xs
xsm
sm
md
lg

สดช. โชว์ผลสำเร็จ DCH ระยะที่ 2 แปลงทุนวัฒนธรรมเป็นทุนทาง ศก. ด้วยดิจิทัล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สดช. โชว์ผลสำเร็จ DCH ระยะที่ 2 แปลงทุนวัฒนธรรมเป็นทุนทาง ศก. ด้วยดิจิทัล

เมื่อวันที่ 20 ก.พ.67 นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แถลงผลสำเร็จ โครงการส่งเสริมการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติสู่รูปแบบดิจิทัล (Digital Cultural Heritage) ระยะที่ 2 ว่าได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการโดยผ่านกระบวนการห้องปฏิบัติการนโยบายสาธารณะ หรือ Policy Lab ทั้งหมด 3 ครั้ง เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม Digital Content ด้านวัฒนธรรมที่สร้างรายได้ให้กับประเทศ และจัดกิจกรรมแข่งขันเชิงสร้างสรรค์ในการนำมรดกทางวัฒนธรรมสู่รูปแบบ Digital Content ภายใต้หัวข้อ “Hackulture 2023 Illuminate Thai อัปเวลแฟชั่นไทย ด้วยดิจิทัล” จากทั้งหมด 60 ทีม 287 คน ทีมชนะเลิศคือ Fash.Design รับถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี

“สดช. พบว่า การนำมรดกทางวัฒนธรรมของไทยมาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ เป็นที่สนใจของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน แต่เหตุที่มรดกทางวัฒนธรรมยังไม่สามารถสร้างรายได้เชิงประจักษ์ได้นั้น เพราะทุนทางวัฒนธรรมไม่อยู่ในสภาพพร้อมใช้ในการสร้างรายได้เชิงเศรษฐกิจ จำเป็นต้องแปลงทุนทางวัฒนธรรมให้เป็นทุนทางเศรษฐกิจ เพื่อให้เป็น Soft Power ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศ ด้วยการนำมรดกทางวัฒนธรรมมาสร้างสรรค์สิ่งใหม่ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เริ่มจากเลือกทุนทางวัฒนธรรม สร้างสรรค์เนื้อหา เลือกใช้เครื่องมือดิจิทัล เผยแพร่และทำการตลาด ตลอดจนแนวทางการคืนประโยชน์ไปยังเจ้าของทุนทางวัฒนธรรม เพื่อเป็นการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน” นายภุชพงค์ กล่าว


ภายในงานยังมีกิจกรรมเสวนา หัวข้อ “การพัฒนาอุตสาหกรรม Digital Content ในมุมมองด้านวัฒนธรรม เพื่อสร้าง Soft Power ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศ” โดยตัวแทนจากภาครัฐ อาทิ สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ในมุมมองการใช้ Soft Power เพื่อต่อยอดสร้างผลประโยชน์เชิงพาณิชย์มากยิ่งขึ้น จุดแข็งและจุดอ่อนการพัฒนาอุตสาหกรรม Digital Content เพื่อส่งเสริม Soft Power รวมไปถึงตัวแทนจากภาคเอกชนกับการใช้ Soft Power ในการสร้างธุรกิจใหม่ ๆ

ตัวแทนจากกรมศิลปากรในฐานะหน่วยงานดูแลรักษามรดกวัฒนธรรมของประเทศ ให้ความคิดเห็นว่า “แต่ก่อนมีความเชื่อกันว่ากรมศิลปากรเป็นเจ้าของสิ่งเหล่านี้ เป็นผู้มีอำนาจ แต่ในปัจจุบัน คติหรือความเชื่อในการทำงานของกรมศิลปากร ตั้งใจว่าเราคือผู้ดูแลมรดกเหล่านี้เอาไว้ให้กับคนไทย เจ้าของที่แท้จริงก็คือคนไทยทุกคนที่ สามารถมาใช้ประโยชน์จากสิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้ แต่ต้องช่วยกันดูแลรักษา ซึ่งเดิมงานของกรมศิลปากร คือการรวบรวม เก็บรักษาอนุรักษ์ ปัจจุบันเริ่มต่อยอดด้วยการนำเครื่องมือดิจิทัลมาเผยแพร่ เพราะมองว่าการเก็บรักษาและเผยแพร่วัฒนธรรมด้วยเครื่องมือดิจิทัลจะทำให้ยั่งยืนขึ้น”


