xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ชำแหละ Soft Power กางเกงช้าง สร้างเวิลด์เรคคอร์ด – เมดอินไชน่าทะลัก จุดแตกหัก บอร์ดฯ แฟชั่น เซย์กู๊ดบาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 กางเกงช้างที่กำลังได้รับความนิยมจากทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ขณะที่ “รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน” เร่งเครื่องขับเคลื่อนนโยบายเรือธงอย่าง “ซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power)” เต็บสูบ เกิดกรณีสร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อประเด็น “การลาออกยกทีม ของบอร์ดซอฟต์พาวเวอร์ ด้านแฟชั่น” เกี่ยวโยงเรื่องสร้างเวิลด์เรคคอร์ด “กางเกงช้าง” ตีแผ่ความขัดแย้งของคณะทำงาน “รัฐ-เอกชน” แทนที่จะยกระดับแฟชั่นไทยสไตล์ แต่กลับโหมพีอาร์แบบฉาบฉวย

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นร้อนแรงกรณี  “กางเกงช้างจีนรุกตลาดไทย”  เป็นประเด็นใหญ่ที่ต้องแก้ปัญหาโดยเร่งด่วน เพราะเป็นที่ทราบกันว่า “กางเกงช้าง” เป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่รัฐบาลไทยกำลังผลักดัน และ  “ลายช้างบนกางเกง” เป็นงานลิขสิทธิ์ของคนไทยมีการยื่นขอจดลิขสิทธิ์แล้ว

-1-
เปิดจุดแตกหัก อนุฯ แฟชั่นลาออกยกคณะ

สำหรับการขับเคลื่อนนโยบาย Soft Power ของ  รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน  มีการแต่งตั้ง  “อุ๊งอิ๊งค์-แพทองธาร ชินวัตร”  เป็นประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ โดยประกาศแผน Soft Power ตั้งเป้าหมายเพิ่มรายได้ให้ประเทศ 4 ล้านล้านบาทต่อปี ภายในระยะเวลา 4 ปีของรัฐบาล หรือเพิ่มรายได้ให้คนไทย 20 ล้านครัวเรือนประมาณ 2 แสนบาทต่อปี หรือประมาณ 16,000 บาทต่อเดือน และจัดตั้ง Thailand Creative Content Agency (THACCA) เปิดอบรม 20 ล้านคน พัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ในสาขาต่างๆ 11 สาขาสู่ตลาดโลก ประกอบด้วย 1. อาหาร 2. กีฬา 3. งานเทศกาล 4. ท่องเที่ยว 5. ดนตรี 6. หนังสือ 7. ภาพยนตร์ 8. เกม 9. ศิลปะ 10. การออกแบบ 11.แฟชั่น

ทว่า ขณะที่ทุกอย่างกำลังดำเนินไปนั้น ก็เกิดเรื่องที่กลายเป็นประเด็นร้อนแรงและเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เมื่ออยู่ๆ  “น.ส.กมลนาถ องค์วรรณดี”  ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านแฟชั่น พร้อมด้วยคณะอนุกรรมการและที่ปรึกษา ขอลาออกจากตำแหน่งพร้อมกันทั้งคณะ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา

สำหรับ  “น.ส.กมลนาถ องค์วรรณดี” หรือ “อุ้ง” ที่รู้จักกันดีในวงการแฟชั่น ในฐานะนักออกแบบผู้ผลงานออกแบบมากมาย บล็อกเกอร์ด้านเสื้อผ้างานคราฟต์ และผู้ประสานงานเครือข่าย Fashion Revolution ประเทศไทย นับเป็นคนรุ่นใหม่ที่เต็มไปด้วยพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์ ที่ น.ส. แพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ฯ ดึงเข้ามาร่วมงาน

ย้อนกลับไปในการประชุมบอร์ดซอฟต์พาวเวอร์ครั้งแรก น.ส.กมลนาถ ได้เสนอไอเดียเกี่ยวกับการพัฒนาแฟชั่นไทยภายใต้นโยบายซอฟต์พาวเวอร์ความว่าต้องยกระดับแฟชั่นสู่ไลฟ์สไตล์ใหม่ที่เน้นคุณค่า คุณภาพ และความคิดสร้างสรรค์ โดยกลไกลสำคัญรัฐต้องให้การสนับสนุน ตั้งแต่การปรับโครงการองค์กรส่งเสริมแฟชั่น ประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการตลาดเชิงรุก สนับสนุนแหล่งทุนและสิทธิประโยชน์ทางภาษี สนับสนุนงานวิจัย Reskill สนับสนุนที่ปรึกษาด้านธุรกิจ ทำฐานข้อมูลอุตสาหกรรม และทุนวัฒนธรรม

