xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ทำไมเรียนแพทย์ต้อง “ไม่มีเกรด” เร่งรัฐแก้โจทย์ยาก “หมอลาออก” จับตา สธ. เร่งผลิตบุคลากรใหม่เข้าระบบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การนำร่องปรับหลักสูตรการเรียนแพทย์ ไม่มีการให้เกรด เปลี่ยนเป็น S/U หรือผ่านกับไม่ผ่าน ของคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ เพื่อลดความกดดันความตึงเครียดอันนำมาซึ่งปัญหาสุขภาพจิตของนิสิตแพทย์ เป็นที่น่าจับตาจะจะสร้างแรงสั่นสะเทือนไปยังสถาบันอื่นๆ ด้วยหรือไม่? และประเด็นที่ต้องจับตาไม่แพ้กันคือปรากฎการณ์สมองไหล “แพทย์ลาออก” จากโรงพยาบาลของรัฐ ตลอดจนแนวทางการเร่งผลิตแพทย์เข้าสู่ระบบของกระทรวงสาธารธสุข (สธ.) กับเสียงวิพากษ์เกาไม่ถูกที่แก้ปัญหาไม่ถูกจุด 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานการณ์ความตึงเครียดและแบกรับคความกดดันของเหล่านิสิตนักศึกษาแพทย์ นำมาสู่โรคซึมเศร้ามีความเสี่ยงฆ่าตัวตาย  นศพ.ศุภานัน เจนธีรวงศ์  นายกสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทย ในพระอุุปถัมภ์ฯ (สพท.) ประจำปีการศึกษา 2566 สะท้อนปัญหาด้านสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นจริงและมีมานานในกลุ่มนิสิตนักศึกษาแพทย์ ทันตแพทย์ และเภสัชศาสตร์ ส่งผลกระทบต่อการเรียน การทำงานในอนาคตที่จะต้องให้การรักษาและบริบาลแก่ประชาชนทั่วไป แต่ที่ผ่านมากลับยังไม่เคยมีการรวบรวมข้อมูลที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน

การสำรวจคุณภาพของสุขภาวะทางจิตขั้นต้น พบว่ามีปัญหาที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตของนิสิตนักศึกษา ดังนี้ 1.ความเครียดในการเรียนการสอนที่เกิดจากอาจารย์ เช่น จากการใช้วาจาที่รุนแรง การสอน การอธิบายที่คลุมเครือ 2. ระบบการศึกษาและหลักสูตร ที่ไม่เอื้อต่อนิสิตนักศึกษา มีการบีบอัดเนื้อหาวิชาเรียน มีความซ้ำซ้อน 3. สภาพแวดล้อม เพื่อน และสังคมภายในคณะ มีความขัดแย้งหรือความกดดันที่ทำให้รู้สึกไม่สบายใจ

4. ภาระงานและข้อกำหนดชั่วโมงการทำงานที่มากเกินไป ทำให้นิสิตนักศึกษาไม่มีเวลาพักผ่อนที่เพียงพอ เกิดความเครียดสะสม เหนื่อยล้า และ 5. ระบบกิจการนิสิต มีปัญหา เช่น ความน่าเชื่อถือ การจัดการปัญหาที่นิสิตนักศึกษาร้องเรียน

นอกจากนี้ สภาวะความเครียดสะสมและสุขภาพจิต ภาวะการหมดไฟในการทำงาน ภาวะความพึงพอใจในตนเองต่ำ โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล และโรคตื่นตระหนก นำไปสู่อัตราการพักการศึกษา ไปจนถึงการฆ่าตัวตายที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง

สอดคล้องกับงานวิจัยคณะแพทยศาสตร์ศิริราช ปี 2562 พบนักศึกษาแพทย์มีภาวะหมดไฟในการทำงาน 30 % นำไปสู่การป่วยโรคซึมเศร้า 7 % โดยสาเหตุภาวะหมดไฟของนักศึกษาแพทย์ 1. การสื่อสาร ที่เป็นเชิงลบระหว่างครูและนักศึกษาแพทย์ คำพูดที่รุนแรง ส่งผลให้เกิดความรู้สึกด้อยค่าในตัวเอง 2. ความสัมพันธ์ บรรยากาศการเรียนการสอนที่เครียดเกินไป รวมถึงช่องว่างระหว่างวัยที่ทำให้ความสัมพันธ์ห่างกัน 3.การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิตในสถาบันการแพทย์ยังเข้าถึงยาก เมื่อมีปัญหา ไม่รู้จะปรึกษาใคร ไม่กล้าเข้าหาอาจารย์ เกิดความเครียดสะสมนำไปสู่ภาวะหมดไฟ อาการรุนแรงขึ้นจนป่วยโรคทางจิต

ล่าสุดเกิดความเคลื่อนไหวจากคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีการปรับหลักสูตรและการประเมินแบบใหม่ ไม่มีการให้เกรด เปลี่ยนเป็นผ่านกับไม่ผ่าน เปิดตัว  “หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2567” 

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ คือ   “การปรับเปลี่ยนการแสดงผลการประเมินนิสิตในแต่ละรายวิชาเป็น S/U (Satisfactory/Unsatisfactory) ตลอดหลักสูตร แทนการแสดงผลการประเมินแบบดั้งเดิมที่เป็นสัญลักษณ์ A-F”  เพื่อให้การพัฒนานิสิตเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตอบสนองความต้องการของประเทศและผู้เรียน โดยสมดุลกับสุขภาวะของนิสิต ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงด้วยการพัฒนาระบบการประเมินผลแบบใหม่ เน้นการสร้างสุขภาวะให้แก่ผู้เรียน

อย่างไรก็ดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เป็นต้นแบบในการพัฒนาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตของประเทศมาโดยตลอด ที่ผ่านมาได้มีการพัฒนาหลักสูตรแพทยฯ ในปีพ.ศ. 2521 หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต โครงการส่งเสริมการศึกษาแพทย์สำหรับชาวชนบท (MESRAP), พ.ศ. 2531 หลักสูตรแพทย์แนวใหม่ (New Track) ซึ่งรับผู้ที่จบปริญญาตรีมาศึกษาปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต, พ.ศ. 2545 หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต ที่จัดการศึกษาแบบมุ่งเน้นผลลัพธ์การเรียนรู้ (outcome-based curriculum) หลักสูตรแรกของประเทศไทย, พ.ศ. 2560 หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตที่มีสัดส่วนวิชาเลือกมากถึง 32 หน่วยกิต และเปิดโอกาสให้นิสิตสามารถศึกษาจบการศึกษาสองปริญญาภายใน 6 ปี และพ.ศ. 2564 หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต ภาคบัณฑิต (หลักสูตรนานาชาติ; CU-MEDi) แบบ 4 ปี

 รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์  คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายขยายความว่า หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2567 ให้ความสำคัญกับการประเมินผลแบบใหม่ ที่จะช่วยให้นักศึกษาได้รู้แนวทางในการเรียน หรือทราบพฤติกรรมในการเรียน เน้นหลักสำคัญ 4 ประการ ได้แก่ 1.การประเมินทำให้บัณฑิตหรือประชาชนมั่นใจว่า นักศึกษาที่จบไปแล้วมีความสามารถพร้อมที่เป็นหมอดูแลทุกคน เพราะตนเชื่อว่าระบบเกรดอย่างเดียว อาจจะไม่ดีพอที่จะบอกว่าผู้เรียนที่มาทั้งหมด สามารถผ่านเกณฑ์ทุกอย่างในการเรียนรู้

2. ผู้เรียนสามารถพัฒนาไปตามแนวทางที่ต้องการได้ และรู้ว่ามีความเป็นเลิศด้านไหน 3.ลดความเครียดที่ไม่จำเป็น เช่น การแข่งขันในการเรียนที่ต้องมุ่งเน้นให้ได้เกรด A แต่อย่างไรก็ตาม การเรียนแพทย์จะหลีกเลี่ยงจากความเครียดไม่ได้ เพราะต้องเกี่ยวข้องกับการดูแลคน และ 4. ผู้เรียนมีความสุขกับการเรียน มีการช่วยเหลือกัน จึงอยากให้ประชาชนมั่นใจว่าแพทย์ผลิตออกมาจากหลักสูตรการประเมินแบบใหม่จะได้มาตรฐานครบถ้วนถัดเทียมกับนานาชาติได้

