xs
xsm
sm
md
lg

สดช.เผยคนไทยออนไลน์ 7 ชั่วโมง 25 นาที 89.5% เข้าถึงอินเทอร์เน็ต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สดช. เผยข้อมูลการพัฒนาดิจิทัลคนไทย Thailand Digital Outlook 2566 พบอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต 89.5% ความเหลื่อมล้ำลดลงต่อเนื่อง พฤติกรรมคนไทยใช้ระยะเวลาบนอินเทอร์เน็ตต่อวันอยู่ที่ 7 ชั่วโมง 25 นาที ใช้งานโซเชียลมีเดีย และรับชมคอนเทนต์วิดีโอเป็นหลัก พร้อมเห็นแนวโน้มการใช้งานบริการออนไลน์เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับการจ้างงานธุรกิจดิจิทัลอยู่ที่ 35.96%

ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า ปัจจุบันกระทรวงดิจิทัลฯ มีความพยามเป็นอย่างมากที่จะนำดัชนีชี้วัดมาบูรณาการเพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศไทยมีจุดอ่อน จุดแข็งอย่างไร ซึ่งถ้ามีการทำงานอย่างต่อเนื่อง จะช่วยตอบสนองให้ไทยมีความสามารถในการแข่งขันมากยิ่งขึ้น

“การเห็นข้อมูลที่ชัดเจนจะกลายมาเป็นประเด็นในการขับเคลื่อน เพื่อให้ส่วนราชการ ภาคเอกชนเห็นว่าจะเข้าไปช่วยขับเคลื่อนอย่างไร และจะกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ทราบว่าไทยจะเดินไปข้างหน้าอย่างไร”

สำหรับโครงการศึกษา Thailand Digital Outlook ได้ศึกษาตัวชี้วัดด้านดิจิทัลของประเทศ อ้างอิงตามกรอบมาตรฐานสากลที่องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือองค์การ OECD (The Organisation for Economic Co-operation and Development) ที่กำหนด 94 ตัวชี้วัด 8 มิติเชิงนโยบายในการสำรวจ และจัดเก็บแบบสอบถามครอบคลุม 77 จังหวัด 45,307 ตัวอย่าง


พบว่าตัวชี้วัดด้านดิจิทัลของประเทศส่วนใหญ่ดีขึ้นในหลายส่วน ทั้งมิติการเข้าถึง การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของครัวเรือนไทยอยู่ที่ 89.5% เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่มีการเข้าถึง 88% มิติการใช้งาน สัดส่วนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตของไทย 87.6% เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 85%

มิติอาชีพ สัดส่วนการจ้างงานของธุรกิจดิจิทัลต่อการจ้างงานทั้งหมดในประเทศไทยในปี 2566 คิดเป็น 35.96% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก
ปีที่ผ่านมา 34.4% มิติสังคม สัดส่วนการใช้งานอินเทอร์เน็ตของผู้สูงอายุ ช่วง 55-74 ปี ในปี 2566 คิดเป็น 71.6% เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ซึ่งอยู่แค่ 63.1%

มิติการเปิดเสรีของตลาด สัดส่วนผู้ประกอบการที่มีการจำหน่ายสินค้า/บริการผ่านทางออนไลน์ไปตลาดต่างประเทศ ปี 2566 สูงถึง 31.53% เทียบกับปี 2565 มีสัดส่วนเพียง 26.29% ในมิติอื่นๆ พบว่า มิติด้านนวัตกรรม มูลค่าการลงทุนในอุตสาหกรรม ICT ต่อ GDP ในปี 2565 อยู่ที่ 0.93%

มิติความน่าเชื่อถือ ผู้ประสบปัญหาถูกละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล/ความเป็นส่วนตัว เท่ากับ 14.52% และมิติการเติบโตและสภาพความเป็นอยู่ สัดส่วนของมูลค่าเพิ่มที่เกิดขึ้นในภาคธุรกิจดิจิทัล ปี 2565 คิดเป็น 40% ของภาคอุตสาหกรรม