แต่ในเชิงปฏิบัติคณะทำงานที่เกี่ยวข้องทำงานแบบฉาบฉวยเน้นกระแสโปรโมท และที่เป็นจุดแตกหักน่าจะเป็นเรื่องการสร้างเวิลด์เรคคอร์ด  “ใส่กางเกงช้างเยอะที่สุดในโลก” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ   โครงการ THAILAND SOFT POWER X GUINNESS WORLD RECORDS CHALLENGE  ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่ขานรับนโยบายรัฐเสนอ Soft Power 5F ของไทย ได้แก่ Food (อาหาร) Fashion (การออกแบบแฟชั่นไทย) Film (ภาพยนตร์) Fight (มวยไทย) และ Festival (เทศกาลประเพณีไทย) ผ่านการแข่งขันใน 5 หัวข้อ  “ที่สุดของโลก” ที่จัดขึ้นระหว่าง 21 - 27 กุมภาพันธ์ 2567 ได้แก่ 1.ใส่นวมต่อยลูกโป่งแตกมากที่สุดใน 1 นาที 2. ใส่กางเกงช้างเยอะที่สุดใน 1 นาที 3.กินสตรีทฟู้ด (ปาท่องโก๋) มากที่สุดใน 1 นาที 4.ใส่หน้ากาก (หน้ากากผีตาโขน) ได้มากที่สุดใน 1 นาที และ 5. กินป๊อบคอร์นได้เยอะที่สุดใน 1 นาที  

หลังมีการเผยแพร่ข่าวดังกล่าว กมลนาถ ได้โพสต์ข้อความลงสื่อสังคมออนไลน์ ความว่า

 “คณะอนุกรรมการสาขาแฟชั่นไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับไอเดีย Guinness นี้นะคะ อยากเห็นหน้าคนอนุมัติงบมาก ห้ามก็ไม่ได้ ปรึกษาก็ไม่ปรึกษา คิดกันเองเห็นดีเห็นงามกันเอง ทำแล้วได้อะไรคะ ทีมเอกชนอาสาทำงานกันหนักมากเพื่อวางกรอบคิดการพัฒนาอุตสาหกรรม ในขณะที่หน่วยงานทำอีเวนต์จุดพลุแล้วไงต่อ สร้าง value อะไรขึ้นมา ฝากหน่วยงานทุกหน่วยที่อยากเอาใจนาย ก่อนจะทำอะไรปรึกษาหารือกรรมการยุทธศาสตร์ หรือคิดให้รอบด้านด้วยค่ะ เงินภาษีประชาชน” 

 น.ส.กมลนาถ องค์วรรณดี
หลังมีการเผยแพร่ข้อเท็จจริงดังกล่าว เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงรูปแบบงานทำงานระบบราชการ เต็มไปด้วยความฉาบฉวย มองไม่เห็นผลลัพท์ที่คุ้มค่าหรือความยั่งยืนใดๆ เพียงเน้นการประชาสัมพันธ์จัดงานยิ่งใหญ่แต่ผลาญงบมหาศาล

ขณะที่ น.ส.ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ชี้แจงว่าเพื่อต้องการดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวไทยมากขึ้น โดยมีการสอดแทรกเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ของไทย และสร้างความท้าทายผ่านการแข่งขัน เพื่อบันทึกสถิติโลก มีกติกาชัดเจนโดยกินเนส เวิลด์เรคคอร์ต ซึ่ง 2 ใน 5 กิจกรรมเพื่อทำลายสถิติ เช่น การชกมวยต่อยลูกโป่ง นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม ใส่หน้ากากผีตาโขน กินป๊อบคอร์นกินปาท่องโก๋ แข่งใส่กางเกงช้าง ส่วนการกินป๊อปคอร์ เป็นการเชื่อมโยงกับภาพยนตร์ไทย และโรงภาพยนตร์ที่ดีที่สุดในโลก และหน้ากากผีตาโขน ต้องการประชาสัมพันธ์เทศกาลของไทยให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น

