ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - คำขอและคำตอบรับสำหรับการนำแพนด้ามาอยู่ไทยอีกรอบระหว่างการหารือของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กับนายหวัง อี้ สมาชิกกรมการเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกลางด้านกิจการต่างประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน ที่มาเยือนไทยเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา เรียกเสียงหนุนและค้านจากสังคมไทยด้วยหลากหลายเหตุผล
“นายกฯ เศรษฐา” บอกเล่าด้วยความยินดีว่า ปีหน้าจะครบ 50 ปีความสัมพันธ์ไทย-จีน จะเรียนเชิญ นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน มาเยือนประเทศไทยด้วย และพูดถึงทูตไมตรีหมีแพนด้าว่า “ถ้าจำกันได้เดิมสวนสัตว์เชียงใหม่ เคยมีแพนด้า แต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว ซึ่งบังเอิญเมื่อ 2-3 วันก่อน ได้เข้าไปดูทวิตเตอร์เกี่ยวกับประเทศที่มีแพนด้าแล้วไล่ลงมาหลายประเทศพบว่าประเทศไทยเป็นศูนย์ ก็ไม่ได้เป็นกระจกสะท้อนที่ดีสำหรับสัมพันธ์ทางด้านการทูตที่เรามีมาอย่างดีกับจีนตลอด 50 ปีที่ผ่านมา จึงได้ขอไป และทางจีนก็ให้การสนับสนุน”
แต่สำหรับ น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กลับมีความเห็นต่าง โดยได้แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า เคยแสดงความไม่เห็นด้วยไปครั้งหนึ่งแล้วเมื่อปีก่อน ตอนมีข่าวใหม่ ๆ ทั้งที่เป็นคนที่รักแพนด้ามาก ขอกล่าวถึงเหตุผลที่ไม่เห็นด้วยอีกครั้งว่า แพนด้าอยู่จีนดีแล้ว เขาเลี้ยงแต่ละตัวในพื้นที่กว้าง มีสนามส่วนตัว อากาศเหมาะสม
นอกจากนั้นแล้ว ส่วนจัดแสดงแพนด้าที่สวนสัตว์เชียงใหม่เล็ก พื้นที่จำกัด เป็นห้องแอร์ ไม่เป็นธรรมชาติเลย แพนด้าจะมีโอกาสออกสวนเล็ก ๆ ยามอากาศหนาวเพียงไม่เกินปีละ 1 สัปดาห์ ที่เขาจะได้เจออากาศธรรมชาติ ค่าเช่าแพนด้าแพงมาก ปีละหลายสิบล้าน และกระแสแพนด้าในไทยหมดไปแล้ว ขณะที่กระแสช้างไทยมาแรง ควรใช้เงินดูแลช้างและสัตว์ในบ้านเรา รวมทั้งทำแหล่งอาหารสัตว์ป่า แก้ปัญหาระหว่างคนกับช้าง
“แพนดาอยู่จีนดีกว่า ควรใช้เงินเพื่อสัตว์ในบ้านเรา และไม่ควรใช้สัตว์เป็นทูตแล้ว” นางกัญจนา ระบุ
เช่นเดียวกัน “วินทร์ เลียววาริณ” นักเขียนรางวัลซีไรท์สองสมัย แสดงความไม่เห็นด้วยอย่างแรงที่จะนำแพนด้ากลับมาไทย โดยโพสต์ของเขาที่เพิ่งพูดถึงเรื่องปฏิเสธสวนสัตว์และการทำบุญปล่อยนกปล่อยปลาไปหยก ๆ ก็ต้องมาพูดถึงกรณีมีข่าวจีนกับไทยเชื่อมสัมพันธ์ด้วย “การทูตแพนด้า” ที่จีนสัญญาจะส่งแพนด้ามาให้ไทยเป็นของขวัญแทนใจ
“ภาพแพนด้าแม่ลูกนั่งนอนบนพื้นซีเมนต์แห้งกร้านรายล้อมด้วยลูกกรงเหล็กพร้อมอาหารเสิร์ฟถึงที่ อาจดูน่ารักในสายตาของคนจำนวนมาก แต่ในมุมมองของนักอนุรักษ์สัตว์ มันกลับเป็นภาพที่ชวนสลดหดหู่ที่สุดภาพหนึ่งในโลก แพนด้าแม่ลูกก็ดูไม่ต่างจากอาชญากรที่ถูกจำจอง ไม่ว่าเราจะจำลองบ้านของมันให้ดูเหมือนธรรมชาติเพียงไร หรือจะยืนยันผ่านเอสเอ็มเอสสักล้านหนว่า เรารักพวกมันมากแค่ไหน เช่นเดียวกับภาพสัตว์ในกรงกลางห้างสรรพสินค้าที่ถูกบังคับให้ถ่ายรูปกับฝูงชน ดังนั้น ยินดีรับไมตรีจิตจากจีนร้อยเปอร์เซ็นต์ด้วยความขอบคุณ แต่ไม่รับแพนด้าได้ไหม?” เป็นคำขอของนักเขียนซีไรท์ “วินทร์ เลียววาริณ” ที่โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กในวันสุดท้ายของเดือนมกราคม 2567