***ความเหลื่อมล้ำลดลง-หน่วยงานบริการเริ่มใช้ช่องทางออนไลน์


นอกจากนี้ ยังพบว่า 1.ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตลดลงอย่างต่อเนื่อง จากปี 2563 11.9% ลดเหลือ 6.5% ในปี 2566 2.ผู้รับบริการออนไลน์ภาครัฐ 66.17% ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและการปรับเป็นรัฐบาลดิจิทัล (Digital Government) เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของการใช้งาน 3.หน่วยงานบริการปฐมภูมิทั่วประเทศมีการให้บริการออนไลน์ เพื่อเพิ่มทางเลือก/ช่องทางในการให้บริการ 75.92%

4.พฤติกรรมการใช้งานอินเทอร์เน็ตสะท้อนให้เห็นการเข้าสู่สังคมดิจิทัล โดยคนไทยมีแนวโน้มใช้เวลาบนโลกออนไลน์มากขึ้น ชั่วโมงการใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มสูงขึ้นเป็น 7 ชั่วโมง 25 นาทีต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 7 ชั่วโมง 4 นาที ส่วนกิจกรรมดิจิทัลที่คนไทยใช้งานในปี 2566 มากสุด คือ การใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ ตามด้วยใช้เพื่อสนทนา และ รับชมคอนเทนต์เพื่อความบันเทิง

5.สินค้าและบริการออนไลน์ที่ได้รับความนิยม ได้แก่ สินค้าแฟชั่น สินค้าอุปโภคบริโภค บริการส่งอาหาร และสินค้า/บริการเพื่อความบันเทิง 6.ภาคธุรกิจตื่นตัวในเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นอย่างมาก แต่การใช้ประโยชน์ในเทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆ
ยังกระจุกตัวในภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่ 7.แรงงานดิจิทัลทวีความสำคัญมากขึ้น ภาคธุรกิจบางส่วนมีการจัดจ้าง Digital Nomad มาทดแทนแรงงานที่หายาก/ขาดแคลน อีกทั้งในอนาคต ยังมีความต้องการสายงานดิจิทัลอยู่อีกมาก

8.คนไทยส่วนใหญ่มีทักษะดิจิทัลที่จำเป็นในการทำงาน แต่ทักษะสำคัญเพื่อความปลอดภัยในการใช้งานและทักษะเพื่อรองรับอนาคตยังไม่สูง ยกเว้นคนรุ่นใหม่ในเรื่อง Coding และ 9.ปัญหาการใช้งานดิจิทัลทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และ SMS หลอกลวง/เว็บพนัน/ลามก ส่งผลต่อระดับความเชื่อมั่นของภาคประชาชน


นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (สดช) กล่าวว่า ตามที่ไทยมีแผนที่จะขับเคลื่อนภายใต้แผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ผ่านทั้งระยะการวางโครงสร้างพื้นฐาน และด้านเพิ่มการมีส่วนร่วมในการใช้งาน ซึ่งเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดที่ผ่านมา

“ในปัจจุบันไทยกำลังอยู่ในช่วงของการทรานส์ฟอร์มนำดิจิทัลมาใช้งาน ภายใต้เป้าหมายในการขยับสัดส่วนรายได้จากธุรกิจดิจิทัลขึ้นมามีสัดส่วนเป็น 30% ของจีดีพี จากที่ปัจจุบันอยู่ที่ราว 12.66% รวมถึงการเพิ่มอันดับในการนำเทคโนโลยีมาใช้งาน และการให้ความรู้ทางด้านทักษะดิจิทัลให้ประชาชนรู้เท่าทัน ซึ่งคาดหวังว่า 75% ของประชากรจะมีภูมิคุ้มกันไซเบอร์ภายในปี 2570”

ทั้งนี้ โครงการ Thailand Digital Outlook ได้จัดทำผลสำรวจต่อเนื่องมา 5 ปีแล้ว ซึ่งในปีนี้มีการบูรณาการข้อมูลจากทั้งสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) มาใช้งานเพิ่มเติม เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถนำข้อมูลดัชนีเหล่านี้ไปพัฒนา และปรับปรุงเพื่อให้บริการต่อประชาชนต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น