"ปัญญาพลวัตร"
"ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"
นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสร่วมสมัยอีกคนหนึ่งที่มีอิทธิทางความในการศึกษาเรื่องอำนาจไม่แพ้ มิเชล ฟูโกต์ คือ ฌาคส์ เดอร์ริดา Jacques Derrida (1930-2004) ซึ่งได้พัฒนาแนวคิดที่ซับซ้อนและมีอิทธิพลเกี่ยวกับอำนาจที่ท้าทายความเข้าใจแบบดั้งเดิมที่มองอำนาจเป็นโครงสร้างแบบลำดับชั้น และมีลักษณะเป็นทวิลักษณ์แบบคู่ตรงข้าม (มีอำนาจ หรือ ไร้อำนาจ) ที่ดำรงอยู่ในความคิดแบบตะวันตก เดอร์ริดามุ่งเน้นไปที่ความไร้เสถียรภาพและการช่วงชิงแข่งขันกันของโครงสร้างอำนาจ โดยเน้นบทบาทของภาษา วาทกรรม และการตีความในการธำรงรักษาและการเปลี่ยนแปลงอำนาจ
แก่นของวิธีการทางปรัชญากลางของ เดอร์ริดาคือการรื้อสร้าง (Deconstruction) ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อเปิดเผยให้เห็นถึงธรรมชาติของแนวคิดต่าง ๆ รวมถึงแนวคิดเกี่ยวกับอำนาจด้วยที่มีความขัดแย้ง ความคลุมเครือ และความไม่แน่นอนดำรงอยู่ภายในเปลือกดูเหมือนจะมั่นคงและสอดคล้องกัน การรื้อสร้างเผยให้เห็นว่า อำนาจดำเนินการอย่างไรโดยไม่ผ่านการควบคุมโดยตรง แต่ผ่านกลไกที่ละเอียดอ่อนและมักมองไม่เห็น ซึ่งกำหนดรูปแบบความเข้าใจของเราเกี่ยวกับโลกและสังคม
เดอร์ริดามองว่า อำนาจไม่สามารถแยกออกจากวาทกรรม ซึ่งเป็นวิธีที่เราผลิตสร้างและตีความความหมายผ่านภาษาและระบบสัญลักษณ์อื่น ๆวาทกรรมสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการกดขี่และการปลดปล่อยก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าจะใช้และตีความอย่างไร ภาษากำหนดรูปร่างและเสริมพลังพลวัตของอำนาจ และมีอิทธิพลต่อการสร้างความเป็นจริงทางสังคม การเมือง และวัฒนธรรม ด้วยเหตุนี้ภาษาจึงไม่ใช่เครื่องมือที่เป็นกลางในการสื่อสาร หากแต่เป็นระบบอำนาจที่ดำเนินการผ่านการกีดกันและการทำให้เป็นชายขอบ
กลุ่มต่าง ๆ ในสังคม โดยเฉพาะกลุ่มอำนาจที่ควบคุมวาทกรรมหลัก เช่น รัฐ บริษัทเอกชน จะใช้วิธีการโดยเลือกคำ วลี และประโยคเพื่อบิดเบือน และควบคุมผู้อื่น เช่น รัฐในประเทศไทยสร้างความหมายใหม่ของคำบางคำในลักษณะที่บิดเบือนว่า “การปฏิรูปเท่ากับการล้มล้าง” หรือ “การแก้ไขเท่ากับการยกเลิก” หรือ การแก้กฎหมายอาญาบางมาตราเท่าการล้มล้างการปกครอง” เป็นต้น เพื่อควบคุมกลุ่มคนที่ชนชั้นนำมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของพวกเขา ในแง่นี้ ภาษาจึงเป็นเรื่องการเมืองโดยแท้ เนื่องจากภาษาสามารถใช้เพื่อรักษาโครงสร้างอำนาจที่ครอบงำและลำดับชั้นทางสังคมแบบเดิมเอาไว้นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม กลุ่มอื่น ๆ สังคมก็สามารถใช้ภาษาเพื่อท้าทายและสั่นคลอนโครงสร้างอำนาจเดิมได้เช่นเดียวกัน วาทกรรมเป็นพื้นที่แห่งการโต้แย้งและการต่อสู้ของกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม