xs
xsm
sm
md
lg

เส้นทางศรีวิชัย เครือข่ายทางการค้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในทะเลใต้ยุคโบราณ ตอน มหาราชาศรีมัตตะไตรโลกยราชเมาลิภูษณะวรมะเทวะ : บรรณาการไปราชสำนักซ่งครั้งสุดท้าย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ดร.เกียรติกำจร มีขนอน

โดย ดร.เกียรติกำจร มีขนอน

มหาราชาศรีมัตตะไตรโลกยราชเมาลิภูษณะวรมะเทวะ (ประมาณพ.ศ.1712-17?) บันทึกหลิ่งว่ายไต้ต่า (岭外代答) ของโจวชื่อเฟยระบุไว้ในปีพ.ศ.1721 พระองค์ได้ส่งทูตเข้าเฝ้าจักรพรรดิซ่งเสี่ยวจง (พ.ศ.1705-1732) และศรีวิชัยใช้กำลังทหารปกป้องเส้นทางการค้า จากสารานุกรมเหวินเซี่ยนท๊งเข่า (文献通考 พ.ศ.1850) ของหม่าต๊วนหลิน (马端临) บอกว่าพระองค์ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระราชบิดาในปี พ.ศ.1712 ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่ทราบว่าทรงพระนามว่าอะไร

สารานุกรมนี้ยังระบุว่าปาเล็มบังเป็นเมืองท่าสำคัญและกล่าวว่าในปีพ.ศ.1715 พระองค์ส่งพระราชสาสน์กราบทูลจักรพรรดิซ่งเสี่ยวจงให้ขายทองแดงและจ้างช่างชาวจีนให้มาหล่อทองแดงนี้ทำหลังคาของวัดหรือวังในศรีวิชัย เนื่องจากจักรพรรดิซ่งเกาจงออกราชโองการรักษาทองแดงสำรองในปีพ.ศ.1675 จักรพรรดิซ่งเสี่ยวจงจึงทรงปฏิเสธ ดังนั้นพระองค์จึงพยายามลักลอบขนทองแดงและสำริดจากจีนไปศรีวิชัย แต่ถูกทางการจีนจับได้

หม่าต๊วนหลินและลั่วเย่ (楼钥) ได้บันทึกเหตุการณ์นี้ไว้ในสารานุกรมเหวินเซี่ยนท๊งเข่าและหนังสือก๊งกุ่ยจี๊ (攻媿集) ในปีพ.ศ.1715 บันทึกหลิ่งว่ายไต้ต่าระบุว่า 6 ปีให้หลังในปีพ.ศ.1721 พระองค์ส่งเครื่องบรรณการไปจีนเป็นจำนวนมากไปกับคณะทูตชุดนี้แต่ราชสำนักซ่งไม่อนุญาตให้เข้าเฝ้าที่เมืองหังโจวแต่ให้คณะทูตอยู่ที่ฉวนโจวในฝูเจี้ยนแล้วส่งพระราชสาสน์ไปที่หังโจวเท่านั้น เพื่อลดค่าใช้จ่ายเพราะถ้าให้ทูตเข้าเฝ้า จักรพรรดิซ่งเสี่ยวจงจะต้องพระราชทานสิ่งของตอบแทน (回賜 หุยชื่อ) ซึ่งเป็นการสิ้นเปลือง

ความเป็นไปได้อีกประการหนึ่งคือ จักรพรรดิซ่งเสี่ยวจงอาจทรงทราบแผนการที่พระองค์พยายามลักลอบขนทองแดงและสำริดจากจีนก็เป็นได้ ทูตจากศรีวิชัยจึงไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าเฝ้า คณะทูตชุดนี้เป็นคณะทูตชุดสุดท้ายของสมาพันธรัฐศรีวิชัยที่ส่งบรรณาการไปให้จีนในราชวงศ์ซ่ง หลังจากนั้นราชวงศ์ซ่งเปลี่ยนนโยบายยกเลิกระบบบรรณาการเนื่องจากในสมัยราชวงศ์ซ่งตอนใต้เป็นยุคที่สังคมจีนมีการเปลี่ยนแปลงจากสังคมชาวนามาเป็นระบบทุนนิยม ชาวนาเข้ามาอาศัยตามเมืองใหญ่ ๆ เพื่อขายแรงงาน ทอผ้า รับจ้าง (ซึ่งเกิดขึ้นอีกครั้งในยุโรปสมัยปฎิวัติอุตสาหกรรม) เกิดการขยายตัวของชุมชนเมือง นอกจากนี้ราชสำนักซ่งต้องส่งบรรณาการไปให้รัฐเหลียว จินและมองโกลที่อยู่ทางตอนเหนือทำให้ราชสำนักซ่งต้องตัดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จึงยกเลิกระบบบรรณาการเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายโดยให้การค้าต่างประเทศทั้งหมดมาอยู่ในระบบศุลกากรทางทะเล (市舶司制度ฉือป้อซื้อจื๋อตั้ว) เป็นการค้าเสรีโดยศุลการักษ์ของราชวงศ์ซ่งเก็บภาษีศุลกากรจากพ่อค้าที่นำสินค้าเข้าไปขายในจีนโดยตรงทำให้บทบาทรัฐบรรณาการชั้นนำของสมาพันธรัฐศรีวิชัยลดลง จึงไม่มีการส่งทูตไปเพื่อรักษาสิทธิการค้าของราชสำนักศรีวิชัยอีกต่อไปทำให้พ่อค้าชาวจีนส่งเรือไปค้าขายกับเมืองท่าต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้โดยตรง และสมาพันธรัฐศรีวิชัยสูญเสียอำนาจผูกขาดทางการค้ากับจีนช่วงไม่มีระบบบรรณาการนี้ได้สิ้นสุดลงไปพร้อมกับราชวงศ์ซ่งแต่ราชวงศ์หยวนยังคงใช้ระบบศุลกากรทางทะเลโดยดัดแปลงบางอย่าง

