ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สถานการณ์หนี้เสียรถยนต์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ลูกหนี้จำนวนไม่น้อยยังซมไข้พิษเศรษฐกิจ ผ่อนชำระค่างวดไม่ไหว ปี 2566 จำนวนรถยนต์ถูกยึดเข้าลานประมูลรวมกว่า 240,000 คัน สูงสุดในรอบหลายปีนับตั้งแต่ ปี 2561 ที่มีรถฯ ถูกยึดจากโครงการ “รถคันแรก” เข้าลานประมูลกว่า 300,000 คัน
ปริมาณรถโดนยึดมีจำนวนมากขึ้น ทำให้บรรยากาศ “ลานประมูลรถ” เป็นไปอย่างคึกคัก รถยึดที่เข้าสู่ลานประมูลจำนวนมากเป็น “รถกระบะ” เป็นภาพสะท้อนว่าธุรกิจรายย่อยหลายรายไปต่อไม่ไหว
โดนยึดเยอะถึงขนาดที่มีตัวเลขฉลี่ยรถถูกประมูล 1,000 คันต่อวัน โดย 80% ของผู้ที่มาประมูลเป็นผู้ประกอบธุรกิจเต็นท์รถมือ 2 เพราะสามารถประมูลขายด้วยราคาต่ำกว่าเดิม แต่ในมุมหนึ่งผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจซบเซาส่งผลกับการตัดสินใจซื้อรถมือ 2 ของผู้บริโภค เพราะไม่ต้องการสร้างหนี้ก้อนใหญ่หากไม่จำเป็น
นายอนุชาติ ดีประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอพเพิล ออโต้ ออคชั่น (ประเทศไทย) บริษัทประมูลรถรายใหญ่ เปิดเผยว่า ปี 2566 สถานการณ์รถเข้าลานประมูล เฉลี่ยเดือนละ 40,000 - 50,000 คัน รวมกว่า 240,000 คันต่อปี สูงที่สุดในรอบหลายปี นับตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งมีโครงการรถคันแรก ซึ่งในปีนั้นมีรถถูกยึดเข้าลานประมูลราว 300,000 คัน
อย่างไรก็ดี ประเมินว่า ปี 2567 แนวโน้มรถยึดเข้าลานประมูลยู่ที่ราว 200,000 คัน ลดลงจากปี 2566 ที่อยู่ประมาณ 250,000 คัน ซึ่งจำนวนยอดรถยึดปรับลดลงสืบเนื่องจากสถาบันการเงินเร่งช่วยลูกหนี้ในการปรับโครงสร้าง และการเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อในปีนี้ ทำให้คุณภาพสินเชื่อปรับดีขึ้น และลดโอกาสหนี้เสียลง เพราะถูกคัดกรองตั้งแต่แรก แต่อย่างไรก็ตามแม้ยอดรถยึดในปี 2567 แนวโน้มปรับลดลง แต่ยังถือว่าอยู่ในระดับสูง หากเทียบกับช่วงปกติจะมีรถเข้าสู่ลานประมูลเพียงประมาณ 170,000 - 180,000 คันต่อปี
ขณะที่ นายชัชฤทธิ์ ตั้งเถกิงเกียรติ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าผลิตภัณฑ์ธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ ทีเอ็มบีธนชาต เผยว่าตลาดรถยนต์มือสองไม่ได้มีการเก็บข้อมูลแบบ Official record เหมือนกับตลาดรถยนต์ใหม่ โดยปกติแล้วดูจากยอดการโอนทะเบียนของกรมขนส่งทางบก สำหรับตลาดรถยนต์มือสองในปี 2566 ที่ผ่านมาค่อนข้างทรงตัว เพราะผู้คนมีความลังเลของคนในการจับจ่ายซื้อของชิ้นใหญ่ที่ต้องมีภาระผูกพันมากกว่า 5 ปี มีผลกระทบต่อราคารถยนต์ที่ปรับตัวลดลง ซึ่งเป็นเรื่องของซัพพลายด์มากกว่าดีมานด์ ส่งผลให้เมื่อมีรถมือสองเข้ามาในตลาดจำนวนมาก ในห้วงที่กำลังซื้อยังไม่ฟื้นดีจึงมีผลทำให้รถมือสองราคาตกลง
