ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ตกอยู่ในสภาพ “นายกฯ เสือกระดาษ” เข้าไปทุกวัน เพราะไม่ว่า “นายเศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะมีนโยบายหรือให้สัญญาณชี้ทิศทางอย่างไรก็หาได้มีใครสนใจแต่อย่างใดไม่ ดูจากล่าสุดที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงดอกเบี้ยนโยบาย ไม่ลดไม่ปรับอย่างที่นายกฯ อยากให้เป็น หรือโครงการแจกดิจิทัล วอลเลตที่เจอรุมต้านรอบทิศทาง ขณะที่ประชาชนคนไทยได้แต่หน้าแห้งเฝ้ารอความหวัง
“....เรามาอยู่ตรงนี้แล้ว เราถูกเลือกมาแล้วเป็นตัวแทนของพี่น้องประชาชน เราถูกเลือกให้มาดูแลปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ทุกปัญหามีความยากง่ายแตกต่างกันไป ก็พยายามต่อไป ไม่ได้เสียกำลังใจ ไม่ได้ท้อถอย เพราะเรามายืนตรงนี้แล้ว ความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่ต้องดูแล ถึงแม้จะมีความเห็นต่างก็ต้องพูดคุยกัน” นายกรัฐมนตรีตอบคำถามถึงความเห็นต่างระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายปฏิบัติกรณีมติกนง.คงดอกเบี้ยนโยบาย เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ นายเศรษฐาไม่เห็นด้วยกับมติของ กนง. แต่ก็ยอมรับว่า กนง.มีความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายด้านการเงิน รัฐบาลไม่มีสิทธิไปก้าวก่ายอะไร ทว่า รัฐบาลอยากเห็นนโยบายการเงินการคลังเดินไปด้วยกัน เพราะตอนนี้เงินเฟ้อติดลบติดต่อกัน 4 เดือนแล้ว สร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนเป็นจำนวนมาก
กนง.แข็งข้อยืนกรานคงดอกเบี้ย
จับตา “เสียงแตก” ลุ้นข่าวดีในเร็ววัน
แม้จะมีการ “ส่งเสียง” และ “ส่งสัญญาณ” จาก “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รวมทั้งทีมที่ปรึกษาของพรรคเพื่อไทยไปยัง “ธนาคารแห่งประเทศไทย” ถึงขนาดเกิดกระแสปลด “นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” มาอย่างต่อเนื่อง แต่ในที่สุดในการประชุมเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา “คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)” ก็ยังคงมีมติ 5 ต่อ 2 เสียงในการคงดอกเบี้ยนโยบายเอาไว้ที่ 2.5%
ส่วน 2 เสียงที่เห็นควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.25 ให้เหตุผลว่าเพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต่ำลงจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง ซึ่ง 2 เสียงที่แตกต่างถูกตีความว่า กนง.มีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆ นี้
ทั้งนี้ หากดูสถิติในการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่ามีการปรับขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2565 จากระดับ 0.50% ต่อปี โดยปรับ 0.25% ขึ้นมาอยู่ที่ 0.75% ต่อปี หลังจากนั้น หลังจาก กนง. ก็ได้ทยอยปรับขึ้นมาต่อเนื่อง โดยปรับครั้งละ 0.25% ต่อปี จนถึงระดับ 2.50% ต่อปีเมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2566 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ คิดเป็นการปรับขึ้นมาแล้ว 2.00% ต่อปี หรือเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ย 8 ครั้งต่อเนื่อง และการประชุมครั้งสุดท้ายของปี 2566 เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2566 กนง.ได้มีมติคงดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกที่ระดับ 2.50% ต่อปี
“นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับมติดังกล่าวว่า กนง.มีมุมมองว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงจากภาคการส่งออกและการผลิต เนื่องจากอุปสงค์โลกและเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวช้า รวมถึงปัจจัยเชิงโครงสร้างกระทบการขยายตัวของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวมากกว่าที่ประเมินไว้ แต่อุปสงค์ในประเทศยังขยายตัวต่อเนื่องและเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจ ด้านอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ โดยมีแนวโน้มทยอยเพิ่มขึ้นเข้าสู่กรอบเป้าหมายช้ากว่าที่ประเมินไว้ คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจที่ขยายตัวชะลอลงในช่วงที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เกิดจากแรงส่งจากภาคต่างประเทศที่น้อยลงและผลกระทบจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง แต่การบริโภคยังขยายตัวดีต่อเนื่อง ขณะที่อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงินซึ่งเป็นรากฐานสำคัญสำหรับการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนในระยะยาว กรรมการส่วนใหญ่จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
กนง.ชี้ว่า เศรษฐกิจไทยในปลายปี 2566 ขยายตัวชะลอลงกว่าคาดจากการส่งออกสินค้าและการผลิตที่ฟื้นตัวช้าตามภาวะการค้าโลกและสินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูง การเปลี่ยนพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ทำให้รายรับต่อคนน้อยกว่าในอดีต และการลงทุนภาครัฐที่ลดลงในช่วงที่งบประมาณรายจ่ายประจำปีล่าช้า แรงส่งทางเศรษฐกิจที่ลดลงในช่วงปลายปี 2566 ส่งผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2567 ปรับลดลงและคาดว่าจะอยู่ในช่วงร้อยละ 2.5-3 โดยการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยวยังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ขณะที่การส่งออกและการผลิตมีแนวโน้มการขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่วนหนึ่งจากอุปสงค์โลกและวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไทยที่ฟื้นตัวช้ากว่าคาด มองไปข้างหน้า ปัญหาเชิงโครงสร้างโดยเฉพาะด้านความสามารถในการแข่งขันของประเทศจะเป็นอุปสรรคมากขึ้น หากไม่มีการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มปรับลดลงกว่าที่ประเมินไว้จากปัจจัยด้านอุปทาน ทั้งราคาอาหารสดและราคาพลังงาน รวมทั้งการขยายมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำในปัจจุบันไม่ได้บ่งชี้ถึงอุปสงค์ที่อ่อนแอ โดยราคาสินค้าไม่ได้ปรับลดลงเป็นวงกว้างแต่สะท้อนปัจจัยเฉพาะในบางกลุ่มสินค้า และหากหักผลของมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังคงเป็นบวก อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2567 มีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำใกล้เคียงร้อยละ 1 ก่อนที่จะทยอยเพิ่มขึ้นในปีหน้า ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มทรงตัวใกล้เคียงเดิม ทั้งนี้ ยังต้องติดตามความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่อาจส่งผลต่อราคาพลังงาน ผลกระทบต่อราคาสินค้าเกษตรจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ
ส่วนระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง สำหรับการระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้โดยรวมยังดำเนินการได้ตามปกติ ภาวะการเงินโดยรวมทรงตัว ต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนผ่านธนาคารพาณิชย์และตลาดตราสารหนี้ใกล้เคียงเดิม ภาคธุรกิจและครัวเรือนโดยรวมยังได้รับสินเชื่อใหม่ต่อเนื่อง ขณะที่ยอดคงค้างสินเชื่อลดลงเล็กน้อยจากการชำระคืนหนี้เป็นหลัก ผู้ประกอบการในภาพรวมยังสามารถชำระหนี้ได้ตามปกติ แม้การฟื้นตัวของรายได้เป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปและต้นทุนวัตถุดิบอยู่ในระดับสูง
