xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

คนไทย “หัวใจสีม่วง" ถวาย “ความจงรักภักดี” โต้กลับ “ขบวนการล้มฯ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ปรากฎการณ์ “ม่วงทั้งแผ่นดิน” ผู้คนรวมตัวกันสวมเสื้อสีม่วงหรือในโลกโซเชียลฯ ที่มีการโพสต์ภาพสัญลักษณ์สีม่วง กระทั่งการแต่งกายของ สส.และนักการเมือง ที่ติดโบสีม่วง สวมเนกไทสีม่วง หรือชุดผ้าไทยสีม่วง เพื่อแสดงออกถึง “ความจงรักภักดี” น่าจะการส่งสัญญาณฉันทามติไม่เห็นด้วยกับพฤติการณ์ของ “ขบวนการล้มล้างสถาบัน” ที่ล่าสุดก่อพฤติกรรมถ่อยก่อกวนบีบแตรใส่ขบวนเสด็จฯ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดาฯ รวมทั้งยังแสดงท่าทีก้าวร้าวหยาบคายกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2567
 
และนำไปสู่การจับกุม “ตะวัน” ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ “แฟรงค์” ณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร ตามหมายจับในคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ) เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567
 
โทษฐานที่ “ตะวัน-แฟรงค์” เป็นผู้ก่อกวนบีบแตรใส่ขบวนเสด็จฯ ในวันดังกล่าว

แม้หลังเกิดเหตุ และกลายเป็นประเด็น “ตะวัน” พยายามชี้แจงว่า ในวันเกิดเหตุกำลังเดินทางไปทำธุระแถวอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยไม่รู้ว่ามีขบวนเสด็จฯ และไม่ตั้งใจเข้าไปก่อกวน รวมทั้งขอโทษเพียงพฤติกรรมขับรถเร็วเท่านั้น หากแต่ใครได้ดูคลิปที่ “ตะวัน” ไลฟ์สดก็จะพบว่า สิ่งที่พยายามแก้ตัวนั้นไม่ตรงความเป็นจริงที่เกิดขึ้น

เพราะในคลิปที่เผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊กของตัวเธอเองแสดงให้เห็นพฤติกรรมถ่อยเถื่อนโดยตลอด ทั้งการตั้งคำถามที่มีถ้อยคำหยาบคายว่า เหตุใดขบวนเสด็จฯ ได้รับอภิสิทธิ์เหนือกว่ารถยนต์ของประชาชน หรือการแสดงออกในเชิงท้าทายเจ้าหน้าที่ตำรวจที่กำลังปฏิบัติหน้าที่

เป็นพฤติกรรมที่แสดงถึงการต่อต้าน ท้าทาย และดูหมิ่นพระเกียรติยศต่อขบวนเสด็จฯ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ อย่างชัดเจน ตามคำบรรยายในหมายจับ ที่เป็นเหตุสำคัญที่ศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว

ลึกๆ แล้วเชื่อว่า “ตะวัน” ที่เป็นผู้ต้องหาในคดีความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อยู่ด้วย รวมถึงแนวร่วมที่อยู่ในรถคันเดียวกันอย่าง “แฟรงค์” จงใจให้เกิดประเด็นกับขบวนเสด็จฯ ตามแนวทาง “ม็อบสามนิ้ว-ทะลุวัง-ทะลุฟ้า” ที่ “ตะวัน” เคยมีส่วนร่วม ก่อนที่วันนี้จะประกาศตัวว่า เป็นนักเคลื่อนไหวอิสระ

คล้ายเป็นความพยายามต้องการจุดประเด็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ หลังเคยจุดกระแสเมื่อหลายปีก่อน ช่วงม็อบราษฎร หรือม็อบสามนิ้ว ครั้งนั้นก็มีกลุ่มผู้ชุมนุมเข้าประชิดขบวนเสด็จ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมพระราชินี ซึ่งเป็นพฤติกรรมจาบจ้วงล่วงเกินพระบรมวงศานุวงศ์แบบซึ่งหน้าที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน

เห็นได้จากหลังก่อเหตุเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2567 แล้ว “ตะวัน” และพรรคพวก ก็มี “อีเว้นท์” อย่างต่อเนื่อง หลังจากที่เงียบเหงามานาน ทั้งการเผยแพร่คลิปวันเกิดเหตุเพิ่มเติม หรือเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ได้ไปรวมตัวจัดกิจกรรมทำโพลตั้งคำถามเกี่ยวกับขบวนเสด็จฯ ใกล้สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสยาม จนเกิดเหตุปะทะกับกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.)
ก่อนที่ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 “ตะวัน-แฟรงค์” ที่รู้ตัวว่าถูกออกหมายจับ จะเดินทางมาปักหลักที่ศาลอาญาตั้งแต่ช่วงเช้า อ้างว่าเพื่อติดตามให้กำลังใจกรณี “นักข่าวประชาไท” และช่างภาพที่ประกาศตัวว่า “อิสระ” แต่สุดท้ายาพบว่ามี “สังกัด” ถูกจับกุมในคดีใช้สีสเปรย์พ่นลงบนกำแพงวัดพระแก้ว เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2566

