xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

วิบากกรรม ITD หนี้แสนล้าน ขาดสภาพคล่อง เดิมพันบิ๊กโปรเจกต์รัฐป่วน รับเหมาช่วงล้มเป็นโดมิโน่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ปัญหาขาดสภาพคล่องของ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด(มหาชน) หรือ ITD บริษัทยักษ์ใหญ่รับเหมาก่อสร้างข้ามชาติ กำลังลุกลามเป็นปัญหาใหญ่โตและอาจส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ หากไม่ได้รับการแก้ไขให้ทันการณ์ ไม่เพียงแต่ ITD เท่านั้นที่จะไปไม่รอด แต่จะยังมีอีกหลายภาคส่วนที่พังพินาศไปด้วย 
ต้องไม่ลืมว่า ITD เป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้างเบอร์หนึ่งของไทย และอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทั้งยังออกหุ้นกู้หลายรุ่น ดังนั้นการจะปล่อยให้อิตาเลียนไทยฯ มีอันเป็นไปหรือแก้ปัญหาไปตามยถากรรม ย่อมส่งผลกระทบตามมาใหญ่หลวง ไม่แต่โครงการรัฐที่อยู่ในมือ ITD ที่จะหยุดชะงัก ซับคอนแทรกที่รับเหมาช่วงงานก็จะมีปัญหา ความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมทั้งผู้ถือหุ้นกู้ก็จะย่อยยับตามไปด้วย ขนาดของปัญหาของ ITD จึงถือว่าอยู่ในระดับที่ไม่ธรรมดา
 นับเป็นเวลาหลายปีแล้วที่ ITD ล้มลุกคลุกคลานจากการเข้าไปลงทุนในโครงการขนาดใหญ่แล้วไม่เป็นไปตามแผนงาน อย่างโครงการท่าเรือน้ำลึกทวายที่เมียนมา ซึ่ง ITD ลงทุนไปเกือบหมื่นล้านบาท แต่ถูกรัฐบาลเมียนมา “แขวน” สัมปทานไว้หลังรัฐบาลทหารยึดอำนาจ ทำให้ไม่ได้ผลตอบแทนกลับคืนมา เช่นเดียวกันกับโครงการลงทุนเหมืองแร่โปแตชที่จังหวัดอุดรธานี ที่มีความคืบหน้าอย่างเชื่องช้า ขณะที่โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา) ก็ประสบปัญหาความล่าช้าเช่นกัน

ขณะเดียวกัน ปัญหาการเมืองของไทยที่กว่าจะจัดตั้งรัฐบาลได้ ส่งผลให้การพิจารณางบประมาณประจำปี 2567 ลากยาวและจนถึงขณะนี้ยังไม่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร (สส.) คาดว่าอย่างเร็วสุดงบประมาณ ปี 2567 จะสามารถเบิกจ่ายได้ประมาณเดือนเมษายน 2567 

ความล่าช้าของงบประมาณประจำปี 2567 ที่ล่วงเลยเวลามากว่า 6 เดือนแล้ว ส่งผลกระทบต่อโครงการก่อสร้างของภาครัฐที่ชะลอแผนงานจากเดิม บริษัทที่รับงานจากภาครัฐเป็นหลักไม่เพียงแต่ ITD เท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงบริษัทอื่นๆ ด้วยต่างประสบปัญหาปริมาณงานที่ลดลง ส่งสัญญาณมีปัญหาขาดสภาพคล่องตามมา
 ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องที่อยู่นอกเหนือความคาดหมายเมื่อสุดท้าย “ฝีแตก” สถานะการเงินของ ITD ย่ำแย่หนักถึงขั้นเงินไม่พอจ่ายให้ผู้รับเหมาช่วง หรือซับคอนแทรก ซับพลายเออร์ พนักงาน และคนงานก่อสร้าง จนมีข่าวคราวกลุ่มแรงงานของ ITD ในหลายจังหวัดเคลื่อนไหวทวงเงินค่าจ้างที่ค้างจ่าย 