อย่างไรก็ดี กลุ่มธุรกิจขนาดเล็กในบางอุตสาหกรรมอาจเผชิญภาวะสินเชื่อที่ตึงตัวตามความระมัดระวังของสถาบันการเงิน ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์ สรอ. ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2567 อ่อนค่าสอดคล้องกับสกุลเงินภูมิภาค ตามการคาดการณ์ทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ เป็นสำคัญ
นายปิติกล่าวด้วยว่า ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ ประเมินว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มชะลอลงเป็นผลมาจากปัจจัยต่างประเทศและปัญหาเชิงโครงสร้าง ขณะที่อุปสงค์ในประเทศมีแรงส่งต่อเนื่องและอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มทยอยเพิ่มขึ้นเข้าสู่กรอบเป้าหมาย อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันยังสอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ รวมทั้งเอื้อต่อการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว ซึ่งประเมินว่าการลดดอกเบี้ยในช่วงนี้ไม่ได้ช่วยเศรษฐกิจมากนัก
คณะกรรมการฯ เห็นว่ายังมีความไม่แน่นอนสูงในระยะข้างหน้าจากปัจจัยวัฏจักรเศรษฐกิจและปัจจัยเชิงโครงสร้าง โดยการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้าจะพิจารณาให้เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ
ด้าน “นายสนั่น อังอุบลกุล” ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่า แม้ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยปีนี้จะฟื้นตัวได้จากปัจจัยหนุนภาคการท่องเที่ยว แต่ก็ยังมีความเปราะบางจากกำลังซื้อภายในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัวตามเต็มที่ ภาคการผลิตยังมีแนวโน้มหดตัว ดังนั้น จึงมีข้อเสนอแนะว่าในระยะถัดไป กนง. ควรพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง เพื่อช่วยลดภาระประชาชน ลดต้นทุนผู้ประกอบการ ซึ่งจะส่วนลดความเสี่ยงในการเกิดหนี้เสีย รวมถึงเสนอให้มีมาตรการใหม่ ๆ ในการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้สะดวก จะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศ และเป็นแรงหนุนให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ตามเป้าหมายต่อไป
ขณะที่ “นายภากร ปีตธวัชชัย” กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวถึงมติ กนง.ว่า มติที่ไม่เป็นเอกฉันท์ เป็นสิ่งที่น่าสนใจว่าในคราวหน้านโยบายหรือการตัดสินใจจะเป็นอย่างไร เพราะเริ่มเห็นแล้วว่ามีกรรมการที่มองว่ามีเหตุผลที่จะเริ่มปรับลดดอกเบี้ย เพราะฉะนั้นตรงนี้มองว่าเป็นสัญญาณที่ดีในอนาคต
ทั้งนี้ ก่อนหน้าที่ กนง. จะมีมติคงดอกเบี้ยและประเมินภาพรวมเศรษฐกิจดังกล่าวข้างต้น นายเศรษฐา ได้ฝากให้ กนง.พิจารณาปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงมาอยู่ที่ 2.25% โดยให้มุมมองว่าเรื่องเงินเฟ้อและดอกเบี้ยเป็นเรื่องใหญ่ เงินเฟ้อที่ติดลบส่วนหนึ่งมาจากมาตรการของภาครัฐที่ช่วยเหลือประชาชนลดรายจ่าย ขณะที่รัฐบาลยังไม่สามารถใช้งบประมาณได้จนกว่าจะถึงเดือนพฤษภาคม 2567 เมื่อรัฐบาลต้องการช่วยเหลือประชาชน และกระตุ้นการลงทุนให้เกิดขึ้น ดังนั้นการลดดอกเบี้ยเป็นเรื่องสำคัญ และรายจ่ายที่เกี่ยวกับเรื่องดอกเบี้ยก็เป็นเรื่องสำคัญ นโยบายการเงินการคลังต้องไปด้วยกัน
“ก็พูดคุยกันตลอด และวันนี้มีการสื่อสารตรงไปตรงมา ไม่ได้เป็นการก้าวร้าว และตัวเลขที่ออกมาเป็นบทพิสูจน์แล้ว และคงไม่มีใครมาถกเถียงว่าตัวเลขที่ติดลบไม่จริงไม่ตรง ตัวเลขมันชัดเจนอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นผมเชื่อว่า เรื่องลดดอกเบี้ยมันถึงเวลา ฝากให้คณะกรรมการ กนง.พิจารณาประชุมกัน” นายเศรษฐา ฝากฝัง กนง.ก่อนการประชุม ทว่ามติ กนง.ที่ออกมา สะท้อนชัดเจนว่า กนง.หาได้รับฟังคำขอของนายกรัฐมนตรีแต่อย่างใด