เพราะธรรมชาติของภาษาที่มีลักษณะคลุมเครือ ไม่ชัดเจน ไม่แน่นอน หรือไม่มีเสถียรภาพ เปิดโอกาสให้มีการตีความและโต้แย้งอยู่เสมอ ภาษาจึงกลายเป็นสถานที่แห่งการโต้แย้งและการเจรจาต่อรอง โดยที่อำนาจดำเนินการผ่านการผลิตและการเผยแพร่ความหมาย กล่าวได้ว่า ความไม่แน่นอนและการไม่สามารถกำหนดความหมายที่ตายตัวได้ของภาษาเป็นอุปสรรคขัดขวางการจัดประเภท หมวดหมู่ และลำดับชั้นที่ตายตัวซึ่งเป็นรากฐานของความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบเดิม และเปิดโอกาสมีการสร้างความหมายใหม่และหมวดหมู่ใหม่เพื่อใช้ในการต่อต้านและล้มล้างโครงสร้างอำนาจแบบเดิม
แนวคิดของเดอร์ริดาที่เกี่ยวข้องกับอำนาจอีกแนวคิดหนึ่งคือ แนวคิดความแตกต่าง (Différance) ซึ่งหมายถึง กระบวนการสร้างความหมายผ่านความแตกต่างและการเลื่อนออกไป แดริดาอธิบายว่าอำนาจดำเนินการควบคุมสังคมผ่านการสถาปนาลำดับชั้นด้วยการแบ่งขั้ว เช่น ผู้นำ/ผู้ใต้บังคับบัญชา ศูนย์กลาง/ชายขอบ และปกติ/ผิดปกติ เขาได้ท้าทายหมวดหมู่ที่ดูเหมือนจะมั่นคงเหล่านี้ โดยโต้แย้งว่าพวกมันถูกสร้างขึ้นมาโดยผ่านการเลื่อนออกไปเสมอ และเน้นถึงความเป็นไปได้ของการโค่นล้มและการเกิดขึ้นของความหมายทางเลือกที่แตกต่างออกไป เพื่อต่อสู้กับความหมายเดิม
แนวคิดเรื่อง “ความแตกต่าง” ของ เดอร์ดา เป็นการเล่นคำภาษาฝรั่งเศส “difference” ซึ่งแปลว่า “ความแตกต่าง” แต่ด้วยการเติมตัวอักษร “a” เพื่อสร้างคำใหม่ที่ฟังดูเหมือนกันแต่สะกดต่างกัน ซึ่งสะท้อนถึงความหมายสองประการ
1). การเลื่อนออกไป (Deferral) ซึ่งเป็นการชี้ให้เห็นว่า ความหมายของคำหรือสัญลักษณ์นั้นยังไม่ปรากฏแก่เราอย่างสมบูรณ์ และมักจะเลื่อนไปเป็นคำหรือสัญลักษณ์อื่นเสมอ ความหมายไม่เคยสมบูรณ์หรือพอเพียง แต่ถูกเลื่อนไปสู่การตีความใหม่ในอนาคตเสมอ การเลื่อนออกไปไม่รู้จบนี้ขัดขวางการตรึงความหมาย เช่น คำว่า วิกฤติเศรษฐกิจ ที่ใช้ในสังคมไทยยุคนี้ มีความหมายเลื่อนออกไปตามการตีความของกลุ่มต่าง ๆ ในสังคมที่มีเป้าหมายทางการเมืองแตกต่างกัน
2). ความแตกต่าง ซึ่งครอบคลุมแนวคิดเรื่องความแตกต่าง โดยยืนยันว่าคำและสัญลักษณ์ได้รับความหมายผ่านความแตกต่างและสัมพันธ์กับคำและสัญลักษณ์อื่น ๆ ไม่มีสัญลักษณ์หรือคำใดที่มีความหมายในตัวเอง แต่มีความแตกต่างจากสิ่งอื่นภายในเครือข่ายสัญลักษณ์ เช่น คำว่า “ผู้ปกครองประเทศ” คำว่าผู้ปกครอง หมายถึง กลุ่มคนที่ควบคุมอำนาจรัฐ กับ คำว่า “ผู้ปกครองนักเรียน” คำว่า ผู้ปกครอง หมายถึง ผู้ที่รับผิดชอบในการดูแลนักเรียน ซึ่งอาจเป็นบิดา มารดา หรือ ผู้อื่นที่ได้ระบุกับโรงเรียนว่า ตนเองเป็นผู้ปกครองนักเรียนคนใดคนหนึ่งในโรงเรียนนั้น