สรุปโดยรวมเกี่ยวกับประเด็นที่น่าสนใจจากเวทีเสวนาครั้งนี้ ก็คือ เนื้อหาของมรดกวัฒนธรรมไม่สามารถนำไปใช้งานได้ทันที ต้องมีการรีครีเอทให้กลายเป็นสิ่งใหม่ เพื่อนำไปต่อยอดทางเศรษฐกิจได้ เช่น วรรณคดีอิเหนาก็น่าสนใจอยากให้มีคนนำไปต่อยอดด้วยดิจิทัล ภาครัฐยินดีที่จะให้ภาคเอกชน นักเรียน นักศึกษา นำข้อมูลเกี่ยวกับมรดกวัฒนธรรมไปใช้ประโยชน์ได้ เมื่อมีการนำเอามรดกทางวัฒนธรรมไปใช้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นจะเป็นผลประโยชน์ทางอ้อม เช่น ละครเรื่องพรหมลิขิต ทำให้ผู้คนไปท่องเที่ยวที่อยุธยา ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทรงพลังอย่างมาก และสิ่งหนึ่งที่ภาครัฐกำลังเร่งดำเนินการ ก็คือ การผลักดันให้อุตสาหกรรมดิจิทัลเป็นพื้นที่ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ อาทิ การขายสินค้าผ่านช่องทางดิจิทัล เป็นต้น

สำหรับทีม Fash.Design ที่ได้รับรางวัลถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จากการแข่งขันเชิงสร้างสรรค์ “Hackulture 2023 Illuminate Thai อัปเวลแฟชั่นไทย ด้วยดิจิทัล” ได้นำเสนอแพลตฟอร์มออนไลน์ช่วยเหลือผู้ประกอบการชุดไทยท้องถิ่นและชุดไทยดั้งเดิม ที่ขาดทักษะด้านออนไลน์และภาษาต่างประเทศ ด้วยเทคโนโลยี AI สร้าง Virtual Model และดิสเพลย์ที่สวยงาม แปลได้ 70 ภาษา และเชื่อมต่อ e-commerce กว่า 30 แพลตฟอร์มทั่วโลก โดยขณะนี้ กำลังพัฒนาความสมบูรณ์ของ AI เก็บข้อมูล Big Data จากผู้ประกอบการต่างๆ เช่น อยากให้ Virtual Model ถือกระเป๋าได้ด้วย ในอนาคตอยากพัฒนา AI ให้สามารถสร้างคลิปวิดีโอที่ช่วยลดต้นทุนให้ผู้ประกอบ มองว่ายังมีมรดกทางวัฒนธรรมไทยอีกมาก ที่ยังไม่ได้ผนวกเข้ากับเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น ประติมากรรมหรือศิลปกรรมต่างๆ


นอกจากนั้นแล้ว โครงการ DCH ระยะที่ 2 สดช.ยังร่วมมือกับแพลตฟอร์มด้านศิลปะและวัฒนธรรมที่มีศักยภาพ ในการส่งเสริมการนำเข้าข้อมูลวัฒนธรรมไทยสู่ระบบดิจิทัล ได้แก่ ระบบสารสนเทศด้านวัฒนธรรมและแผนที่วัฒนธรรม (Cultural Map Thailand) โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และ Platform คลังข้อมูล “วัฒนธรรมและความหลากหลายทางชีวภาพ” (นวนุรักษ์) โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) อีกด้วย ติดตามรายละเอียด ได้ที่ www.hackulture.com


กำลังโหลดความคิดเห็น