xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ขบวนการ “ไข่แม้ว” ย่ำยีระบบยุติธรรม จับตาพ้นคุก-ลุแก่อำนาจ-ฉุดรัฐบาล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ป้อมพระสุเมรุ

ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ฝ่ากระแสเสียงก่นด่ามาได้ถึง 6 เดือนแบบไม่สะทกสะท้าน ลากสถานการณ์มาจนถึงวันที่ “นายใหญ่เพื่อไทย” นักโทษเด็ดขาดชาย ทักษิณ ชินวัตร จะได้พ้นการจองจำ โดยไม่ต้องนอนค้างในคุกแม้แต่วันเดียว

ตามคิวที่ “เสี่ยวี” พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ยอมรับว่า อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้เสนอเรื่องการพักโทษ ที่ผ่านการพิจารณาร่วมกันของคณะกรรมการมาที่กระทรวงยุติธรรมแล้วรายชื่อการพักโทษมีทั้งหมด 945 คน จำนวนนี้ได้รับการอนุมัติทั้งสิ้น 930 คน โดยมีส่วนหนึ่งที่ไม่อนุมัติ

เป็นการพักโทษอยู่ในกฎหมายราชทัณฑ์ มาตรา 52 การจะพิจารณาบุคคลที่จะได้รับการพักโทษ จะต้องเข้าเงื่อนไขติดคุกมาแล้ว 6 เดือน หรือ 1 ใน 3 หากระยะเวลาอันไหนมากกว่ากันให้ใช้เกณฑ์อันนั้น แต่โทษต้องเหลือไม่เกิน 10 ปี

ในจำนวนนักโทษ 930 คนที่ได้พักโทษในรอบนี้มีชื่อ “ทักษิณ” ด้วย ตามเกณฑ์กลุ่มเจ็บป่วยร้ายแรงหรือพิการ หรืออายุ 70 ปีขึ้นไป ที่เริ่มได้พักโทษมาตั้งแต่ปี 2546

แม้ว่าผู้เกี่ยวข้อง รวมไปถึง “ลูกอิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย บุตรสาวของ “ทักษิณ” จะยังคงปฏิเสธเสียงแข็งว่า ไม่รู้ว่าครบกำหนดวันได้รับการพักโทษในวันใด แต่ก็เชื่อว่าต่างรู้อยู่เต็มอกว่าเป็นวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567 หรือจะพูดให้ถูกคือหลังวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2567 นี้ “ทักษิณ” จะครบกำหนดถูกจองจำครบ 6 เดือนหรือ 180 วัน แม้จะไม่เคยนอนค้างในเรือนจำ แต่อ้างว่า รักษาตัวอยู่ที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ มาตลอดก็ตาม

เอาว่าวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567 ถือเป็นวันครบกำหนด ซึ่งก็อยู่ที่ว่า ”ทักษิณ“ ซึ่งอ้างว่ามีอาการป่วยหนัก เสียงถึงแก่ชีวิต ต้องอยู่ใกล้มือแพทย์ จะเลือกออกจาก รพ.ตำรวจ ในวันนั้นเลยหรือไม่

โดยตามขั้นตอน กรมราชทัณฑ์จะต้องดำเนินการตามระเบียบการพักโทษ โดยการรับตัวออกจาก รพ.ตำรวจ ซึ่งด้วยความที่เป็น “นักโทษวีวีไอพี” ก็ไม่เป็นที่แน่ชัดว่า จะมีการนำตัว “ทักษิณ” กลับไปยังเรือนจำกรุงเทพ ซึ่งเป็นสถานที่คุมขังเพื่อดำเนินการทางเอกสาร หรือสามารถเบิกตัวจาก รพ.ตำรวจ แล้วกลับบ้านได้เลย