โดยแต่ละอีเวนท์ที่จัดต่อเนื่องมานั้น ก็ล้วนแล้วแต่ต้องการให้ตัวเองเป็นประเด็นอยู่กลางสปอตไลท์ คู่ขนานไปกับการตั้งคำถามเกี่ยวกับสถาบันเบื้องสูงนั่นเอง

หากแต่ “ตะวัน” และพรรคพวก ที่ถูกต่างหน้าว่าเป็นขบวนการล้มล้างสถาบัน คงไม่คาดคิดว่า จะก่อให้เกิดกระแสโต้กลับด้วยการออกมาแสดงพลังแห่งความจงรักภักดีที่เริ่มมีการกิจกรรมจากทั้งองค์กร-บุคคล ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ

 ภาพวาดลายเส้น กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ออกแบบโดย รองศาสตราจารย์อาวิน อินทรังษี รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่มีผู้นำไปโพสต์แสดงออกถึงความจงรักภักดีในโลกสังคมออนไลน์เป็นจำนวนมาก







ประชาชนในหลากหลายจังหวัดพร้อมใจกันใส่เสื้อสีม่วงเพื่อแสดงความจงรักภักดี
 การปรากฎตัวของ “ผู้จงรักภักดีหัวใจสีม่วง” ยิ่งทำให้สิ่งที่ “ตะวัน-พวก” พยายามทำอยู่นั้นดูแย่ลงไปอีก

ขณะเดียวกันก็มีการเสนอญัตติด่วนให้รัฐบาลทบทวนระเบียบ แผนและมาตรการถวายความปลอดภัยขบวนเสด็จฯ เข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดย เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ และจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์

เป็นญัตติที่มีชื่อเต็มๆ ว่า เรื่อง "การขอให้รัฐบาลเร่งรัดดำเนินการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมาย ทบทวนระเบียบ แผนและมาตรการถวายความปลอดภัยขบวนเสด็จให้เหมาะสมทันสมัย มีการฝึกซ้อม และประชาสัมพันธ์สื่อสารกับประชาชนเพื่อเป็นการถวายความปลอดภัยให้สมพระเกียรติ และรักษาไว้ซึ่งสถาบันหลักของชาติ"

“เอกนัฏ” ผู้เสนอญัตติอภอปรายตอนหนึ่งว่า เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายล่าช้าเกินไป เพราะหลังก่อเหตุเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2567 ยังปล่อยให้ผู้ก่อเหตุไปจัดกิจกรรมที่สร้างความแตกแยกขัดแย้งที่สถานีบีทีเอสสยาม เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2567 อีก ซึ่งเชื่อว่า เพราะเกรงว่าจะถูกนำสถานการณ์ไปโยงเป็นประเด็นการเมือง พร้อมเสนอให้ปรับปรุง พ.ร.บ.การถวายความปลอดภัย พ.ศ. 2560 ให้เข้ากับสถานการณ์ความขัดแย้งและนิยามของภัยคุกคามต่อขบวนเสด็จฯ เพื่อป้องกันเหตุที่อาจจะกล่ยเป็น "ค่านิยม-แฟชั่น" และทำให้สถานการณ์บานปลายมากกว่านี้

“ถ้าเรายังปล่อยปละละเลย ไม่เข้มงวดกับเหตุกาณ์แบบนี้ อาจจะเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวที่นำไปสู่การปะทะกันของประชาชน เกิดความแตกแยก ที่ผมเชื่อว่า ไม่มีใครอยากให้มันเกิดขึ้น” เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ และอดีตเลขาธิการ กปปส.ว่าไว้

“ตะวัน” ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ “แฟรงค์” ณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร ที่ศาลอาญา ก่อนจะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจรวบตัวตามหมายจับในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
ขณะที่ “จุรินทร์” ชี้ว่า เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ออกมาแสดงท่าทีและความรับผิดชอบ ค่อนข้างช้าต่อกรณีเหตุการณ์คุกคามขบวนเสด็จฯ พร้อมแสดงจุดยืนว่า รัฐบาลซึ่งมีเสียงข้างมาก ต้องไม่สนับสนุนให้มีการนิรโทษกรรมความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมทั้งต้องเพิ่มบทลงโทษเป็นการเฉพาะต่อผู้ที่ละเมิดกฎหมาย พ.ร.บ.ถวายความปลอดภัยฯ โดยนำบทบัญญัติกฎหมายอื่นมาเทียบเคียงบังคับใช้ เช่น กฎหมายอาญามาตรา 112 และมาตรา 116

