ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สถานการณ์ราคาตั๋วเครื่องบินแพงเป็นหนึ่งในประเด็นเผือกร้อน ส่งไม้ต่อจากรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นที่จับตาภายใต้บริหารประเทศของ “นายกฯ นิด - เศรษฐา ทวีสิน" จะกอบกู้สถานการณ์คุมค่าบัตรโดยสารเครื่องบินให้อยู่ในราคาที่เหมาะสมได้หรือไม่?
อย่างไรก็ดี หลังจาก นายเศรษฐา ทวีสิน เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อช่วงกลางปี 2566 ได้สั่งการบ้านให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เร่งบริหารจัดการความแออัดภายในสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมือง และแก้ปัญหาบัตรโดยสารแพงให้แล้วเสร็จภายในเดือน พ.ย. 2566 เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวช่วงช่วงไฮซีซั่น กระทั่งเข้าสู่ช่วงต้นปี 2567 ในทางปฏิบัติก็ยังไม่เห็นผลเป็นประจักษ์ ปัญหาราคาตั๋วเครื่องบินแพงยังไม่คลี่คลาย มิหนำซ้ำ ยังเกิดเสียงร้องเรียนเรื่องกับปมปัญหาราคาตั๋วเครื่องบินแพงต่อเนื่อง
ล่าสุด กรณีเที่ยวบินชั้นประหยัดไปกลับ “เส้นทาง ภูเก็ต – กรุงเทพฯ” มีเสียงสะท้อนจากประชาชนแพงหูฉี่ทะลุหลักหมื่นบาท และเป็นที่ทราบกันว่าราคาตั๋วเครื่องบินจะปรับตัวสูงขึ้นในช่วงเทศกาล รวมถึงการซื้อตั๋วในเวลากระชั้นชิดใกล้วันเดินทางตั๋วจะราคาแพงขึ้นสูงสุด แต่ทั้งนี้จะไม่เกินเพดานค่าโดยสารที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) มีการกำหนดไว้ ขณะเดียวกันการจองตั๋วล่วงหน้านานๆ จะได้ตั๋วในราคาค่อนข้างต่ำ
ข้อมูลวงเสวนาเรื่อง “เผยเบื้องลึกกลไกราคา บินคุ้มค่าหรือเกินจริง” จัดโดยสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยว่าตั๋วเครื่องบินจะถูกกำหนดราคาด้วยหลัก Dynamic Pricing คือการตั้งราคาแบบยืดหยุ่น ซึ่งเป็นวิธีการที่สายการบินทั่วโลกนำมาใช้ ราคาตั๋วเครื่องบิน สามารถเปลี่ยนแปลงไปตามปัจจัยต่างๆ โดยเฉพาะปริมาณความต้องการเดินทางของผู้โดยสารในแต่ละช่วงเวลา และระดับการแข่งขันของสายการบินในเส้นทางต่างๆ
โดยสายการบินจะนำปัจจัยข้างต้นมาพิจารณาร่วมกับต้นทุนการให้บริการ ก่อนนำมากำหนดเป็นราคาตั๋วแต่ละที่นั่งโดยใน 1 เที่ยวบินจะมีราคาตั๋วที่แตกต่างกัน ไล่ระดับราคาเป็นขั้นบันได หรือที่เรียกว่า Fare Class ซึ่งกลไกทางการตลาดนี้เอง ทำให้สายการบินสามารถตั้งราคาตั๋วโดยสารได้หลายระดับ ช่วยให้ผู้โดยสารเข้าถึงบริการได้มากขึ้น
อ้างอิงจากการรายงานและการตรวจสอบของ กพท. ระบุว่าการควบคุมดูแลด้านราคาค่าบัตรโดยสารเครื่องบินอยู่ในกรอบมาตรฐานราคาเพดานที่กำหนดไว้ โดย กพท. ได้มีการกำหนดราคาเพดานเพื่อควบคุมราคาขั้นสูง ทั้งในเส้นทางหลัก และเส้นทางรอง โดยจำแนกเป็นอัตราสำหรับบริการต้นทุนต่ำและบริการเต็มรูปแบบ โดยมีการตรวจสอบการกำหนดราคาบัตรโดยสารภายในประเทศของทุกสายการบินผ่านช่องทางการจัดจำหน่ายทุกวัน มีการยืนยันกับสายการบินโดยตรงทุกกรณี