xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ผ่าแผน “เศรษฐา-ฮุน มาแนต” คิกออฟเจรจา “OCA” “มหาขุมทรัพย์พลังงานไทย-กัมพูชา” ที่หนทางยังยาวไกล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  บทเริ่มต้นการจรจากันอีกครั้งในเรื่องเส้นเขตแดนและการพัฒนาแหล่งพลังงานเขตพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา (Overlapping Claims Area : OCA) ได้เปิดฉากเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากผู้นำทั้งสองชาติ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พบปะหารือกับสมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาแนต นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชา เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่ทำเนียบรัฐบาล 

“.....ทั้งสองฝ่ายได้หารือและตกลงที่จะกระชับความร่วมมือในด้านความมั่นคงด้านพลังงาน มีการตกลงที่จะหารือเพิ่มเติมเพื่อแสวงหาประโยชน์ร่วมกันจากทรัพยากรไฮโดรคาร์บอนในพื้นที่เรียกร้องที่ทับซ้อนกันระหว่างทั้งสองประเทศ” นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงสาระสำคัญในประเด็นด้านการพัฒนาพื้นที่ชายแดน

 คิกออฟเจรจา OCA ไทย-กัมพูชา เส้นทางอีกยาวไกล 

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล สรุปไฮไลท์สำคัญที่ผู้นำสองชาติแถลงร่วมกันในเรื่องความมั่นคงด้านพลังงาน โดยเห็นควรให้มีการหารือในเรื่องแหล่งพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนระหว่างสองประเทศ (Overlapping Claims Area : OCA) ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้หารือกลไกกับกระทรวงการต่างประเทศแล้ว ซึ่งเห็นควรว่ากลไกในการเจรจาต้องมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพลังงาน กองทัพเรือ เข้ามาเป็นหน่วยงานที่หารือกันในประเด็นเรื่องนี้ต่อไปด้วย เพื่อให้มีความครอบคลุมทุกมิติที่จะต้องมีการเจรจากัน

อย่างไรก็ดี หากจะแกะคีย์สำคัญที่ว่าระหว่าง  กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงพลังงาน ใครจะเป็นผู้นำในการเจรจาฝ่ายไทย แน่นอนว่าพรรคเพื่อไทยไม่ปล่อยให้เรื่องใหญ่เช่นนี้หลุดมือไปอยู่พรรคร่วมเป็นอันขาด ดังนั้น ข้อสั่งการของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จึงระบุชัดเจนในเอกสารแถลงข่าวฉบับภาษาอังกฤษว่าได้สั่งการให้ “กระทรวงการต่างประเทศ”  ซึ่งมี  นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ ในโควตาของ พรรคเพื่อไทย ไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหมายรวมถึงกระทรวงพลังงาน ที่  นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค นั่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ในโควตาของ  พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) 

ขณะเดียวกัน หากดูจากเอกสารแถลงข่าวฉบับภาษาอังกฤษ ระบุชัดว่า นายกรัฐมนตรีทั้งสองชาติ เห็นพ้องให้มีการเจรจาทั้งสองเรื่องไปพร้อมกัน โดยระบุในข้อ 4. ความว่า “ด้านพลังงานไทยและกัมพูชาต้องนำเข้าพลังงานธรรมชาติทุกปี เราจึงได้มีการหารือเพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงาน ในการนี้เราได้ตกลงที่จะหารือกันต่อไปเพื่อให้ประโยชน์จากแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อนของสองประเทศ

“ในเวลาเดียวกัน เราให้ความสำคัญกับการปักปันเขตแดนทางทะเลและตกลงที่จะหารือในประเด็นนี้ไปพร้อมๆ กันกับการพัฒนาแหล่งทรัพยากรไฮโดรคาร์บอน

“ในการนี้ ผม (นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง) จะได้สั่งการให้กระทรวงการต่างประเทศ ไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกระทรวงพลังงาน และ กองทัพเรือ ในประเด็นดังกล่าวเพื่อดำเนินการเจรจากับฝ่ายกัมพูชาต่อไป.”

