xs
xsm
sm
md
lg

อำนาจในมุมมองนักปราชญ์ (18-2 ): อันโตนิโอ เนกริ และ ไมเคิล ฮาร์ท – อำนาจเครือข่ายมหาชนและกลยุทธ์ต่อต้านจักรวรรดิยุคใหม่ / Phichai Ratnatilaka Na Bhuket

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


อันโตนิโอ เนกริ และไมเคิล ฮาร์ท (ภาพ : วิกิพีเดีย)
"ปัญญาพลวัตร"
"ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

 แนวคิดเครือข่ายมหาชน ( the multitude) เป็นแนวคิดที่ อันโตนิโอ เนกริและไมเคิล ฮาร์ทอธิบายกลุ่มที่หลากหลายและทรงพลังที่มีอยู่ทั่วโลก ซึ่งเชื่อมโยงถึงกันผ่านรูปแบบการสื่อสารและเครือข่ายสมัยใหม่ เครือข่ายมหาชนครอบคลุมความปรารถนาและผลประโยชน์ทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจมากมาย และเป็นตัวแทนของพลังประชาธิปไตยที่หลากหลายในการต่อต้านต่อการครอบงำของจักรวรรดิยุคใหม่ ซึ่งแตกต่างจาก “ประชาชน”และ “มวลชน” ทั่วไปที่มีความเป็นเนื้อเดียว เฉื่อยชา และความอ่อนไหวต่อการถูกควบคุมโดยจักรวรรดิ


เครือข่ายมหาชนมีอัตลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งยืนยันความเป็นอิสระของตนและสนับสนุนรูปแบบการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยในระดับโลกด้วยกลยุทธ์ที่หลากหลาย และเป็นแหล่งที่มีศักยภาพในการต่อต้านและเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจและผลประโยชน์ระดับโลกที่ถูกครอบงำโดย  “จักรวรรดิยุคใหม่” เครือข่ายมหาชนมีศักยภาพในการสร้างและนำเสนอรูปแบบประชาธิปไตยทางเลือกในระดับโลก โดยมีรากฐานจากความปรารถนาและเป้าหมายร่วมกันของกลุ่มผู้ปฏิบัติการณ์ทางสังคมที่มีบทบาทในการเคลื่อนไหว

เหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่เนกริเสนอแนวคิดเครือข่ายมหาชนคือ การที่ชนชั้นแรงงานแบบดั้งเดิมที่ใช้แรงงานทางกายภาพ (ชนชั้นกรรมาชีพทางอุตสาหกรรม) ไม่ได้เป็นเพียงตัวแทนของการเปลี่ยนแปลงการปฏิวัติแต่เพียงกลุ่มเดียวอีกต่อไป การเพิ่มขึ้นของเทคโนโลยีสารสนเทศและโลกาภิวัตน์ได้ก่อให้เกิดชนชั้นใหม่ที่ประกอบด้วยบุคคลที่เป็นผู้ใช้แรงงานในรูปแบบที่หลากหลาย (เช่น การสื่อสาร การบริการ การวิจัย) เครือข่ายมหาชนที่หลากหลายเหล่านี้ถือเป็นพลังขับเคลื่อนที่มีศักยภาพสำหรับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม

เครือข่ายมหาชนไม่ใช่กลุ่มสังคมที่เป็นหนึ่งเดียวกันที่มีอัตลักษณ์เหมือนกัน หรือความสนใจเรื่องใดเรื่องหนึ่งร่วมกัน หากแต่เป็นตัวตนที่มีความหลากหลายและมีชีวิตชีวา ประกอบด้วยกลุ่มย่อย วัฒนธรรม และประสบการณ์ที่หลากหลาย ความแตกต่างหลากหลายนี้ไม่ใช่จุดอ่อน แต่เป็นแหล่งของความคิดสร้างสรรค์และมีศักยภาพในการสร้างความสมานฉันท์รูปแบบใหม่ขึ้นมา

