xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ก้าวไกล = ล้มล้าง 3 ดาบ “อาฟเตอร์ช็อก” ฉ่ำๆ เช็กชื่อ “แถวสาม” รอเสียบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ใจฟูต้อนรับ “แด๊ดดี้ทิม” พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กลับสู่สังเวียนสภาได้ไม่กี่วัน พลพรรค “ก้าวไกล-ด้อมส้ม” ก็ต้องหดหู่อีกครั้ง ในคดีใหญ่กว่า อย่างคดีเสนอแก้ไขประมวลหฎหมายอาญามาตรา 112 ล้มล้างการปกครอง

หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์วินิจฉัยว่า “พิธา“ ในฐานะผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้ถูกร้องที่ 2 มีพฤติการณ์ในการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการ การเรียกร้องให้มีการทำลายการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยซ่อนเร้นหรือผ่านการนำเสนอร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และใช้เป็นนโยบายพรรค ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง
 
พร้อมสั่งให้เลิกการกระทำ เลิกการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การโฆษณา การสื่อความหมายอื่นเพื่อให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยกระบวนการนิติบัญญัติที่โดยชอบที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคสองด้วย

“การใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง พร้อมกับมีการรณรงค์การแก้ไขอย่างต่อเนื่อง เพื่อหวังผลคะแนนเสียงทางการเมือง แสดงให้เห็นถึงความมุ่งหมายให้สถาบันอยู่ในฐานะคู่ขัดแย้งกับประชาชน

“การเสนอแก้ไขกฎหมายดังกล่าวและการใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงจึงแสดงถึงเจตนาเซาะกร่อน บ่อนทำลายทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เกิดความทรุดโทรมเสื่อมทราม ซึ่งสามารถนำไปสู่การการล้มล้างการปกครองได้”

บางช่วงบางตอนของคำวิฉัยกลางของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ บรรยายไว้เช่นนั้น

ในชั้นนี้อาจมองได้ว่า โทษยังไม่รุนแรง หรือยังไม่มีการลงโทษ เพียงแค่ชี้ให้เห็นว่า พฤติการณ์ของ “พิธา-ก้าวไกล” จะนำไปสู่การทำลายการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และสั่งให้หยุดพฤติการณ์ทั้งหมด

แต่ด้วย “ข้อหาฉกรรจ์” ที่ว่าไป รวมกับคำวินิจฉัย และคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญที่มีผล “ผูกพันทุกองค์กร” ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 211 ก็ทำให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 กลายเป็น “สารตั้งต้น” ที่จะมีผลชี้เป็นชี้ตายกับ “พิธา” รวมไปถึง “ค่ายสีส้ม” พรรคก้าวไกล อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

และทำท่าว่าต้องเตรียมตัวรับ “อาฟเตอร์ช็อก” กันแบบฉ่ำๆ อย่างน้อยๆ 3 ดาบเลยทีเดียว

ดาบแรก เริ่มจากคดีอาญา ด้วยฐานความผิดที่หยิบยกมาตรา 49 แห่งรัฐธรรมนูญ 2560 ตามคำร้อง มีการระบุในวรรคท้ายว่า “การดำเนินการตามมาตรานี้ไม่กระทบต่อการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการตามวรรคหนึ่ง”

แปลไทยเป็นไทยได้ว่า ที่ ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยและมีคำสั่งให้หยุดการกระทำนั้น ไม่กระทบกับการดำเนิน “คดีอาญา” ต่อ “ผู้กระทำผิด” อันเป็นเขตอำนาจของ “ศาลยุติธรรม”

ตรงกับที่เว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญระบุไว้ว่า “เป้าหมายของคดีประเภทนี้ คือ การขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้บุคคล “เลิกการกระทำ” เท่านั้น ไม่ใช่การนำตัวผู้กระทำการดังกล่าวมาลงโทษทางอาญา อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าจะดำเนินคดีอาญาแก่ผู้กระทำการไม่ได้ เพียงแต่จะแยกเป็นอีกคดีหนึ่งซึ่งจะไปอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลยุติธรรม”