ส่วน  “ท่านประธานอุ๊งอิ๊งค์” ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเอาไว้ว่า “ขอขอบคุณคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านแฟชั่นทุกคน ที่ร่วมกันผลักดันงานมาตั้งแต่ต้น ทำให้เราสามารถวางรากฐานขั้นแรกจนสำเร็จ ดิฉันเข้าใจถึงข้อจำกัดด้านเวลาของอนุกรรมการทุกคน หากต้องปฏิบัติภารกิจจำนวนมากที่รออยู่ข้างหน้า และขอทุกคนติดตามคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านแฟชั่นชุดใหม่ ในวันที่ 9 ก.พ. นี้ค่ะ”

กล่าวสำหรับโยบาย Soft Power รัฐบาลตั้งเป้าหมายเพิ่มรายได้ให้ประเทศ 4 ล้านล้านบาทต่อปี ภายในระยะเวลา 4 ปีของรัฐบาล ผ่านการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ในสาขาต่างๆ 11 สาขาสู่ตลาดโลก ประกอบด้วย 1. อาหาร 2. กีฬา 3. งานเทศกาล 4. ท่องเที่ยว 5. ดนตรี 6. หนังสือ 7. ภาพยนตร์ 8. เกม 9. ศิลปะ 10. การออกแบบ 11.แฟชั่น

จากนั้นได้มีการจัดตั้ง Thailand Creative Content Agency (THACCA) ซึ่งมีแนวคิดมาจาก The Korea Creative Content Agency (KOCCA) ที่เป็นหน่วยงานหลักดูแลซอฟต์พาวเวอร์ของเกาหลีใต้ โดยกระทรวงวัฒนธรรมดูแลโบราณสถาน พิพิธภัณฑ์และรักษาประเพณี ในขณะที่ KOCCA ต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าทางเพิ่มเศรษฐกิจ KOCCA

ทั้งนี้ แผนการขับเคลื่อนนโยบาย Soft Power ของไทย แบ่งการทำงานเป็น 3 ระยะ ดังนี้

1.ระยะ 100 วัน หรือภายใน 11 มกราคม 2567 เปิดให้ลงทะเบียนที่กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง รวมทั้งแก้ไขกฎกระทรวง และจัดงาน Winter

2. ระยะ 6 เดือน หรือภายใน 3 เมษายน 2567 จะเริ่มบ่มเพาะ นโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟท์พาวเวอร์ หรือ OFOS (One Family One Soft Power) รวมทั้งเสนอ พ.ร.บ.จัดตั้ง Thailand Creative Content Agency (THACCA) มีการจัดเทศกาล Water Festival และจัดงาน Soft Power Forum

และ 3.ระยะ 1 ปี หรือภายใน 3 ตุลาคม 2567 กำหนดเป้าหมายบ่มเพาะได้ 1 ล้านคน รวมทั้ง พ.ร.บ.จัดตั้ง THACCA ผ่านรัฐสภา มีการจัดงาน Film Festival และ Music Festival รวมถึงการสนับสนุน Soft Power ไปร่วมงานระดับโลก

โดยการทำงานจะแบ่งเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย 1. ต้นน้ำ เป็นการฝึกอบรมคน 20 ล้านคน จาก 20 ล้านครอบครัว ตามโครงการ 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาล 2. กลางน้ำ เป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ 11 อุตสาหกรรม เช่น อาหาร กีฬา เฟสติวัล ท่องเที่ยว ดนตรี หนังสือ ภาพยนตร์ เกม ศิลปะ การออกแบบ แฟชั่น และ 3.ปลายน้ำ เป็นการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ ของไทยออกไปสู่เวทีโลก ในพื้นที่ที่สอดคล้องแล้วมีการศึกษาและวิเคราะห์โอกาสของประเทศไทยที่จะนำซอฟต์พาวเวอร์ไทยไปบุกตลาดต่างประเทศ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศจะเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านนี้ผ่านการทำงานของทูต และทูตพาณิชย์ที่อยู่ในประเทศต่างๆ