รัชสมัยของพระองค์ตรงกับรัชสมัยพระเจ้าตรีภูวนาทิตยวรมัน (พ.ศ.1709-1720) แห่งกัมพูชาซึ่งขาดความชอบธรรมในการครองราชย์ และในปีพ.ศ.1720-1721 อาณาจักรจามปาได้โจมตีกัมพูชาจนกระทั่งถึงปีพ.ศ.๑๗๒๔ ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ได้ขึ้นนครองราชย์ที่นครธม ซึ่งเป็นช่วงที่กัมพูชาวุ่นวายที่สุด อาจมีชาวเขมรเป็นจำนวนมากอพยพข้ามอ่าวไทยมาที่เมืองไชยาและตามพรลิงค์ซึ่งเป็นเมืองทางเหนือของสมาพันธรัฐศรีวิชัยทำให้ศิลปะศรีวิชัยในแหลมมลายูช่วงนี้เริ่มได้รับอิทธิพลศิลปะเขมร ในช่วงนี้สันนิษฐานได้ว่าพระองค์อาจยกทัพมาจากจัมบิขึ้นมาที่แหลมมลายูที่เมืองตามพรลิงค์และเมืองไชยาเพื่อคุมเชิงสถานการณ์ในกัมพูชาและเอาเมืองต่างๆกลับมาขึ้นกับศรีวิชัยตามเดิมหรือพระองค์อาจส่งทหารไปช่วยกัมพูชาสู้กับจามปา เนื่องจากในปีพ.ศ.1726 พระองค์ได้สร้างพระพุทธรูปปางนาคปรกไว้เป็นที่ระลึกที่ไชยา ซึ่งค้นพบที่วัดหัวเวียง อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี โดยมีจารึกที่ใต้ฐานพระพุทธรูปที่เซเดส์แปลว่า “ศักราช 1105 เถาะนักษัตร์ มีพระราชโองการ กัมรเตงอัญ มหาราชศรีมัตตะไตรโลกยราช เมาลิภูษณะวรมะเทวะ ขึ้น 3 ค่ำเชฎฐมาศ (เดือน 7) วันพุธ ให้มหาเสนาบดีกลาไน ผู้รักษาเมืองครหิ อาราธนา มรเต็ง ศรีญาโณ ให้ทำปฏิมานี้ สำริดมีน้ำหนัก 1 ภาระ 2 ตุละ ทองคำมีราคา 10 ตำลึง สถาปนาให้มหาชนทั้งปวงผู้มีศรัทธาอนุโมทนาและบูชานมัสการอยู่ที่นี่ เพื่อจะได้ถึงสรรเพชญาณ” เป็นหลักฐานที่ถือว่าเก่าที่สุดที่กล่าวถึงราชวงศ์ใหม่ที่ชื่อว่า “เมาลิ (นกยูง)” ซึ่งสารานุกรมเหวินเซี่ยนท๊งเข่าระบุว่าพระองค์ไม่ใช่ผู้ก่อตั้งราชวงศ์เมาลิแต่สืบราชสมบัติจากพระราชบิดา ซึ่งจะต้องค้นหาหลักฐานใหม่ๆมาพิสูจน์กันต่อไปว่าใครเป็นผู้ก่อตั้งราชวงศ์เมาลิ ส่วนเมืองครหิซึ่งเป็นอีกชื่อหนึ่งของเมืองไชยาแสดงว่าเมืองไชยาอาจจะเป็นเมืองที่สำคัญสำหรับมหาราชาศรีวิชัยที่ราชวงศ์เมาลิส่งพระญาติมาปกครอง เนื่องจากในจารึกเป็นภาษาเขมรที่ใช้อักษรกวิของชวาเขียน มีคำภาษาเขมรว่า กัมรเตง อัญ อยู่หน้าพระนามของพระองค์นี้ทำให้จิตร ภูมิศักดิ์สันนิษฐานว่าราชวงศ์เมาลิเป็นเมืองขึ้นเขมรเนื่องจากกัมพูชาเกิดความวุ่นวายทางการเมืองจึงไม่น่าเข้มแข็งพอที่จะแผ่อิทธิพลไปถึงจัมบิในเกาะสุมาตราได้ การสันนิษฐานของจิตร ภูมิศักดิ์จึงไม่น่าเป็นไปได้และไม่มีหลักฐานทางโบราณคดียืนยันว่ากัมพูชาแผ่อิทธิพลไปถึงเกาะสุมาตราเนื่องจากพระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปงดงามมากมีอิทธิพลศิลปะเขมรผู้สร้างคือมรเต็ง ศรียาโณซึ่งเป็นชาวเขมรเพราะคำว่า มรเต็งเป็นคำใช้เรียกผู้ที่มีบรรดาศักดิ์ในสังคมกัมพูชา ส่วนราชวงศ์เมาลิมีฐานอยู่ที่จัมบิในสุมาตราและกลาไนเป็นชื่อภาษามลายูพระพุทธรูปองค์นี้จึงเป็นการเชื่อมโยงระหว่างอารยธรรมมลายูและเขมร พระพุทธรูปองค์นี้มีขนาดสูง 160 ซม.เสมอศีรษะทำเป็นปางมารวิชัย อยู่ใต้นาคปรก ผิดจากหลักเกณฑ์ที่ยึดถือในกัมพูชาว่าพระนาคปรกเป็นปางสมาธิทั้งนั้น และคำว่า “ศรีมัตตะ” เป็นภาษาทมิฬแปลว่า”เจ้านายของปุโรหิต”ราชวงศ์นี้อาจสืบเชื้อสายจากปุโรหิตทมิฬ พระองค์อาจเป็นเครือญาติของราชวงศ์เขมรหรืออภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงเขมรและอาจส่งทหารไปช่วยกัมพูชาจนได้รับการแต่งตั้งเป็น กมรเต็ง อัญ แบบเขมรแบบพ่อขุนผาเมืองที่เป็นราชบุตรเขยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ก็เป็นได้ น่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างศรีวิชัยและกัมพูชาเพราะทั้ง 2 อาณาจักรนับถือพุทธศาสนานิกายมหายานเหมือนกัน