จากฐานความผิด “ล้มล้างการปกครอง” รวมทั้งในคำวินิจฉัยที่ว่า “ด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ที่บัญญัติให้องค์พระมหากษัตริย์อยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดไม่ได้ และทำให้ข้อความดังกล่าวกระจายสู่สาธารณะ เป็นการเสื่อมพระเกียรติ”

ก็อาจส่งให้ “พิธา-พรรคก้าวไกล” เข้าข่ายกระทำผิดตามประมวลกฎหมาย ทั้งมาตรา 112 อันว่าด้วยความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี ซึ่งก่อนนี้ก็มี “ตัวตึงก้าวไกล” หลายคนต้องคดีนี้มาแล้ว

มาตรา 113 ว่าด้วยความผิดฐานเป็นกบฏ ต้องระวางโทษ “ประหารชีวิต” หรือ “จำคุกตลอดชีวิต” อันเป็นข้อหาที่พรรคก้าวไกลเคยโหมประโคมให้นำมาเล่นงาน คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่ทำไปทำมาอาจย้อนศรมาโดนคดีที่มีโทษร้ายแรงนี้เสียเอง

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่ปรึกษาพรรคก้าวไกล พร้อมด้วยนายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคฯ และ สส.พรรคก้าวไกล เเถลงข่าว หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ วินิจฉัยว่า การแก้ไขม.112 เป็นการล้มล้างการปกครอง และห้ามดำเนินการในลักษณะนี้อีก
ตลอดจนมาตรา 116 ว่าด้วยความผิดฐานยุยงปลุกปั่นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ที่เป็นอีกคดีที่ “ตัวตึงก้าวไกล” มีติดตัวอยู่

ถัดมาดาบ 2-3 เป็นคิวของ 2 องค์กรอิสระคือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ว่ากันว่าลับมีดรออยู่แล้ว

ในส่วนของ กกต. มีอำนาจในการตั้งคดี “ยุบพรรค” จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเข้าข่ายกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 (1) และ (2) หรือไม่ ก่อนส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามขั้นตอน

โดย พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 92 ระบุว่า เมื่อ กกต. มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคการเมืองใดกระทําการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น มีทั้งหมด 13 เหตุด้วยกัน

สำหรับ (1) คือ กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และ (2) คือ กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

อย่างไรก็ดี แม้ กกต.จะยังไม่ขยับ ก็มีรายของ ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ผู้ร้องคดีล้มล้างการปกครอง ที่ได้ยื่นคำร้องต่อ กกต. ให้ตรวจสอบ พรรคก้าวไกล กรณีดำเนินการเพื่อยกเลิกมาตรา 112 และยังดำเนินการอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะยกเลิกมาตรา 112 สำเร็จ เป็นการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 (2) หรือไม่ ตั้งแต่เดือน พ.ค.66 ช่วงการหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมา และเป็นช่วงเดียวกับที่ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ

รวมทั้ง เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ที่ก็ได้นำคำวินิฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเข้ายื่นต่อ กกต. เพื่อขอให้ดำเนินการไต่สวนคดียุบ พรรคก้าวไกล เป็นการด่วน จากเหตุ พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 92 (1) และ (2)

ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการไต่สวนแล้ว มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคการเมืองกระทำการผิดตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 92 ให้สั่งยุบพรรคนั้น และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) นั้นด้วย

เป็นที่รู้กันว่า “ค่ายสีส้ม” เคยลิ้มรสโทษยุบพรรคมาแล้วสมัยพรรคอนาคตใหม่ ครั้งนั้นถูกวินิจฉัยว่า หลีกเลี่ยงการบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่น ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 66 เป็นการรับบริจาคไม่ชอบด้วยกฎหมายตาม มาตรา 72 เป็นเหตุให้สั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง “เสี่ยเอก” ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และคณะ เป็นเวลา 10 ปี ตามมาตรา 92 วรรคสอง จากกฎหมายฉบับเดียวกัน

“ไอติม” พริษฐ์ วัชรสินธุ โฆษกพรรคก้าวไกล คือ “รุ่นสาม” ที่จะมารับช่วงบริหารงานต่อถ้าหากเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง
ก่อนมีการอพยพมาอยู่พรรคก้าวไกล และเชิด “พิธา” ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค พร้อมกับปรับโครงสร้าง กก.บห. ให้มีความกะทัดรัด โดยไม่นับ รองหัวหน้าพรรค และโฆษกพรรคเป็น กก.บห.ตามกฎหมาย และแต่งตั้ง กก.บห.เท่าที่จำเป็น