ด้าน นายพิชิต จันทรเสรีกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงไทย คาร์เร้นท์ แอนด์ ลีส จำกัด (มหาชน) หรือ KCAR ผู้ดำเนินธุรกิจให้เช่าและซื้อขายรถมือสอง เปิดเผยว่าภาพรวมอุตสาหกรรมรถยนต์มือสองหดตัว โดยเฉพาะช่วงปลายปี 2566 ที่ผ่านมา ที่ซัพพลายรถยนต์ล้นตลาด จากการยึดทรัพย์ NPL กลุ่มรถยนต์ของสถาบันการเงิน ขณะที่ยอดขายออกมีประมาณ 600,000 คัน ส่งผลให้เกิดแบงก์เข้มการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ ดันยอดปฏิเสธสินเชื่อ (รีเจคชั่น เรต) รถยนต์มือสองขึ้นแตะระดับ 40% โดยเฉพาะกลุ่มรถกระบะที่มีการผ่อนต่อไม่ไหวสูง ทำให้ยอด รีเจคชั่น เรต ทะยานไปมากกว่า 50% และมียอดขายออกได้น้อย
อีกมุมหนึ่งผลกระทบดังกล่าว คือ เมื่อซัพพลายล้น ราคาขายรถมือสองลดลง 20 - 30% จากรถยนต์ราคา 3 แสนบาท ในปี 2565 ลดลงเหลือราคา 2 แสนบาทต้นๆ ในปี 2566 แต่ในปี 2567 คาดว่าราคาจะค่อยๆ ดีดตัวขึ้น นอกจากนี้ รถอีวีจะเข้ามาเป็นตัวแปรในตลาดมือสองปี 2567
ข้อมูลจาก บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) เปิดเผยภาพรวมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ณ ไตรมาส 3/2566 ของสินเชื่อรถยนต์มีอัตราเติบโตสูงถึง 20.9% อยู่ที่ 2.07 แสนล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่อยู่ 1.71 แสนล้านบาท ในแง่จำนวนบัญชีเพิ่มจาก 6.39 แสนบัญชี เป็น 6.94 แสนบัญชี หรือเติบโต 8.6% สะท้อนว่าหนี้เสียกลุ่มรถยนต์ยังคงเป็นปัญหาอยู่ และมองไปข้างหน้าเศรษฐกิจยังขยายตัวต่ำ ปัญหาค่าครองชีพ อาจจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้
ขณะที่ตัวเลขสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) หรือค้างชำระตั้งแต่ 31 วัน แต่ไม่เกิน 90 วัน ของสินเชื่อรถยนต์มีอัตราการเติบโต 17.5% มียอดสินเชื่อจาก 1.81 แสนล้านบาท เพิ่มเป็น 2.13 แสนล้านบาท และมียอดจำนวนบัญชีเพิ่มจาก 4.87 แสนบัญชี เป็น 5.60 แสนบัญชี เติบโต 15.0%
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขหนี้เสียสินเชื่อรถยนต์ หรือเช่าซื้อรถที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เช่นเดียวกับตัวเลขสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) คือ กลุ่มลูกหนี้มีการค้างชำระแต่ไม่ถึง 90 วันของสินเชื่อรถยนต์อยู่ที่ 2.13 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 17.5% จากยอดสินเชื่อ SM ทั้งหมดอยู่ที่ราว 5 แสนล้านบาท สะท้อนว่าประชาชนมีปัญหาเรื่องการค้างชำระการผ่อนค่างวดรถค่อนข้างมาก
