ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สัดส่วนดอกกุหลาบกว่า 90% ในตลาดค้าส่งดอกไม้ของประเทศไทย มีต้นทางมาจากมณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นแหล่งค้าดอกไม้สดตัดดอกใหญ่สุดในเอเชีย เป็นประเด็นที่ต้องจับตาเพราะถือเป็นการยึดหัวหาดตลาดดอกไม้เมืองไทยเลยก็ว่าได้
กุหลาบจีนสวย ดอกใหญ่ ทนทาน และราคาไม่แพง จัดเป็นสินค้านำเข้าปลอดภาษีตามกรอบความตกลงการค้าเสรี ซึ่งกำลังส่งผลกระทบเกษตรกรผู้ปลูกกุหลาบของไทย เห็นชัดในช่วงเทศกาลวาเลนไทน์ที่ผ่านมา โดยผู้ประกอบการธุรกิจดอกกุหลาบในประเทศไทย เปิดเผยว่ากุหลาบในไทยส่วนใหญ่นำเข้ามาจากประเทศจีน ซึ่งเป็นที่ยอมรับว่าดอกกุหลาบจากจีนมีคุณภาพดีเนื่องจากสภาพอากาศเอื้อต่อการเพาะปลูกไม้เมืองหนาว และมีราคาถูก
“นายฮั่ว แซ่วะ” ประธานกลุ่มผู้ปลูกกุหลาบแปลงใหญ่บ้านบวกเต๋ย อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ แหล่งปลูกกุหลาบใหญ่ที่สุดของไทย เปิดเผยว่า เทศกาลวาเลนไทน์ในปีนี้ไม่คึกคักเท่าที่ควร เนื่องจากเกษตรผู้ปลูกกุหลาบไทยส่วนใหญ่จะประสบปัญหาถูกกุหลาบจีนตีตลาดและกดราคาขายต่ำกว่า ทำให้ไม่สามารถทำราคาได้เท่ากับปีก่อน โดยปีนี้ ราคาขายกุหลาบเกรดเออยู่ที่ดอกละ 10 - 15 บาทเท่านั้น เมื่อเทียบกับปีก่อนราคาขายจะอยู่ที่ดอกละ 20 - 30 บาท หรือราคาดอกกุหลาบคละไซส์ กำละ 25 ดอก เหลือเพียงกำละ 100 บาทเทียบกับปีก่อนที่ราคากำละ 250 บาท
ทั้งนี้ ยอดขายของกุหลาบไทยในช่วงเทศกาลวาเลนไทน์ปี 2567 หายไปกว่า 50 % ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกกุหลาบประสบกับภาวะขาดทุนอย่างหนัก
อย่างไรก็ดี กุหลาบของไทยมีความสวยงามเป็นที่ยอมรับ แต่ก็มีข้อจำกัดในเรื่องของขนาดดอกที่เล็ก ขณะที่ดอกกุหลาบจีนมีดอกใหญ่และทนทานกว่า โดยเกษตรกรผู้ปลูกกุหลาบบ้านบวกเต๋ย รวมๆ แต่ละปีจะมียอดขายกุหลาบหมุนเวียนเกือบ 1,000 ล้านบาท ซึ่งตั้งแต่ต้นปี 2567 พบว่าตลาดกุหลาบไทยขยายตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง
ปัญหาที่เกิดขึ้นอาจเกิดขึ้นในระยะยาว คือ กลุ่มทุนจีนเข้ามายึดตลาดกุหลาบไปแล้วกว่า 50 % จึงมีบทบาทสำคัญในการกำหนดราคาขาย โดยปรากฎการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นเกษตรกรประสบปัญหาขาดทุน ต้องยอมขายกุหลาบในราคาต่ำไม่เช่นนั้นกุหลาบที่เตรียมไว้ขายโดยเฉพะในช่วงวาเลนไทน์ก็จะถูกทิ้ง อีกทั้งปัจจุบันพ่อค้าจีนกำหนดราคาขายต่ำจนทางผู้ปลูกกุหลาบไทยสู้ไม่ไหว เพราะต้องแบกค่าใช้จ่าย ค่าปุ๋ย ค่าแรงงาน ค่าขนส่ง