และไม่พบว่าสายการบินกำหนดราคาบัตรโดยสารสูงกว่าราคาเพดานที่กำหนดแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ราคาเพดานที่กำหนดไว้เป็นส่วนของราคาบัตรโดยสารสำหรับการเดินทาง (Air Fare) เท่านั้น ไม่ได้รวมค่าภาษีและค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้อง และไม่รวมในส่วนที่ผู้โดยสารจะเลือกการบริการเพิ่มเติม ซึ่งในส่วนนี้เป็นการให้บริการตามความสมัครใจของผู้โดยสารแต่ละท่าน เช่น ค่าอาหาร ค่าน้ำหนักสัมภาระ ค่าประกัน ค่าเลือกที่นั่ง เป็นต้น
นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ นายกสมาคมสายการบินประเทศไทย เปิดเผยว่าต้นทุนในการดำเนินงานของสายการบินมีส่วนสำคัญในการกำหนดราคาบัตรโดยสาร อย่างที่ทราบกันดีว่าปัจจุบันสายการบินต่างๆ ต้องแบกรับภาระต้นทุนในการดำเนินงานที่ค่อนข้างสูงมาก เมื่อเทียบกับการขนส่งสาธารณะอื่นๆ ยกตัวอย่างต้นทุนหลักๆ อาทิ 1. ต้นทุนการดำเนินงาน เช่น ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าภาษีอากรน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบิน Excise Tax ที่ปัจจุบันสายการบินของประเทศไทยถูกเรียกเก็บอยู่ที่อัตรา 4.726 บาท/ลิตร 2. ต้นทุนคงที่ เช่น ค่าจ้างบุคลากรโดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ค่าซื้อ/เช่าอากาศยาน และค่าบริหารจัดการข้อมูลการบินและระบบสนับสนุน และ 3. ต้นทุนอื่นๆ เช่น การตรวจดูแลอากาศยานประจำวัน การซ่อมบำรุงตามกำหนดเวลา และค่าธรรมเนียมการใช้บริการในท่าอากาศยานและภาคพื้นดินหรือลานจอด เป็นต้น
“คนส่วนใหญ่มักคิดว่าธุรกิจสายการบินเป็นธุรกิจที่ทำกำไรมหาศาล แต่ในความเป็นจริงเมื่อดูราคาเฉลี่ยตั๋วเครื่องบิน เปรียบเทียบกับต้นทุนแล้วพบว่าค่าตั๋วจะมีส่วนต่างกำไรที่น้อย จึงต้องพึ่งพารายได้จากแหล่งทางอื่นมากกว่า เช่น รายได้จากการขนสินค้า รายได้จากการจำหน่ายบริการเสริม น้ำหนักกระเป๋า (สำหรับสายการบินแบบราคาประหยัด) รายได้จากช่องทางอื่น (ancillary) เช่น การโฆษณาในนิตยสาร in-flight หรือการขายของที่ระลึกบนเครื่องบิน เป็นต้น” นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ นายกสมาคมสายการบินประเทศไทย เปิดเผย
นอกจากนี้ ในปัจจุบันธุรกิจการบินยังต้องเผชิญปัจจัยจำกัดการเติบโตจากภาวะเงินเฟ้อสูง มีผลให้กำลังซื้ออ่อนแอ ส่งผลให้การใช้จ่ายเพื่อสันทนาการหรือเดินทางท่องเที่ยวทางอากาศของลูกค้าเป็นไปอย่างระมัดระวัง และราคาเชื้อเพลิงเครื่องบินที่ปรับเพิ่มขึ้นเกือบ 70% จากปี 2564 ตามราคาน้ำมันดิบโลก
และธุรกิจสายการบินมีภาระการลงทุนเพิ่มขึ้นทั้งจากการปรับเกณฑ์ความปลอดภัยให้สอดรับกับมาตรฐานธุรกิจการบินโลก การยกระดับด้านสุขอนามัยในช่วงหลังวิกฤตโควิด-19 รวมไปถึงภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการปฏิบัติตามเกณฑ์/พันธกรณี/ข้อบังคับที่ถูกกำหนดขึ้น เช่น เกณฑ์ความปลอดภัยตามมาตรฐานอุตสาหกรรมการบินโลก นโยบายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้สายการบินอาจต้องปรับใช้เชื้อเพลิงอากาศยานที่ยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuels: SAF) ซึ่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิล หรือออกแบบเครื่องยนต์ใหม่เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
