ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สำรวจเทรนด์อาชีพมาแรง ปี 2567 จับตาตลาดแรงงานเมืองไทยท่ามกลางสถานการณ์การจ้างงานที่มีแนวโน้มดีขึ้นตามสภาพเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว แต่เด็กจบใหม่เผชิญภาวะว่างงานนับแสนสะสมทุกปี อีกทั้งองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) คาดว่าอัตราการว่างงานทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นกว่า 2 ล้านคน
สำหรับเทรนด์อาชีพมาแรง ปี 2567 ดร.ภูษิต วงศ์หล่อสายชล ผู้อำนวยการหลักสูตร aMBA มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย วิเคราะห์เทรนด์อาชีพมาแรง ปี2567 ระบุว่าอาชีพที่เติบโตส่วนใหญ่จะเป็นอาชีพที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี อาทิ นักพัฒนาซอฟต์แวร์, นักโปรแกรมเมอร์, นักให้คำปรึกษาด้านดิจิทัล
และกลุ่ม Solopreneur หรือ ธรกิจที่เป็นผู้ประกอบการคนเดียว ซึ่งเป็นคนที่เลือกทำงานด้วยตัวเองผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น ทำเว็บไซต์, อินฟลูเอนเซอร์, ยูทูบเบอร์, ติ๊กต็อกเกอร์, ผู้ให้คำปรึกษาดิจิทัล, ดิจิทัลเอเจนซี่, ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง, ดิจิทัลรีเสิร์ช เป็นต้น ทั้งหมดนี้เป็นกลุ่มอาชีพที่โดดเด่นและมาแรงในปีนี้
ขณะที่ ผศ.ดร.ปราลี มณีรัตน์ รักษาการคณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศมหาวิทยาลัยศรีปทุม เปิดเผยถึง 3 อาชีพดาวรุ่ง AI Engineer มาแรงและเป็นที่ต้องการในตลาดแรงงาน ได้แก่ 1. Prompt Engineer อาชีพใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานปัญญาประดิษฐ์และ Natural Language Processing ต้องการมีทักษะความเข้าใจและการสร้างข้อความที่มีความหมายจากข้อมูลธรรมชาติ
2. AI and Machine Learning Engineer ผู้สร้างหัวใจหลักของ AI ช่วยศึกษา ออกแบบ และพัฒนา Algorithm ให้ระบบ AI สามารถทำงานและเรียนรู้ได้ด้วยตัวระบบเอง และประยุกต์ใช้ให้ตรงกับความต้องการในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น การแพทย์, การผลิต, การขนส่ง, การสื่อสาร, การเงิน และ 3. Data Engineer วิศวกรข้อมูล ทำให้ข้อมูลสามารถเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น ให้องค์กรสามารถนำข้อมูลไปวิเคราะห์เป็น insight เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของธุรกิจ
ทั้งหมดนี้นับเป็นอาชีพดาวรุ้งมีความต้องการทรัพยากรบุคคลจำนวนมาก แต่สำหรับแนวโน้มการจ้างงานใหม่ของไทยในปี 2567 ยังคงมีความเปราะบางตามทิศทางเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวค่อนข้างช้าตามทิศทางเศรษฐกิจโลก
โดยรอบปี 2566 ที่ผ่านมา สภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย ประเมินว่าอัตราการจ้างงานใหม่ขยายตัวแบบเปราะบางตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย ซึ่งตลาดแรงงานของไทยเผชิญปัญหาใหญ่ๆ อยู่ 2 ด้าน คือ 1. การขาดแคลนแรงงานไร้ทักษะที่ต้องพึ่งพิงแรงงานต่างด้าวสูงและมีทักษะ 2. การตกงานของแรงงานที่จบใหม่ที่วุฒิการศึกษาไม่ตรงต่อความต้องการของนายจ้าง