เมื่อพลิกสารบบ กก.บห. พรรคก้าวไกล ขณะถูกร้องคดีล้มล้างการปกครอง หรือในช่วงหาเสียงเลือกตั้งพฤษภาคม 2566 ที่ตอนนั้น “พิธา” ยังเป็นหัวหน้าพรรคอยู่ พบว่ามีอยู่เพียง 10 คน ประกอบด้วย “พิธา” หัวหน้าพรรค, “โกต๋อม” ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคคนปัจจุบัน ในฐานะเลขาธิการพรรคขณะนั้น, ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ เหรัญญิกพรรค, ณกรณ์พงศ์ ศุภนิมิตตระกูล นายทะเบียนสมาชิกพรรค ที่เหลือเป็น กก.บก.ตามสัดส่วนอีก 6 คน คือ ปดิพัทธ์ สันติภาดา, สมชาย ฝั่งชลจิตร, อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล, อภิชาต ศิริสุนทร, เบญจา แสงจันทร์ และสุเทพ อู่อ้น

โดยในจำนวนนี้มีที่เป็น สส.ปัจจุบันอยู่ 7 คน

และจากการ “ชั่ง ตวง วัด” กระแสในตอนนี้ ก็มีแนวโน้มสูงว่า พรรคก้าวไกลอาจจะเดินตามรอยพรรคอนาคตใหม่ รุ่นพี่ เช่นเดียวกับ 10 กก.บห.ที่ว่าไปข้างต้นด้วย

ต่อมาเป็นเรื่อง “ตัวบุคคล” ในส่วนของ ป.ป.ช.ที่มีอำนาจตั้ง “คดีฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง” สุดท้ายปลายทางจะไปจบที่ “ศาลฎีกา”

ความน่าสนใจของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 31 ม.ค.67 มีการย้อนความไปถึงพฤติการณ์ของ พรรคก้าวไกล ที่เคยยื่นเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่..) พ.ศ. …. เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรชุดที่แล้ว เมื่อเดือน มี.ค.64 โดยได้วินิจฉัยไล่เรียงสาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวที่โดยสรุป ถือเป็นความมุ่งหมายตามข้อกล่าวหา “ล้มล้างการปกครอง”

คำวินิจฉัยของศาลรับธรรมนูญ ยังได้ระบุชี้ชัดลงไปอีกว่า มี สส.พรรคก้าวไกล จำนวน 44 คน ร่วมลงลายมือชื่อเพื่อยื่นเสนอร่างกฎหมายฉบับนั้น เสมือนเป็นการชี้เป้าให้ ป.ป.ช.ตั้งคดีฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรงขึ้นมาเอง หรือให้คนยื่นคำร้องตรวจสอบจริยธรรม 44 สส.ก้าวไกลดังกล่าว

เป็นมาตรฐานจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 หรือไม่ ที่ใช้บังคับกับ สส., สว. และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ด้วย

โดยเนื้อหาสำคัญอยู่ที่หมวด 1 ข้อ 5 กำหนดให้ต้องยึดมั่นและธํารงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ทั้งนี้หากมีการตั้งคดี หรือมีผู้ยื่นคำร้อง ป.ป.ช.ก็จะพิจารณาตามมาตรา 235 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่ระบุว่า ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยหรือมีการกล่าวหาว่าผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง มีพฤติการณ์ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ให้เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัย ในกรณีที่ศาลฎีกามีคําพิพากษาว่า ผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์หรือกระทําความผิดตามที่ถูกกล่าวหา ให้ผู้ต้องคําพิพากษานั้น พ้นจากตําแหน่งนับแต่วันหยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น และจะเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกําหนดเวลาไม่เกิน 10 ปีด้วยหรือไม่ก็ได้

กรณีนี้สามารถเทียบเคียงไดด้กับกรณีที่ “สาวช่อ” พรรณิการ์ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้า และอดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ที่ถูกศาลฎีกาพิพากษา เมื่อเดือนกันยายน 2566 ว่า กระทำการฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง จากกรณีโพสต์ภาพและข้อความในลักษณะเป็นการกระทำอันมิบังควรต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ลงเฟซบุ๊กส่วนตัว และสั่ง “เพิกถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้งตลอดไป”