ถ้อยคำตามเอกสารแถลงข่าวข้างต้น ถือเป็นการ  “ปัดตก” ข้อเสนอของนายพีระพันธุ์ก่อนหน้านี้ที่ต้องการให้กระทรวงพลังงาน เป็นลีดหรือนำการเจรจากับฝ่ายกัมพูชา แทนที่กระทรวงการต่างประเทศ โดยผูกกับอีกประเด็นสำคัญคือการเจรจาเขตทับซ้อนไทย - กัมพูชา กระทรวงพลังงานต้องการจะแยกการเจรจาเรื่องการพัฒนาแหล่งพลังงานในเขตทับซ้อนฯ ออกจากการเจรจาเส้นแบ่งเขตแดนทางทะเล เพราะหากผูกสองเรื่องเข้าด้วยกันจะทำให้การเจรจายืดเยื้อสำเร็จได้ยาก นายพีระพันธุ์จึงวาดหวังและตั้งใจเปลี่ยนเป้าหมายการเจรจาให้ทั้งสองชาติหาข้อยุติในการพัฒนาเขตทับซ้อนฯ ให้สามารถนำปิโตรเลียม โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้ประโยชน์ร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาราคาพลังงานแพง ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่ทั้งไทยและกัมพูชาต่างมีปัญหาเช่นเดียวกัน

ส่วนการตระเตรียมของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ซึ่งเตรียมข้อมูลรอเสนอรัฐบาลเพื่อไทย ทั้งหลักเกณฑ์เงื่อนไขของสัญญาหรือสัมปทานปิโตรเลียม ยกร่างรูปบบการบริหารและการจัดการที่จะนำใช้การสำรวจและพัฒนาปิโตรเลียมในเขตพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-กัมพูชา ซึ่งจะใช้โมเดลของการพัฒนาพื้นที่เขตทับซ้อนไทย-มาเลย์ เป็นแม่แบบ ก็เป็นอันต้องเก็บเข้าแฟ้มไปก่อน

เช่นเดียวกันกับ นายพิชัย นริพทะพันธุ์  ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ตั้งความหวังว่าการเจรจาพัฒนาแหล่งพื้นที่ปิโตรเลียมทับซ้อน ไทย-กัมพูชา ในโอกาสที่ผู้นำสองชาติพบปะหารือกันครั้งนี้  “หวังว่าจะได้ข้อยุติ”  ก็คงต้องอยู่ในอาการ  “ฝันค้าง”  เฝ้ารอกันต่อไป

กล่าวสำหรับบันทึกความเข้าใจระหว่างสองประเทศที่ลงนามในกรุงพนมเปญ เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2544 (MOU 2544) โดย  นายสุรเกียรติ เสถียรไทย  รัฐมนตรีต่างประเทศของไทยขณะนั้น และ  นายซก อัน  รัฐมนตรีอาวุโส ประธานการปิโตรเลียมแห่งชาติกัมพูชา กำหนดให้สองฝ่าย ‘เจรจา’ เพื่อจัดทำ 1. ความตกลงสำหรับการพัฒนาร่วมทรัพยากรปิโตรเลียม 2. ตกลงแบ่งเขต ‘ซึ่งสามารถยอมรับได้ร่วมกัน’ สำหรับทะเลอาณาเขตไหล่ทวีปและเขตเศรษฐกิจจำเพาะในพื้นที่ที่ต้องแบ่งเขต กับให้จัดตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (Joint Technical Committee : JTC) เพื่อทำการกำหนดเงื่อนไขที่ตกลงร่วมกันของสนธิสัญญาการพัฒนาร่วม และการแบ่งเขตทะเลอาณาเขต ไหล่ทวีปและเขตเศรษฐกิจจำเพาะ

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการคลัง และสมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาแนต นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชา นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชา หารือร่วมเต็มคณะ ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล

แผนที่แสดงเขตทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา
ในทางปฏิบัติที่ผ่านมา จึงมีการตั้งคณะอนุกรรมาธิการร่วมด้านเทคนิคไทย-กัมพูชา (ฝ่ายไทย) ขึ้นมารองรับการทำงานของ JTC และมีคณะทำงานแยกกัน 2 คณะ คือ คณะทำงานร่วมไทย-กัมพูชาว่าด้วยการกำหนดพื้นที่พัฒนาร่วม นำโดยอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งมีความชำนาญเรื่องเขตแดน และคณะทำงานว่าด้วยระบอบพัฒนาร่วม นำโดยอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ซึ่งชำนาญทางด้านการบริหารและจัดการพลังงาน

