xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

Mr.Soft Power “ทักษิณ” ความใหญ่หลังม่านรัฐบาลเซลส์แมน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เสียงแตกออกเป็นสองฝ่าย กับการที่ “นายกฯนิด” เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ขึ้นปกนิตยสาร TIME ฉบับวันที่ 25 มี.ค.67 โดยทางนิตยสารได้ให้ตั้งสมญานายกฯไทยไว้บนปกว่า THE SALESMAN

ฝ่ายเชียร์ก็ต่างสรรเสริญเยินยอว่า เป็นการแสดงให้เห็นว่า “เศรษฐา” ได้รับการยอมรับในระดับโลก ขณะที่อีกฝ่ายก็มองเป็นความสนใจหลังมารับนายกฯ จากการเลือกตั้งที่ประเทศไทยห่างหายมาหลายปีเท่านั้น เพราะในคำบรรยายประกอบ และเนื้อหาที่ออกมา ก็ดูจะ “ไม่บวก” กับเจ้าตัวเท่าไรนัก โดยเฉพาะในคำโปรยบนหน้าปกที่บรรยายเป็นภาษาอังกฤษว่า “THE SALEMAN - Thai Prime Minister Srettha Thavisin is open for business in a country that feels shortchanged by his election” ซึ่งถูกตีความและแปลเป็นภาษาไทยในหลายเวอร์ชัน

จนมีดรามาถกเถียงถึงความหมายของคำว่า “Shortchange” กันอย่างกว้างขวาง ด้วยฝ่ายหนึ่งกางพจนานุกรมแล้วระบุว่า “โกงด้วยการทอนเงินไม่ถูกต้อง” หรือถอดความว่า พรรคเพื่อไทยโกงพรรคก้าวไกลเข้ามาจัดตั้งรัฐบาล ทั้งที่ได้อันดับ 2 ส่วนอีกฝ่ายก็ระบุว่าแม้จะมีความหมายในแง่ลบ แต่ก็ไม่ได้รุนแรงถึงขั้น “โกง” โดยต้องการบรรยายว่า “คนไทยรู้สึกว่า ได้รับไม่ครบถ้วนจากการเลือกตั้ง” เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่า การได้รับเกียรติขึ้นปกนิตยสารระดับโลก ย่อมสะท้อนถึงความโดดเด่นของตัวนายกฯ คนที่ 30 ของประเทศ เป็นที่มาของการติดต่อเข้ามาขอสัมภาษณ์ และใช้ภาพขึ้นปกนิตยสาร เฉกเช่นผู้นำ หรือคนดังระดับโลกรายอื่นๆ

โดยสมญา THE SALESMAN ก็ถือเป็นการเป็นการตอกย้ำบทบาทและการปฏิบัติหน้าที่ของ ”เศรษฐา“ ในช่วง 6 เดือนกว่าหลังรับตำแหน่งนายกฯ เมื่อวันที่ 22 ส.ค.67 ได้เป็นอย่างดี กับการเดินสายต่างประเทศมากกว่า 20 ประเทศ เพื่อพบปะ และเชิญชวนนักลงทุนจากทั่วโลก ให้มาลงทุนในประเทศไทย
ที่สำคัญคือตัว “เศรษฐา” เองก็ได้ประกาศขอทำหน้าที่เป็น “เซลล์แมน” ให้กับประเทศไทยด้วยตัวเองเช่นกัน และในขณะที่นิตยสารฉบับนี้ออกเผยแพร่ ตัวนายกฯ ไทยก็อยู่ระหว่างการปฏิบัติภารกิจใน 3 ประเทศ ออสเตรเลีย, ฝรั่งเศส และเยอรมนี ต่อเนื่องไม่อยู่ในประเทศยาว 10 วัน

หากใครได้ติดตามเนื้อหาบทสัมภาษณ์ ก็จะเห็นว่า “เศรษฐา” สามารถใช้พื้นที่โชว์วิสัยทัศน์ต่อการทำหน้าที่ผู้นำประเทศไทยได้ค่อนข้างดี มีการกล่าวถึงนโยบายสำคัญๆ ที่กำลังดำเนินการอยู่ และความปรารถนาที่อยากเห็นประเทศไทย “เปล่งประกาย” ในเวทีโลก ที่ถูกเน้นเป็นคำสำคัญของบทสัมภาษณ์นี้

