xs
xsm
sm
md
lg

อำนาจในมุมมองนักปราชญ์ (18-1): อันโตนิโอ เนกริ และ ไมเคิล อาร์ท อำนาจจักรวรรดิยุคใหม่กระจายข้ามพรมแดนรัฐชาติ บงการชีวิตผู้คนในทุกมิติผ่านกลไกที่หลากหลาย / Phichai Ratnatilaka Na Bhuket

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 อันโตนิโอ เนกริ (Antonio Negri)
"ปัญญาพลวัตร"
"ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

 อันโตนิโอ เนกริ Antonio Negri (1933 – 2023) นักปรัชญาการเมืองชาวอิตาลี แนวคิดเกี่ยวกับอำนาจของเนกริ เน้นไปที่ธรรมชาติของระบบทุนนิยม รัฐ และการเคลื่อนไหวทางสังคม โดยมีรากฐานจากภูมิหลังของการเป็นนักมาร์กซิสต์ของเขาและการทำงานวิชาการร่วมกับ ไมเคิล ฮาร์ท (Michael Hardt) นักปรัชญาการเมืองชาวอเมริกัน นักปราชญ์ทั้งสองคนนำเสนอแนวคิดอำนาจในยุคโลกาภิวัตน์ที่ทรงพลังและมีอิทธิพลต่อความคิดของผู้คนจำนวนมาก ในอธิบายพลวัตของอำนาจผ่านแนวคิดเรื่อง “จักรวรรดิยุคใหม่” (Empire) และ “เครือข่ายมหาชน” (Multitude)

เนกริและฮาร์ทมองว่า อำนาจไม่เพียงแต่เป็นพลังที่กำหนดจากบนลงล่างที่ดำรงอยู่ภายในโครงสร้างอำนาจที่ครอบงำสังคมอยู่เท่านั้น หากแต่ยังเป็นพลังจากล่างขึ้นบนที่มีอยู่ในความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์และการกระทำร่วมกัน นั่นคือ อำนาจเป็นการประกอบสร้างที่สะท้อนขีดความสามารถในการผลิตของบุคคลและกลุ่มเพื่อสร้างความสัมพันธ์ทางสังคม สถาบัน และรูปแบบชีวิตใหม่ ๆ เพื่อท้าทายและเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจที่มีอยู่ แนวคิดเรื่องอำนาจของเนกริและฮาร์ทได้เน้นย้ำถึงศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงทางสังคมผ่านการจัดระเบียบตนเอง การทำงานร่วมกัน และการสร้างรูปแบบใหม่ของชีวิตทางการเมืองและเศรษฐกิจ

แนวคิดอำนาจของเนกริปรากฏในหนังสือของพวกเขาหลายเล่ม เรื่องสำคัญคือ  การเมืองแห่งการโค่นล้ม: แถลงการณ์ของศตวรรษที่ 21.” (The Politics of Subversion: A Manifesto for the Twenty-First Century, 1989) หนังสือเล่มนี้วิเคราะห์ว่าในโลกร่วมสมัย อำนาจมีการกระจายมากขึ้นเรื่อย ๆ และแพร่กระจายในลักษณะที่เป็นเครือข่ายทั่วโลก สิ่งนี้เปลี่ยนธรรมชาติของอำนาจรัฐอธิปไตยดั้งเดิมไปสู่เครือข่ายบรรษัท สถาบันระหว่างประเทศ และผู้มีบทบาทอื่น ๆ ที่ไม่ใช่รัฐที่กระจายและซับซ้อนมากขึ้น

แนวคิดอำนาจที่มีอิทธิพลต่อโลกทางวิชาการและสังคมของเนกริและฮาร์ท คือ แนวคิด  “จักรวรรดิยุคใหม่ และเครือข่ายมหาชน” (Empire and Multitude, 2000) แนวคิดจักรวรรดิยุคใหม่อธิบายโครงสร้างอำนาจระดับโลกรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นในยุคของระบบทุนนิยมหลังสมัยใหม่ อำนาจจักรวรรดิยุคใหม่มีการกระจายและข้ามอาณาเขต โดยก้าวข้ามพรมแดนของประเทศ ขณะที่แนวคิดเรื่องเครือข่ายมหาชนเป็นแนวคิดที่อธิบายเครือข่ายที่หลากหลายและไม่มีลำดับชั้นของกลุ่มบุคคลและองค์กรที่ต่อต้านและท้าทายอำนาจอำนาจของจักรวรรดิ

