ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ในที่สุด “ตระกูลอุทกะพันธุ์” ผู้ปลุกปั้นอาณาจักรสื่อ “อมรินทร์” ก็ขายหุ้นทิ้งทั้งหมดพร้อมโบกมืออำลา เปิดทางให้ “กลุ่มไทยเบฟ” ของ “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” เข้ายึดครองเบ็ดเสร็จตามสูตรสำเร็จทุน+สื่อของมหาเศรษฐีเมืองไทย
การทยอยขายหุ้นและลาออกจากการบริหารธุรกิจของตระกูลอุทกะพันธุ์มีมาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งล่าสุดเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา กลุ่มอเดลฟอสของตระกูลสิริวัฒนภักดี ทำดีลซื้อหุ้น AMARIN จากผู้ถือหุ้นตระกูลอุทกะพันธุ์ อีกกว่า 78 ล้านหุ้น พร้อมทำ Tender Offer หุ้นที่เหลือโดยตั้งราคารับซื้อราคาหุ้นละ 5 บาท
นายศิริ บุญพิทักษ์เกศ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน) หรือ AMARIN ทำหนังสือแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระบุว่า เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2567 บริษัทได้รับแบบประกาศเจตนาในการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการของบริษัท (แบบ 247-3) จากบริษัท สิริวัฒนภักดี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่บริษัท อเดลฟอส จำกัด ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 99.9998 ถึงการเข้าซื้อหุ้นของบริษัทจำนวนทั้งสิ้น 78,919,921 หุ้น หรือคิดเป็นร้อยละ 7.9056 ของหุ้นที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัท จากบุคคลดังต่อไปนี้
(1) นายระพี อุทกะพันธุ์ จำนวน 42,248,130 หุ้น หรือคิดเป็นร้อยละ 4.2321 ของหุ้นที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัท (2) นางเมตตา อุทกะพันธุ์ จำนวน 36,671,791 หุ้น หรือคิดเป็นร้อยละ 3.6735 ของหุ้นที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัท
การซื้อขายหุ้นดังกล่าวเป็นการซื้อขายผ่านระบบการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บนกระดานรายใหญ่ (Big Lot Board) ในวันที่ 5 มีนาคม 2567 ซึ่งส่งผลให้การถือหุ้นของบริษัทในกลุ่มอเดลฟอส ซึ่งประกอบด้วย บริษัท วัฒนภักดี จำกัด บริษัท สิริภักดีธรรม จำกัด และบริษัท สิริวัฒนภักดี จำกัด และการถือหุ้นของบริษัทของนายระพี อุทกะพันธุ์ และนางเมตตา อุทกะพันธุ์ เปลี่ยนแปลงไป ดังนี้
1.กลุ่มอเดลฟอส ถือหุ้นหลังทำรายการ (ณ วันที่ 5 มีนาคม 2567) จำนวน 819,734,373 หุ้น คิดเป็นร้อยละของทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วของบริษัทฯ ร้อยละ 82.1145
1.1 บริษัทวัฒนภักดี จำกัด ถือหุ้นหลังทำรายการ (ณ วันที่ 5 มีนาคม 2567) จำนวน 602,427,400 หุ้น คิดเป็นร้อยละของทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วของบริษัทฯ ร้อยละ 60.3464
1.2 บริษัทสิริภักดีธรรม จำกัด ถือหุ้นหลังทำรายการ (ณ วันที่ 5 มีนาคม 2567) จำนวน 138,387,052 หุ้น คิดเป็นร้อยละของทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วของบริษัทฯ ร้อยละ 13.8635
1.3 บริษัทสิริวัฒนภักดี จำกัด ถือหุ้นหลังทำรายการ (ณ วันที่ 5 มีนาคม 2567) จำนวน 78,919,921 หุ้น คิดเป็นร้อยละของทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วของบริษัทฯ ร้อยละ 7.9056
บริษัทระบุอีกว่า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นในกลุ่มอเดลฟอสดังกล่าวข้างต้น มีผลทำให้บริษัท สิริวัฒนภักดี จำกัด มีหน้าที่ในการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ที่เหลือทั้งหมดของกิจการ (Mandatory Tender Offer) ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ จ. 122554 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ (รวมทั้งที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม) เนื่องจากกลุ่มอเดลฟอสถือหุ้นในบริษัทรวมกันเกินกว่าร้อยละ 75 ของหุ้นที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัท ดังนั้น บริษัทจะดำเนินการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงการแต่งตั้งที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ เพื่อให้ความเห็นเกี่ยวกับคำเสนอซื้อของบริษัท สิริวัฒนภักดี จำกัด รวมทั้งแจ้งผู้ถือหุ้นเพิ่มเติม เมื่อบริษัทได้รับรายละเอียดคำเสนอซื้อจากกลุ่มอเดลฟอส แนวทางการบริหารงาน และโครงสร้างการบริหารงาน หากมีการเปลี่ยนแปลง
ทั้งนี้ ในรายละเอียดแบบประกาศเจตนาในการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการระบุด้วยว่า จะทำการเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดที่เหลืออยู่ 178,547,217 หุ้น หรือคิดเป็น 17.8855% โดยคาดว่าราคาเสนอซื้ออยู่ที่ 5 บาท/หุ้น คิดเป็นมูลค่าประมาณ 892.74 ล้านบาท และคาดว่าจะสามารถยื่นคำเสนอซื้อได้อย่างเป็นทางการ วันที่ 14 มีนาคม 2567