กล่าวสำหรับ “การทูตแพนด้า” ที่ผู้นำไทยต้องการแลกมาพร้อมด้วยความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและการลงทุนจากมหาอำนาจตะวันอออก นอกเหนือจากประเด็นที่นักเขียนซีไรท์ และ “หนูนา” แสดงความห่วงกังวลไม่เห็นด้วยกับการนำแพนด้ากลับมายังไทยเพราะไม่ต้องการเห็นภาพ “แพนด้าแม่ลูกก็ดูไม่ต่างจากอาชญากรที่ถูกจำจอง” แล้ว อีกประเด็นที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันคือ เรื่องงบประมาณสำหรับการ “เช่า” และค่าใช้จ่ายในการดูแลแพนด้าตลอดสัญญา
ทั้งนี้ ราคาที่ต้องจ่ายสำหรับ “สัญญาทูตแพนด้า” คราวที่แล้วร่วมยี่สิบปีตกประมาณ 360 กว่าล้านบาท ขณะที่ข้อมูลจากสวนสัตว์เชียงใหม่ ระบุว่า นับตั้งแต่ตุลาคม 2546 ถึงเดือนสิงหาคม 2565 ส่วนจัดแสดงแพนด้าต้อนรับผู้เข้าชมอย่างน้อย 7.4 ล้านคน ทำเงินให้กับการท่องเที่ยวเชียงใหม่อักโข
ในปี 2544 พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น ริเริ่มเจรจาขอแพนด้าจากจีนมาอยู่ไทย เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งสัมพันธ์ไมตรีระหว่างสองประเทศ จากนั้นในเดือนตุลาคม 2546 แพนดา 2 ตัว คือ ช่วงช่วงและหลินฮุ่ย จึงได้มาอยู่ไทยในเดือนตุลาคม 2546 โดยสวนสัตว์เชียงใหม่เป็นผู้ดูแล ต่อมาหลินฮุ่ยคลอดลูกแพนดาเพศเมียชื่อ หลินปิง ในเดือนพฤษภาคม 2552 ซึ่งเป็นผลสำเร็จจากการผสมพันธุ์เทียม
รายงานของไทยพีบีเอส ให้ข้อมูลว่า สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2545 ถึง ปี 2565 รัฐบาลจัดสรรงบมากกว่า 98 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างโครงการวิจัยและส่วนจัดแสดงแพนดาในสวนสัตว์เชียงใหม่ ขณะเดียวกัน หลายหน่วยงานของไทยก็มีโครงการใช้งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับแพนด้าอย่างน้อย 16 โครงการ งบรวมกันกว่า 130 ล้านบาท
เมื่อมาดูสัญญาให้แพนดาช่วงช่วงและหลินฮุ่ยอยู่ไทยในช่วงสิบปีแรก ระหว่างเดือนตุลาคม 2546 ถึง ตุลาคม 2556 พบว่า ไทยส่งเงินสนับสนุนเข้าโครงการอนุรักษ์แพนด้า สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือ CWCA ปีละ 250,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นระยะเวลา 10 ปี เมื่อหลินปิงเกิดในปี 2552 ไทยส่งเงินเพิ่มเติมอีกปีละ 80,000 ดอลลาร์สหรัฐ ไปอีกสี่ปี จนกระทั่งหลินปิงกลับไปหาคู่ที่จีน
จากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2558 เห็นชอบให้ไทยต่อสัญญารอบที่สอง ระหว่างเดือนตุลาคม 2556 ถึง ตุลาคม 2566 โดยไทยเพิ่มเงินสนับสนุนโครงการอนุรักษ์แพนด้าของ CWCA เป็นสองเท่าสำหรับช่วงช่วงและหลินฮุ่ย คือ 500,000 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี แต่หลังจากช่วงช่วงตายในปี 2562 ไทยลดเงินสนับสนุนลงเหลือเพียงปีละ 250,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ไปจนถึงเดือนตุลาคม 2566 ซึ่งเป็นช่วงสิ้นสุดสัญญาระยะที่สอง