ทว่า ในบทสัมภาษณ์ชิ้นเดียวกันนี้ ชาร์ลี แคมป์เบล (Charlie Campbell) ผู้สื่อข่าวนิตยสาร TIME ก็ไม่พลาดที่จะสอบถามในประเด็นการเมือง โดยขยี้ปมแรงกดดัน พรรคเพื่อไทย ที่ สส.มากเป็นอันดับ 2 ตามหลัง พรรคก้าวไกล ต้องจับมือกับขั้วรัฐบาลเดิมเพื่อจัดตั้งรัฐบาลผสม จึงต้องเร่งสร้างผลงาน ซึ่ง “เศรษฐา” พลิกมุมตอบหล่อๆ ว่า ไม่ได้เป็นแรงกดดันจากผลการเลือกตั้ง แรงกดดันมาจากความจำเป็นในการแก้ไขปัญหาความยากจน เพื่อปรับปรุงความเป็นอยู่ที่ดีของคนไทยทุกคน


ไม่เพียงเท่านั้นก็ยังมีคำถามในประเด็น “หุ่นเชิดทักษิณ” กับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า “เศรษฐา” เป็นเพียงหุ่นเชิดของ “นายใหญ่เพื่อไทย” ทักษิณ ชินวัตร โดย “เศรษฐา” กล่าวยืนยันหนักแน่นว่า “ผมเป็นคนคุมอำนาจรัฐบาล”

อันเป็นการตอกย้ำตำตอบ “ประเทศไทยมีนายกฯ คนเดียว คือผมนี่แหละ” หลังถูกสื่อไทยตั้งคำถามกรณีเดียวกันในหลายวาระ โดยเฉพาะหลังจากที่ “ทักษิณ” ได้รับการพักโทษ ออกมาอยู่บ้านจันทร์ส่องหล้า ย่านจรัญสนิทวงศ์ เมื่อวันที่ 18 ก.พ.67 โดยมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า ศูนย์กลางอำนาจย้ายจากทำเนียบรัฐบาลไปอยู่บ้านจันทร์ส่องหล้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

เข้าใจว่า “เศรษฐา” ก็พยายามแสดงความหนักแน่นเพื่อเคลียร์คัทตัดประเด็นนี้ในหลายครั้ง แต่ด้วยสภาพการณ์ที่คนไทยคุ้นเคยกับ “ระบอบทักษิณ” ทำให้ส่วนใหญ่ก็ยังคงใส่เครื่องหมายคำถามในเรื่องการครอบงำรัฐบาล ที่มีพรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำอยู่เหมือนเดิม

ตัดภาพมาที่ประเทศไทย ในขณะที่นิตยสาร TIME ฉบับ THE SALESMAN กำลังเปผ้นที่สนใจ ก็ถูกขโมยซีนไปเต็มๆ เพราะเป็นจังหวะเดียวกับคิวที่ “ทักษิณ” ที่อยู่ระหว่างการพักโทษ ขออนุญาตกรมคุมประพฤติเดินทางกลับบ้านเกิด จ.เชียงใหม่ ซึ่งเดิมทีเข้าใจว่า จะเป็นการเดินทางแบบส่วนตัวภายในครอบครัว แต่เอาเข้าจริงกลับวางโปรแกรมไว้แบบแน่นเอี้ยด เริ่มจากเช้าตรู่วันที่ 14 มี.ค.67 “ทักษิณ” พร้อทด้วย “ลูกอิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาว และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้ไปสักการะศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร ก่อนเดินทางต่อไปยัง จ.เชียงใหม่ด้วยเครื่องบินส่วนตัว

เมื่อเดินทางถึงได้เดินทางไปยังอุทยานราชพฤกษ์ ต่อด้วยไปคลองแม่ข่า ดูการขุดลอกคลอง และเดินทางไปยังอ่างเก็บน้ำหนองเขียว ดูพื้นที่ก่อสร้างออกกำลังกายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก่อนที่ช่วงเย็นจะเดินทางไปยัง ต้นน้ำแม่สา ต.แม่สา อ.แม่ริม จากนั้นรับประทานอาหารเย็นที่ร้าน เจี่ยท้งเฮง แล้วเดินทางกลับบ้านพักใน สนามกอล์ฟซัมมิท กรีน วัลเล่ย์ ต.แม่สา อ.แม่ริม

ต่อมาวันที่ 15 มี.ค.67 ช่วงเช้า เดินทางไปสักการะครูบาศรีวิชัย ก่อนขึ้นไปยังพระธาตุดอยสุเทพเพื่อสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำจังหวัด จากนั้นจะเดินทางไปยังตลาดวโรรส หรือกาดหลวง เพื่อพบปะพี่น้องประชาชน และไปรับประทานอาหารกลางวันที่ร้านข้าวซอยเสมอใจ

