สดช.เตรียมกำหนดราคากลางคลาวด์ 4 ประเภท เปิดทางภาครัฐใช้บริการเอกชน เสนอบอร์ดดีอีก่อนเข้า ครม.อนุมัติ ตามแนวทาง ‘Go Cloud First’ ของ รมว.ดีอีเอสคนใหม่ พร้อมเปิดนโยบายปี 2567 เดินหน้า 7 โครงการหลักสนองยุทธศาสตร์ 3 ด้านตั้งเป้าพัฒนาพลเมืองและสังคมดิจิทัล
นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กล่าวว่า นโยบายในปี 2567 สดช. มี 7 โครงการสำคัญที่เตรียมขยายผลและต่อยอดโครงการต่างๆ ที่วางไว้ เพื่อขยายโครงสร้างพื้นฐานให้ครอบคลุม สร้างการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น พร้อมเพิ่มศักยภาพให้คนมีทักษะ สมรรถนะด้านดิจิทัล ยกระดับศักยภาพบุคคล ทั้งในกลุ่มประชาชนและบุคลากรของรัฐอย่างเท่าเทียมกัน
รวมถึงการสนับสนุนและส่งเสริมบริการภาครัฐให้ได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้และสอดคล้องกับเป้าหมายของแผนการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ระยะที่ 3 : Full Digital Transformation (นับตั้งแต่ปี 2566-2570) ตามเป้าหมายในปี พ.ศ.2570 และพร้อมก้าวเข้าสู่ระยะที่ 4 : Global Digital Leadership โดยมีโครงการและแผนงานที่เตรียมเดินหน้าต่อ 3 ด้าน คือ 1.ด้านโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างรากฐานด้านความพร้อมดิจิทัล 2.ด้านการขับเคลื่อนดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และ 3.ด้านการขับเคลื่อนดิจิทัลเพื่อสังคม รวมทั้งหมด 7 โครงการ
สำหรับด้านที่ 1 โครงสร้างพื้นฐาน การสร้างรากฐานด้านความพร้อมดิจิทัล ได้แก่ 1.โครงการบริการระบบคลาวด์กลางภาครัฐ และพัฒนาระบบคลาวด์กลางด้านสาธารณสุขของประเทศ รวมทั้งผลักดันนโยบายการใช้บริการคลาวด์ภาครัฐ หรือ Cloud Frist Policy และแบ่งการให้บริการคลาวด์ในรูปแบบต่างๆ ที่เหมาะสมกับการใช้งาน เช่น บริการสำหรับระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์ (eService) บริการสำหรับระบบงานขั้นสูง (GPU Cloud Computing) บริการสำหรับหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ (CII) บริการสำหรับการจัดเก็บข้อมูลสำคัญของหน่วยงานและร่วมมือกับผู้ให้บริการภาคเอกชนในการฝึกอบรมบุคลากรภาครัฐที่ใช้บริการ GDCC ให้มีความเชี่ยวชาญในด้านเทคนิคในการบริหารจัดการระบบคลาวด์ และด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ปีละไม่น้อยกว่า 200 คน พร้อมทั้งขับเคลื่อนการบูรณาการข้อมูลภาครัฐและจัดทำข้อมูลแบบเปิด (Open Data) ของหน่วยงานที่ใช้บริการ GDCC รวมถึงส่งเสริมการใช้บริการให้กับหน่วยงานภาครัฐ
ทั้งนี้ ในส่วนของบริการคลาวด์ภาครัฐนั้น สดช.จะดำเนินการกำหนดราคากลางคลาวด์ภาครัฐ ขึ้นอยู่กับประเภทของข้อมูลจัดเก็บที่แบ่งเป็น 4 ประเภทคือ 1.คลาวด์เก็บข้อมูลเพื่อความมั่นคงหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ (CII) 2.คลาวด์เก็บข้อมูลภาครัฐที่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกัน 3.คลาวด์ที่ใช้เพื่อเก็บข้อมูลในลักษณะสตอเรจ และ 4.คลาวด์ที่เก็บข้อมูลที่ sensitive เพื่อใช้ในการวิเคราะห์หรือวิจัยต่างๆ