โดย “สหการณ์ เพ็ชรนรินทร์” อธิบดีกรมราชทัณฑ์ บอกเพียงว่า ผู้ที่ได้รับการพักโทษจะได้รับการปล่อยตัวในวันถัดไปหลังจากที่ครบกำหนด และแนวทางปฏิบัติของกรมราชทัณฑ์นั้น จะต้องมีการประสานกับหลายหน่วยงาน หากเรือนจำแห่งใดได้ประสานกับกรมคุมประพฤติไว้เรียบร้อยแล้ว ก็สามารถปล่อยในวันเสาร์-อาทิตย์ได้ แต่หากบางแห่ง กรมคุมประพฤติ ยังไม่พร้อมก็อาจต้องเลื่อนไปปล่อยในวันปกติ
 
“ตอบหลักการอย่างนี้นะครับ คำว่าครึ่งปี หรือ 6 เดือน ก็คือเอา 30 วันไปคูณ พวกเราก็นับไปว่าครบวันไหน แล้วก็วันถัดไปหลังจากวันครบก็คือวันปล่อย” อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ว่าไว้
 
ขณะที่ “เรืองศักดิ์ สุวารี” อธิบดีกรมคุมประพฤติ ที่ต้องรับไม้ต่อในช่วงที่ “นายใหญ่เพื่อไทย” ยังคงมีโทษจำคุกคงเหลืออีกราว 6 เดือนหรือจนถึงช่วงเดือนสิงหาคม 2567 นั้นระบุว่า ตามหลักเกณฑ์ “ทักษิณ” ที่เป็นผู้สูงอายุ และมีอาการป่วย ไม่จำเป็นต้องใส่กำไลอีเอ็ม เมื่อมีการแจ้งพักโทษอย่างเป็นทางการ เจ้าหน้าที่คุมประพฤติ จะดูในรายละเอียด หลังจากนั้น 3 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับการพักโทษจะต้องรายงานตัวกับเจ้าหน้าที่คุมประพฤติ หากรายใดป่วยไม่สามารถมาพบได้ เจ้าพนักงานคุมประพฤติก็จะไปพบยังถิ่นพำนักที่ผู้อุปการะแจ้งไว้ในแบบคำร้อง

โดยตามระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการคุมความประพฤติ พ.ศ.2560 ระบุว่า ผู้ถูกคุมประพฤติจะต้องประพฤติปฏิบัติตามเงื่อนไข 8 ข้อที่กำหนดไว้ หากประพฤติผิดเงื่อนไข จะถูกนำตัวกลับมาคุมขังไว้ในเรือนจำตามเดิม และจะถูกลงโทษทางวินัยด้วย

เงื่อนไข 8 ข้อดังประกอบด้วย 1.จะต้องพักอาศัยอยู่ตามที่อยู่ที่แจ้งไว้กับเรือนจำ, 2.ห้ามออกนอกเขตท้องที่ที่อาศัยโดยไม่ได้รับอนุญาต, 3.ห้ามประพฤติตนเสื่อมเสีย เช่น เล่นการพนัน กระทำผิดอาญา, 4.ประกอบอาชีพโดยสุจริต, 5.ปฏิบัติตามลัทธิศาสนา, 6.ห้ามพกพาอาวุธ, 7.ห้ามไปเยี่ยมบ้านหรือติดต่อกับนักโทษอื่นที่ไม่ใช่ญาติ และ 8.ให้ไปรายงานตัวกับพนักงานคุมประพฤติเรือนจำ เจ้าพนักงานปกครอง หรือหัวหน้าสถานีตำรวจทุกเดือน

ส่วนสถานที่พำนักหลังได้รับการพักโทษ “แพทองธาร” ในฐานะบุตรสาว ระบุว่า ได้เตรียมทำความสะอาด “บ้านจันทร์ส่องหล้า” ไว้รอรับแล้ว

เป็น “บ้านจันทร์ส่องหล้า” ย่านจรัญสนิทวงศ์ ศูนย์บัญชาการอำนาจตั้งแต่สมัยพรรคไทยรักไทยเฟื่องฟู ก่อนที่ “ครอบครัวชินวัตร” ทั้งหมด รวมถึง “คุณหญิงอ้อ” คุณหญิงพจมาน ดามาพงษ์ อดีตภริยาของ “ทักษิณ” จะย้ายสัมมะโนครัวมาอยู่ที่ คฤหาสน์เลขที่ 38 พื้นที่กว่า 80 ไร่ ริมถนนรัชดาภิเษก-รามอินทรา เขตคันนายาวด้านหลังสนามฟุตบอลอัลไพน์ในปัจจุบัน
 