“ความแตกต่าง” หรือกระบวนการสร้างความหมายนั้นลื่นไหลและต่อเนื่องรบกวนความคิดดั้งเดิมของความหมายที่ตายตัวหรือมั่นคงซึ่งอยู่ในคำหรือข้อความ “ความแตกต่าง” ชี้ให้เห็นว่า ความหมายถูกสร้างขึ้นในช่องว่างระหว่างคำในการปฏิสัมพันธ์และการเปรียบเทียบ และสิ่งนั้นมีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา สิ่งนี้มีผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อการทำความเข้าใจอำนาจ เพราะทำให้เห็นว่าความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ฝังอยู่ในภาษาไม่คงที่ตายตัว แต่เปิดรับการตีความและการเปลี่ยนแปลงใหม่อยู่เสมอ
แนวคิดสำคัญอีกเรื่องของ เดอร์ริดาคือ แนวคิด “อีกฝ่ายและการต้อนรับ” (the other and hospitality)
“อีกฝ่าย” แสดงถึงสิ่งที่แตกต่างจากตนเองหรือบรรทัดฐานที่ตนเองยึดถือ แนวคิด “อีกฝ่าย” มักจะเป็นศูนย์กลางในการอภิปรายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลง อัตลักษณ์ และจริยธรรม และท้าทายความคิดเกี่ยวกับอัตลักษณ์หนึ่งเดียวหรือเป็นเนื้อเดียวกัน แนวคิด “อีกฝ่าย” ยังสามารถแสดงให้เห็นถึงขีดจำกัดของกรอบความเข้าใจอัตลักษณ์และจริยธรรมของเรา ด้วยการตีแผ่ให้เห็นพลวัตของอำนาจที่มีบทบาทในการสร้างอัตลักษณ์และความแตกต่าง
ในบริบทของการต้อนรับ เดอร์ริดา ขยายแนวคิดดั้งเดิมในการต้อนรับคนแปลกหน้าหรือผู้อื่นเข้าบ้านหรือประเทศของตน เขาแยกความแตกต่างระหว่างการต้อนรับแบบ “มีเงื่อนไข” และการต้อนรับแบบ “ไม่มีเงื่อนไข” ดังนี้
1). การต้อนรับแบบมีเงื่อนไข ขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของเจ้าบ้านและกฎหมายของสังคม เป็นไปตามเงื่อนไข เช่น อำนาจของเจ้าบ้านและความสามารถในการต้อนรับ ตลอดจนความสามารถของแขกในการเคารพและปฏิบัติตามกฎของที่พัก การต้อนรับประเภทนี้มักจะตอกย้ำพลังอำนาจระหว่างเจ้าของที่พักและแขก โดยฝ่ายแรกจะเป็นผู้ควบคุมเงื่อนไขการเข้าพักของฝ่ายหลัง
2). การต้อนรับแบบไม่มีเงื่อนไข ในทางกลับกัน การต้อนรับแบบไม่มีเงื่อนไขท้าทายพลังขับเคลื่อนเหล่านี้ด้วยการสนับสนุนให้มีการต้อนรับโดยไม่มีเงื่อนไขหรือข้อจำกัด เป็นการเข้ามาเยือนหรือมาพักอาศัยโดยไม่ต้องบอกหรือจองล่วงหน้า หรือต้องมีข้อกำหนดล่วงหน้า การต้อนรับแบบไม่มีเงื่อนไขเป็นการต้อนรับที่เจ้าบ้านไม่ได้พยายามควบคุมหรือมีอำนาจเหนือแขก การต้อนรับรูปแบบนี้เป็นการเผชิญหน้าระหว่างแขกกับเจ้าของที่พักโดยไม่มีใครรู้จัก และต้องการการตอบสนองอย่างมีจริยธรรมที่นอกเหนือไปจากกฎหมายและบรรทัดฐานทางสังคม
ตัวอย่างของการต้อนรับอย่างไม่มีเงื่อนไขอาจเป็นการต้อนรับคนแปลกหน้าเข้ามาในบ้านของเราเองโดยไม่ต้องถามชื่อ วัตถุประสงค์ในการมาเยี่ยม หรือระยะเวลาที่พวกเขาวางแผนจะอยู่ และเจ้าบ้านจะมอบอาหารและที่นอนพักผ่อนโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน หรือการให้การสนับสนุนทรัพยากร และบริจาคเงินเพื่อการกุศลแก่บุคคลที่มีความจำเป็นโดยไม่คาดหวังสิ่งตอบแทนหรือความกตัญญูกลับคืนมา