 แบกหนี้แสนล้าน ขาดทุนยาวไป
ก.ล.ต.จับตาหุ้นกู้ผิดนัดชำระ 

เมื่อดูงบการเงินจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยของ ITD ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา จะพบว่าแม้บริษัทฯจะมีสินทรัพย์นับแสนล้าน แต่ก็มีหนี้สินนับแสนล้านเช่นเดียวกัน และผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่อง โดยเพิ่งพลิกมีกำไรเมื่อปีที่ผ่านมา ตามงบการเงิน ปี 2562 (31 ธันวาคม 2562) สินทรัพย์รวม 103,789 ล้านบาท หนี้สินรวม 88,107 ล้านบาท รายได้รวม 62,996 ล้านบาท กำไร(ขาดทุน)จากกิจกรรมอื่น -52 ล้านบาท กำไรสุทธิ -37 ล้านบาท

ปี 2563 (31 ธันวาคม 2563) สินทรัพย์รวม 107,872 ล้านบาท หนี้สินรวม 92,428 ล้านบาท รายได้รวม 54,915 ล้านบาท กำไร(ขาดทุน)จากกิจกรรมอื่น 203 ล้านบาท กำไรสุทธิ -1,104 ล้านบาท, ปี 2564 (31ธันวาคม 2564) สินทรัพย์รวม 113,237 ล้านบาท หนี้สินรวม 97,014 ล้านบาท รายได้รวม 59,698 ล้านบาท กำไร(ขาดทุน)จากกิจกรรมอื่น 529 ล้านบาท กำไรสุทธิ -155 ล้านบาท, ปี 2565 (31ธันวาคม2565) สินทรัพย์รวม 115,857 ล้านบาท หนี้สินรวม 104,846 ล้านบาท รายได้รวม 67,833 ล้านบาท กำไร(ขาดทุน)จากกิจกรรมอื่น -1,110 ล้านบาท กำไรสุทธิ -4,758 ล้านบาท และ งบ 9 เดือน 2566 (30 กันยายน 2566) สินทรัพย์รวม 119,373 ล้านบาท หนี้สินรวม 107,604 ล้านบาท รายได้รวม 52,665 ล้านบาท กำไร(ขาดทุน)จากกิจกรรมอื่น 1,203 ล้านบาท กำไรสุทธิ 379 ล้านบาท

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 บริษัท อิตาเลียนไทย ได้ทำหนังสือชี้แจงต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ผู้ถือหุ้น และนักลงทุนว่า บริษัทมีความจำเป็นต้องนำส่งงบการเงินรวมและงบการเงินเฉพาะกิจการ สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ล่าช้ากว่าที่กฎหมายและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกำหนดไว้เนื่องจากปัจจุบันข้อมูลบางส่วนอยู่ระหว่างการดำเนินงานของบริษัทและผู้สอบบัญชีต้องใช้ระยะเวลาอีกช่วงหนึ่งในการตรวจสอบเพื่อให้งบการเงินมีความถูกต้องครบถ้วนและเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัทใคร่ขอเรียนแจ้งเลื่อนส่งงบการเงินประจำปีล่าช้า และคาดว่าจะสามารถนำส่งงบการเงินดังกล่าวภายในวันที่ 29 มีนาคม 2567

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนมกราคม 2567 บริษัทอิตาเลียนไทยฯ แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ขอจัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้ที่มีอยู่ด้วยกัน 5 ชุด ในวันที่ 17 มกราคม 2567 เพื่อขอยืดการชำระหนี้เงินต้นออกไปอีก 2 ปี โดยมีเงื่อนไขผลตอบแทนสำหรับการเลื่อนนัดชำระหุ้นกู้โดยเพิ่มอัตราดอกเบี้ยของหุ้นกู้อีก 0.25% ต่อปี ในหนึ่งปีแรกที่ขยายเวลา และเพิ่มดอกเบี้ยของหุ้นกู้อีก 0.50% ต่อปี ในปีถัดไป โดยจะชําระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นทั้งหมดเพียงครั้งเดียว ในวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ใหม่ตามที่ขยายออกไป