ลักษณะสำคัญของเครือข่ายมหาชนมีดังนี้

 1) มีความยืดหยุ่นและวิวัฒนาการ เครือข่ายมหาชนไม่ใช่องค์กรที่มีลักษณะคงที่ตายตัวและมีหลักเกณฑ์การเป็นสมาชิกที่ชัดเจน แต่มีความยืดหยุ่นสูงในการเข้า อยู่ และออกจากเครือข่าย รวมทั้งมีหลักเกณฑ์ ประเด็น และแนวทางการเคลื่อนที่มีการปรับเปลี่ยนเชิงวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่อง โดยมีรากฐานจากการมีข้อกังวลร่วมกัน การเป็นพันธมิตรชั่วคราว และการต่อสู้ที่พัฒนาขึ้น ความลื่นไหลนี้ทำให้สามารถปรับตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้จักรวรรดิไม่สามารถทำลายได้โดยง่าย

 2. ประกอบด้วยกลุ่มย่อยที่หลากหลาย  เครือข่ายมหาชนมีองค์ประกอบที่ครอบคลุมอัตลักษณ์ อาชีพ วัฒนธรรม และประสบการณ์ที่หลากหลาย ตั้งแต่คนงานในโรงงานไปจนถึงศิลปิน ผู้อพยพไปจนถึงนักเรียน นักเคลื่อนไหวไปจนถึงครู พลเมืองที่กระตือรือร้นสนใจในประเด็นสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมสามารถเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายมหาชนได้ ความหลากหลายนี้สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นจริงทางสังคมที่ซับซ้อนเกินกว่าการจัดหมวดหมู่ที่เรียบง่ายแบบเดิม

 3. ไม่ได้ถูกกำหนดโดยการถูกกดขี่ร่วมกัน ต่างจากชนชั้นแรงงานดั้งเดิมที่รวมกันโดยการเรียกร้องผลประโยชน์ภายใต้ระบบทุนนิยม อัตลักษณ์ของเครือข่ายมหาชนเกิดขึ้นจากความปรารถนาร่วมกันในการปกครองตนเอง ความคิดสร้างสรรค์ และการตัดสินใจโดยตนเอง และการเน้นไปที่ความปรารถนาเชิงบวกนี้จะช่วยกระตุ้นศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงสังคม

 4. มีโครงสร้างแบบเครือข่ายในการเคลื่อนไหว : โครงสร้างองค์กรการเคลื่อนไหวแบบลำดับชั้นดั้งเดิมจะถูกแทนที่ด้วยโครงสร้างแบบเครือข่ายแนวนอน เครือข่ายเหล่านี้ ซึ่งอำนวยความสะดวกด้วยเทคโนโลยีและแนวปฏิบัติด้านการสื่อสาร ช่วยให้ผู้คนจำนวนมากสามารถเชื่อมต่อ แบ่งปันข้อมูล และระดมการดำเนินการโดยไม่มีโครงสร้างที่จำกัดและแข็งตัว และเครือข่ายมีความเชื่อมโยงเชิงพลวัต ทั้งการเชื่อมโยงระหว่างบุคคลและกลุ่ม ซึ่งมีการก่อตัว เปลี่ยนแปลง และคลี่คลายอยู่ตลอดเวลา โครงสร้างเครือข่ายเชิงพลวัตนี้ทำให้เครือข่ายมหาชนสามารถปรับเปลี่ยนได้ง่ายและยากแก่การควบคุม

 5. ความหลากหลายเป็นจุดแข็ง ความหลากหลายเป็นแหล่งรวมของปรีชาญาณ ซึ่งก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม การมีมุมมองและประสบการณ์ที่แตกต่างกันเอื้ออำนวยต่อการนำความคิดและกลยุทธ์ใหม่มาใช้ในการขับเคลื่อนเพื่อเสริมสร้างการต่อสู้ร่วมกัน และป้องกันการครอบงำทางอุดมการณ์จากจักรวรรดิ