ภาพรวมตลาดแรงงานของไทยหากพิจารณาข้อมูลภาวะสังคมไทยไตรมาส 3/2566 จากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 0.99 ต่ำสุดในรอบ 15 ไตรมาส โดยมีจำนวนผู้ว่างงาน 4.01 แสนคน สถานการณ์การจ้างงานปรับตัวดีขึ้น โดยมีการจ้างงาน 40.1 ล้านคน ขยายตัว 1.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้ แม้ว่าจำนวนผู้ว่างงานจะลดลง ทั้งในกลุ่มที่เคยทำงานมาก่อนและกลุ่มที่ไม่เคยทำงานมาก่อน และการว่างงานลดลงเกือบทุกกลุ่มอายุ แต่กลุ่มอายุน้อยยังคงมีอัตราการว่างงานสูงเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่น และผู้จบการศึกษาระดับอุดมศึกษาเป็นกลุ่มที่มีจำนวนผู้ว่างงานสูงเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นๆ ในขณะที่จำนวนผู้ว่างงานระยะยาวลดลงต่อเนื่อง
ประเด็นที่ต้องจับตาคือ การเข้าสู่ตลาดแรงงานของบัณทิตจบใหม่ซึ่งอัตราการว่างงานอยู่ในเกณฑ์ที่สูงต่อเนื่องทุกปี ยกตัวอย่าง ปี 2566 มีการวิเคราะห์แนวโน้มนักศึกษาจบใหม่ว่างานสูงกว่า 5 แสนคน ส่วนในปี 2567 ยังคงต้องติดตามตัวเลขการประเมินซึ่งคาดว่าจำนวนไม่ลดหลั่นไปกว่ากันนัก
อย่างไรก็ตาม องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เปิดเผยรายงานการจ้างงานและแนวโน้มสังคมโลก ปี 2567 (World Employment and Social Outlook Trends: 2024 - WESO Trends) พบว่าทั้งอัตราการว่างงานและจำนวนผู้ว่างงานที่สนใจหางาน ได้ลดลงต่ำกว่าช่วงก่อนการสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 โดยอัตราการว่างงานทั่วโลกในปี 2566 อยู่ที่ร้อยละ 5.1 ดีขึ้นเล็กน้อยจากปี 2565 ที่อยู่ที่ร้อยละ 5.3 จำนวนผู้ว่างงานที่สนใจหางานทั่วโลกและอัตราการมีส่วนร่วมของกำลังแรงงานก็ดีขึ้นในปี 2566 เช่นกัน
ทั้งนี้ อัตราการว่างงานปี 2566 ในประเทศที่มีรายได้สูง อยู่ที่ร้อยละ 4.5 ขณะที่อัตราการว่างงานในประเทศที่มีรายได้ต่ำ อยู่ที่ร้อยละ 5.7 คาดปี 2567 จะมีแรงงานเพิ่มขึ้นอีก 2 ล้านคนที่จะต้องการงาน ซึ่งจะส่งผลให้อัตราการว่างงานทั่วโลกเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.1 ในปี 2566 เป็นร้อยละ 5.2 รวมทั้ง รายได้สุทธิในประเทศกลุ่มจี 20 ส่วนใหญ่จะลดลง
โดยระหว่างประเทศที่มีรายได้สูงและรายได้ต่ำนั้น จำนวนผู้ว่างงานที่สนใจหางานในปี 2566 ในประเทศที่มีรายได้สูง อยู่ที่ร้อยละ 8.2 ขณะที่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้น้อย อยู่ที่ร้อยละ 20.5 ซึ่งอัตราการว่างงานปี 2566 ในประเทศที่มีรายได้สูง อยู่ที่ร้อยละ 4.5 ขณะที่อัตราการว่างงานในประเทศที่มีรายได้ต่ำ อยู่ที่ร้อยละ 5.7
นอกจากนี้ รายงานการจ้างงานและแนวโน้มสังคมโลก ปี 2567 ของ ILO ยังฉายภาพว่าประเทศเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา อัตราการว่างงานของเยาวชนยังคงเป็นปัญหาท้าทาย เช่นเดียวกัน การเข้าสู่ตลาดแรงงานของนักศึกษาจบใหม่ในปีนี้เป็นประเด็นที่ต้องจับตา เพราะในแต่ละปีบัณฑิตจบใหม่เผชิญภาวะไม่มีงานทำจำนวนมากนับแสนราย
สำหรับแนวโน้มการจ้างงานใหม่ของไทยในปี 2567 ยังคงมีความเปราะบางตามทิศทางเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวค่อนข้างช้าตามทิศทางเศรษฐกิจโลก