อย่างไรก็ดี ในการประชุมผู้ถือหุ้นกู้ ครั้งที่ 1/2567 วันที่ 30 มกราคม 2567 ซึ่งเลื่อนมาจากการประชุมเมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2567 ไม่ครบเป็นองค์ประชุม จึงไม่สามารถประชุมผู้ถือหุ้นกู้ได้และต้องเลื่อนออกไป

 สำหรับหุ้นกู้ ITD ปัจจุบันมีจำนวน 5 รุ่น มูลค่ารวม 14,455 ล้านบาท แบ่งเป็น หุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในปีนี้ 3 รุ่น ได้แก่ รุ่น ITD242A ครบกำหนด 15 กุมภาพันธ์ 2567 มูลค่า 2,000 ล้านบาท รุ่น ITD242DA ครบกำหนด 4 ธันวาคม 2567 มูลค่า 2,455 ล้านบาท รุ่น ITD24DB ครบกำหนด 4 ธันวาคม 2567 มูลค่า 1,215 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 2 รุ่น ครบกำหนดในปี 2568 และ 2569 ตามลำดับ ได้แก่ รุ่น ITD254A ครบกำหนด 29 เมษายน 2568 มูลค่า 6,000 ล้านบาท รุ่น ITD266A ครบกำหนด 2 มิถุนายน 2568 มูลค่า 2,785 ล้านบาท 

บริษัทฯให้เหตุผลในการเลื่อนชำระหุ้นกู้ว่า เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศเพิ่งฟื้น โครงการของบริษัทอยู่ระหว่างดำเนินการและส่งมอบให้ลูกค้าหน่วยงานรัฐ ราคาวัสดุและน้ำมันที่สูงขึ้น การขึ้นอัตราดอกเบี้ยทำให้ต้นทุนบริษัทเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งการเปลี่ยนรัฐบาลล่าช้าส่งผลกระทบกับโครงการภาครัฐชะลอตัวจากแผนเดิม ทำให้บริษัทซึ่งมีงานของภาครัฐจำนวนมากประสบปัญหาปริมาณงานลดลง ขณะนี้บริษัทกำลังเจรจากับเจ้าหนี้ต่างๆ ของบริษัท เพื่อขอผ่อนผันการชำระหนี้ และจำเป็นต้องกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินเพื่อมาใช้เป็นทุนหมุนเวียนและการลงทุนที่มีอยู่จำนวนมาก ขณะนี้สถาบันการเงินหลายแห่งกำลังพิจารณาให้สินเชื่อใหม่แก่บริษัท

ความใหญ่ของปัญหาสภาพคล่อง ITD ทำให้คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จับตาอย่างใกล้ชิด

 “พรอนงค์ บุษราตระกูล” เลขาธิการ ก.ล.ต. ให้สัมภาษณ์สื่อว่า “สิ่งที่เป็นอยู่ตอนนี้ก็กังวล เพราะถ้าหุ้นกู้ตัวอื่นเกิด Credit Event อาจไม่ได้มีอิมแพคมากเท่าหุ้นกู้ตัวนี้ เพราะหุ้นกู้ของ ITD เป็น Investment Grade ตอนนี้ ก.ล.ต. ก็ Alert ในการติดตามขั้นสูงสุด...” 

ต้องไม่ลืมว่า หุ้นกู้ของ ITD มีกองทุนรวมเพื่อการออม (Super Savings Fund: SSF) เข้าลงทุน และหุ้น ITD ยังมีการซื้อขายในตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือ TFEX อีกด้วย