ครั้งนั้นพรรคก้าวไกล และคณะก้าวหน้า ต่างขนานนามว่า เป็นการ “ประหารชีวิตทางการเมือง” ทั้งที่เป็นการกระทำก่อนที่จะเข้ามาเป็น สส. เมื่อเทียบกับ 44 สส. ที่เพิ่งเซ็นเสนอกฎหมายกันเมื่อไม่กี่ปีก่อน ก็ยิ่งต้องหนาวๆ ร้อนๆ มากเป็นทวีคูณ

สำหรับรายชื่อ 44 สส.ประกอบไปด้วย 1.พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ, 2.พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ สส.บัญชีรายชื่อ, 3.ธีรัจชัย พันธุมาศ สส.บัญชีรายชื่อ, 4.ญาณธิชา บัวเผื่อน สส.จันทบุรี, 5.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ, 6.กัญจน์พงศ์ จงสุทธนามณี สส.บัญชีรายชื่อ, 7.เบญจา แสงจันทร์ สส.บัญชีรายชื่อ, 8.พ.ต.ต.ชวลิต เลาหอุดมพันธ์ สส.บัญชีรายชื่อ, 9.นิติพล ผิวเหมาะ สส.บัญชีรายชื่อ, 10.เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร สส.กทม., 11.ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.กทม.,

12.ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ, 13.ปดิพัทธ์ สันติภาดา สส.พิษณุโลก, 14.อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล สส.บัญชีรายชื่อ, 15.ประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ สส.บัญชีรายชื่อ, 16.ปริญญา ช่วยเกตุ คีรีรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ, 17.ณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.บัญชีรายชื่อ, 18.ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.กทม., 19.ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ สส.บัญชีรายชื่อ, 20.สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา สส.นครปฐม, 21.วรภพ วิริยะโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ, 22.คำพอง เทพาคำ สส.บัญชีรายชื่อ

23.สมเกียรติ ถนอมสินธุ์ สส.กทม., 24.ทองแดง เบ็ญจะปัก สส.สมุทรสาคร, 25.จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ สส.ฉะเชิงเทรา, 26.จรัส คุ้มไข่น้ำ สส.ชลบุรี, 27.สุเทพ อู่อ้น สส.บัญชีรายชื่อ, 28.ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส.บัญชีรายชื่อ, 29.อภิชาติ ศิริสุนทร สส.บัญชีรายชื่อ, 30.องค์การ ชัยบุตร สส.บัญชีรายชื่อ, 31.พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ สส.บัญชีรายชื่อ, 32.ณัฐพล สืบศักดิ์วงศ์ สส.บัญชีรายชื่อ, 33.ศักดินัย นุ่มหนู สส.ตราด

34.มานพ คีรีภูวดล สส.บัญชีรายชื่อ, 35.วาโย อัศวรุ่งเรือง สส.บัญชีรายชื่อ, 36.วรรณวิภา ไม้สน สส.บัญชีรายชื่อ, 37.วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ, 38.สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ, 39.ทวีศักดิ์ ทักษิณ สส.บัญชีรายชื่อ, 40.สมชาย ฝั่งชลจิตร สส.บัญชีรายชื่อ, 41.สมเกียรติ ไชยวิสุทธิกุล สส.บัญชีรายชื่อ, 42.วุฒินันท์ บุญชู สส.สมุทรปราการ, 43.รังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ และ 44.สุรวาท ทองบุ สส.บัญชีรายชื่อ

  ตัวเต็งรุ่น 3 ของพรรค
จำนวนนี้โดยมากก็ยังเป็น สส.สังกัดพรรคก้าวไกลในสภาชุดปัจจุบันอยู่ และส่วนใหญ่ก็ถือเป็นระดับ “แกนนำ” ของพรรคในตอนนี้ มีเพียงบางส่วนที่เว้นวรรคไม่ได้ลงสมัคร เช่น “พิจารณ์-อมรัตน์-ญาณธิชา” หรือบางส่วนที่ย้ายพรรคไปแล้ว เช่น “สมเกียรติ ถนอมสินธุ์-ทองแดง เบ็ญจะปัก” เป็นต้น