ก่อนเดินทางไปยัง สุสานแม่ออน ที่ เก็บอัฐิของ นายเลิศ-นางยินดี ชินวัตร บิดา-มารดาของนายทักษิณ ที่ตั้งอยู่บริเวณเนินเขาด้านทิศตะวันตกติดกับอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ออน ต.ออนเหนือ อ.แม่ออน และเดินทางไปทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษ ที่วัดโรงธรรมสามัคคีอำเภอสันกำแพง รวมทั้งเยี่ยม ญาติๆที่บ้านชินวัตร ช่วงค่ำจะมีงานเลี้ยงที่บ้านพัก ในสนามกอล์ฟซัมมิท กรีน วัลเล่ย์

และวันสุดท้าย 16 มี.ค.67 ช่วงเช้าจะไปดื่มกาแฟที่ร้านโอเอซิส และเดินทางไปยัง สวนสัตว์ไนท์ซาฟารี ก่อนเดินทางกลับ กทม. ด้วยเครื่องบินส่วนตัวในช่วงบ่าย

น่าสนใจว่าตลอดโปรแกรม 3 วัน ทุกจุด “ทักษิณ” เปิดพื้นที่พบปะแฟนคลับที่มารอต้อนรับอย่างเต็มที่ มีเพียงจุดบ้านพักส่วนตัว และสวนสัตว์ไนท์ซาฟารี เท่านั้น ที่ไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนติดตามทำข่าว เสมือนว่าทริปปิ๊กบ้านเกิดหนนี้ “ทักษิณ” ต้องการ “โชว์ตัว” เต็มที่

เป็นการโชว์ตัวแบบไม่ต้องเหนียมว่าเคยเป็น “ผู้ป่วยอันตรายถึงชีวิต” แต่พอพ้น “คุก VVIP” บนชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ออกมาได้ไม่ถึงเดือนกลับเดินเหินคล่องแคล่ว จนไม่น่าเชื่อว่าเป็น “ผู้ป่วย-ผู้สูงอายุ” ที่เข้าเกณฑ์ได้รับการพักโทษจากกรมราชทัณฑ์

มีเพียง “เฝือกคอ” ที่สวมไว้เป็นสัญลักษณ์ให้เห็นว่ายังเป็นผู้ป่วยอยู่เท่านั้น

มีการจับโป๊ะด้วยว่า หนึ่งวันก่อนการเดินทางไป จ.เชียงใหม่ “ทักษิณ” ได้เดินทางไปเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระสังฆราช ที่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม โดยมี “ภาพหลุด” ออกมา เห็นชัดว่า “ทักษิณ” ที่สวมชุดสูท ไม่ได้สวมเฝือกคอ และไม่ได้ใส่สายสะพายคล้องแขน เหมือนกับวันที่เดินทางออกจากโรงพยาบาล รวมถึงรุ่งขึ้นที่ไปรายงานตัวที่สำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งตอนนั้นถึงกับต้องนั่งวีลแชร์ด้วยซ้ำ




ไม่พ้นถูกวิจารณ์กว้างขวางว่า การเดินทางไปวัดราชบพิธฯ ซึ่งเป็นหมายส่วนตัว จึงไม่ต้องแสดงเป็นผู้ป่วย และไม่จำเป็นต้องใส่ “พร๊อพ” เพื่อให้สมบทบาท

ทว่า เมื่อมีภาพหลุดออกมาพร้อมเสียงวิจารณ์ ก็จำเป็นต้องหยิบเฝือกคอมาสวม เพื่อให้ดูเหมือนเป็นผู้ป่วย

โดยเมื่อถามถึงอาการป่วย “ทักษิณ” ก็กล่าวตอบเพียงว่า “ดีขึ้นตามลำดับ”

กับระยะเวลาไม่ถึงเดือน นับจากวันที่ 18 ก.พ.67 ที่ออกมาอยู่บ้านจันทร์ส่องหล้า ฟื้นตัวจากอาการป่วยราวกับ “โคม่า” ตลอด 6 เดือนที่อยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ แบบไม่แวะกลับไปนอนค้างในเรือนจำเฉกเช่นนักโทษเด็ดขาดคนอื่นๆ น่าจะเป็นการตอกย้ำประเด็น “อภิสิทธิ์ชน” ของ “นช.ทักษิณ” ได้เป็นอย่างดี