 แนวคิดจักรวรรดิยุคใหม่อธิบายโครงสร้างอำนาจใหม่ของโลกที่แตกต่างจากโครงสร้างอำนาจแบบเดิมของอาณาจักรในอดีตซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่รัฐชาติที่มีอำนาจอธิปไตย จักรวรรดิยุคใหม่เป็นกลไกการปกครองที่อำนาจกระจายตัวและข้ามอาณาเขตรัฐชาติ ซึ่งรวมเอาองค์กรระดับชาติและระดับเหนือชาติต่าง ๆ และทุนระดับโลกเข้าไว้ด้วยกัน โดยมีเครือข่ายสถาบันทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจเป็นกลไกที่พยายามควบคุมผู้คนในระดับโลก จักรวรรดิยุคใหม่เป็นโครงสร้างอำนาจที่รองรับความแตกต่างทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจที่หลากหลาย แต่ควบคุมปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ผ่านระบบทุนนิยม เทคโนโลยี และกลไกทางกฎหมายและการทหาร

จักรวรรดิยุคโลกาภิวัตน์มีอัตลักษณ์และพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ซึ่งแตกต่างอย่างมากจากจักรวรรดิดั้งเดิมในยุคล่าอาณานิคมและการครอบงำโดยรัฐชาติดังนี้

 อัตลักษณ์ประการแรก อำนาจกระจายตัวและไม่มีพรมแดน ซึ่งต่างจากจักรวรรดิดั้งเดิมที่มีการกำหนดอาณาเขตที่ชัดเจนละการควบคุมแบบรวมศูนย์ อำนาจของจักรวรรดิยุคใหม่ไม่ได้อาศัยอยู่ในรัฐเดียว แต่กระจัดกระจายไปตามเครือข่ายทางการเงิน การสื่อสาร สื่อมวลชน และวัฒนธรรมทั่วโลก ดังเช่น บริษัทข้ามชาติ ข้อตกลงการค้าระดับโลก และแพลตฟอร์มดิจิทัล

 อัตลักษณ์ประการที่สอง การควบคุมทางชีวการเมือง (Biopolitical) จักรวรรดิยุคใหม่ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การควบคุมทางเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียว แต่ให้ความสำคัญกับการบงการจัดการชีวิตผู้คนด้วย ชีวอำนาจนี้แสดงออกผ่านการเฝ้าระวัง การรวบรวมข้อมูล การควบคุมร่างกายและความปรารถนา และการกำหนดบรรทัดฐานทางวัฒนธรรม โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อกำหนดรูปแบบสังคมและบุคคลเพื่อให้สอดคล้องกับตรรกะของจักรวรรดิ

 อัตลักษณ์ประการที่สามการล่อลวงและกลไกวินัย จักรวรรดิยุคใหม่ไม่ได้พึ่งพากำลังทหารและความรุนแรงแต่เพียงอย่างเดียวในการควบคุมบงการผู้คน หากแต่ล่อลวงผ่านลัทธิบริโภคนิยม การสร้างเรื่องเล่าเกี่ยวกับเสรีภาพ และการรวมตัวกันในตลาดโลก ในขณะเดียวกัน ก็ใช้กลไกทางวินัย เช่น ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ การกีดกันทางสังคม และความรุนแรงแบบกำหนดเป้าหมายเพื่อรักษาการควบคุมเอาไว้ โดยกำกับด้วยมาตรการการให้รางวัลและการลงโทษ ดังนี้

  3.1 การสร้างความไม่แน่อนทางเศรษฐกิจเพื่อควบคุม จักรวรรดิส่งเสริมตลาดแรงงานที่ยืดหยุ่นและเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ซึ่งนำไปสู่การจ้างงานที่ไม่มั่นคง ค่าจ้างต่ำ และสวัสดิการที่จำกัด สิ่งนี้สร้างความรู้สึกไม่มั่นคงและหวาดกลัวในกลุ่มบุคคลขึ้นมาทำให้พวกเขาลังเลที่จะท้าทายสภาพที่เป็นอยู่ จักรวรรดิยังสนับสนุนการให้สินเชื่อและลัทธิบริโภคนิยม ซึ่งนำไปสู่การเป็นหนี้สินและเกิดความเปราะบางทางการเงิน ซึ่งทำให้บุคคลอ่อนแอต่อการถูกบงการมากขึ้น และมีโอกาสน้อยที่จะมีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวที่มีความเสี่ยง