 รศ.นพ.ศักนัน มะโนทัย  รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ อธิบายว่าการพัฒนาระบบการประเมินผลแบบใหม่ในหลักสูตรเป็นผลการประเมินผ่าน/ตก หรือ S/U (Satisfactory/Unsatisfactory) ตลอดหลักสูตร มีงานวิจัยที่แสดงว่าการประเมินลักษณะนี้จะช่วยลดระดับความเครียดของผู้เรียน ช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ร่วมกันได้ดียิ่งขึ้น และสร้างเสริมสุขภาวะของผู้เรียน ในขณะที่ผลการสอบและพฤติกรรมในการเรียนการปฏิบัติงานไม่ได้ลดลง

ทั้งนี้ จากสถิติของโรงเรียนแพทย์ในสหรัฐอเมริกา พบว่า สัดส่วนของโรงเรียนแพทย์ที่ใช้ letter grade A - Fมีจำนวนลดลงเรื่อยๆ โดยในปีการศึกษา 2021/2022 มีโรงเรียนแพทย์ที่ใช้การตัดเกรดลักษณะนี้ไม่ถึง 15% ของโรงเรียนแพทย์ทั้งหมด

ส่วนการปรับหลักสูตรเรียนแพทย์ของคณะแพทย์ฯ จุฬา ไม่มีเกรด เปลี่ยนเป็น S/U หรือผ่านกับไม่ผ่าน จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในสถาบันผลิตแพทย์อื่นๆ ของไทยหรือไม่ ยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม ซึ่งเชื่อว่าจะลดความกดดันเป็นประโยชน์แก่ผู้เรียน โดยเฉพาะในแง่ของสุขภาพจิต


ขณะที่ประเด็นที่ต้องจับตาไม่แพ้กันคือ ปรากฏการณ์ “แพทย์ลาออก” ซึ่งตลอดหลายปีที่ผ่านมา แพทย์ในโรงพยาบาลรัฐของไทยทยอยลาออกจากราชการต่อเนื่อง  รศ.นพ.บวรศม ลีระพันธ์  รองหัวหน้าศูนย์นโยบายและการจัดการสุขภาพ มหาวิทยาลัยมหิดล เรียกปรากฏการณ์การลาออกของแพทย์เป็นภาพสะท้อนภาวะ  The Great Resignation  ซึ่งก็คือการลาออกครั้งใหญ่ของบุคลากรสาธารณสุข นับเป็นปัญหาสะสมมาไม่ต่ำกว่า 10 ปี ทางออกของปัญหาคือการสร้างกลไก ความเป็นธรรมทางสุขภาพ กล่าวคือคนป่วยต้องได้รับบริการที่เพียงพอมีมาตรฐานจากทีมบุคลากรครบถ้วน ขณะที่ทีมบุคลากรก็ต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีเช่นเดียวกัน

 รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ  ประธานคณะกรรมการโรงพยาบาลในกลุ่มสถาบันแพทย์แห่งประเทศไทย (UHOSNET) วิเคราะห์ปัจจัยการลาออกของแพทย์ ประกอบด้วย 1. ภาระงานมากขึ้น 2.ทัศนคติของบุคลากรรุ่นใหม่เปลี่ยนไป เรื่องค่าตอบแทน ค่าครองชีพไม่สอดคล้องกับภาวะปัจจุบัน โอกาสการศึกษาต่อเพื่อพัฒนาตัวเอง รวมถึงการฟ้องร้อง เพราะการรักษาคนไข้ในปัจจุบันก็ไม่เหมือนในอดีต และ 3. หลังสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ภาคเอกชนไทยหรือต่างประเทศ มีความต้องการบุคลากรมากขึ้น ซึ่งเป็นอีกปัจจัยทำให้คนออกนอกระบบ