เนกริและฮาร์ทยังชี้ว่า เครือข่ายมหาชนมีศักยภาพในการปฏิวัติ เพราะความหลากหลายและธรรมชาติที่เชื่อมโยงกันทำให้สามารถต่อต้านและล้มล้างโครงสร้างการควบคุมของระบบทุนนิยมร่วมสมัยได้ เครือข่ายมหาชนมีมากมายนับไม่ถ้วนและครอบคลุมบุคคลจากภูมิหลัง อาชีพ และวัฒนธรรมที่หลากหลาย สิ่งนี้จะสร้างอำนาจอันทรงพลังสำหรับการเปลี่ยนแปลงเมื่อเครือข่ายมหาชนท้าทายเรื่องเล่าที่ครอบงำ และเสนอมุมมองที่หลากหลายเกี่ยวกับความอยุติธรรมและวิสัยทัศน์แห่งการเปลี่ยนแปลง สำหรับกลยุทธ์ในการต่อต้านจักรวรรดิ เนกริและฮาร์ทเสนอดังนี้

 1 กลยุทธ์การเคลื่อนไหวแบบไรโซม  หรือการเคลื่อนไหวแบบเหง้าอำนาจ (rhizomatic movement) กลยุทธ์นี้ได้รับอิทธิพลทางความคิดเรื่อง “เหง้าอำนาจ” ของ  เดอร์เลิซ และ กัตตารี  การต่อต้านของเครือข่ายมหาชนอยู่ในรูปแบบที่มีการกระจายอำนาจและเชื่อมโยงถึงกัน โดยแพร่กระจายในแนวนอนเหมือนกับเหง้าใต้ดิน การแพร่กระจายและเติบโตเป็นไปในลักษณะที่ไม่เป็นเส้นตรงและคาดเดาไม่ได้ ก่อให้เกิดการเชื่อมต่อและเครือข่ายที่ไม่ผูกพันกับหน่วยงานศูนย์กลาง ซึ่งทำให้เกิดความหลากหลายในยุทธวิธีและแนวทางการเคลื่อนไหว โครงสร้างการกระจายอำนาจในลักษณะนี้ทำให้ยากสำหรับจักรวรรดิในการค้นหาและระงับยับยั้งการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่อต้าน เพราะเครือข่ายไม่มีผู้นำคนเดียวหรือศูนย์กลางขององค์กรเพียงองค์กรเดียวที่สามารถตกเป็นเป้าหมายของจักรวรรดิได้

การเคลื่อนไหวแบบเครือข่ายเหง้าอำนาจปรากฏชัดในการเคลื่อนไหวทางสังคมต่าง ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีการสื่อสารดิจิทัลเพื่อเผยแพร่ข้อมูลอย่างรวดเร็ว การระดมการประท้วงอย่างฉับพลัน และประสานงานการดำเนินการในสถานที่ที่แตกต่างกัน กิจกรรมรูปแบบนี้เน้นการทำงานร่วมกันและการปรับตัว และมักได้รับแรงกระตุ้นจากความปรารถนาร่วมกันในการเปลี่ยนแปลงทางสังคม แม้ว่าเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจงอาจแตกต่างกันไปในแต่ละกลุ่มที่ข้าร่วมก็ตาม

 2 กลยุทธ์การต่อต้านทางวัฒนธรรมและสุนทรียภาพ  เครือข่ายมหาชนไม่ได้จำกัดการต่อต้านด้วยวิถีทางการเมืองแบบเดิม ๆ แต่กลับรวมเอาการแสดงออกทางวัฒนธรรมและสุนทรียภาพแห่งการต่อต้านเข้ามาด้วย ผ่านทางศิลปะ ดนตรี วรรณกรรม และการผลิตทางวัฒนธรรมในรูปแบบอื่น เพื่อต่อต้านและท้าทายรัฐและจักรวรรดิ การต่อต้านประเภทนี้มีพื้นฐานมาจากการรับรู้ว่า อำนาจไม่เพียงแต่ใช้ผ่านวิธีการทางการเมืองและเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังฝังอยู่ในรูปแบบทางวัฒนธรรมและอุดมการณ์อีกด้วย การแทรกแซงทางวัฒนธรรมและสุนทรียศาสตร์สามารถตั้งคำถามและสั่นคลอนอุดมการณ์และเรื่องเล่ากระแสหลักที่สนับสนุนจักรวรรดิ โดยการนำเสนอมุมมองทางเลือกและส่งเสริมจิตสำนึกเชิงวิพากษ์

