้เชี่ยวชาญ พร้อมผลักดันให้เกิดนักบินโดรนเพื่อการเกษตรที่ได้รับใบอนุญาตอย่างถูกต้อง
อีกทั้งส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนผ่านธุรกิจแบบดั้งเดิมไปสู่ศูนย์บริการซ่อมบำรุง ฉีดพ่น จัดจำหน่ายโดรนการเกษตรที่ได้รับการรับรองสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย (Made in Thailand: MiT) จากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และมาตรฐาน dSURE จากดีป้า
"ภายใน 1 ปีของการดำเนินโครงการจะเกิดศูนย์บริการทั่วประเทศ จำนวน 50 ศูนย์ ผลักดันให้ชุมชนเกิดการประยุกต์ใช้โดรนเพื่อการเกษตรจำนวน 500 ชุมชน ครอบคลุมพื้นที่ทางการเกษตร 4 ล้านไร่ ลดต้นทุนกว่า 2 หมื่นล้านบาท"
นอกจากนี้ ยังได้เร่งสั่งการเพิ่มเติมประกอบด้วย การใช้เทคโนโลยีข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อการจัดการเพาะปลูก ซึ่งการที่ชุมชนหรือเกษตรกรสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการทำเกษตรกรรม ลดความผิดพลาด และเป็นการต่อยอดข้อมูลด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่จะทำการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ให้ออกมาเป็นแนวทาง หรือวิธีการต่างๆ ที่ช่วยเพิ่มผลผลิตและลดการสูญเสียของผลิตผลได้
พร้อมกันนี้ ยังมีการส่งการให้ส่งเสริมเกษตรกรใช้บริการระบบและอุปกรณ์อัจฉริยะที่พัฒนาโดยดิจิทัลสตาร์ทอัปของไทย เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยในการพยากรณ์อากาศและตรวจวัดคุณภาพดิน เพื่อวางแผนการเพาะปลูก แก้ปัญหาพืชผลล้นตลาด ราคาตกต่ำ รวมถึงการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ IoT Smart Farm ตั้งแต่การจัดการโรงเรือน การรดน้ำ การเก็บเกี่ยว รวมถึงการขนส่ง พร้อมกันนี้ยังเป็นกานแก้ไขปัญหาแรงงาน ลดต้นทุนและประหยัดเวลา พร้อมกำชับดีป้า เร่งรัดการนำผลิตภัณฑ์ดิจิทัลที่ผ่านมาตรฐาน dSURE (Digital Sure) สร้างกลไกการยกระดับเกษตรกรรมไทยสู่ Smart Agriculture ทั้งในรูปแบบพืชสวนและพืชไร่