ปัจจุบันคลาวด์ภาครัฐให้บริการโดยบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ NT ซึ่งการจะขยายความจุของระบบเพื่อรองรับความต้องการของภาครัฐจะต้องใช้งบประมาณรัฐและบางส่วนจากกองทุนดีอี ซึ่งตามแผนงบประมาณ 3 ปี (2566-2568) ต้องให้บริการภาครัฐ 25,000 VM ด้วยงบประมาณ 2,200 ล้านบาท แต่ได้รับการจัดสรรมาเพียง 1,100 ล้านบาท และงบประมาณจากกองทุนดีอี 700 ล้านบาท ซึ่งจากการสำรวจพบว่าภาครัฐมีความต้องการใช้คลาวด์มากถึง 800,000 VM การเปิดให้ภาครัฐมาเช่าใช้บริการคลาวด์จากเอกชน (ไอเน็ต AWS ไมโครซอฟท์ หัวเว่ย) ภายใต้ราคากลางที่กำหนดจะช่วยแบ่งเบาภาระงบประมาณรัฐได้
2.โครงการพัฒนาระบบคลาวด์กลางด้านสาธารณสุขของประเทศไทย เพื่อให้หน่วยบริการสุขภาพ เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จำนวน 4,507 แห่ง โรงพยาบาลรัฐที่อยู่ภายใต้สังกัดสาธารณสุข จำนวน 807 แห่ง สามารถเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลสำหรับการวินิจฉัย การวางแผนการรักษาได้อย่างมีเพิ่มประสิทธิภาพ ช่วยกระดับคุณภาพการให้บริการสุขภาพได้อย่างสะดวก รวดเร็ว มีการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลตามมาตรฐาน โดยสามารถบริหารจัดการและจัดเก็บข้อมูลบนระบบคลาวด์ในรูปแบบ Software as a Service อย่างมีมาตรฐาน และมีความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล และในกรณีฉุกเฉิน แพทย์ผู้รักษาสามารถดูข้อมูลคนไข้เพื่อให้การรักษาชีวิตของคนไข้ได้อย่างรวดเร็ว
ขณะที่ด้านที่ 2 คือ การขับเคลื่อนดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ ได้แก่
3.โครงการพัฒนาประสิทธิภาพการวัดมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Contribution to GDP) โดยในปี 2567 มีเป้าหมายการดำเนินงานเพื่อปรับปรุงและพัฒนาประสิทธิภาพการวัดมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลและผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ผ่านการปรับปรุงรูปแบบ (Framework) การวัดมูลค่าของกิจกรรมทางเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเพิ่มความครอบคลุมนิยามเศรษฐกิจดิจิทัล ประกอบด้วย Core Narrow และ Broad ตามการจำแนกระดับเศรษฐกิจดิจิทัลตามแนวคิดของ OECD รวมถึงการจัดทำข้อมูลมูลค่าของกิจกรรมทางเศรษฐกิจดิจิทัลในรูปแบบตาราง Digital Supply and Use ซึ่งประกอบด้วย ด้านการผลิต ด้านรายได้ และด้านรายจ่าย ตามวิธีการคํานวณบัญชีรายได้ประชาชาติ นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดในการพยากรณ์มูลค่าของกิจกรรมทางเศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคตผ่านการใช้แบบจำลองดุลยภาพทั่วไป (Computable General Equilibrium : CGE model) ภายใต้หลักเศรษฐมิติ (Econometrics) เพื่อระบุระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจในภาคเศรษฐกิจดิจิทัลสอดคล้องตามเป้าหมายภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ในการเพิ่มสัดส่วนมูลค่าอุตสาหกรรมดิจิทัลต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 30% ภายในปี 2570