หลังจากนายระพี อุทกะพันธุ์ และนางเมตตา อุทกะพันธุ์ ขายหุ้นทั้งหมดที่มีอยู่ให้กับกลุ่ม “สิริวัฒนภักดี” ถือเป็นการปิดฉากตระกูล “อุทกะพันธุ์” ผู้ก่อตั้งเครืออมรินทร์ เจ้าของธุรกิจโรงพิมพ์ สำนักพิมพ์ สื่อสิ่งพิมพ์นิตยสารชื่อดัง “บ้านและสวน” และอีกหลากหลายฉบับ รวมทั้งทีวีดิจิทัล ช่องอมรินทร์ 34 ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่ก่อตั้งโดยนายชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ เมื่อปี 2519 หรือกว่า 47 ปีมาแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2566 กลุ่มตระกูลอุทกะพันธุ์ ทั้งหมดได้ลาออกจากการเป็นผู้บริหารในกลุ่มธุรกิจเครืออมรินทร์ โดยมีผู้บริหารจากฝั่งไทยเบฟ ผู้ถือหุ้นใหญ่ขึ้นมาคุมการบริหารทั้งหมดแทน
ปัจจุบัน เครืออมรินทร์ประกอบธุรกิจสื่อครบวงจร ตั้งแต่หนังสือเล่มจาก 15 สำนักพิมพ์ นิตยสารวางจำหน่าย 6 ฉบับ โรงพิมพ์ สื่อดิจิทัล การจัดงานแฟร์ ช่องอมรินทร์ทีวี และร้านนายอินทร์ ซึ่งมีจำนวน 145 สาขา
อมรินทร์กรุ๊ป มีจุดเริ่มต้นโดยนางเมตตา เป็นผู้ร่วมก่อตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดวารสารบ้านและสวน ร่วมกับ นายชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ ผลิตนิตยสาร “บ้านและสวน” วางจำหน่ายในเดือนกันยายน 2519 ก่อนก่อตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด อมรินทร์การพิมพ์ เพื่อจัดพิมพ์นิตยสารเอง และรับจ้างงานพิมพ์อื่นจากภายนอก กระทั่งในปี 2536 เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในนาม บริษัท อมรินทร์ พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) พร้อมขยายกิจการด้านการจัดจำหน่าย และการพิมพ์นิตยสารเพิ่ม รวมทั้งสิ้น 9 หัว
กระทั่งยุคธุรกิจดาวเทียมเฟื่องฟู ได้ก่อตั้งช่องทีวีดาวเทียมที่ชื่อว่า Amarin Activ TV (อมรินทร์ แอคทีฟ ทีวี) และเข้าร่วมประมูลทีวีดิจิทัล ประเภททั่วไปความคมชัดสูง (HD) เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2557 ในราคา 3,320 ล้านบาท และก่อตั้งสถานีโทรทัศน์อมรินทร์ทีวี เอชดี ช่อง 34 โดยมีนางระริน อุทกะพันธุ์ ปัญจรุ่งโรจน์ ทายาทรุ่นที่ 2 บริหารงานร่วมกับนายโชคชัย ปัญจรุ่งโรจน์ ผู้เป็นสามี แต่การดำเนินธุรกิจประสบภาวะขาดทุนจากธุรกิจทีวีดิจิทัลที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง
กระทั่งในปี 2559 นายฐาปน และนายปณต สิริวัฒนภักดี ทายาทของ นายเจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าของธุรกิจเบียร์ช้าง เข้าซื้อหุ้นอมรินทร์ 200 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่าราว 850 ล้านบาท กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และส่งทีมผู้บริหารจากกลุ่มเบียร์ช้างเข้ามาบริหาร โดยนายโชคชัย ปัญจรุ่งโรจน์ สามีของนางระริน ได้ลาออกจากทุกตำแหน่งในอมรินทร์ทีวี
จากนั้น ดีลเทกโอเวอร์อมรินทร์กรุ๊ปของกลุ่มเบียร์ช้างก็ไล่ตามมาเป็นลำดับ รวมถึงดีลล่าสุดที่ใกล้จะปิดฉากอย่างสมบูรณ์ในเร็วๆ นี้
ทั้งนี้ แทบจะกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาไปแล้ว สำหรับกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ที่ล้วนไขว่คว้าธุรกิจสื่อเข้ามอยู่ในอาณาจักรจนคล้ายเป็นของคู่กัน โดยก่อนหน้าที่ “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” กลุ่มไทยเบฟ จะเข้ามาอยู่ในทำเนียบมหาเศรษฐีเจ้าของสื่อรายล่าสุด ก็มีมหาเศรษฐีคนดังใต้ฟ้าเมืองไทยครอบครองสื่อในมือหลายราย เช่น นายธนินท์ เจียรวนนท์ แห่งเครือซีพี มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของประเทศ ตามการจัดอันดับมหาเศรษฐีเมืองไทยของนิตยสารฟอร์บส เมื่อปี 2566 เป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์ TNN ช่อง 16 และ True4U ช่อง 24 และ True Vision
ส่วนสมาชิกครอบครัวจิราธิวัฒน์ แห่งเครือเซ็นทรัล ที่รวยเป็นอันดับสี่ของประเทศ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บริษัท โพสต์พับลิชชิ่ง กรุ๊ป จำกัด มหาชน ผู้จัดพิมพ์ บางกอกโพสต์ และโพสต์ทูเดย์ ออนไลน์
นายกฤตย์ รัตนรักษ์ ผู้ถือหุ้น ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ร่ำรวยติดอันดับที่ 21 เป็นเจ้าของบริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ หรือสถานีโทรทัศน์สีช่อง 7
นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ เจ้าของโรงพยาบาลกรุงเทพ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ และถูกจัดอันดับร่ำรวยอันดับ 7 เป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์พีพีทีวี เป็นต้น