 3 กลยุทธ์การสร้างความสามัคคีระดับโลก  เครือข่ายมหาชนก้าวข้ามขอบเขตทางภูมิศาสตร์และระดับชาติ สร้างพันธมิตรและความสามัคคีในชุมชนโลกและการเคลื่อนไหวที่หลากหลาย ความสามัคคีระดับโลกนี้ช่วยเพิ่มพลังให้กับการต่อต้านโดยการสร้างเครือข่ายการสนับสนุนและการมีเป้าหมายร่วมกัน ความสามัคคีนี้ได้รับการปลูกฝังผ่านการรับรู้ถึงผลประโยชน์ร่วมกันและการต่อสู้ระหว่างกลุ่มและชุมชนต่าง ๆ ทั่วโลก ที่แม้จะมีความหลากหลาย แต่ก็มีความปรารถนาที่จะเอาชนะโครงสร้างอำนาจที่กดขี่ของจักรวรรดิ

แนวทางการสร้างความสามัคคีระดับโลกดำเนินการโดยใช้เครือข่ายการสื่อสารระดับโลกเพื่อเชื่อมโยงกลุ่มและบุคคลที่ต่างกัน ซึ่งแม้จะแยกจากกันทางภูมิศาสตร์ แต่ก็มีวัตถุประสงค์เดียวกันหรือเผชิญกับความท้าทายร่วมกันที่เกิดจากระบบทุนนิยมระดับโลกและอิทธิพลของจักรวรรดิ สมาชิกเครือข่ายมหาชนจะให้การสนับสนุนและแบ่งปันความรู้ ยุทธวิธี และทรัพยากรระหว่างการเคลื่อนไหวเพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถของแต่ละฝ่ายในการต่อสู้ได้อย่างยั่งยืน

ภายใต้กลยุทธ์นี้เครือข่ายมหาชนจะมีการประสานงานการประท้วงและการดำเนินการในระดับสากล เช่น วันปฏิบัติการระดับโลก หรือการรณรงค์ที่ประสานกันเพื่อกดดันต่อสถาบันพหุภาคีหรือบริษัทข้ามชาติ อีกทั้งยังส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความคิดและแนวปฏิบัติทางวัฒนธรรมที่สามารถเพิ่มพลังให้กับขบวนการต่อต้านอีกด้วย มากไปกว่านั้นยังมีการเพิ่มความตระหนักรู้ในบริบทที่แตกต่างกันและสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการดำเนินการร่วมกัน รวมถึงการพัฒนาแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับเศรษฐกิจทางเลือกที่ให้ความร่วมมือ มุ่งเน้นชุมชน และความยั่งยืน เพื่อท้าทายรูปแบบระบบทุนนิยมที่ได้รับการรับรองจากจักรวรรดิ

 4 กลยุทธ์การแข่งขันของเรื่องเล่า  โดยปกติจักรวรรดิจะสร้างเรื่องเล่าเพื่อครอบงำความคิดและความเชื่อของประชาชนอย่างต่อเนื่องและยาวนาน เพื่อให้ประชาชนเชื่อฟังและยอมจำนนต่ออำนาจของจักรวรรดิ จากการที่เรื่องเล่าเป็นสิ่งประดิษฐ์ทางปัญญาที่ทรงพลานุภาพมากอย่างหนึ่งของมนุษย์ เครือข่ายมหาชนจึงใช้กลยุทธ์การสร้างเรื่องเล่าทางเลือกเพื่อแข่งขันและต่อสู้กับเรื่องเล่าของจักรวรรดิ

การสร้างเรื่องเล่าที่ท้าทายทำได้โดยการตีความประวัติศาสตร์ใหม่ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการทบทวนเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์จากมุมมองที่ถูกลดทอนหรือปราบปรามโดยประวัติศาสตร์ที่เป็นทางการ เป็นเรื่องเล่าที่เน้นย้ำเสียงแห่งการต่อต้าน โดยขยายเรื่องราวและประสบการณ์ของผู้ที่ทนทุกข์ภายใต้อำนาจของจักรวรรดิ การตีความประวัติศาสตร์ใหม่เป็นเวทีให้กับผู้ที่เงียบงันหรือด้อยโอกาสในการเล่าเรื่องของกระแสหลัก การสร้างตำนานและสัญลักษณ์ใหม่ที่สะท้อนถึงคุณค่าและวิสัยทัศน์ของระเบียบสังคมหรือวิถีชีวิตทางเลือกที่แตกต่างจากสิ่งที่ที่จักรวรรดิยึดถือ เรื่องเล่าที่ท้าทายยังรวมถึงการเสียดสีและการล้อเลียน โดยการใช้อารมณ์ขันเพื่อเยาะเย้ยและวิพากษ์วิจารณ์จักรวรรดิ ซึ่งจะเผยให้เห็นถึงความไร้สาระ ความขัดแย้ง และจุดเปราะบางของจักรวรรดิได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