แพทองธาร ชินวัตร
-2.-
กางเกงช้างไทยถูกกางเกงช้างจีนตีตลาด

ประเด็นต่อมา เรื่องของ  “กางเกงช้างไทย” ที่เป็นกระแสโด่งดังทั่วโลก โดยรัฐบาลมีการผลักดันเป็นหนึ่งในซอฟต์เพาเวอร์ของไทย โปรโมทผ่านกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้นักท่องเที่ยวต่างชาติได้รู้จัก และ   “ลายช้างบนกางเกง” เป็นงานลิขสิทธิ์ของคนไทยมีการยื่นขอจดลิขสิทธิ์แล้ว

ที่ต้องจับตา คือ  “กางเกงช้างจีนกำลังรุกตลาดไทย”  มิหนำซ้ำไม่ได้มีแค่ของจีนแต่ยังมีของเกาหลี ซึ่งขายเกลื่อนตามตลาดชายแดน และตลาดออนไลน์

 ตามรายงานระบุว่าสัดส่วนกางเกงช้างกว่า 70% ที่จำหน่ายอยู่ในประเทศไทยนำเข้ามาจากจีน ซึ่งต้นทุนกางเกงช้างผลิตในจีนตกอยู่ที่ตัวละ 25 - 30 บาท กางเกงช้างจากจีนราคาถูก นำมาขายต่อได้กำไรดี เนื่องจากราคาต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่าสินค้าในไทยมาก ถึงคุณภาพจะด้อยกว่า แต่นักท่องเที่ยวไม่ได้สนใจแหล่งที่มา สนใจเรื่องของราคาถูก เพราะใส่เป็นครั้งคราวเท่านั้น  

ผู้ค้ารายหนึ่งย่านโบ๊เบ๊ บอกว่ากางเกงช้างได้รับความนิยมมาก ทำให้มีกางเกงช้างราคาถูกจากจีนเข้ามาตีตลาด โดยกางเกงช้างของทางร้านมาจากจีนโดยมีตัวแทนมาเสนอขาย ราคาถูกกว่าตลาดทั่วไป เช่น ขาสั้น ตัวละ 55 บาท ขายาว ตัวละ 70 บาท แต่ต้องซื้อ 3 ตัวขึ้นไป ซึ่งร้านค้าในตลาดโบ๊เบ๊มีทั้งร้านที่ขายกางเกงช้างของไทยและร้านที่ขางขายของจีน

อย่างไรก็ตาม กางเกงช้างจีนขายในราคาถูก เพราะมีต้นทุนต่ำ ขณะเดียวกันงานไม่ได้คุณภาพ ลายช้างไม่ต่อเนื่อง คุณภาพการตัดเย็บต่ำ ดังนั้น ในมุมของผู้ประกอบการไทยอย่าง “นางกิ่งกาญจน์ สมร” ผู้บริหารโรงงานผลิตกางเกงช้างของไทยที่ จ.เชียงใหม่ มองว่ากางเกงช้างจีนราคาถูกเข้ามาตีตลาดไทย แต่ภาพรวมงานไม่ได้คุณภาพ แตกต่างจากของไทย เช่น สินค้าจากโรงงานของตรมีกว่า 10 รูปแบบ มีลายให้เลือกมากกว่า 200 - 300 ลาย สินค้ามีคุณภาพ ได้รับการยอมรับ ดังนั้น จึงไม่กังวลว่าต่อสินค้าจีนคุณภาพต่ำที่ตีตลาดไทย

 รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก  ประธานหลักสูตรนิติศาสตร์บัณฑิต วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย และนักวิชาการด้านกฎหมายลิขสิทธิ์ วิเคราะห์ประเด็น “กางเกงช้าง Soft Power ไทย แต่ Made in China” ในแง่ธุรกิจและศักยภาพทางธุรกิจ ต้องดูว่าศักยภาพในการทำให้สินค้าติดตลาดในเมืองไทยเป็นอย่างไร เมื่อเทียบกับสินค้าจากเกาหลีหรือยุโรป ที่เวลาจะไปซื้อต้องไปซื้อที่ประเทศนั้นๆ เท่านั้น