“รัฐบาลต้องไม่สนับสนุนให้มีการนิรโทษกรรมความผิดในคดีมาตรา 112 เพราะจะเป็นชนวนขัดแย้งรอบใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และยังเท่ากับเป็นการส่งเสริมการกระทำความผิดตามมาตรา 112 เข้าไปอีก และเมื่อเกิดเหตุขบวนเสด็จฯ ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่า ยิ่งไม่ควรนิรโทษกรรมความผิดมาตรานี้” อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุ

น่าสนใจว่า ขณะที่ สส.จากพรรครัฐบาล และฝ่ายค้านส่วนใหญ่ พร้อมใจกันสวมเครื่องแต่งกาย และติดสัญลักษณ์ที่มี “สีม่วง” มาร่วมประชุมสภาฯ รวมถึงอภิปรายสนับสนุนญัตติดังกล่าว

แต่ดูจะมีเพียงท่าทีและสุ่มเสียงของ พรรคก้าวไกล ที่ “แปร่ง” ไปจากเพื่อน จนเกิดคำถาม “อิหยังวะ” เลยทีเดียว

ตั้งแต่ “เฮียโรจน์” วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่ดูจะไม่ให้ความสำคัญที่ต้อง “ยกระดับ” มาตรการการถวายการอารักขา โดยเสนอว่า ให้ทบทวนมาตรา 5 ของ พ.ร.บ.การถวายความปลอดภัย พ.ศ. 2560 ให้มีการคำนึงถึงประชาชนและเตรียมแผน “เท่าที่จำเป็น” ส่งผลกระทบกับประชาชนน้อยที่สุด

นอกจากนี้ “เฮียโรจน์” ยังเบี่ยงประเด็นออกไปอีกว่า การใช้ความรุนแรงโดยอ้างว่าเพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นพฤติกรรมที่ทำร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์ที่สุด พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลใช้กฎหมายจัดการกับคนกลุ่มนี้ (คาดว่ามาจากเหตุปะทะกลุ่ม “ตะวัน” กับกลุ่ม ศปปส.) เพราะในระยะยาวมีแต่จะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ เสื่อมเสียเกียรติยศ ส่งผลในทางลบต่อความสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชนและสถาบันพระมหากษัตริย์

และต้องเร่งสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างมีวุฒิภาวะเป็นเรื่องปกติ ไม่มีการมาจับผิด ไม่มีใครมาแฝงตัวหรือใช้กฎหมายในการกลั่นแกล้งรังแกกัน

เช่นเดียวกับ “ไอติม” พริษฐ์ วัชรสินธุ
สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่มองว่า หากรัฐบาลปรับมาตรการถวายการอารักขาแบบฉับพลัน และไม่สมดุล อาจเสี่ยงให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ต่อมาตรการใหม่ และต้องไม่ปล่อยให้ประชาชนจัดการแก้ไขปัญหากันเองโดยการใช้อำนาจนอกกฎหมาย

ฟังคล้ายกับ “เฮียโรจน์-ไอติม” ชี้ว่า มาตรการการถวายการอารักขาเป็น “ปัญหา” และให้ใช้กฎหมายจัดการกับ “กลุ่มผู้จงรักภักดี” ซะอย่างนั้น

หนักไปกว่านั้น “เสี่ยโรม” รังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กลับใช้เวทีในการเปิดวิวาทะกับ ชาดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย และ สส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย โดยพาดพิงถึง “กลุ่มอาชีวะราชภักดี” ซึ่งโพสต์ภาพและข้อความในโซเชียลมีเดีย ข่มขู่จะจัดการกับนักเคลื่อนไหว ที่เคยถ่ายภาพคู่กับ “ชาดา” พร้อมอภิปรายว่า มีการปลุกปั่นให้สถานการณ์ร้ายแรงเกินกว่าความเป็นจริงมาก และทำให้คนทั้งสังคมไม่รู้สึกปลอดภัย รวมถึงคำพูดของ “ชาดา” ที่ต่อว่า ผู้ที่ไปก่อกวนขบวนเสด็จฯ ว่า เนรคุณแผ่นดิน ด้วย