คงพูดไม่ผิดว่า สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นมีการวางไว้หมดแล้วตั้งแต่ก่อนวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ที่ “ทักษิณ” กลับถึงประเทศไทย โดยมีโจทย์ว่า “นายใหญ่เพื่อไทย” ต้องได้รับความสะดวกสบายมากที่สุด
 
ซึ่งก็เป็นเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า ได้รับความสะดวกสบายเกินกว่าที่คาดด้วยซ้ำ อาจจะขาดเพียงไม่มีการปู “พรมแดง” เข้า-ออกเรือนจำ ให้สมเกียรติ “นายใหญ่เพื่อไทย” เท่านั้น
 
โดยนับตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2566 เป็นต้นมา รัฐบาล โดยกรมราชทัณฑ์ และกระทรวงยุติธรรม ถูกตั้งข้อสังเกตเคลือบแคลงสงสัยในกรณีเอื้อประโยชน์ให้กับ “นช.ทักษิณ” ที่ถือเป็นการย่ำยี “ระบบยุติธรรม” มาโดยตลอด
 
และด้วยท่าทีของ กรมราชทัณฑ์ และกระทรวงยุติธรรม ภายใต้การกำกับของ “ทวี สอดส่อง” นั้นล้วนแล้วแต่เต็มไปด้วย “ความไม่ปกติ” ผ่านคำชี้แจงที่ไม่ชัดเจน
 
รวมไปถึงการดำเนินการที่ดูมีพิรุธทุกห้วงเวลาสำคัญเกี่ยวกับการนอนพักรักษาตัวนอกเรือนจำของ “นช.ทักษิณ” ตั้งแต่ครบ 30 วัน, ครบ 60 วัน และเกินกว่า 120 วัน ที่ปัจจุบันก็ยังไม่ปรากฎ “หลักฐาน” ชี้แจงว่าเป็นการดำเนินการตามระเบียบ แม้จะมีภาคประชาชน รวมไปถึงฝ่ายการเมืองเรียกร้องให้มีการเปิดเผยก็ตาม
 
โดยต่างคาถาที่ท่องกันว่า “เป็นตามระเบียบ และปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย” แต่ก็ถูกจับได้ไล่ทันว่าเป็น “สองมาตรฐาน” ที่ไม่เท่าเทียบกับผู้ต้องขังรายอื่น จน “กระทรวงตราชั่ง-กรมคุก” แทบหมดความน่าเชื่อถือในสายตาสังคมภายนอก

ขณะเดียวกันการอ้างว่าจำเป็นจะต้องอยู่โรงพยาบาลด้วยเหตุผลทางการแพทย์ แต่ถ้าทันทีที่ได้รับการพักโทษ ก็สามารถย้ายกลับ “บ้านจันทร์ส่องหล้า” ได้ทันที ก็ยิ่งส่อให้เห็นถึงพิรุธหนักเข้าไปอีกว่า “ไม่ได้ป่วยจริง” นี่ยังไม่ต้องนับว่าอีกสักพักจะมีกำลังวังชาขึ้นมา พร้อมที่จะเดินสายไปพบะประชาชนทั่วประเทศ
 
ท่ามกลางข้อสงสัยว่า “ทักษิณ” ไม่ได้ป่วยจริง หรือมีบุคคลอื่นนอกเหนือจากรายชื่อครอบครัว 10 ราย ได้ไปเข้าเยี่ยมที่ รพ.ตำรวจ หรือกระทั่งเจ้าตัวไม่ได้อยู่ที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจด้วยซ้ำ
 
พูดกันอีกว่า หากไปไล่เรียงดูเอกสารหลักฐาน ไม่ว่าจะเป็นบันทึกผู้คุม, รายละเอียดการเข้าเยี่ยม หรือรายงานอาการป่วยของ “ทักษิณ” ตลอดระยะเวลาที่อบู่ที่ รพ.ตำรวจ อาจมี “คนซวย” ต้องเข้าซังเตแทนหลายต่อหลายคน ด้วยข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