ยิ่งกว่านั้น จักรวรรดิยังทำให้สภาพการเข้าถึงทรัพยากรอย่างไม่เท่าเทียมกันดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง ทำให้ความมั่งคั่งรวมศูนย์และสร้างความเหลื่อมล้ำมากขึ้นในสังคม ส่งผลให้ผู้คนเกิดความรู้สึกว่าไร้อำนาจและกลายเป็นคนชายขอบ สภาพเช่นนี้ทำลายการร่วมมือระหว่างบุคคล องค์กร และรัฐ แต่กลับส่งเสริมการแข่งขันอย่างรุนแรงเพื่อแย่งชิงทรัพยากรที่หายากมากขึ้น

 3.2 การใช้มาตรการกีดกันทางสังคม โดยมีกลไกหลักสามประการ ได้แก่

ประการแรก การสร้างข้อจำกัดการเข้าเมืองและการเนรเทศ เพื่อควบคุมพรมแดนและการเคลื่อนย้าย ทำให้เกิดบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวและความไม่แน่นอนในกลุ่มผู้อพยพและชุมชนชายขอบ สิ่งนี้จะทำให้สังคมแตกแยกและขัดขวางความสามัคคีระหว่างกลุ่มต่าง ๆ

ประการที่สอง การทำให้ความเห็นต่างเป็นความผิดทางอาญา จักรวรรดิขยายคำจำกัดความของอาชญากรรมและเพิ่มการสอดแนม โดยมุ่งเป้าไปที่นักเคลื่อนไหว ชนกลุ่มน้อย และผู้เห็นต่าง เพื่อสร้างผลกระทบที่น่าขนลุกและความน่าสะพรึงกลัวต่อกลุ่มคนที่วิพากษ์วิจารณ์จักรวรรดิอย่างเปิดเผย

และประการที่สาม การตีตราและการทำให้เป็นสิ่งแปลกปลอม จักรวรรดิส่งเสริมการเล่าเรื่อง ซึ่งตีตราและทำให้คนบางกลุ่มกลายเป็นสิ่งแปลกปลอมของสังคมกระแสหลัก การตีตรามักเกิดขึ้นโดยอาศัยประเด็นเชื้อชาติ ศาสนา รสนิยมทางเพศ ความคิดทางการเมือง หรือปัจจัยอื่น ๆ ตามบริบทของสังคม สิ่งนี้ทำให้ความสามัคคีทางสังคมอ่อนแอลงและเป็นอุปสรรคต่อการสร้างความสมานฉันท์ในสังคม

 3.3 ความรุนแรงที่มีการกำหนดเป้าหมาย ซึ่งมีสี่ประการหลัก ได้แก่ ประการแรก จักรวรรดิจะขยายกองกำลังทหารและตำรวจมากขึ้น โดยใช้เหตุผลความมั่นคงของชาติ การป้องกันและต่อต้านการก่อการร้าย และความปลอดภัยของประชาชน สิ่งนี้สร้างบรรยากาศแห่งความกลัวและเปิดโอกาสให้มีการปราบปรามและการต่อต้านแบบเลือกสรรอย่างมีอคติต่อกลุ่มบุคคลและองค์การที่มีความคิดขัดแย้งกับจักรวรรดิ ประการที่สอง การเพิ่มความเข้มข้นของการใช้ความรุนแรงโดยรัฐต่อกลุ่มหรือบุคคลที่ถือว่าเป็นภัยคุกคาม เช่น การไม่ให้ประกันตัวในคดีการเมืองบางประเภทที่รัฐมองว่าเป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ การใช้กฎหมายและองค์กรอิสระของรัฐเล่นงานพรรคการเมืองคู่แข่ง การกระทำทั้งมวลเป็นเสมือนการส่งข้อความของการข่มขู่และการปิดปากฝ่ายค้าน และประการที่สี่ การใช้ความรุนแรงเชิงสัญลักษณ์ จักรวรรดิใช้สื่อและเรื่องเล่าทางวัฒนธรรมเพื่อทำให้ความรุนแรงเป็นปกติในการทำลายล้างกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง การกระทำแบบนี้เป็นการกำหนดและควบคุมบงการความคิดเห็นของประชาชน เพื่อให้ประชาชนยอมรับความรุนแรงที่กระทำโดยรัฐ