ทั้งนี้ ผลพวงจากการผ่อนไม่ไหวของบรรดาผู้ซื้อ ทำให้หนี้เสียสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้สถาบันการเงินทยอยปรับเงื่อนไขการพิจารณาปล่อยกู้ที่มีความเข้มข้นยิ่งกว่าเดิม เป็นลักษณะเดียวกับกรณีบ้านราคาต่ำกว่า 3 ล้าน ซึ่งมีแนวโน้มของหนี้ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ หรือ หนี้ SM มาก ขึ้น เช่น สถาบันการเงินกำหนดว่าต้องเป็นผู้ที่มีเครดิตดีจึงจะสามารถกู้ซื้อรถได้ เป็นเหตุให้ลูกค้าที่ซื้อรถมือสองผ่านเต็นท์รถมีสัดส่วนผู้ถูกปฏิเสธสินเชื่อถึง 30 - 40%
นายวิสิทธิ์ พึ่งพรสวรรค์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีไอเอ็มบี ไทย ออโต้ เปิดเผยว่าแนวโน้มราคารถมือสองจะเห็นว่าปรับลดลงเฉลี่ย 10 - 20% หากเป็นรถยนต์ญี่ปุ่นจะลดลง 10 - 15% และรถยุโรป 15 - 20% มาจากปัจจัยรถยึดที่เข้าลานประมูลค่อนข้างเยอะทำให้สต๊อกรถล้น ประกอบกับสถาบันการเงินอนุมัติสินเชื่อยากขึ้น ทำให้คนที่ต้องการซื้อรถไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้
ทั้งนี้ ยอดปฏิเสธสินเชื่อเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5 - 15% จากเดิมรถใหม่ยอดปฏิเสธจะอยู่ที่ 10% และรถเก่าจะอยู่ที่ 15 - 20% โดยสถาบันการเงินจะเข้มงวดในการอนุมัติมากขึ้น เช่น จากเดิมจะพิจารณาจากรายได้และประวัติข้อมูลเครดิตย้อนหลังเฉลี่ย 6 - 12 เดือน ปัจจุบันจะดูประวัติย้อนหลังมากกว่า 12 - 24 เดือน รวมถึงอาชีพผู้กู้ด้วย โดยยอดหนี้เสียมองเห็นทิศทางเพิ่มขึ้น ทำให้สถาบันการเงินขันนอตความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อตั้งแต่ต้นปี
ขณะที่แนวโน้มการตัดขายหนี้เสียของสถาบันการเงินในปี 2567 นายประชา ชัยสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เชฎฐ์ เอเชีย จำกัด (มหาชน) วิเคราะห์แนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปี 2566 โดยจะเป็นหนี้กลุ่มเช่าซื้อรถยนต์ปรับเพิ่มขึ้นค่อนข้างสูง ส่วนหนึ่งมาจากคุณภาพสินเชื่อ และความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ด้อยลง รวมถึง แนวโน้มราคารถมือสองปรับลดลง และรถยึดที่ไหลเข้ามาจำนวนมาก และรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เข้ามาทำตลาดมีการปรับลดราคา ทำให้ความต้องการซื้อรถมือสองลดลง
ทิศทางดังกล่าวสถาบันการเงินจึงเน้นตัดขายหนี้แทนการยึดรถ เนื่องจากการยึดรถจะทำให้ขาดทุนจากการขาย เพราะเดิมยึดรถมาขายทอดตลาด จากเดิมเคยขายได้ 70% ของราคาหลักประกัน แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 50% ของราคาหลักประกัน ดังนั้น สถาบันการเงินจะใช้วิธีเร่งตัดขายหนี้ดีกว่าการตามยึดรถลูกหนี้
เรียกว่าอาการน่าเป็นห่วง สำหรับสถานการณ์ “หนี้เสียรถยนต์” ที่ยังมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