ส่งผลให้เกิดการโต้เถียงกันอย่างดุเดือดระหว่าง “ชาดา-รังสิมันต์” ซึ่ง “ชาดา” ก็จี้จุดที่ว่า ญัตตินี้เป็นเรื่องของการอารักขาขบวนเสด็จที่ทำร้ายจิตใจประชาชน แต่กลับนำเรื่องนอกประเด็นที่เป็นผลของการกระทำเด็กหรือใครก็ตามกี่ครั้งแล้วที่ทำผิดกฎหมายเข้ามา

ปิดท้ายที่ “ท่านต๋อม” ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล และผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ ที่พยายามอภิปรายเชื่อมโยงว่า เหตุการณ์ที่กระทบต่อการถวายความปลอดภัยต่อพระบรมวงศานุวงศ์ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีมูลเหตุมาจาก “ปัญหาทางการเมือง” การพิจารณามาตรการถวายความปลอดภัย ที่สืบเนื่องจากเหตุการณ์วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2567 จึงไม่สามารถจะพิจารณาเฉพาะเรื่องกฎหมาย ระเบียบ และแผนการอารักขาความปลอดภัยได้อย่างเดียวเท่านั้น

“นี่ไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวกับการถวายความปลอดภัย อันเกิดจากการก่ออาชญากรรมเพื่อหมายปองทำร้ายพระบรมวงศานุวงศ์ แต่เป็นปัญหาที่สืบเนื่องจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง และความขัดแย้งทางความคิด ต้องยอมรับตรงนี้ก่อน ถึงจะพิจารณาอย่างรอบด้าน” ผู้นำฝ่ายค้านฯโน้มน้าวในที่ประชุมสภาฯ

ช่วงหนึ่ง “ชัยธวัช” พูดถึงพฤติกรรมของ “ตะวัน” ว่า ต้องมีอะไรบางอย่างที่ทำให้ออกมาแสดงออก “ทางการเมือง” ด้วยการทำโพล (เกี่ยวกับขบวนเสด็จฯ) และเลือกตัดสินใจ "ตะโกน" ก่อนนำมาสู่สถานการณ์ที่ไม่พึงปรารถนา (ก่อกวนขบวนเสด็จฯเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2567)

ฟังเสียงของ “ชัยธวัช” แล้วดูเหมือนจะเข้าอกเข้าใจการแสดงออกของ “ตะวัน” อย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งที่เป็นพฤติกรรมที่ถูก “คนค่อนประเทศ” ก่นด่า และทำให้เกิดกระแส ”ม่วงทั้งแผ่นดิน” แสดงออกถึงความจงรักภักดี

น่าเสียดายไม่น้อยที่ในญัตติทบทวนมาตรการถวายการอารักขาฯ วันนั้น ขาดความเห็นของคนสำคัญอย่าง “พ่อทิม” พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาพรรคก้าวไกล ที่ “โดดประชุม” ทั้งที่เป็นญัตติที่เกี่ยวข้องกับพฤติการณ์ของ “ตะวัน” ที่ตัวเองเคยเป็นนายประกัน และเป็นผู้ดูแลความประพฤติ

รวมทั้งยังเคยเขียนจดหมายอวย “ตะวัน” ครั้งถูกจับกุมในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยคารวะในความกล้าหาญของ “ตะวัน-เพื่อน” และจะขอสานต่อภารกิจให้สำเร็จ ตลอดจนนำมาอภิปรายในสภาฯว่า "ทุกครั้งที่ผมไปหาคุณตะวัน และคุณแบม (อรวรรณ ภู่พงษ์ ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112) ผมมองตาตะวันแล้วเห็น พิพิม ลูกสาวของผมอยู่ในนั้น"

น่ากลัวว่า ในเมื่อ พรรคก้าวไกล ยังคงไม่เห็นพฤติกรรมของ “ตะวัน-พวก” เป็นปัญหา แต่กลับโทษปัจจัยอื่นที่ทำให้คนเหล่านั้นต้องมาแสดงออกเช่นที่เกิดขึ้นมากกว่าแล้ว ความรู้สึกของ “พิธา” ที่มีต่อ “ตะวัน” ก็อาจจะไม่ต่างจากเดิมมากนัก แม้มีท่าที “ตัดหาง” ปฏิเสธความเกี่ยวข้องแล้วก็ตาม

จนอาจอนุมานได้ว่า พรรคก้าวไกลกับ “แก๊งตะวัน” ก็มีจุดร่วม-จุดยืนที่ไม่ต่างกัน เพียงแต่แยกกันเดินคนละสถานะเท่านั้นเอง.


กำลังโหลดความคิดเห็น