ทั้งนี้ เกษตรกรเรียกร้องให้รัฐบาลไทยเข้ามากำกับดูปัญหาที่เกิดขึ้น มิใช่ปล่อยให้จีนนำเข้ากุหลาบได้อย่างเสรี อาจจะเป็นแนวทางส่งเสริมตลาด หรือผลักดันให้กุหลาบไทยสามารถส่งออกได้ ไม่ใช่ขายเฉพาะในประเทศ เพราะคุณภาพกุหลาบไทยสวยไม่ด้อยไปกว่ากัน
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมากรมส่งเสริมการเกษตร มีแผนจะเพิ่มพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาการผลิตกุหลาบตัดดอกเพื่อให้เกษตรกรปรับปรุงคุณภาพผลผลิตให้เทียบเท่าผลผลิตจากต่างประเทศ เนื่องจากปัจจุบันเกษตรกรประสบปัญหาทั้งด้านการผลิตและการตลาด ส่งผลให้เกษตรกรบางส่วนหันไปปลูกพืชอื่น ขณะเดียวกันมีการนำเข้าดอกกุหลาบจากต่างประเทศในปริมาณและมูลค่าที่สูง โดยในปี 2564 นำเข้า 1,260 ตัน คิดเป็นมูลค่า 114 ล้านบาท โดย 95% นำเข้าจากสาธารณรัฐประชาชนจีน
ข้อมูลจาก Global Trade Atlas ระบุว่า การนำเข้าและส่งออกดอกไม้ระหว่างมณฑลยูนานและไทย เดือน ม.ค. - พ.ย.2566 ไทยส่งออกกล้วยไม้เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.37 เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่การส่งออกดอกไม้ชนิดอื่นติดลบ ส่วนดอกไม้ที่ส่งออกจากมณฑลยูนานมาไทยทุกชนิดเพิ่มขึ้น เช่น ดอกลิลลี่ เพิ่ม 22% , ดอกคาเนชั่น เพิ่ม 56 % และดอกกุหลาบ เพิ่ม 16 %
กล่าวสำหรับต้นทางของดอกกุหลาบ 90% ในตลาดค้าส่งดอกไม้ของไทย มีแหล่งที่มาจาก ตลาดดอกไม้สดตัดดอกโต่วหนัน นครคุนหมิง ในมณฑลยูนนาน ซึ่งเป็นตลาดค้าดอกไม้สดตัดดอกใหญ่สุดในเอเชีย ตลาดโต่วหนันมีซัปพลายเออร์ดอกไม้กว่า 25,000 ราย ป้อนดอกไม้ให้แก่ตลาดมากกว่า 1,600 สายพันธุ์ ปริมาณการซื้อขายดอกไม้สดตัดดอกโดยเฉลี่ยต่อวันกว่า 13 ล้านดอก
ทั้งนี้ มณฑลยูนนานเป็นแหล่งปลูกดอกไม้ตัดดอกสดที่ใหญ่ที่สุดในจีน โดยมีพื้นที่เพาะปลูกดอกไม้ สัดส่วนประมาณ 80% ของพื้นที่เพาะปลูกดอกไม้ทั้งหมดในประเทศจีน มณฑลยูนนานเป็นพื้นที่ปลูกดอกไม้ตัดดอกสดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ส่วนดอกไม้ที่นิยมเพาะปลูก ได้แก่ ดอกกุหลาบ ดอกคาร์เนชั่น ดอกลิลลี่ ดอกไลเซนทัส ดอกเยอบีร่า และดอกไฮเดรนเยีย
ข้อมูลจาก Lancang-Mekong Cooperation ปี 2022 และ Thaibiz China เผยว่าดอกไม้ของยูนนานถูกส่งไปยังประเทศต่างๆ ในภูมิภาคใกล้เคียงกว่า 40 ประเทศ โดยมีมูลค่าการส่งออกแตะ 520 ล้านหยวน หรือราว 2,500 ล้านบาท