จากสถานการณ์การลาออกของบุคลากรสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุขเร่งเครื่องนโยบาย “ผลิตแพทย์ใหม่”  เข้าสู่ระบบ ทั้งนี้ ค่าเฉลี่ยจำนวนการผลิตแพทย์ประมาณ 2,000 3,000 คนต่อปี ส่งผลต่อภาระงานของแพทย์ 1 คนต้องแบกภาระดูแลคนไข้ 2,000 คน

อ้างอิงข้อมูลการจัดสรรนักศึกษาแพทย์ ผู้ทำสัญญาฯ ที่ไปปฏิบัติงานชดใช้ทุน คณะแพทยศาสตร์ ส่วนราชการ หน่วยงาน และกระทรวงสาธารณสุข ปีงบประมาณฯ 2561 - 2565 จำนวนสำเร็จการศึกษารวมทั้งสิ้น 13,141 คน ดังนี้

 ปี 2561 สำเร็จการศึกษา 2,648 คน สธ. ได้รับจัดสรร 1,994 อัตรา ปฏิบัติงานจริง 2,016 คน, ปี2562 สำเร็จการศึกษา 2,629 คน สธ. ได้รับจัดสรร 2,054 อัตรา ปฏิบัติงานจริง 2,044 คน, ปี 2563 สำเร็จการศึกษา 2,636 คน สธ. ได้รับจัดสรร 2,031 อัตรา ปฏิบัติงานจริง 2,039 คน, ปี 2564 สำเร็จการศึกษา 2,610 คน สธ. ได้รับจัดสรร 2,023 อัตรา ปฏิบัติงานจริง 2,021 คน, ปี 2565 สำเร็จการศึกษา 2,618 คน สธ. ได้รับจัดสรร 1,849 อัตรา ปฏิบัติงานจริง 1,850 คน  

อ้างอิงจากค่าเฉลี่ยจำนวนนักศึกษาแพทย์ที่ได้รับคัดเลือกจริงใน 6 ปีที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าในปี 2567 จะมีแพทย์สำเร็จการศึกษาประมาณ 2,800 คน จะจัดสรรให้กระทรวงสาธารณสุขได้ประมาณ 2,000 คน เพิ่มขึ้นจาก 2 ปีที่ผ่านมาราว 200 คน พร้อมปฏิบัติงานได้ในเดือนมิถุนายน 2567 ทำให้มีบุคลากรลงไปปฏิบัติงานในพื้นที่เพิ่มขึ้น ช่วยลดภาระงานและบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแพทย์ในบางพื้นที่ได้มากขึ้น

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ปี 2565 เปิดเผยข้อมูลกำลังคนสาธารณสุขภาพรวมประเทศ พบว่า แพทย์รวม 52,497 คน คิดเป็นสัดส่วนแพทย์ต่อประชาชนที่ 7.94 : 10,000 คน ซึ่งอยู่ในกระทรวงสาธารณสุข 49% ภาคเอกชน 43% รัฐอื่นๆ 2% และอยู่ในกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) 6%

โดยสัดส่วนบุคลากรสาธารณสุขต่อประชาชนของประเทศไทย เมื่อเทียบกับประเทศกลุ่มตะวันตกและเอเชียยังถือว่าน้อย เนื่องจากกลุ่มประเทศตะวันตก อย่างสหราชอาณาจักรมีแพทย์สัดส่วนที่ 58.2 ต่อ 10,000 คน ส่วนกลุ่มประเทศเอเชีย อย่างญี่ปุ่นจะมีสัดส่วนแพทย์ที่ 24.8 ต่อ 10,000 คน เป็นต้น

หนึ่งในนโยบาย สธ. ว่าด้วยการเร่งผลิตแพทย์ใหม่นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงการยกระดับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ซึ่งไม่เคยมีแพทย์ประจำว่า มีแนวทางให้มีแพทย์ประจำ รพ.สต. แห่งละ 3 คน มีการหารือกับ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สรุปว่าพร้อมสนับสนุนในการเติมบุคลากรแพทย์เข้าไปอยู่ใน รพ.สต.ทั้ง 8,500 แห่งทั่วประเทศ โดยคาดว่าจะต้องมีแพทย์ 25,000 คน คอยประจำและหมุนเวียนการทำงานใน รพ.สต. แห่งละ 3 คน