ตั้งแต่อธิบดีกรมฯ หรือผู้บัญชาการเรือนจำฯ เรื่อยไปจนถึงแพทย์ผู้เจ้าของไข้ หรือแม้แต่ รมว.ยุติธรรม ก็อาจไม่รอด
อย่างไรเสียที่สุด “ขบวนการไข่แม้ว” ที่อุ้มกระเตงจน “นายใหญ่” มาจนถึงวันได้รับการพักโทษ ก็ไม่ได้ยี่หระ ยอมพลีชีพเพื่อ “ผู้มีอิทธิพลเหนือรัฐบาล” อย่างเต็มที่

ไม่เพียงแต่เอาชีวิตราชการตัวเองไปเสี่ยงเท่านั้น ยังไม่สนใจว่าระบบยุติธรรมของประเทศจะป่นปี้แค่ไหนด้วย
มาถึงวันนี้ที่ “ทักษิณ” เห็นแล้วว่า สำหรับเขาประเทศไทยอะไรก็ได้ กระบวนการยุติธรรมที่ว่าแน่แค่ไหนก็ไม่สามารถทำอะไรเขาได้เช่นนี้ ก็น่ากลัวเหลือเกินว่า เมื้อพักโทษ-พ้นโทษ ออกมาแล้วจะหนักข้อกกว่าเดิม

อาการ “ลุแก่อำนาจ” ที่เคยเป็นอาจกำเริบอีกครั้ง หลังใช้อภิสิทธิ์รักษาตัวใน รพ.ตำรวจ โดยไม่แคร์ว่า รัฐบาลที่ตัวเองสนับสนุนค้ำชูจะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างไร

จนทำท่าว่า ศูนย์รวมอำนาจของประเทศ ทำท่าจะต้องย้ายจาก “ตึกไทยคู่ฟ้า” ไปที่ “บ้านจันทร์ส่องหล้า” ก็เป็นได้
ด้วยก่อนหน้านี้หลายเรื่องหลายราวในรัฐบาลก็มีข่าวอื้ออึงว่า เป็นใบสั่งที่กดปุ่ม-วางแผน-สั่งการ มาจาก “ชั้น 14” ไม่เว้นแม้แต่โผคณะรัฐมนตรีของ “นายกฯเศรษฐา”

สำรวจตรวจสอบท่าทีของคนในรัฐบาลต่างก็พร้อมที่จะไปขอคำปรึกษาจาก “ทักษิณ” กันทั้งนั้น แม้จะมีสถานะ “อดีตคนคุก” ไม่สามารถดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ก็ตาม ไม่เว้นแม้แต่ “เศรษฐา” ที่ออกตัวเป็นนัยๆ ว่า พร้อมรับฟังทุกความเห็นหากเป็นประโยชน์กับประเทศ

ขณะที่ “คนเพื่อไทย” ทั้งระดับรัฐมนตรี หรือ สส. ก็เตรียมเข้าแถวรอคิวไปกราบคารวะ “นายใหญ่” หลายคนเตรียมเรื่องคับค้องใจไปรายงานให้ทราบกันแล้ว ตามรูปการณ์แล้วถนนทุกสายจะมุ่งไปหา “นายใหญ่” จนลดความสำคัญของ “นายกฯเศรษฐา” ไปในที

จนมีการค่อนขอดล่วงหน้าว่า ประเทศไทยอาจเข้าโหมด 3 นายกฯ คือ นายกฯตัวจริงอย่าง “เศรษฐา” ว่าที่นายกฯ อย่าง “แพทองธาร” และนายกฯสั่งการอย่าง “ทักษิณ”

และหาก “นายกฯสั่งการ” เกิดลุแก่อำนาจ ทำตัวเป็นผู้มีบารมีเหนือรัฐบาลขึ้นมา ที่หวังจะ ให้เป็น “ตัวช่วย” ก็อาจจะกลายเป็น “ตัวฉุด” มากกว่า.



กำลังโหลดความคิดเห็น