ปี 2566 จีนส่งออกดอกไม้สดผ่านด่านโม่ฮานเป็นมูลค่า 150 ล้านหยวน (ประมาณ 755 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นถึง 39.3% จากปีก่อนหน้า ซึ่งดอกไม้ส่วนใหญ่ส่งผ่านด่านโม่ฮานชายแดนจีน-ลาว มีปลายทางอยู่ที่ประเทศไทย
อย่างไรก็ดี กลุ่มประเทศอาเซียนกับจีนมีความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการส่งออกและลดภาษีศุลกากร การค้าดอกไม้ระหว่างจีนกับประเทศต่างๆ ในอาเซียนทำได้โดยโดยสะดวก และจัดส่งถึงปลายทางได้รวดเร็ว โดย RCEP มีผลบังคับใช้ในไทยตั้งแต่ 1 ม.ค. 2565 ทำให้การส่งออกดอกไม้จากมณฑลยูนนานมายังตลาดเมืองไทยไม่ต้องเสียภาษี
นายถัง จุน รองผู้จัดการของบริษัทดอกไม้แห่งหนึ่งในเมืองหยูซี มณฑลยูนนาน ประเทศจีน ให้สัมภาษณ์ว่าได้รับประโยชน์จาก RCEP ทำให้ดอกกุหลาบ ดอกลิลลี่ และดอกไม้สดอื่น ๆ ของบริษัทของเราได้เข้าสู่ตลาดไทยโดยไม่มีภาษี ซึ่งทำให้ความสามารถในการแข่งขันแข็งแกร่งยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดี การส่งออกเศรษฐกิจโรแมนติจาก “ตลาดโต่วหนัน” นครคุนหมิง มณฑลยูนนาน ตลาดดอกไม้สดตัดดอกแห่งใหญ่ที่สุดในเอเชียของจีน เป็นที่น่าจับตามากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเริ่มส่งผลกระทบต่อพี่น้องเกษตรกรสวนกุหลาบของไทย เป็นประเด็นที่รัฐโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยต้องเข้ามาดูแลอย่างชิด
ขณะเดียวกัน จีนกำลังเผชิญภาวะเงินฝืดรุนแรงจากอัตราเงินเฟ้อติดลบมาอย่างต่อเนื่อง จีนมีการทุ่มส่งออกสินค้าราคาถูกต่างๆ มายังประเทศไทยและกลุ่มประเทศอาเซียน ส่งผลต่อผู้ผลิตภายในประเทศไทยและอาเซียน กดดันให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำและติดลบในบางประเทศ
รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ข้อมูลว่า แนวโน้มภาวะเงินฝืดและอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจชะลอตัวลงของจีนมีโอกาสยืดเยื้อไปได้อีกเกิน 6 เดือนถึงหนึ่งปี
สถานการณ์เงินเฟ้อจีนติดลบจะส่งผลให้สินค้าราคาถูกมากหลากหลายชนิดทะลักเข้าตลาดไทยและอาเซียนอย่างต่อเนื่อง การส่งออกสินค้าต่างๆ ในราคาถูกมากทุ่มตลาดมายังไทยและอาเซียน ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตภายในประเทศของไทยและอาเซียน ไม่สามารถแข่งขันกับสินค้าราคาถูกจากจีนได้
การทะลักเข้ามาของกุหลาบจีนกำลังส่งผลกระทบเกษตรกรผู้ปลูกกุหลาบของไทย เห็นได้ชัดโดยเฉพาะในช่วงเทศกาลวาเลนไทน์ที่ผ่านมา สถานการณ์กุหลาบจีนราคาถูกหั่นราคากุหลาบไทย คงต้องติดตามกันว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเข้ามาจัดการอย่างไร?