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยว่าการจ้างงานเพิ่มยังคงกระจุกตัวในกลุ่มธุรกิจที่มีแนวโน้มขยายตัวสูงโดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมพลังงาน อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น โดยภาพรวมตลาดแรงงานไทยยังเผชิญกับการขาดแรงงานทักษะฝีมือ รวมไปถึงแรงงานระดับล่างที่ยังจำเป็นต้ภาพรวมตลาดแรงงานไทยในช่วงปีที่ผ่านมาค่อนข้างคึกคัก หลายธุรกิจฟื้นตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น ส่งผลให้มีความต้องการจ้างงานเพิ่มขึ้น ต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าว
แต่อย่างไรก็ดี นับว่าภาพรวมตลาดแรงงานไทยในช่วงปีที่ผ่านมาค่อนข้างคึกคัก หลายธุรกิจฟื้นตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น ส่งผลให้มีความต้องการจ้างงานเพิ่มขึ้น แม้ในส่วนของเทรนด์การทำงาน บริษัท อเด็คโก้ ประเทศไทย ผู้นำระดับโลกด้านการให้บริการทรัพยากรบุคคลแบบครบวงจร เปิดเผยรายงาน Adecco Thailand Salary Guide หรือ คู่มืออัตราเงินเดือน ประจำปี 2567 สำรวจเงินเดือนและเทรนด์งาน Salary & Work Trend ในตลาดแรงงานเมืองไทย 900 กว่าตำแหน่ง และคนทำงานกว่า 2,400 คน
น.ส.ธิดารัตน์ กาญจนวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทอเด็คโก้ประเทศไทย เปิดเผยว่าเงินเริ่มต้นของตำแหน่งต่างๆ ไม่ได้ต่างจากเดิมมากนัก ในขณะที่เพดานเงินเดือนมีการปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยตามสภาพเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น และเป็นผลจากการแย่งชิงทาเลนต์
เช่น เพดานเงินเดือนมีการปรับตัวสูงขึ้น เล็กน้อยตามสภาพเศรษฐกิจ โดยเงินเดือนสูงสุดของพนักงานใหม่ที่มีประสบการณ์ 0-3 ปี พุ่งสูงถึง 100,000 บาท จากเดิม 80,000 บาท ในปี 2566 เช่น เงินเดือนในตำแหน่ง Software Engineer ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี เพราะเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อองค์กรในปัจจุบันที่นำซอฟต์แวร์และเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาใช้อย่างเข้มข้นเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ และหากมี soft skills ด้านอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย องค์กรก็พร้อมจะจ้างด้วยอัตราเงินเดือนสูงกว่าอัตราทั่วไปของตลาด
โดยรายงานดังกล่าว ชี้ให้เห็นถึงพฤติกรรมของผู้สมัครงานยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับค่าตอบแทนและผลประโยชน์เป็นอันดับต้นๆ เป็นอย่างมากถึง 94% โดยพวกเขามองว่าเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจเลือกงาน องค์กรที่เสนอเงินเดือนที่น่าพอใจ สวัสดิการที่ครอบคลุม Work-life balance และโอกาสในการเติบโต ย่อมมีโอกาสคว้าตัวผู้สมัครที่มีความสามารถได้มากกว่า
และนอกจากเรื่องของเงินเดือนและสวัสดิการ รูปแบบการทำงานแบบ Remote หรือ Hybrid Working เป็นตัวแปรสำคัญที่ดึงดูดผู้สมัครงานยุคใหม่ ผู้สมัครจำนวนมากมองหาความยืดหยุ่นในการทำงาน ต้องการจัดสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว รูปแบบการทำงานที่ไม่จำกัดสถานที่และเวลาจึงตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของพวกเขามากกว่า