 เจรจาขายทิ้งหุ้นเหมืองแร่โปแตช อุดรธานี 

ความพยายามแก้ไขปัญหาสภาพคล่องของ ITD ทำให้มีข่าวกระเส็นกระสายออกมาว่า บริษัทฯ กำลังขายหุ้น  โครงการเหมืองโปแตช จังหวัดอุดรธานี เพื่อนำเงินมาชำระหนี้หุ้นกู้ ซึ่งโครงการดังกล่าว ITD ลงทุนในนามบริษัทย่อย คือ บริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้รับประทานบัตรในโครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี จำนวน 4 แปลง ของแหล่งแร่อุดรใต้ รวมเนื้อที่ 26,446 -1- 49 ไร่ อายุประทานบัตร 25 ปี ลงวันที่ 23 กันยายน 2565 ถึง 22 กันยายน 2590 มีแผนการผลิตปีละ 2 ล้านตัน มูลค่าการลงทุน 36,000 ล้านบาท

ขณะที่ ITD ทำหนังสือแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 ว่า บริษัทฯ ถือหุ้นในบริษัทย่อยดังกล่าวร้อยละ 90 และมีกระทรวงการคลัง ถือหุ้นร้อยละ 10 ของทุนจดทะเบียน ปัจจุบันบริษัทฯ อยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาคัดเลือกและเจรจาผู้ร่วมทุนที่จะเข้ามาลงทุนในบางส่วน เมื่อการดำเนินการเสร็จสิ้น บริษัทฯ จะแจ้งให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ทราบต่อไป

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า ITD กำลังพิจารณาขายหุ้น 90% ในบริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด วงเงินราว 500 ล้านดอลลาร์ หรือ 17,900 ล้านบาท โดย ITD ทำงานร่วมกับที่ปรึกษาและเจรจาผู้ซื้อที่มีศักยภาพ ซึ่งหนึ่งในนั้นรวมถึงผู้ซื้อจากจีนด้วย สำหรับมูลค่าเงินลงทุนตลอดโครงการอยู่ที่ 36,000 ล้านบาท โดยช่วง 3 ปีแรก จะลงทุนเจาะอุโมงค์ และก่อสร้างโรงงาน ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 40% ของโครงการทั้งหมด อยู่ที่ 13,600 ล้านบาท

 งานก่อสร้างภาครัฐ ยังเดินหน้าตามแผน  

 นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กล่าวว่า กทพ.มีสัญญาก่อสร้างกับ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ฯ ในโครงการก่อสร้างทางพิเศษ สายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก สัญญา 3 (งานก่อสร้างทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร จากโรงพยาบาลบางปะกอก 9-ด่านดาวคะนอง) โดยดำเนินการในนามกิจการร่วมค้าไอทีดี-วีซีบี ร่วมกับ บจ.วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง มูลค่า 6,877 ล้านบาท

ขณะนี้การก่อสร้างเป็นไปตามแผนงาน ยังไม่พบปัญหาอะไรจากประเด็นที่ทางอิตาเลียนไทยฯ ขาดสภาพคล่อง ซึ่งในสัญญานี้  นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กำชับให้ กทพ.เร่งรัดการก่อสร้างในส่วนของทางขึ้นลงถนนสุขสวัสดิ์ ช่วงต่อเชื่อมกับสัญญาที่ 4 ซึ่งเป็นสะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 ที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว เพื่อให้สามารถเปิดใช้สะพานคู่ขนานฯ ในกลางปี 2567 นี้ ซึ่งผู้รับเหมา สัญญาที่ 3 คือ อิตาเลียนไทยฯ และพันธมิตร รับปากว่าจะเร่งรัดการก่อสร้างให้เร็วขึ้น กำหนดแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน 2568

 “ขณะนี้ยังไม่มีประเด็นที่จะเป็นปัญหาที่น่ากังวล” นายสุรเชษฐ์ กล่าวถึงโครงการก่อสร้างต่างๆ ที่ยังดำเนินไปตามแผนงาน 

ด้าน  นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า กรมทางหลวงรับทราบกรณี บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ฯ มีปัญหาสภาพคล่องแล้ว ซึ่งได้ติดตามตรวจสอบภายใน ยังไม่พบความผิดปกติในการทำงานก่อสร้างหรือแจ้งปัญหามาจากทางบริษัท ขณะนี้ทุกอย่างยังดำเนินการตามขั้นตอนและกรอบเวลาตามสัญญา