นายกสมาคมสายการบินฯ กล่าวทิ้งท้ายว่าปัจจัยที่กล่าวมาส่งผลต่อการกำหนดราคาตั๋วโดยสารทั้งสิ้น และถึงแม้ภาระต้นทุนในการดำเนินธุรกิจของสายการบินจะเพิ่มมากขึ้น ทุกสายการบินก็ยังคงต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับ (เพดานค่าโดยสาร) ของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยอย่างเคร่งครัด โดยอยากสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้โดยสารว่าราคาตั๋วของสายการบินในประเทศไทยเป็นราคาที่สมเหตุสมผลแล้ว
สำหรับความคืบหน้าในการแก้ปัญหาบัตรโดยสารเครื่องบินราคาแพง นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้สั่งการให้ กพท. ไปดำเนินการตรวจสอบและหาแนวทางการแก้ไข เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศ และตอบสนองความต้องการของประชาชนตามนโยบายของรัฐบาล
รวมทั้ง ส่งเทียบเชิญสายการบินที่ให้บริการเส้นทางภายในประเทศ จำนวน 6 ราย ประกอบด้วย สายการบินไทย สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส สายการบินไทยแอร์เอเชีย สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ สายการบินนกแอร์ และสายการบินไทยเวียตเจ็ท เข้าร่วมประชุมหารือ เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2567 ที่ผ่านมา เพื่อชี้แจงพร้อมทั้งหาแนวทางการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนต่อกรณีค่าโดยสารทางอากาศมีราคาสูงโดยเฉพาะช่วงเทศกาลท่องเที่ยว
ทั้งนี้ ในการปรับปรุงเพดานอัตราค่าโดยสารดังกล่าว จะต้องมีการประสานกับสายการบิน เพื่อให้ได้ข้อมูลครบถ้วน พร้อมทั้งประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสายการบิน รวมถึงแนวทางการดำเนินการให้ครอบคลุมในทุกมิติ เนื่องจากสายการบินได้มีการจำหน่ายตั๋วโดยสารล่วงหน้าไปแล้วประมาณ 1 ปี ซึ่งจะเร่งรัดให้การพิจารณาแนวทางแล้วเสร็จโดยเร็ว ก่อนที่จะเข้าสู่ขั้นตอนเสนอต่อคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) พิจารณาให้ความเห็นชอบเพดานอัตราค่าโดยสาร และมีผลบังคับใช้สอดคล้องกับสถานการณ์นี้ต่อไป เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้โดยสาร และผู้ประกอบการสายการบิน
ท้ายที่สุด ตั๋วเครื่องบินจะถูกกำหนดราคาด้วยหลัก Dynamic Pricing คือการตั้งราคาแบบยืดหยุ่นตามหลักสากล โดยมีการไล่ระดับราคาเป็นขั้นบันได (Fare Class) ไม่เกินเพดานค่าโดยสารที่ กพท. มีการกำหนดไว้
ต้องติดตามว่าหลังมีพิจารณาทบทวนปรับเพดานค่าโดยสารลง จะทำให้ราคาตั๋วโดยสารราคาสูงสุดปรับลดลงเพียงใด หรือตั๋วเครื่องบินราคาแพงในระดับที่ประชาชนรับไหวหรือไม่?