อย่างไรก็ดี การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. อย่างต่อเนื่องตลอดปีที่ผ่านมา ได้ถูกตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เพราะบทสรุปที่สังคมเห็นชัดเจนเป็นรูปธรรมเก็คือ การที่ธนาคารพาณิชย์มีกำไรในการทำธุรกิจมหาศาลกันอย่างถ้วนหน้า โดยผลประกอบการธนาคารพาณิชย์งวดประจำปี 2566 ทั้ง 9 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ (BBL) บริษัทเอสซีบี เอกซ์ (SCB) ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ธนาคารกรุงไทย (KTB) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) กลุ่มทิสโก้ (TISCO) แอลเอช ไฟแนนซ์เชียลกรุ๊ป (LHFG) และธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) มีกำไรสุทธิรวม 226,571 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33,635 ล้านบาท หรือคิดเป็น 17.4%
ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์ที่มีกำไรสุทธิสูงสุด ได้แก่ เอสซีบี เอกซ์ มีกำไรรวม 43,521 ล้านบาท รองลงมาเป็น ธนาคารกสิกรไทยมีกำไรรวม 42,405 ล้านบาท ธนาคารกรุงเทพมีกำไรรวม 41,635 ล้านบาท ธนาคารกรุงไทยมีกำไรรวม 36,616 ล้านบาท ธนาคารกรุงศรีอยุธยามี กำไรรวม 32,929 ล้านบาท ธนาคารทหารไทยธนชาตมีกำไรรวม 18,462 ล้านบาท ทิสโก้มีกำไรรวม 7,302 ล้านบาท แอลเอชมีกำไรรวม 2,096 ล้านบาท และซีไอเอ็มบี ไทยมีกำไรรวม 1,605 ล้านบาท
ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ 6 อันดับแรกที่มีอัตรากำไรเพิ่มสูงสุดเรียงตามลำดับ ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ มีอัตรากำไรเพิ่มสูงสุดที่ 42.1% ธนาคารทหารไทยธนชาต 30% ธนาคารกสิกรไทย 18.5% เอสซีบี เอกซ์ 15.9% ธนาคารกรุงไทย 8.7% และธนาคารกรุงศรีอยุธยา 7.2% ขณะที่ธนาคารที่มีกำไรลดลงได้แก่ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทยกำไรลดลง 44.9%
ดังนั้น เมื่อ กนง.ยังคงไม่ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงจึงไม่แปลกใจที่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังขึ้นอีกครั้ง ขณะที่รัฐบาลเองก็ไม่แคล้วต้องประสบกับปัญหาในการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจที่สวนทางกันโดยสิ้นเชิง
ป.ป.ช.เตะสกัด ดิจิทัล วอลเลต
ไม่ต่างไปจากโครงการแจกดิจิทัล วอลเลต ให้กับประชาชนคนไทยหัวละหมื่นบาท จำนวน 50 ล้านคน ที่ถูกเตะสกัดมาตลอด นับเนื่องจากท่าทีของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แสดงความไม่เห็นด้วย ตามด้วยกลุ่มนักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์และอดีตผู้ว่าการ ธปท. รวม 99 คน ออกแถลงการณ์คัดค้านและขอให้ยกเลิกโครงการ ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ก็เตือนว่าหากจะออก พ.ร.บ.กู้เงิน ต้องให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง มาตรการ 53 และ มาตรา 57
ล่าสุด เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลงข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลในโครงการดิจิทัล วอลเลต ว่ามีความเสี่ยงต่อการทุจริต และผิดกฎหมายทั้งรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง
นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงว่า นโยบายดังกล่าวเป็นนโยบายที่ใช้งบประมาณค่อนข้างสูง ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนและอาจสร้างภาระการคลังในระยะยาว คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงแต่งตั้ง “คณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็น เกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet” เพื่อศึกษารายละเอียด ผลกระทบ และความเสี่ยงต่อความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการตามนโยบายดังกล่าว
ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่ามี 4 ประเด็นสำคัญที่ควรพิจารณา ได้แก่ หนึ่ง ประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริต อาทิ ประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย ความเสี่ยงต่อการทุจริตจากกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับเงินจากโครงการ
ประเด็นความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ กล่าวคือ การดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ในขณะที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะสมดุล จะต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าและมีความจําเป็น ตลอดจนผลกระทบและภาระทางการเงินการคลังในอนาคต และในกรณีที่มีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบาย ที่มีวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือประชาชนภายใต้สภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เข้าขั้นวิกฤต ควรมีการจัดลำดับความสำคัญ รวมถึงการพิจารณากลุ่มเป้าหมายที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริง อาทิ กลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน จึงอาจเป็นทางเลือกที่จะไม่ส่งผลกระทบทางการคลัง โดยเฉพาะดอกเบี้ยและสัดส่วนของหนี้สาธารณะได้มากกว่า
ประเด็นความเสี่ยงด้านกฎหมาย กล่าวคือ การดำเนินโครงการภายใต้แนวนโยบายดังกล่าว รัฐบาลจะต้องตระหนักและใช้ความระมัดระวังอย่างเคร่งครัดและรอบคอบภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายที่ให้อำนาจไว้ รวมทั้งแนวปฏิบัติที่ชัดเจน โปร่งใส ปราศจากการทุจริตและประพฤติมิชอบ อาทิ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 พระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ. 2491 และที่แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 ตลอดจนกฎหมาย คําวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ และระเบียบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และประเด็นอื่นๆ ได้แก่ เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) และประเด็นเกี่ยวกับการ กําหนดนโยบายของพรรคการเมือง
คณะกรรมการ ป.ป.ช.ในการประชุมครั้งที่ 15/2567 เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 พิจารณาแล้ว มีมติเห็นควรเสนอข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาดำเนินการตามควรแก่กรณี ในการป้องกันมิให้เกิดการทุจริต หรือเกิดความเสียหายต่อประโยชน์ของรัฐหรือประชาชน
ป.ป.ช. มีข้อเสนอแนะฯ โดยสรุป ดังนี้ แจกให้เฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยหรือกลุ่มเปราะบาง, คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ควรตรวจสอบว่าโครงการดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญและพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 หรือไม่ เพราะเป็นนโยบายที่หาเสียงไว้และแถลงต่อสภา, การจะต้องกู้เงิน 5 แสนล้านบาท เป็นการสร้างภาระหนี้แก่รัฐบาลและประชาชนในระยะยาว กระทบต่อการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ, ภาวะเศรษฐกิจของประเทศเพียงแค่ชะลอตัวไม่เข้าขั้นวิกฤต และหากต้องการช่วยเหลือประชาชนควรช่วยกลุ่มที่มีฐานะยากจนที่เปราะบางผ่านระบบแอป “เป๋าตัง” ที่มีฐานข้อมูลครบ