กรมทางหลวง มีสัญญาก่อสร้างกับ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ฯ 2 โครงการ ได้แก่ โครงการก่อสร้างทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรี-ปากท่อ (ถนนพระราม 2) ตอน 3 ทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เอกชัย จ.สมุทรสาคร ช่วงกม.ที่ 18+642-กม.ที่ 20+295 ระยะทาง 1.65 กม. วงเงิน 2,491 ล้านบาท คืบหน้า 91.653% ล่าช้า 8.347% (แผนกำหนด 100%) เริ่มต้นสัญญาวันที่ 28 สิงหาคม 2562 สิ้นสุดวันที่ 25 ตุลาคม 2566 มีการขยายเวลาค่าปรับเป็นศูนย์จากมาตรการโควิดถึงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 อุปสรรคที่ทำให้งานก่อสร้างล่าช้าเกิดจากการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินบางช่วงไม่แล้วเสร็จ โดยเฉพาะการก่อสร้างทางเลี้ยวเข้าถนนเอกชัยเพื่อไปยังมหาชัย ไม่สามารถทำได้เป็นระยะทาง 600 เมตร โดยเพิ่งแก้ไขได้เมื่อเดือนตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา

โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 สายทางยกระดับบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว ตอน 7 ช่วง กม.ที่ 29+772-กม.ที่ 31+207 ระยะทาง 1.435 กม. วงเงิน 1,868 ล้านบาท ปัจจุบันงานก่อสร้างคืบหน้า 31.475% ล่าช้า 13.033% (แผนงานกำหนด 44.508%) เริ่มต้นสัญญา 1 กุมภาพันธ์ 2565 สิ้นสุดสัญญา 15 มกราคม 2568 และขยายเวลาค่าปรับเป็นศูนย์จากมาตรการโควิดถึงวันที่ 14 มิถุนายน 2568 อุปสรรคที่ทำให้ก่อสร้างล่าช้ามาจากติดปัญหาการก่อสร้างตอม่อในแม่น้ำท่าจีน อยู่ระหว่างขออนุญาตกรมเจ้าท่า (จท.) ในฐานะเจ้าของพื้นที่ โดยขออนุญาตไปเมื่อเดือนสิงหาคม 2566

ส่วนการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ปัจจุบัน รฟท.มีอิตาเลี่ยนไทยฯ เป็นคู่สัญญาก่อสร้าง ได้แก่ โครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ แบ่งสัญญาก่อสร้างออกเป็น 3 สัญญา ประกอบด้วย สัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย-งาว ระยะทาง 103.7 กิโลเมตร ผู้รับจ้างก่อสร้างคือ กิจการร่วมค้า ไอทีดี-เนาวรัตน์ มูลค่างาน 26,560 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 2,160 วัน (71 เดือน) เริ่มงานตามสัญญา วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 สิ้นสุดงานตามสัญญา วันที่ 14 มกราคม 2571 ซึ่งภาพรวมงานยังไม่มีปัญหา โดยโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะแรก ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 84 กม. ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อปี 2566

สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมามี 3 สัญญา ได้แก่สัญญาที่ 3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดง และปางอโศก-บันไดม้า มูลค่างาน 9,348,995,700 บาท, สัญญาที่ 3-4 ช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และช่วงกุดจิก-โคกกรวด ระยะทาง 37.45 กม. วงเงิน 9,848 ล้านบาท, สัญญาที่ 4-4 งานโยธาสำหรับศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย มูลค่างาน 6,573 ล้านบาท ปัจจุบันการก่อสร้างยังเดินหน้าตามแผน ซึ่ง รฟท.พยายามเร่งรัดการเบิกจ่ายในโครงการนี้ให้เร็วขึ้น เพื่อพยุงการทำงานและไม่ให้ปัญหาการขาดสภาพคล่องกระทบต่อการก่อสร้างในภาพรวมของโครงการ