สถานะล่าสุด นับแต่ทำบันทึกความเข้าใจกันมาตั้งแต่ปี 2544 คณะกรรมาธิการร่วม JTC นั้นเพิ่งประชุมกันไปอย่างเป็นทางการเพียง 2 ครั้ง ประธาน JTC หารือกันอย่างไม่เป็นทางการไป 4 ครั้ง คณะอนุกรรมาธิการร่วมประชุมกัน 2 ครั้ง คณะทำงานว่าด้วยการกำหนดพื้นที่พัฒนาร่วมประชุมกันเพียง 1 ครั้ง คณะทำงานด้านระบอบพัฒนาร่วมประชุมได้บ่อยกว่าคณะอื่นทั้งหมดคือ 6 ครั้งในรอบกว่า 22 ปี

ตามบันทึกความเข้าใจฯ ที่กำหนดว่าจะต้องดำเนินการจัดทำความตกลงสำหรับการพัฒนาร่วมและแบ่งเขตทางทะเลไปพร้อมกัน โดยไม่อาจจะแบ่งแยกได้ (an indivisible package) ในทางปฏิบัติคงไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะทำทั้งสองเรื่องให้เสร็จพร้อมกัน แต่บันทึกข้อตกลงฯ ก็ไม่ได้ห้ามว่าไม่ให้ทำเรื่องใดเรื่องหนึ่งให้เสร็จก่อนหรือหลัง ดังนั้นขึ้นอยู่กับว่าคณะเจรจายกใหม่นี้จะแปลความให้มีการ “ปลดล็อก” และเดินหน้าต่อกันอย่างไร

ถ้าหากการพบปะหารือของผู้นำทั้งสองชาติ ยังคงกรอบความตกลงเดิมเอาไว้ไม่เปลี่ยนแปลงสำหรับการเจรจาเขตทับซ้อนฯ การคิกออฟเจรจารอบใหม่ในยุครัฐบาลเศรษฐา แห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาล ฮุน มาเนต แห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ดูท่าเส้นทางความสำเร็จยังอีกยาวไกล ท่ามกลางมรสุมวิกฤตราคาพลังงานที่ทั้งสองชาติกำลังเผชิญปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศไทยที่บริโภคพลังงานในอัตราที่สูงกว่ากัมพูชาหลายเท่าตัว และขณะนี้แหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่มีราคาถูกก็ร่อยหรอลง เช่นเดียวกันกับแหล่งก๊าซจากเจดีเอไทย-มาเลย์ รวมทั้งก๊าซฯ จากพม่า

 ปตท.สผ.ห่วงวิกฤตก๊าซอ่าวไทยซ้ำรอย 

ก่อนหน้าที่ผู้นำทั้งสองชาติจะพบปะหารือกันหนึ่งวัน  นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (PTTEP) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยถึงการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนฯ ว่า เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องหาวิธีเจรจาตกลงกันให้ได้ว่าจะพัฒนาร่วมกันอย่างไรเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับทั้งสองประเทศ โดยส่วนตัวมองว่าการเดินหน้าพัฒนาโครงการในพื้นที่ OCA ไม่ต้องแบ่งเส้นเขตแดน แต่หวังว่าจะมีการพัฒนาร่วมกัน เช่นเดียวกับพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA) ซึ่งตกลงร่วมกันโดยไม่แบ่งแยกเขตแดนแต่สามารถสำรวจและผลิตร่วมกันได้ ดังนั้นในส่วนของ OCA หากตกลงกันได้ก็ขึ้นกับภาครัฐว่าจะดำเนินการต่ออย่างไร ซึ่งปตท.สผ.พร้อมดำเนินการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เนื่องจากมีโครงการ G1/61 (แหล่งก๊าซฯเอราวัณ) ใกล้พื้นที่ดังกล่าวอยู่แล้ว