อีกทั้งยังเป็นการประจานว่า อาการ “ป่วยทิพย์” นั้นไม่ได้เป็นข้อกล่าวหาลอยๆ

ในขณะที่เสียงก่นด่าขรมเมืองยังไม่จาง แต่ “ทักษิณ” เลือกที่จะไม่เก็บเนื้อเก็บตัว เหมือนเป็นการโชว์ความอหังการ์ว่า กฎหมายขื่อแปบ้านเมืองไม่สามารถทำอะไร “นายใหญ่เพื่อไทย” ที่คนทั่วไป รวมไปถึงสื่อระดับโลกอย่างนิตยสาร TIME เชื่อว่า “ทักษิณ” คือผู้มีอำนาจตังจริงในของรัฐบาลชุดนี้ ที่มี พรรคเพื่อไทย หนึ่งในกิจการของ “ตระกูลชินวัตร” เป็นแกนนำ

ไม่ต้องอื่นไกล วันที่ “ทักษิณ” เดินทางไป จ.เชียงใหม่ ขณะที่ รัฐมนตรี-สส.เพื่อไทย ต่างเลี่ยงที่จะไปรอต้อนรับ ทั้งที่อยากไปใจจะขาด เพราะไม่ต้องการให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ แต่บรรดา “นกรู้-อยู่เป็น” ฝ่ายการเมือง-ข้าราชการ กลับโผล่ไปร่วมต้อนรับพรึ่บพรั่บ

ทั้ง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ และเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเคยอยู่พรรคเพื่อไทยมาก่อน, “โจ๊ก หวานเจี๊ยบ” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ที่กำลังคอพาดเขียงกับคดีฟอกเงินพนันออนไลน์เครือข่ายมินนี่, ประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ติดตามคณะ ร.อ.ธรรมนัส มา, จตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ นิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น




อีกทั้งการลงพื้นที่แต่ละจุด เจ้าของพื้นที่ทั้งข้าราชการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ยังมีการจัดเตรียมบรรยายรายละเอียด และโครงการในพื้นที่ ให้ “ทักษิณ” ได้รับฟัง ไม่ต่างจากเวลาที่คณะของนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี ลงพื้นที่แต่อย่างใด

ฉายภาพให้เห็นว่าถนนทุกสายทั้งการเมือง-ราชการ ต่างพร้อมเข้าหา “บ้านจันทร์ส่องหล้า” เต็มที่

ขณะเดียวกันนายกฯ ปัจจุบันอย่าง “เศรษฐา” หลังกลับจากต่างประเทศ ก็มีกำหนดการไปลงพพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ในช่วงวันที่ 15-17 มี.ค.67 ก่อนไปร่วมผระชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ (ครม.สัญจร) ที่ จ.พะเยา ในวันที่ 18-19 มี.ค.67

แม้จะมีการชี้แจงยืนยันว่า กำหนดการไป จ.เชียงใหม่ ของ “เศรษฐา” มีขึ้นก่อนที่ “ทักษิณ” จะขออนุญาตกรมคุมประพฤติ แต่ก็คล้ายกับเรื่องอาการป่วยของ “ทักษิณ” ที่ฟังไม่ค่อยขึ้น

ภาพที่ออกมาก็เลยเหมือน “เศรษฐา” ตั้งใจที่จะไปตามคณะ “ทักษิณ” และคงไม่พลาดที่จะไปร่วมงานเลี้ยงที่บ้านพัก ในสนามกอล์ฟซัมมิท กรีน วัลเล่ย์ คืนวันที่ 15 มี.ค.67

จนอาจพูดได้ว่า ทริปปิ๊กเชียงใหม่หนนี้ของ “ทักษิณ” เป็นจุดเริ่มต้นของการเปอดหน้า “ผู้ทรงอิทธิพลเหนือรัฐบาล” อย่างเป็นทางการ หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่า “ทักษิณ” มีส่วนตัดสินใจในแทบทุกเรื่องสำคัญๆ มาโดยตลอด

แม้แต่รายชื่อแต่งตั้งรัฐมนตรี, ข้าราชการระดับสูง, คณะกรรมการ (บอร์ด) และผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ ก็ล้วนแล้วแต่เป็น “ใบสั่ง“ จาก “ชั้น 14” ทั้งสิ้น

จนอาจขนานนามว่า “ทักษิณ” เป็น Mr.Soft power หรือพลังแฝงอันยิ่งใหญ่ที่อยู่หลังม่านรัฐบาล