แต่อีกประเด็นคือ “ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ”  หากมีการลอกเลียนแบบ ผลิตภัณฑ์หรือสินค้าของไทย สิ่งที่คนไทยใช้ค้าขาย ในประเทศที่มีปฏิสัมพันธ์อันดีต่อกัน รศ.ดร.เจษฎ์ ตั้งคำถามว่า สมควรหรือไม่...ที่ประเทศจีนจะปล่อยให้บรรดาผู้ผลิตของจีนลอกเลียนแบบของไทย อย่างเอิกเกริก เพราะในแง่ภาคีสมาชิกองค์การค้าโลกเรื่องแบบนี้ไม่ควรทำต่อกัน ต้องมาคุย มาทำความเข้าใจ หาจุดรวมในการทำมาค้าขาย ที่จะใช้สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ เป็นสัญลักษณ์ของประเทศ โดยไม่ล่วงล้ำกัน

ขณะที่  นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์  อดีตนายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย ระบุแนวทางป้องกันกางเกงช้างจีนทะลักไทย จะต้องใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด(Anti-Dumping) เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ รวมทั้ง มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non- tariff barriers) และข้อสำคัญต้องประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ผู้บริโภคและนักท่องเที่ยว ให้เข้าใจในอัตลักษณ์ของกางเกงช้างไทย ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องส่งเสริมการพัฒนาให้สินค้า เพื่อผลักดันให้กางเกงช้างไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้น

ด้าน นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงกางเกงช้างถือว่าเป็นหนึ่งใน Soft Power ของไทย แต่กลับมีการผลิตและจัดจำหน่ายโดยเอกชนรายใหญ่ของประเทศจีนในราคาที่ถูกกว่าของคนไทย เบื้องต้นได้หารือกับกรมศุลกากรที่มีอำนาจจะสามารถยับยั้งสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ สั่งให้ทุกด่านตรวจศุลกากรควบคุมสินค้า

ขณะเดียวกัน กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้ประสานงานเรื่องการควบคุมคุณภาพสินค้า ซึ่งอาจจะให้ออกสัญลักษณ์หรือโลโก้ประทับ เพื่อให้บ่งบอกว่าสินค้าตัวนี้เป็นสินค้าของไทย เพื่อจะได้ช่วยเหลือสินค้าของคนไทย

อย่างไรก็ดี กางเกงช้างจีนที่มีการนำเข้ามาจำหน่าย หาาเปรียบเทียบของที่คนไทยผลิตเอง มีคุณภาพต่างกัน ของไทยคุณภาพดีกว่า ซึ่งต้องยอมรับว่าสินค้าที่มาในราคาที่ถูกมาก อาจจะมีคุณภาพที่ไม่ได้มาตรฐาน เช่น ใส่ไปแล้วสักพักก็อาจจะเป้าขาดง่าย

นอกจากนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบย่านการค้าสำคัญ เพื่อตรวจสอบและให้ความรู้ความเข้าใจถึงความสำคัญของทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อปกป้องผลประโยชน์และความคิดสร้างสรรค์ของคนไทย รวมทั้งได้ให้ข้อแนะนำแก่ผู้ค้าว่าควรตรวจสอบสินค้าก่อนนำมาจำหน่าย ให้ยคำนึงถึงแหล่งที่มาของสินค้าว่า เป็นของที่ผลิตในประเทศหรือต่างประเทศ พร้อมเร่งประชาสัมพันธ์ย้ำเตือนว่าการค้าในปัจจุบันจำเป็นต้องแข่งขันกันด้วยคุณภาพสินค้า และกางเกงลายช้างที่ผลิตในประเทศไทยมีคุณภาพสูง และมีปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้น การสนับสนุนสินค้าของผู้ประกอบการไทย จึงเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยสร้างรายได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศ

ทั้งนี้ บทลงโทษการละเมิดลิขสิทธิ์โดยตรง มีโทษปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 200,000 บาท หากเป็นการกระทำเพื่อการค้า มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 4 ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000 บาท ถึง 800,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 ทั้งประเด็น “กางเกงช้าง Soft Power ไทย แต่ Made in China” และการขับเคลื่อนนโยบาย Soft Power อย่างมีประสิทธิภาพ ล้วนเป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลต้องแก้เพื่อให้บรรลุเป้าประสงค์ 


กำลังโหลดความคิดเห็น