ซีอีโอของปตท.สผ. เผยว่า พื้นที่ OCA ยังไม่มีการสำรวจทางธรณีวิทยา ที่ผ่านมาเป็นการคาดการณ์ว่ามีศักยภาพ เพราะเป็นพื้นที่ต่อเนื่องกับแหล่งเอราวัณ หากตกลงร่วมกันได้และเปิดให้มีการสำรวจและพัฒนาฯ คาดว่าจะนำก๊าซฯขึ้นมาได้ (First Gas) ภายใน 5 ปี ซึ่งเร็วกว่าในอดีตที่จะต้องใช้เวลาในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (E&P) นานถึง 9 ปี เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีได้รับการพัฒนามากขึ้นทำให้การสำรวจและผลิตทำได้รวดเร็วขึ้น

นายมนตรียังแสดงความเป็นห่วงแหล่งปิโตรเลียมไพลินที่เชฟรอนฯ เป็นผู้ดำเนินการจะสิ้นสุดสัมปทานลงในปี 2571 หากไม่ได้ต่ออายุสัมปทานออกไปอีก 10 ปี หรือมีความล่าช้าก็จะส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิตก๊าซฯ ที่จะลดลงซ้ำรอยกรณีแหล่งเอราวัณที่มีปัญหาปริมาณการผลิตก๊าซฯ ลดลงในช่วงรอยต่อ ซึ่งปัจจุบันแหล่งไพลินมีกำลังผลิตอยู่ที่ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

นายเศรษฐา ทวีสิน และสมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาแนต เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความตกลงและแลกเปลี่ยนบันทึกความเข้าใจ ที่ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล
 ลงนาม MoU 5 ฉบับ ยกระดับความสัมพันธ์ทุกมิติ 

อย่างไรก็ดี สำหรับการพบปะหารือของผู้นำไทยและกัมพูชาในครั้งนี้ ถือเป็นความก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญในการยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชา หลังจากมีปัญหาบาดหมางกันในกรณีคดีปราสาทพระวิหารนับเนื่องมาตั้งแต่ปี 2551 จวบจนปัจจุบัน

การพบปะคราวนี้ ผู้นำทั้งสองชาติประกาศชัดเจนถึงการยกระดับความสัมพันธ์สู่การเป็น  “หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์”  เปิดโอกาสให้ทำงานอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น และส่งเสริมศักยภาพของทั้งสองประเทศที่มีร่วมกัน โดยไทยจะเปิดสถานกงสุลใหญ่แห่งใหม่ในเมืองเสียมเรียบ ในขณะที่กัมพูชาจะเปิดสถานกงสุลใหญ่แห่งใหม่ในสงขลาภายในปี 2567

ในโอกาสนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และสมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาแนต (Samdech Moha Borvor Thipadei Hun Manet) นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชา ยังเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามและแลกเปลี่ยนบันทึกความเข้าใจ 5 ฉบับ ดังนี้

 1) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติและการรับมือเหตุฉุกเฉินระหว่างไทยกับกัมพูชา (MoU between the Ministry of Interior of the Kingdom of Thailand and the National Committee for Disaster Management of the Kingdom of Cambodia on Cooperation in the Area of Disaster Risk Reduction and Emergency Response)  ซึ่งผู้ลงนามฝ่ายไทยคือ นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และฝ่ายกัมพูชา คือ H.E. General Kun Kim รัฐมนตรีอาวุโส และรองประธานคณะกรรมการบริหารจัดการภัยพิบัติแห่งชาติกัมพูชา (Senior Minister and First Vice-President of National Committee for Disaster Management of Cambodia)

  2) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กับกระทรวงอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมกัมพูชา (MoU Between the Government of the Kingdom of Thailand and the Government of the Kingdom of Cambodia on Academic, Scientific and Technological Cooperation) ซึ่งผู้ลงนามฝ่ายไทยคือ นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และฝ่ายกัมพูชา คือ H.E. Hem Vanndy รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมกัมพูชา (Minister of Industry Science, Technology and Innovation)

 3) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการผ่านแดนสินค้าระหว่างกรมศุลกากรแห่งราชอาณาจักรไทยและกรมศุลกากรและสรรพสามิตแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา (MoU on the Transit of Goods between the Customs Department of the Kingdom of Thailand and the General Department of Customs and Excise of Cambodia)  ซึ่งผู้ลงนามฝ่ายไทย คือ นายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร และฝ่ายกัมพูชา คือ H.E. Dr. Kun Nhem รัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี และกรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชา (Minister Attached to Prime Minister and the General Department of Customs and Excise of Cambodia)