แต่อย่างไรก็ดี โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ซึ่ง ITD ลงทุนไปแล้วเกือบ 4 พันล้านบาท มีปัญหาการส่งมอบพื้นที่และรื้อย้ายสาธารณูปโภคล่าช้า การก่อสร้างไม่เป็นไปตามแผนงานและไม่มีผลตอบแทนกลับมา

 มาม่า-ไข่ไก่ประทังชีวิตแรงงาน-ลูกจ้าง 

ปัญหาสภาพคล่องของ ITD ทำให้มีปัญหาจ่ายค่าแรงของพนักงานและลูกจ้างในหลายพื้นที่ โดยมีการรวมตัวประท้วงทวงค่าแรงในหลายพื้นที่ เช่น กรุงเทพฯ นครราชสีมา อุดรธานี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง ภูเก็ต เชียงใหม่ ลำปาง และจังหวัดอื่นๆ ซึ่งทางกระทรวงแรงงาน ได้ติดตามสถานการณ์เพื่อดูแลแรงงานที่ได้รับผลกระทบ

ความเดือดร้อนของพนักงานประจำซึ่งได้รับค่าจ้างไม่ครบเต็มจำนวน ทำให้มีปัญหาตามมาทั้งการชำระเงินกู้ การจ่ายค่าผ่อนบ้านผ่อนรถ ฯลฯ ขณะที่ลูกจ้างรายวันทั้งคนไทยและต่างด้าวซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่เดือดร้อนอย่างหนัก ทางผู้บริหารระดับล่างบางส่วน หัวหน้างาน หัวหน้าไซด์งาน เข้าดูแลด้วยการจัดหาข้าวปลาอาหาร บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ไข่ไก่ ปลากระป๋อง มาให้ลูกจ้างเพื่อประทังชีวิต

ทางด้านบริษัทอิตาเลียนไทยฯ ได้แจ้งผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ (ตลท.) เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2567 ชี้แจงกรณีกระแสข่าวประสบปัญหาสภาพคล่องและส่งกระทบต่อการจ่ายค่าจ้างว่า ข้อมูลเรื่องการจ่ายเงินเดือนพนักงานที่ไม่ครบถ้วน ซึ่งปรากฏตามสื่อนั้นเป็นเรื่องจริง เนื่องจากปัจจุบันบริษัทฯ ยังขาดสภาพคล่องทางการเงิน

ส่วนแนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เนื่องจากรายรับจากโครงการยังน้อยกว่าค่าใช้จ่ายบริษัทฯ บริษัทฯ จึงต้องขอกู้ยืมเงินจากธนาคารเพิ่มเติมเพื่อนำเงินมาบริหารกิจการ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการขอสินเชื่อและเจรจากับธนาคารที่เกี่ยวข้อง

สำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้น บริษัทฯ ชี้แจงว่า เกิดผลกระทบที่จะมีแรงงานบางส่วนลาออก บางส่วนหยุดงาน ซึ่งบริษัทฯ ได้เจรจากับพนักงานเหล่านั้นทำความเข้าใจและจ่ายเงินบางส่วนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายไปก่อน และธนาคารที่สนับสนุนโครงการต่าง ๆ ก็เข้ามาให้ความช่วยเหลือบ้างแล้ว

บริษัทฯ ใช้เวลาแก้ไขปัญหาระยะสั้นประมาณ 2-3 เดือน สำหรับการเจรจาหาข้อสรุปกับธนาคารผู้ให้สินเชื่อใหม่และคาดว่าภายหลังจากที่ได้รับสินเชื่อใหม่แล้ว อีกประมาณ 2-3 เดือน สถานการณ์ของบริษัทฯจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

 เมื่อยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมก่อสร้างออกอาการซวนเซ ทั้งคู่สัญญา คู่ค้า พนักงาน นักลงทุน ผู้ถือหุ้นกู้ ITD ต่างหนาว ๆ ร้อนๆ ไปตาม ๆ กัน 


กำลังโหลดความคิดเห็น