4.โครงการศึกษา Thailand Digital Outlook ในปี 2567 จะดำเนินการจัดเก็บและสำรวจข้อมูลที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยใช้แนวทางในการจัดเก็บตัวชี้วัดของ OECD รวมถึงตัวชี้วัดอื่นๆ ที่สะท้อนสถานภาพการดำเนินงานตามนโยบายและแผนระดับชาติด้านดิจิทัลของประเทศไทย เพื่อนำข้อมูลที่จัดเก็บและสำรวจได้มาวิเคราะห์ในมิติที่สำคัญ เพื่อนำไปสู่การเสนอแนวทางในการพัฒนานโยบายด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยให้สามารถขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ชัดเจนและมีเป้าหมายที่ทัดเทียมกับกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว
สำหรับด้านที่ 3 คือ ด้านการขับเคลื่อนดิจิทัลเพื่อสังคม ได้แก่
5.โครงการยกระดับศูนย์ดิจิทัลชุมชน และการพัฒนาเครือข่ายอาสาสมัครดิจิทัล (อสด.) ขยายการดำเนินงานต่อเนื่อง เพื่อยกระดับศูนย์ ICT ชุมชน เป็นศูนย์ดิจิทัลชุมชน โดยมีการพัฒนาระบบนิเวศศูนย์ดิจิทัลชุมชนอย่างยั่งยืน จัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะพร้อมพัฒนาระบบจัดการศูนย์ดิจิทัลชุมชน โดยขยายผลจากความพร้อมด้านการเข้าถึงดิจิทัล การมีอินเทอร์เน็ตสาธารณะชุมชน/ศูนย์ดิจิทัลชุมชน สู่การปั้นคนดิจิทัลในระดับพื้นที่ โครงการพัฒนาเครือข่ายอาสาสมัครดิจิทัล หรือ อสด. เพื่อเป็นผู้ช่วยขยายการเข้าถึงการประยุกต์ใช้ดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร พัฒนาทักษะประชากร ภายใต้กรอบสมรรถนะดิจิทัล และช่วยส่งเสริมเพิ่มโอกาสสร้างรายได้สู่พื้นที่ระดับชุมชน โดยปัจจุบันมี อสด. จำนวน 320 คน มีเป้าหมายในการขยายเครือข่ายเพิ่มในอัตรา อสด. 1 คน ต่อการสร้าง อสด.เพิ่มอีก 4 คน รวมถึงให้ผู้ดูแลศูนย์ดิจิทัลชุมชนร่วมมาเป็นเครือข่าย อสด. ซึ่งมีหน้าที่เป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ในเรื่องดิจิทัลต่างๆ ภายในชุมชน และขยายผลด้วยการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับหน่วยงานภาคีเครือข่ายจากทั่วประเทศ เช่น อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) กลุ่มสภานักเรียนต่างๆ และเจ้าหน้าที่พัฒนาความรู้ของกรมราชทัณฑ์ เป็นต้น
6.โครงการ Digital Cultural Heritage หรือโครงการส่งเสริมการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติสู่รูปแบบดิจิทัล โดยการผลักดัน Soft Power ของประเทศไทยในมิติของการส่งเสริมการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติที่มีศักยภาพ 5F ได้แก่ Food (อาหาร) Film (ภาพยนตร์) Fashion (การออกแบบแฟชั่นไทย) Fighting (ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย) และ Festival (เทศกาลประเพณีไทย) ซึ่ง สดช. เน้นการส่งเสริมไปที่ F : Fashion ให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัลรูปแบบต่างๆ เช่น สื่อมัลติมีเดีย AR VR แอปพลิเคชัน เกม หรือแพลตฟอร์มอื่นๆ โดยการนำสิ่งที่มีอยู่แล้วหรือสิ่งที่อยู่รอบตัวมาสร้างมูลค่าให้เข้ากับยุคสมัย ให้เข้าใจได้ง่าย และเข้าถึงได้ง่าย รวมถึงการสร้างเครือข่ายในการส่งเสริมการจัดเก็บข้อมูลมรดกทางวัฒนธรรมให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดทำมาตรการ หรือข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม Digital Content ในมุมมองด้านวัฒนธรรม ให้เกิด Soft Power ที่สร้างคุณค่าให้สังคม และสามารถสร้างรายได้ให้ประเทศ