ในขอบเขตทางการเมือง การให้ที่พักพิงแก่ผู้ลี้ภัยโดยไม่มีเงื่อนไข โดยไม่มีกระบวนการตรวจสอบที่กว้างขวาง หรือไม่คำนึงถึงประโยชน์ของประเทศเจ้าภาพ หรือการยึดมั่นในค่านิยมของประเทศนั้น ถือเป็นการกระทำที่มีการต้อนรับอย่างไม่มีเงื่อนไข นี่เป็นแนวคิดที่ต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิงที่ท้าทายรูปแบบการควบคุมชายแดนและการย้ายถิ่นฐานที่มีรัฐเป็นศูนย์กลาง ในบริบทของความรู้และพื้นที่ดิจิทัล การต้อนรับอย่างไม่มีเงื่อนไขอาจเป็นการแบ่งปันงานวิจัย ทรัพยากรทางการศึกษา หรือซอฟต์แวร์อย่างเสรี โดยไม่จำกัดการเข้าถึง ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วเป็นการเปิดกว้าง 'บ้านทางปัญญา' โดยไม่มีเงื่อนไข
นอกจากนี้ เดอร์ริดา ยังเล่นกับความหมายสองประการของคำภาษาฝรั่งเศส คำว่า “hôte” ซึ่งหมายถึง ทั้ง “แขก” และ “ศัตรู” เพื่อแสดงให้เห็นถึงลักษณะที่คลุมเครือของการเผชิญหน้ากับอีกฝ่ายและความตึงเครียดโดยธรรมชาติระหว่างการต้อนรับขับสู้และการขับไล่ไสส่ง เขาระบุว่า มีการเจรจาอย่างต่อเนื่องระหว่างการต้อนรับผู้อื่นและการปกป้องตนเองหรือบ้านจากภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องปกติในการต้อนรับขับสู้
แนวคิดเรื่อง “อีกฝ่าย” และ “การต้อนรับ” ในงานของ เดอร์ริดาจะตั้งคำถามว่า อำนาจถูกบังคับใช้ในโครงสร้างพื้นฐานของสังคมและปฏิสัมพันธ์ส่วนบุคคลอย่างไร โดยเรียกร้องให้มีการพิจารณาใหม่อย่างมีจริยธรรมเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเรากับผู้ที่แตกต่างจากเรา ในการปฏิบัติของการต้อนรับ เป็นการต้อนรับอีกฝ่ายเข้าสู่วาทกรรมของเรา และยอมให้ตัวเราเองถูกท้าทายและเปลี่ยนแปลงตามมุมมองของพวกเขาแนวคิดนี้จึงเป็นการเน้นย้ำถึงศักยภาพของการสนทนาและความเข้าใจเพื่อเอาชนะความไม่สมดุลของอำนาจ และสร้างสังคมที่ครอบคลุมและยุติธรรมมากขึ้น
นัยสำคัญของแนวคิดเดอร์ริดาคือ การเสนอมุมมองเชิงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับอำนาจโดยเน้นความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนกับวาทกรรม ภาษา และการสร้างความหมาย เป็นการท้าทายแนวคิดดั้งเดิมที่มองว่าอำนาจเป็นการควบคุมที่เรียบง่าย และเผยให้เห็นถึงธรรมชาติของอำนาจที่มีความไม่แน่นอนและความสามารถในการแข่งขันช่วงชิง และเป็นการส่งเสริมการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ตั้งคำถามต่อสมมติฐานที่ดำรงอยู่ และแสวงหามุมมองทางเลือก รวมทั้งส่งเสริมการสนทนาและการมีส่วนร่วมกับ “ผู้อื่น” เพื่อแสวงหาแนวทางทางในการทำความเข้าใจร่วมกัน รวมไปถึงการท้าทายความไม่สมดุลของอำนาจโดยเน้นย้ำถึงศักยภาพในการโค่นล้มและการเปลี่ยนแปลงภายในโครงสร้างอำนาจ ซึ่งมีส่วนช่วยในการพัฒนาสังคมให้มีความยุติธรรมมากขึ้น