สอดคล้องกับข้อมูลดัชนีการทำงานแบบยืดหยุ่น (The Flexible Working Index) ล่าสุดโดย Flexa แพลตฟอร์มหางานระดับโลก เปิดเผยว่าแนวโน้มด้านการทำงานปี 2567 พบว่า 400% ของจำนวนงานที่เพิ่มในแพลตฟอร์มประกาศรับสมัครงาน เป็นตำแหน่งงานที่มีข้อเสนอการทำงานแบบ 4 วันต่อสัปดาห์, 9 วันต่อปักษ์ (15 วัน) หรือทำงานครึ่งวันในวันศุกร์ เป็นต้น โดยคาดการณ์ว่า ปี 2567 เป็นปีสำหรับรูปแบบ Work From Anywhere หรือ ทำงานที่ไหนก็ได้
นอกจากนี้ พบว่าธุรกิจท่องเที่ยวและรูปแบบการทำงานที่เรียกว่า gig economy เติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะ gig economy หรือระบบเศรษฐกิจจากการรับงานเป็นชิ้นหรือเป็นครั้ง มีการเปลี่ยนรูปแบบจากการจ้างงานประจำมาเป็นสัญญาจ้างตามระยะเวลาหรือฟรีแลนซ์มากขึ้นเพื่อให้องค์กรมีความคล่องตัว โดยเฉพาะในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการขนส่ง และดิลิเวอรี เป็นต้น
นายไซม่อน แลนซ์ รองประธานอาวุโสและหัวหน้าฝ่ายสรรหาทรัพยากรบุคคล อเด็คโก้เอเชียแปซิฟิก เปิดเผยภาพรวมตลาดแรงงานในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกว่า รูปแบบการทำงานแบบ Remote ยังคงเป็นรูปแบบที่คนคาดหวังมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นความคาดหวังในกระบวนการสรรหาที่คนต้องการสมัครงานออนไลน์ได้ 100% ตั้งแต่การสมัครไปจนถึงการเริ่มงานวันแรก หรือความคาดหวังต่อการใช้นโยบาย Remote ต่อไป นำไปสู่การตั้งคำถามต่อนโยบายเรียกพนักงานกลับเข้าออฟฟิศอย่างฉับพลัน ซึ่งทำให้ทาเลนต์หลายคนหันมาทบทวนและพิจารณาอีกครั้งว่ายังอยากร่วมงานกับองค์กรนั้นๆ หรือไม่
ข้อมูลที่น่าสนใจในมุมของคนทำงานกว่า 60% มีคววามต้องการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลและความเป็นผู้นำ โดยพวกเขามองว่าจะช่วยเพิ่มโอกาสในการก้าวหน้าในอาชีพได้มากที่สุด โดยทักษะด้านดิจิทัลเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ไม่ว่าจะทำงานในตำแหน่งหรือระดับใดในยุคปัจจุบัน ในขณะที่ทักษะความเป็นผู้นำก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยให้สามารถบริหารทีมงานที่มีความหลากหลายมากขึ้นในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ คนทำงาน 74% มองการเกิดขึ้นของ Generative AI เช่น ChatGPT ในแง่ดี และมีคน 45% ที่ใช้ Generative AI ช่วยในการทำงานเป็นประจำ และมีเพียง 24% ที่รู้สึกกังวลว่าอาจโดน AI แย่งงานใน 5 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะในกลุ่มพนักงานพาร์ตไทม์ คนที่กำลังว่างงาน และผู้บริหาร
ทั้งนี้เนื่องจาก Gen AI สามารถทำงานได้หลากหลายและช่วยจัดการงานตั้งแต่งานเล็กๆ อย่างการแปลภาษา งานออกแบบ ทำกราฟิก จนไปถึงการวางโครงงานของโปรเจกต์ต่างๆ ได้ ทำให้คนที่ทำงานพาร์ตไทม์ที่อาจรับงานเป็นชิ้นงาน อาจไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป
ขณะที่ผู้บริหารอาจเกิดความกังวลว่าจะไม่สามารถตามเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้ทัน ไม่รู้วิธีใช้งาน AI อย่างมีประสิทธิภาพ หรืออาจกังวลว่า ด้วยข้อมูลที่มีมากกว่า และความสามารถในการประมวลผลที่เร็วกว่า AI ก็อาจจะประเมินสถานการณ์ต่างๆ ได้ดีกว่าคนที่มีประสบการณ์สูง
สุดท้ายยังคงต้องจับตาตลาดแรงงานโดยเฉพาะสถานการณ์ว่างงานของคนไทย แม้ว่าแนวโน้มการจ้างงานมีแนวโน้มดีขึ้นตามสภาพเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวก็ตาม