เลขาธิการ ป.ป.ช. ชี้แนะว่า การดําเนินการกรณีนี้ หากใช้แหล่งเงินงบประมาณปกติ มิใช่จากการกู้เงินตามพระราชบัญญัติเงินกู้ จะลดความเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญ ขัดพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลัง พ.ศ. 2561 และขัดพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 ประการสําคัญไม่สร้างภาระหนี้สาธารณะของประเทศในระยะยาว
ฟังถ้อยแถลงของ ป.ป.ช. แล้ว นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทวงการคลัง ตอบรับข้อเสนอแนะโดยข้อห่วงกังวลในเรื่องการทุจริต ก็จะประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต และจะมีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาเพื่อดูเรื่องนี้โดยเฉพาะ เป็นเรื่องที่ต้องตอบคำถามให้ได้ จะมีการประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่อีกครั้งหลังจากนั้นจะแถลงข่าวใหญ่
เมื่อถามว่าข้อเสนอแนะของป.ป.ช.ที่อยากให้แจกเงินเฉพาะกลุ่มเปราะบาง นายกรัฐมนตรี ตอบว่า ก็ต้องดูว่าสิ่งที่ป.ป.ช.บอกมาเป็นอย่างไร และเหตุผลคืออะไร เพราะหน้าที่ป.ป.ช. คือตรวจสอบการทุจริตประพฤติมิชอบ ส่วนนโยบายจะให้ใครบ้างเป็นของรัฐบาล เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องคำนึงถึงและน้อมรับฟังตามข้อสังเกตของการทุจริต ตนเน้นตรงนี้ดีกว่าที่เกี่ยวข้องกับป.ป.ช. คือต้องให้ป.ปปช.มีความสบายใจ ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน
“เรื่องของคนเปราะบาง ก็เป็นเรื่องตั้งแต่วันแรกที่เราได้พูดคุยกันแล้ว ว่าตรงไหนคือเปราะบาง ตรงไหนคือไม่เปราะบาง ถ้าผมบอกว่าต่ำกว่า 20,000 ไม่เปราะบาง หรือถ้าบอกว่าสูงกว่า 20,000 ไม่เปราะบาง คุณได้เงินเดือน 20,000 จะโต้เถียงหรือไม่ผมเปราะบางเหมือนกันผมก็มีหนี้เยอะ ผมก็ต้องการการกระตุ้นเหมือนกันใช่ไหมครับเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน เพราะฉะนั้นทางด้าน ป.ป.ช. หน้าที่ของท่านคือเสนอมาแล้วเรื่องการทุจริตต้องระมัดระวังตรงนี้ผมก็น้อมรับ” นายกฯ ตอบคำถาม
ขณะที่ “น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล” สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้ความเห็นว่า คำแนะนำของ ป.ป.ช. ก็เป็นเพียงอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช.ตาม พ.ร.บ. มาตรา 32 แต่รัฐบาลก็ไม่จำเป็นต้องทำตามที่ ป.ป.ช.เสนอแนะ และในหลายข้อก็คิดว่าน่าจะเกินขอบเขตอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. อย่างไรก็ดี รัฐบาลทราบมาโดยตลอดว่าการออก พ.ร.บ.เงินกู้ มีความเสี่ยงทางกฎหมาย โดยเฉพาะ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง และยังไม่ได้รับคำตอบจากรัฐบาลว่าจะแก้ปมนี้อย่างไร อีกทั้งรายงานของ ป.ป.ช. ยังมีถ้อยคำที่เขียนเรื่องนี้ไว้โดยเฉพาะ จึงอาจทำให้คนไปร้องเรียน ต่อ ป.ป.ช. ได้ง่ายดายขึ้น
“ก็ไม่รู้จะโทษใครดี ที่ต้องการจะทำโครงการขนาดมหึมาแบบนี้ แต่ไม่ได้เตรียมในเรื่องเงินที่วางไว้ จึงต้องมีปัญหาที่ต้องแก้ไปทีละเปลาะแบบนี้ไปเรื่อยๆ ตอนนี้คิดว่าควรมีแอคชั่น อะไรที่สามารถทำได้เลย อาจจะเล็กลงมา ใช้งบกลางที่มีอยู่ก่อนแล้วไปพลางก่อน ก็น่าจะทำให้ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้ภายในระยะเวลานี้” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว
การผลักดันนโยบายสำคัญเพื่อช่วยเหลือประชาชนของนายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” นาทีนี้มากล้นด้วยปัญหา ชาวบ้านชาวช่องที่ลำบากยากเข็ญถ้วนหน้าได้แต่เพียงเฝ้ารอความหวัง และทำท่าว่ารัฐบาลจะต้อง “คิดใหม่ ทำใหม่” เสียแล้วกระมัง