 4) บันทึกความเข้าใจระหว่าง ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยและหอการค้ากัมพูชา เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและกัมพูชา (MoU between Export-Import Bank of Thailand and the Cambodia Chamber of Commerce to promote trade and investment between Thailand and Cambodia)  ซึ่งผู้ลงนามฝ่ายไทย คือ ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM Bank และฝ่ายกัมพูชา คือ Neak Okhnha Kith Meng ประธานหอการค้ากัมพูชา

 5) บันทึกความเข้าใจระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและหอการค้ากัมพูชา (MoU between Board of Trade of Thailand and Cambodia Chamber of Commerce)  ซึ่งผู้ลงนามฝ่ายไทย คือ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าไทย และฝ่ายกัมพูชา คือ Neak Okhnha Kith Meng ประธานหอการค้ากัมพูชา

ผู้นำไทยและกัมพูชาเน้นย้ำถึงความสำคัญในการส่งเสริมความสัมพันธ์ระดับประชาชน โดยจะร่วมกันจัดกิจกรรมฉลองโอกาสครบรอบ 75 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในปี 2568 ซึ่งเน้นกิจกรรมที่ส่งเสริมความเข้าใจระหว่างประชาชน พร้อมทั้งยืนยันที่จะพบปะและหารือระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระชับความร่วมมือให้ใกล้ชิดต่อไป

ขณะเดียวกัน โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังแถลงถึงความร่วมมือดำเนินการยกระดับการเปิดจุดผ่านแดนไทย-กัมพูชาที่ยังคั่งค้าง สอดประสานกับความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวที่ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องในการรวมจุดแข็งด้านการท่องเที่ยวในภูมิภาคเข้าด้วยกัน ผ่านโครงการ “หกประเทศ หนึ่งจุดหมายปลายทาง” เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในภูมิภาค พร้อมปรับปรุงข้อตกลงว่าด้วยการข้ามชายแดน และจะกลับมาเจรจาความตกลงทวิภาคีว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนทางถนน เพื่อให้ข้ามพรมแดนด้วยรถยนต์ส่วนตัวได้

อีกเรื่องที่มีความสำคัญคือความร่วมมือด้านความมั่นคง โดยเฉพาะบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งไทยจะไม่ยอมให้ใครใช้ไทยเป็นพื้นที่ในการแทรกแซงกิจการภายใน หรือดำเนินกิจกรรมที่เป็นอันตรายต่อประเทศเพื่อนบ้าน และผู้นำทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องกันกระชับความร่วมมือต่อสู้กับอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะเครือข่ายหลอกลวงทางไซเบอร์

สำหรับปัญหาหมอกควันข้ามพรมแดน ผู้นำทั้งสองชาติตกลงจัดตั้งคณะทำงานร่วม เพื่อจัดทำแผนความร่วมมือในการจัดตั้งสายด่วนแลกเปลี่ยนข้อมูลและการเตือนจุดที่มีการเผา ความร่วมมือในการตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉิน และสร้างขีดความสามารถและแบ่งปันแนวปฏิบัติในการจัดการกับการเผาในเกษตรกรรม รวมถึงไทยได้เชิญกัมพูชาเข้าร่วม  แผนปฏิบัติการ CLEAR Sky Strategy เพื่อส่งเสริมความร่วมมือการแก้ปัญหานี้ในระดับภูมิภาค

 นับจากนี้ ต้องจับตาการยกระดับความสัมพันธ์สู่ความเป็น “หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์” จะคลี่คลายปัญหาในการเจรจา OCA ไทย -กัมพูชา แสวงหา “ข้อยุติ” ร่วมกัน และนำปิโตรเลียมขึ้นมาใช้ประโยชน์ เพื่อเป้าหมายแบ่งเบาภาระประชาชนคนไทยที่แบกรับค่าพลังงานราคาแพงมหาโหดได้อย่างไร 


กำลังโหลดความคิดเห็น