รูป 1. รูปพระพุทธรูปปางนาคปรกที่ค้นพบที่วัดหัวเวียง อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ได้รับอนุเคราะห์จากพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร
เอกสารอ้างอิง
WikiPediaSriwijayaDinastiMauli (ภาษาอินโดนีเซีย)

จิตร ภูมิศักดิ์ พ.ศ.2526. สังคมไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนสมัยศรีอยุธยา. กรุงเทพ: ไม้งาม.

ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ พ.ศ.2523. ศิลปะทักษิณก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๙. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร.
วิมล เขตตะ รัตนดา อาจวิชัย พยงค์ มูลวาปี อลิสา เล็กวานิชย์ และ ธนพล เอกพจน์. พ.ศ.2560. "กมรเต็งอัญ:ศึกษาในประเด็นที่มาและรูปแบบการใช้คำ." วารสารช่อพยอม 28 (1).

อภิชาติ ทวิโภคา พ.ศ.2559. สด๊กก๊อกธม-บันเตียชมาร์ ประวัติศาสตร์และโบราณคดี. สระแก้ว: ดำรงชัยการพิมพ์

Lombard-Salmon, Claudine. 2002. "Srivijaya, la Chine et les Marchands chinois (Xe-XIIe s.). Quelques Réflexion sur la Société de l’Empire sumatranais." Archipel 63: 67-78.

Lou Ye 楼钥. 1935. Gongkuiji 攻媿集 [Attack on Shame]. Shanghai: The Commercial Press 商务印书馆.

Ma Duanlin 马端临. 1986 (1317). Wenxiantongkao 文献通考 [Comprehensive Studies in Administration]. Beijing: Zhonghua Book Company 中华书局.

Miksic, John Norman 2010. The A-Z of Ancient Southeast Asia. Lanham, Maryland: Scarecrow Press.

Suzuki Takashi 铃木峻. 2012. The History of Srivijaya under the Tributary Trade System of China. Tokyo: Mekong

Zhou Qufei 周去非. 1996 (1178). Lingwaidaida 岭外代答 [Notes from the Land Beyond the Passes]. Edited by Tu Youxiang屠友祥. Shanghai: Yuandong Chubanshe 上海远东出版社.



กำลังโหลดความคิดเห็น