แนวทางการหาบุคลากรแพทย์ไปประจำ รพ.สต. จะมีการผลิตแพทย์เข้าสู่โครงการโดยตั้งเป้าผลิตแพทย์ให้ได้จำนวน 25,000 คน ในระยะเวลา 12 ปี และจะครอบคลุม รพ.สต.ทั่วประเทศ โดยโครงการดังกล่าวจะใช้งบประมาณราว 1 แสนล้านบาท เพื่อผลิตแพทย์ให้ได้ตามจำนวน

สำหรับการผลิตแพทย์ 1 คนต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6 ปี และต้องใช้เงินประมาณ 4 ล้านบาทต่อคน ฉะนั้น หากจะทำให้ครบตามโครงการก็ต้องใช้เงินประมาณ 1 แสนล้านบาท ประเมินผลลัพท์คุ้มค่าเพราะ สธ. จะคัดเลือกเด็กในภูมิลำเนาเพื่อให้มาเรียนแพทย์ เรียนจบแล้วก็กลับไปเป็นแพทย์ประจำ รพ.สต. ในภูมิลำเนาของตัวเอง

การคัดเลือกนักเรียนที่จะมาเรียนแพทย์ตามโครงการฯ จะเป็นระบบโควตาในแต่ละจังหวัด เช่น หากในจังหวัดมี รพ.สต. 100 แห่ง 1 แห่งจะใช้ให้มีหมอ 3 คน ก็จะได้ 3,000 คน หารด้วย 6 คือ 6 ปี ปีละ 50 คนและเมื่อเรียบจบก็กลับมาเป็นแพทย์ในจังหวัดของตน ซึ่งการผลิตแพทย์จะป้อนเข้า รพ.สต. ทั้งที่ยังอยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และที่มีการถ่ายโอนภารกิจไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)

อย่างไรก็ตาม ปัจจจุบันปริมาณแพทย์เพิ่มขึ้นทุกปี  นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์  ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่าหากเทียบจำนวนก็ไม่ขาดแคลนเหมือนในอดีต อย่างปัจจุบันมีแพทย์กว่า 30,000 กว่าคน ซึ่งความขาดแคลนไม่ได้ขนาดเท่าอดีต แต่ถามว่าเพียงพอหรือไม่ ก็ต้องบอกว่า มีมากย่อมดีในแง่การบริการประชาชนได้เพิ่มขึ้น

แต่ปัญหาคือการกระจายตัวของแพทย์ ซึ่งหากพิจารณาพื้นที่ที่ขาดและต้องมีการกระจายเพิ่มเข้าไปก็จะเป็นพื้นที่ที่คนไม่ค่อยอยากไปอยู่ เช่น เขตสุขภาพที่ 8 แถวอีสานตอนบน เขตสุขภาพที่ 2 และเขตสุขภาพที่ 10 ซึ่งเมื่อเทียบกับเขตสุขภาพอื่นๆ พบว่า 3 เขตนี้จะน้อยที่สุด โดยตั้งเป้าจะเติมอัตรากำลังลงไป 3 เขตสุขภาพนี้ โดย สธ. จะออกหลักเกณฑ์ต่างๆ ต่อไป

ขณะที่รายงานดัชนีความมั่นคงด้านสุขภาพของโลก (Global Health Security Index - GHS Index) ฉบับปี 2021 จัดให้ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านสุขภาพอันดับที่ 5 ของโลก โดยแยกย่อยด้านการตรวจและรายงาน ประเทศไทยมีคะแนนสูงสุดเป็นอันดับที่ 1 ของโลก และในการการรับมือและตอบสนองอย่างรวดเร็ว ครองอันดับ 2 ของโลก

 ดังนั้น ทั้งเรื่องความกดดันของการเรียนแพทย์ ปัญหาภาระงานล้นสู่ปรากฎการณ์แพทย์ลาออก และแนวทางเพิ่มจำนวนแพทย์ ปัญหาด้านบุคลากรทางการแพทย์เป็นโจทย์ข้อใหญ่ที่ทุกภาคส่วนต้องระดมสมองแก้ปัญหา 



กำลังโหลดความคิดเห็น