โดย ดร.เกียรติกำจร มีขนอน
คุวาบาระยกตัวอย่างการแต่งตั้งข้าราชการชาวต่างชาติที่เมืองท่าของจีนในช่วงปลายราชวงศ์ซ่งเพื่อแสดงให้เห็นความเป็นนานาชาติของการค้าของจีน ในปี พ.ศ.1808-1813 พระภิกษุจื้อผาน (志磐) ได้เขียนหนังสือโฝจู่ถ่งจี่ (佛祖统纪) หรือบันทึกทั่วไปเกี่ยวกับผู้ก่อตั้งพุทธศาสนาโดยมีแผนที่ ต๊งเจิ้นต้านตี้หลี่ถู (东震旦地理圖) หรือแผนที่ภูมิศาสตร์ของจีนไปทางตะวันออก ระบุที่ตั้งของศรีวิชัยในสมัยปลายราชวงศ์ซ่ง หลังจากหลักฐานที่พระพุทธรูปปางนาคปรกที่ไชยามีการค้นการพบจารึกปาดังโรโค (พ.ศ.1829) ตรงต้นแม่น้ำบาตังฮารีทางตะวันตกของเกาะสุมาตรา (ปัจจุบันคือโบราณสถานธรรมศรายา) ซึ่งลงศักราชนับร้อยกว่าปีจากศักราชที่จารึกใต้ฐานพระพุทธรูปปางนาคปรกที่ไชยาเป็นการอ้างครั้งที่ 2 ถึงพระนามมหาราชาที่มีคำว่า “เมาลิ” และ “ศรีมัตตะ” จึงไม่สามารถระบุได้ว่าหลังจากมหาราชาศรีมัตตะไตรโลกยราชเมาลิภูษณะวรมะเทวะแล้วมีมหาราชาราชวงศ์เมาลิครองราชย์ต่อมาอีกกี่พระองค์
ในสมัยราชวงศ์หยวนเมืองจัมบิยังคงส่งทูตไปจีนอยู่ แต่พ่อค้าชาวจีนและมองโกลสามารถเข้ามาค้าขายกับเมืองของศรีวิชัยและตามพรลิงค์ได้อย่างเป็นอิสระ หลังจากสิ้นสุดราชวงศ์ซ่งแล้วบทความนี้จะแสดงแต่สำเนียงจีนกลางเท่านั้นเนื่องจากราชวงศ์หยวนอยู่ที่ปักกิ่งซึ่งเป็นที่มีการพัฒนาไปสู่สำเนียงจีนกลางปัจจุบัน
พงศาวดารมลายูกล่าวถึง สังสะปูรบา (พ.ศ.1788-1859) หรือศรีมหาราชา สังสะปูรบา หรือศรี นีละปาลวาห์ อยู่ร่วมสมัยกับมหาราชาศรีมัตตะตรีภูวนราชเมาลิวรมะเทวะในจารึกปาดังโรโคกล่าวว่าสังสะปูรบากลายเป็นผู้นำสูงสุดของศรีวิชัยเดินทางไปยังบูกิต เซกุนตังที่ปาเล็มบังพร้อมกับน้องชาย 2 คนตามรอยฑปุนดา หิยัม ศรีชยนาศผู้ตั้งสมาพันธรัฐศรีวิชัยในอดีตไปทำพันธสัญญาอันศักดิ์สิทธิ์กับ เดมัง เลบาร์ ดาอุน หลังจากลงมาจากบูกิต เซกุนตังมายังที่ราบริมแม่น้ำมุสิ จึงอภิเษกสมรสกับ วัน เซดารีบุตรีของเดมัง เลบาร์ ดาอุนแล้วจึงเดินทางไปปกครองมินังกระเบา สุลต่านหลายรัฐของมาเลเซียในปัจจุบันอ้างว่าสังสะปูรบาเป็นบรรพบุรุษของตน
มีการแบ่งอิทธิพลการค้าทางทะเลระหว่างศรีวิชัยคุมทางตะวันตกของช่องแคบมะละกากับตามพรลิงค์ที่เปลี่ยนชื่อเป็นนครศรีธรรมราชหลังจากไม่ได้เป็นพันธมิตรกับสุโขทัยคุมอ่าวไทยตอนล่างและช่องแคบมะละกาทางตะวันออกและชวาคุมหมู่เกาะอินโดนีเซีย เอกสารเต้าหยี่จาซื่อ (岛夷杂志) เมื่อ พ.ศ.1813 เป็นหัวข้อราชวงศ์หยวนในสารานุกรมสือหลินกว๊างจี๊ เขียนระหว่างปลายราชวงศ์ซ่งถึงราชวงศ์หยวนกล่าวว่าศรีวิชัยส่งคนปกครองพัทลุงเมืองขึ้นของสมาพันธรัฐตามพรลิงค์ที่เคยขึ้นกับศรีวิชัยมาก่อนในช่วงที่สิ้นสุดราชวงศ์ปัทมวงศ์ที่มหาราชาจันทรภาณุและชวกะมหินทรไปบุกศรีลังกาแล้วไม่กลับมา
ในสมัยราชวงศ์หยวน ราชวงศ์เมาลิน่าจะย้ายเมืองหลวงจากบริเวณมัวร่า จัมบิที่อยู่ใกล้ปากแม่น้ำบาตังฮารีไปอยู่ที่ธรรมศรายาที่อยู่ติดกับของแม่น้ำสุไหงลางสาตที่อยู่ตอนในเพื่อหลบการรุกรานทางทะเล พงศาวดารหยวนสือ (元史) จะไม่กล่าวถึงซัน-โฝ-ฉี แต่จะกล่าวถึงมลายู (末罗瑜 หมอ-หลัว-โหยว) ซึ่งก็คือธรรมศรายานั่นเอง โดยพงศาวดารหยวนสือกล่าวว่าธรรมศรายาส่งทูตมุสลิมชื่อสุไลมานกับชามุดดินไปต้าตู (เป่ยจิง) ในสมัยกุบไลข่านในปีพ.ศ.1823 และจีนส่งทูตตอบกลับมาในปี พ.ศ.1824
เหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นบทบาทของชาวมุสลิมในสมาพันธรัฐศรีวิชัยตอนปลาย สาเหตุที่ธรรมศรายาใช้ทูตมุสลิมนั้นเนื่องจากในสมัยราชวงศ์หยวนชาวมองโกลนิยมใช้ทูตมุสลิมติดต่อกับต่างประเทศ และเหตุการณ์นี้อยู่ในช่วงสงครามที่พระเจ้าเขตร์นครแห่งอาณาจักรสิงหส่าหรีจากชวาตะวันออกมีพระราชโองการพะมลายูเพื่อปราบธรรมศรายาให้เป็นเมืองขึ้นในปี พ.ศ.1818 มีการแลกเปลี่ยนทูตระหว่างราชวงศ์หยวนและธรรมศรายาแสดงว่าธรรมศรายายังเป็นอิสระอยู่แม้ว่าจะถูกสิงหส่าหรีคุกคาม แต่สิงหส่าหรีก็รบชนะในปี พ.ศ.1829 เนื่องจากเรือรบของสิงหส่าหรีใหญ่กว่าเรือรบของศรีวิชัยหลายเท่าทหารเรือศรีวิชัยไม่สามารถปีนขึ้นยึดเรือสิงหส่าหรีได้ สงครามนี้อาจมีการปะทะกันย่อย ๆ ตลอดระยะเวลา 11 ปี
ในยุคนี้อิทธิพลของสมาพันธรัฐศรีวิชัยได้หดตัวลงมาเหลือแค่บางส่วนในเกาะสุมาตราเท่านั้นหลังจากที่มหาราชาจันทรภาณุเห็นว่าสมาพันธรัฐศรีวิชัยอ่อนแอลงจึงแยกเมืองตามพรลิงค์ออกไปพร้อมเมืองศรีวิชัยทางเหนือของแหลมมลายูและก่อตั้งสมาพันธรัฐตามพรลิงค์ในปีพ.ศ.1773 และเมืองบริวารก็แยกตัวจากไปค้าขายกับจีนโดยตรงต่อมาสมาพันธรัฐตามพรลิงค์อ่อนแอลงก็ต้องเป็นพันธมิตรกับสุโขทัยในสมัยพ่อขุนรามคำแหงเพื่อให้คุ้มครองจากการแย่งชิงอิทธิพลกับสมาพันธรัฐศรีวิชัยเดิม การต่อสู้แย่งชิงอิทธิพลของตามพรลิงค์ที่กลายมาเป็นนครศรีธรรมราชกับศรีวิชัยในช่องแคบมะละกาทำให้เมืองท่าต่างๆในแหลมมลายูเริ่มค้าขายกับจีนได้โดยตรงทำให้สมาพันธรัฐศรีวิชัยสูญเสียเมืองบริวารและหดตัวลงไปอีก
เอกสารอ้างอิง
Bendahara. 1970. Sejarah Melayu or Malay Annals. Translated by C. C. Brown. Kuala Lampur: Oxford University Press.
Heng, Derek Thiam Soon. 2009. Sino-Malay Trade and Diplomacy: From Tenth through the Fourteenth Century. Singapore: ISEAS.
Heng, Derek Thiam Soon. 2013. "State Formation and the Evolution of Naval Strategies in the Melaka Straits c.500-1500CE." Journal of Southeast Asian Studies 44 (3): 380-399.
Kuwabara Jitsuzo 桑原隲藏. 1928. "P'u Shou-keng, a Man of the Western Regions, who was Superintendent of the Trading Ships Office in Ch'uan-chou towards the end of the Sung Dynasty." Memoirs of the Research Department of the Toyo Bunko 2(7): 1-79.
Miksic, John Norman. 2013. Singapore and the Silk Road of the Sea 1300-1800. Singapore: NUS Press.
Miksic, John Norman. 2015."Kerinci and the Ancient History of Jambi." In A 14th Century Malay Code of Laws: The Nitisarasmuccaya, by Uli Kozok, 17-49. Singapore: ISEAS.
Mom Chao Chand Chirayu Rajani. 1976b. "Review Articles: Background to Srivijaya Story Part V (Conclusion)." Journal of the Siam Society 64 (2): 237-310.
Munro-Hay, Stuart. 2001. Nakhon Sri Thammarat: The Archeology, History and Legends of a Southern Thai Town. Banglok: White Lotus.
Wada Hisamori 和田久徳. 1954. "Daoyizazhi 島夷雜誌: 宋代南海史料としての島夷雑誌 [A New Chinese Source of the History of Indian Ocean during the Song Dynasty (990-1279CE)]." お茶の水女子大学人文科学紀要 (Bulletin of Ochanomizu University) 5: 27-63.