7.กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กองทุนดีอี) ในปี 2567 จะเปิดรับการขอรับทุนจากกองทุนดีอีประมาณช่วงต้นปี ทั้งนี้ คณะกรรมการบริหารกองทุนฯ จะพิจารณาคัดเลือกกรอบนโยบายที่จะเปิดให้ทุนสนับสนุนอีกครั้งหนึ่ง โดยสามารถติดตามข่าวสารการเปิดรับทุนทางเว็บไซต์ของ สดช. และเว็บไซต์ของกองทุนดีอี
สำหรับผลการดำเนินงานของ สดช. ในปี 2566 โครงการต่างๆ ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ ขณะเดียวกันโครงการที่ดำเนินการต่อเนื่องมีความคืบหน้าไปในทิศทางที่ดี ตัวชี้วัดต่างๆ ได้ผลลัพธ์ที่ดีและมีแนวโน้มการเติบโตอย่างก้าวหน้า เช่น การสำรวจข้อมูลสถานภาพการรู้เท่าทันสื่อและสารสนเทศของประเทศไทย
โดยในปี 2566 เพิ่งได้รับผลสรุปจากการสำรวจในช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมาว่า ภาพรวมผลการสํารวจ พบว่า สถานภาพการรู้เท่าทันสื่อและสารสนเทศ (Media and Information Literacy : MIL) และสถานภาพการเข้าใจดิจิทัล (Digital Literacy : DL) ของประเทศไทยในปี 2566 มีคะแนนที่เพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับผลสำรวจที่ผ่านมา โดยสถานภาพการรู้เท่าทันสื่อและสารสนเทศ มีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 72.1 คะแนน จัดอยู่ในระดับ “ดี” ซึ่งสมรรถนะย่อยที่มีความโดดเด่น คือ การนิยาม สมรรถนะย่อยที่ควรส่งเสริมและพัฒนา คือ การมีส่วนร่วม
ส่วนสถานภาพการเข้าใจดิจิทัล มีคะแนนเฉลี่ย 74.4 คะแนน จัดอยู่ในระดับ “ดี” ซึ่งสมรรถนะที่มีความโดดเด่น คือ ดิจิทัลคอมเมิร์ซ มีคะแนนเฉลี่ย สูงถึง 82.0 คะแนน ซึ่งเป็นระดับ “ดีมาก”ส่วนสมรรถนะที่ควรส่งเสริมและพัฒนา คือ การเข้าถึงดิจิทัล มีคะแนนเฉลี่ย 70.7 คะแนน ทั้งนี้ พบว่า เพศชายและเพศหญิงมีระดับคะแนนเฉลี่ยใกล้เคียงกัน และกลุ่ม Generation Y มีคะแนนเฉลี่ยสูงสุดเมื่อเทียบกับ Gen อื่นๆ รวมถึงโครงการ Thailand Digital Outlook ในปี 2566 ที่ตัวชี้วัดด้านดิจิทัลส่วนใหญ่มีผลสำรวจดีขึ้น
“จากผลการดำเนินงานในปี 2566 นับว่าเป็นตัวเลข ตัวชี้วัดที่สะท้อนศักยภาพด้านดิจิทัลของประเทศได้ดี และในปี 2567 นี้ ขอยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่า สดช. มีความมุ่งมั่น ตั้งใจ พร้อมผสานพลังความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อร่วมขับเคลื่อนในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของประเทศที่ทุกคนเข้าถึงได้ นำไปสู่การพัฒนาคนดิจิทัลและสังคมดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ เดินหน้าผลักดันให้เป็น Digital life เพื่อคนไทยทุกคนอย่างยั่งยืนต่อไป”