ตามสไตล์ “ทักษิณ” ที่เครื่องติดแล้วคงหยุดยาก จนน่ากลัวว่า จะมีพฤติกรรมครอบงำรัฐบาลหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ และอาจเลยป้ายไปถึง “ลุแก่อำนาจ” เพราะมีความผยองในตัวว่า แค่ความสบาย “นอนนอกคุก” ก็ถึงขั้นเหยียบย่ำทำลายระบบยุติธรรมจนป่นปี้มาแล้ว

แว่วว่า หลังกลับจาก จ.เชียงใหม่ แล้ว “ทักษิณ” ยังได้วางโปรแกรมเดินทางไปทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยจะเริ่มที่ “เมืองหลวงคนเสื้อแดง” จ.อุดรธานี เพื่อไปเยี่ยม ขวัญชัย ไพรพนา แกนนำเสื้อแดงคนดัง ที่ขณะนี้ป่วยหนัก ก่อนจะเดินสายไปในหลายจังหวัด กับภารกิจปั้นกองหนุนรัฐบาล

เพื่อเตรียมรับแรงกระแทกจากภารกิจสำคัญของ ”บ้านชินงัตร“ ในการพา “น้องปู” ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย ที่ยังหลบหนีหมายจับคำพิพากษาจำคุก 5 ปี ในคดีจำนำข้าว จนต้องระหกระเหินร่อนเร่อยู่ในต่างประเทศ กลับบ้าน

มีการพิเคราะห์ว่า กรณีของ ”ยิ่งลักษณ์” มีความยากกวว่ากรณี ”ทักษิณ“ จนต้องหาช่องซิกแซกกฎหมาย บิดระบบยุติธรรม มากกว่าเสียอีก

แม้จะเป็นไปได้ว่า โทษคุก 5 ปี ของ “ยิ่งลักษณ์” หากเดินตาม “ทักษิณโมเดล” ก็สามารถทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานอภัยโทษ หรือลดโทษได้

แต่หาก “ยิ่งลักษณ์” ได้รับการลดโทษเหลือบางส่วนแบบ “ทักษิณ” การจะออกมานอนนอกคุก หรือเข้าเกณฑ์พักโทษ ไม่ใช่เรื่องง่าย

เพราะปัจจุบัน “ยิ่งลักษณ์” อายุเพียง 56 ปี ไม่เข้าเกณฑ์เป็นผู้สูงอายุของกรมราชทัณฑ์ หากยังมีโทษจำคุกติดตัว ห่างไกลที่จะเข้าเกณฑ์ได้รับการพักโทษ ก็ต้องถามว่า “ยิ่งลักษณ์” จะยอมไปอยู่ในเรือนจำรอวันพ้นโทษหรือไม่ หรือหวังใช้ลูกไม้ ”ป่วยทิพย์“ เพื่อออกมาอยู่โรงพยาบาลภายนอก ก็ต้องย่ำยีระบบยุติธรรมอีกครั้ง

หรือพูดไปจนถึงการออก “กฎหมายนิรโทษกรรม” โดยสอดไส้ชื่อ “ยิ่งลักษณ์” เข้าไปด้วย ก็น่ากลัวจะเกิดกระแสต้านอย่างที่เคยเกิด และล้ม “รัฐบาลปู” มาแล้วจากปมนิรโทษกรรมสุดซอยที่วันนั้นพยายามทำเพื่อ “ทักษิณ”

ดูแล้วแต่ละทางเลือกของ ”ยิ่งลักษณ์“ จะกลายเป็นแรงเสียดทานที่รุนแรงของรัฐบาล “ทักษิณ” ก็มีงานหนักที่ต้องหากันชนเพื่อเตรียมรับแรงกระแทกที่ว่า ซึ่งกันชนก็คงไม่พ้นการเดินสายปลุกแนวร่วมคนเสื้อแดง-คนรักทักษิณ พร้อมกับจัดแจงให้รัฐบาลเร่งสร้างผลงาน

กลายเป็นว่าวันนี้ “ทักษิณ” เป็น Mr.Softpower พลังแฝงอันยิ่งใหญ่หลังม่านรัฐบาล ที่เริ่มเปิดออกมาหน้าม่านแบบไม่มีเหนียม เพื่อภารกิจสำคัญในการพา “น้องปู” ให้ได้กลับบ้านแบบเท่ๆ แบบ “อ้ายษิณ” นั่นเอง





กำลังโหลดความคิดเห็น