 4. อัตลักษณ์ประการที่สี่ ความยืดหยุ่นและผสมผสาน ลักษณะโครงสร้างอำนาจของจักรวรรดิไม่ได้จำกัดหรือตายตัว แต่ดำเนินงานโดยอาศัยกฎเกณฑ์ สถาบัน และเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ไม่มีระบบกฎหมายหรืออุดมการณ์เดียว มีแต่การผสมผสานแบบผสมผสานที่ปรับให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

จักรวรรดิไม่ได้ดำเนินการผ่านกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดหรืออุดมการณ์เพียงประการเดียว แต่จะปรับเปลี่ยนและเปลี่ยนกลไกอยู่ตลอดเวลาตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ความสามารถในการปรับตัวนี้ช่วยให้สามารถรักษาการควบคุมและอิทธิพลได้แม้ในขณะที่เทคโนโลยี เศรษฐกิจ และสังคมมีการพัฒนาไป จักรวรรดิจะดึงอำนาจมาจากแหล่งต่าง ๆ รวมกัน ไม่ใช่แค่แหล่งเดียว แต่ครอบคลุมกรอบทางกฎหมาย สถาบันทางเศรษฐกิจ บรรทัดฐานทางวัฒนธรรม โครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี และแม้แต่อำนาจทางทหาร องค์ประกอบเหล่านี้มีปฏิสัมพันธ์และเสริมซึ่งกันและกัน ทำให้เกิดระบบควบคุมที่ซับซ้อนและหลากหลาย และจักรวรรดิไม่เพียงแต่กำหนดเจตจำนงของตนเท่านั้น หากแต่ยังควบคุมโดยการเจรจาและการประนีประนอมกับผู้มีบทบาทต่าง ๆ ภายในเครือข่าย ซึ่งรวมถึงบริษัท รัฐชาติ องค์กรระหว่างประเทศ และแม้แต่การเคลื่อนไหวทางสังคม

 ตัวอย่างที่เห็นชัด อย่างแรกคือ ข้อตกลงการค้าระดับโลก ที่สร้างกรอบการทำงานที่ดูเหมือนถูกกฎหมายสำหรับการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจ แต่มักจะให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ขององค์กรมากกว่าสิทธิมนุษยชนหรือการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม กล่าวได้ว่าข้อตกลงการค้าโลกเป็นตัวแทนของการผสมผสานระหว่างอำนาจทางเศรษฐกิจและกฎหมาย

อย่างที่สองคือ  แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย แพลตฟอร์มเหล่านี้กำหนดข้อกำหนดในการให้บริการและนโยบายการกลั่นกรองเนื้อหาของตนเอง และมีอิทธิพลอย่างมากต่อบรรทัดฐานการสื่อสารและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นตัวอย่างของการบรรจบกันของเทคโนโลยีและการควบคุมวัฒนธรรมภายในจักรวรรดิ

อย่างที่สามคือ  องค์กรระหว่างประเทศ องค์กรต่าง ๆ เช่น ธนาคารโลกหรือ IMF ส่งเสริมแบบจำลองทางเศรษฐกิจและนโยบายการพัฒนาที่เฉพาะเจาะจง มีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจของประเทศและโครงสร้างทางสังคม ซึ่งแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลที่ผสมผสานกันของอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองภายในจักรวรรดิ

 กล่าวโดยสรุป แนวคิดลัทธิจักรวรรดินิยมสมัยใหม่แตกต่างจากจักรวรรดินิยมแบบดั้งเดิมที่มีศูนย์กลางอยู่ที่รัฐชาติแต่ละรัฐ จักรวรรดิใหม่เป็นตัวแทนของโครงสร้างระดับโลกแบบใหม่ และปรากฏอยู่ท่ามกลางอำนาจการปกครองที่ก้าวข้ามขอบเขตของประเทศ มีอัตลักษณ์เฉพาะที่ยืดหยุ่นและความหลากหลาย ศัตรูของจักรวรรดิตามระเบียบการปกครองใหม่นี้ มิใช่ศรัตรูในความหมายเดิม แต่เป็นบุคคล กลุ่ม หรือชาติที่ถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อระเบียบและบรรทัดฐานของจักรวรรดิ กล่าวได้ว่า แนวคิดจักรวรรดิของเนกริและฮาร์ทได้สร้างแนวคิดใหม่เกี่ยวกับ อำนาจอธิปไตย อัตลักษณ์ และความแตกต่าง ที่สะท้อนการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจในสังคมหลังสมัยใหม่ได้อย่างชัดเจน (ยังมีต่อ)


กำลังโหลดความคิดเห็น