 5. กลยุทธ์การออกแบบและสร้างการเมืองเชิงอุดมคติ  เครือข่ายมหาชนมีส่วนร่วมในการสร้างการเมืองเชิงอุดมคติ โดยการนำเสนอค่านิยมและหลักการที่มุ่งหวังจะใช้ในเชิงปฏิบัติเพื่อสร้างในโลกยุคหลังจักรวรรดิ การต่อต้านรูปแบบนี้เกี่ยวข้องกับการสร้างสถาบันทางเลือก ความสัมพันธ์ และแนวปฏิบัติที่สะท้อนวิสัยทัศน์ที่พึงปรารถนา

แทนที่เครือข่ายมหาชนจะกระทำเพียงแต่ประท้วงต่อต้านระบบที่มีอยู่ เครือข่ายของกลุ่มต่าง ๆ ก็ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการออกแบบและสร้างสถาบันใหม่ ๆ ที่รวบรวมหลักการที่เป็นประชาธิปไตย เสมอภาค และยั่งยืนที่พวกเขาสนับสนุนขึ้นมาในหลากหลายพื้นที่ มีการทดลองกับประชาธิปไตยรูปแบบใหม่ ทั้งประชาธิปไตยทางตรง ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม หรือประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ ซึ่งแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญจากประชาธิปไตยแบบตัวแทนที่การจัดวางโครงสร้างอำนาจแบบลำดับชั้นของกลุ่มอำนาจนำในจักรวรรดิ

การเมืองในอุดมคติยังเกี่ยวข้องกับการสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมใหม่บนพื้นฐานของความสมานฉันท์ การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และการตอบแทนซึ่งกันและกัน การต่อต้านปัจเจกนิยมและการแข่งขันที่เกิดจากระบบทุนนิยมระดับโลก อีกทั้งยังครอบคลุมถึงการสร้างนวัตกรรมและวิถีชีวิตที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นต้นแบบว่าสังคมจะดำเนินไปอย่างไร โดยไม่ต้องพึ่งพาแนวทางปฏิบัติที่มุ่งแสวงหาผลประโยชน์แบบเดิม

การเมืองในอุดมคติรวมถึงการสร้างแนวทางปฏิบัติด้านความยุติธรรมทางสังคมและเศรษฐกิจด้วย ซึ่งครอบคลุมทุกอย่างตั้งแต่การค้าที่เป็นธรรม ไปจนถึงการทำเกษตรฐานชุมชน (community-based agriculture) ที่ไม่ใช่การทำเกษตรเชิงเดี่ยวหรือเกษตรแบบพันธะสัญญาที่อยู่ภายใต้การควบคุมของทุนนิยม ซึ่งทั้งหมดนี้มีเป้าหมายเพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจที่ยุติธรรมและมีจริยธรรมกำกับนั่นเอง

 กล่าวโดยสรุป แนวคิดอำนาจของ เนกริและฮาร์ท ผ่านแนวคิดจักรวรรดิและเครือข่ายมหาชน เป็นนำเสนอความเข้าใจที่ละเอียดอ่อนและมีพลังเกี่ยวกับอำนาจ ท้าทายแนวคิดดั้งเดิมที่มักเน้นการครอบงำเป็นหลัก นักปราชญ์ทั้งสองเน้นถึงศักยภาพในการทำงานร่วมกันของเครือข่ายมหาชนเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม ซึ่งมีส่วนช่วยในการพัฒนากลยุทธ์ทางการเมืองและสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการเคลื่อนไหวเพื่อความยุติธรรมทางสังคม ความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ และการสร้างสังคมที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น 


กำลังโหลดความคิดเห็น