โครงการอนุรักษ์แพนด้าของ CWCA จึงได้เงินสนับสนุนจากไทยไปทั้งหมด 6.82 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 230.49 ล้านบาท สำหรับสัญญาทั้งสองระยะรวมกัน หากรวมกับงบประมาณที่หน่วยงานต่างๆ เบิกใช้ในช่วง 19 ปีที่ผ่านมา พบว่าไทยใช้เงินไปอย่างน้อย 360.59 ล้านบาท กับนโยบายการทูตแพนด้า
นอกจากนี้ ในข้อตกลงที่ผ่านมติ ครม. เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2558 ยังระบุเพิ่มเติมว่า กรณีที่แพนด้าตายในประเทศไทยด้วยเหตุประมาทของฝ่ายไทย ไทยต้องจ่ายค่าชดเชยตัวละ 5 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ถ้าเป็นลูกหมีแพนด้าอายุเกิน 12 เดือน ไทยต้องจ่ายค่าชดเชยตัวละ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ถ้าหากมีการขนย้ายแพนด้ากลับประเทศจีน ฝ่ายไทยต้องจัดทำประกันภัยการขนย้าย 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯสำหรับแพนด้าแต่ละตัว รวมทั้งลูกแพนด้าที่มีอายุเกิน 12 เดือน ฝ่ายจีนเป็นผู้รับผลประโยชน์สำหรับการประกันภัย
เมื่อเดือนกันยายน 2562 ช่วงช่วง ตายจากสภาวะหัวใจล้มเหลว ขณะอายุ 19 ปี ไทยต้องจ่ายค่าชดเชยตามสัญญาให้โครงการอนุรักษ์แพนด้า โดยบริษัทประกันเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนนี้ในวงเงิน 15 ล้านบาท และในปี 2566 หลินฮุ่ย ได้ป่วยและเสียชีวิตลงด้วยอายุ 21 ปี ทำให้ประเทศไทยไม่มีหมีแพนด้าอีกนับแต่นั้น
สำหรับการทูตแพนด้า หรือ Panda diplomacy เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2484 ซึ่งจีนใช้เชื่อมความสัมพันธ์กับประเทศต่าง ๆ โดยส่งแพนดาไปให้เป็นของขวัญเนื่องจากเป็นสัตว์หายาก พบในป่าทางตอนกลางของประเทศจีนเพียงแห่งเดียวในโลก ภายหลังประชากรแพนดาลดลง นับจากปี 2527 เป็นต้นมา จีนจึงเปลี่ยนแนวทางเป็นการส่งแพนดาไปอยู่ในประเทศต่าง ๆ ในลักษณะสัญญาเช่าเพื่อการอนุรักษ์แทน
ในสัญญาเช่าระบุว่า ประเทศคู่สัญญาต้องจ่ายค่าธรรมเนียมพื้นฐานรายปี และมีข้อกำหนดว่า ลูกของแพนด้าที่เกิดระหว่างสัญญาให้ถือเป็นทรัพย์สินของประเทศจีน โดยต้องเสียค่าธรรมเนียมค่าลูกแพนด้าเพิ่มเติม ในแต่ละปีด้วย โดยจำนวนเงินที่จ่ายขึ้นอยู่กับการเจรจาของแต่ละประเทศ ปัจจุบันแพนด้าของจีนอยู่ประจำสวนสัตว์ 22 แห่งใน 17 ประเทศทั่วโลก
อย่างไรก็ดี การทูตแพนด้าในระยะหลังถูกตั้งคำถามและเผชิญปัญหาจากปัจจัยต่างๆ เช่น เมื่อสองปีที่แล้ว สวนสัตว์ในประเทศแคนาดา ต้องส่งแพนด้าคู่หนึ่งกลับจีน จากปัญหาขาดแคลนไผ่ซึ่งเป็นอาหารหลักของแพนด้าในช่วงการระบาดของโรคระบาดโควิด-19 ขณะที่สภาครองเกรส สหรัฐอเมริกา เคยมีการตั้งคำถามว่าเงินค่าธรรมเนียมรายปีที่จ่ายไปถูกนำไปใช้ในโครงการอนุรักษ์แพนด้าอย่างแท้จริงหรือไม่
เช่นเดียวกับในไทย ซึ่งบัดนี้กระแสเห่อแพนด้าผ่านพ้นไปแล้ว และมีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลทุ่มเทงบประมาณดูแลสัตว์อย่างเช่นช้างที่เป็นหน้าเป็นตาและเป็นซอฟท์เพาเวอร์ของประเทศ จะดีกว่าไหม?