มีการคะเนกันว่า ผลพวงจาก 2 ดาบ โดย 2 องค์กรอิสระ จะนำไปสู่การยุบพรรคก้าวไกล พร้อมตัดสิทธิ์ทางการเมือง กก.บห. และตามมาด้วย ศาลฎีกาของผู้ตำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่จะตัดสิทธิ์ทางการเมือง 44 สส.ตลอดชีวิต เนื่องจากผิดจริยธรรมร้ายแรง ตามมาตรฐานคดี “สาวช่อ”

หากประเมินแบบ “เลาร้ายที่สุด” เป็นเช่นนั้นจริงๆ ระดับ “แกนนำ-ตัวตึง” ของ “ค่ายสีส้ม” ก็ต้องปิดฉากเส้นทางการเมืองของตัวเองกันยกแผง ตั้งแต่ “แด๊ดดี้ทิม” ที่เพิ่งได้กลับมาทำหน้าที่ สส. ก็คงหมดโอกาสจะได้ไปเป็น “นายกฯ ตัวจริง”, “เจ๊ไหม-ศิริกัญญา“ ที่คงต้องถอยออกมาวิพากษ์เศรษฐกิจนอกวง, “รองอ๋อง-ปดิพัทธ์” ที่ย้ายพรรคไปเพื่อรักษาเก้าอี้รองประธานสภาฯ คนที่ 1 ก็ต้องตกบัลลังก์ หรือ “วิโรจน์-รังสิมันต์-เท่าพิภพ-ณัฐชา” ก็ต้องอดสร้างสีสันลีลาการอภิปรายในสภาฯ เป็นต้น

ส่วน “โกต๋อม-ชัยธวัช” หัวหน้าพรรคคนปัจจุบัน และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ที่ไม่ได้เป็น สส.ในสมัยที่แล้ว อาจรอดเรื่องจริยธรรมร้ายแรง แต่ก็ไม่พ้นถูกตัดสิทธิพ่วงไปกับโทษยุบพรรคอยู่ดี

เชื่อแน่ว่า แม้จะโดนยุบพรรคอีกคำรบ แต่ “ชาวแก๊งส้ม” คงไม่ยอมง่ายๆ ก่อนนี้ก็เคยมีกระแสข่าวครั้งถูกร้องยุบพรรคก่อนหน้านี้ว่า พร้อมจะไปต่อ โดยมีการตระเตรียม “พรรคสำรอง” ไว้แล้วด้วยซ้ำ

หากเป็นเช่นนั้นจริง “บิ๊กบอส” ก็ต้องดัน “แถวสาม” ที่ตระเตรียมไว้ขึ้นมา “ออกหน้า” แทน โดยผู้นำทัพคนใหม่ คงไม่พ้น “ไอติม” พริษฐ์ วัชรสินธุ โฆษกพรรค ที่แม้จะตัดสายสะดือที่ “ค่ายสะตอ” พรรคประชาธิปัตย์ และมีศักดิ์เป็นหลาน “อามาร์ค” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ตาม แต่ว่ากันว่าเป็นที่ถูกอกถูกใจ “บอสเอก” และเตรียมดันขึ้นมาชูแทน ”แด๊ดดี้ทิม“ อยู่แล้ว

สมทบด้วย สส.ที่มีชื่อเสียงเป็นทุน เป็นดารานักแสดงมาก่อนอย่าง “หนุ่มเพชร” กรุณพล เทียนสุวรรณ หรือ “สาวหมิว” สิริลภัส กองตระการ รวมไปถึงบรรดา “ดาวรุ่ง” ที่เริ่มฉายแสงเห็นแววในช่วงต้นของสภาชุดนี้ อาทิ “ทนายแจม” ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.กทม. ที่คาดว่าจะได้รับบทนำแถวหน้า, “สาวผึ้ง” พนิดา มงคลสวัสดิ์ สส.สมุทรปราการ, “กู๊ดดี้” ชยพล สท้อนดี สส.กทม., “ทนายจอจาน” เอกราช อุดมอำนวย สส.กทม. และ “อ้ายตี๋” ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สส.เชียงใหม่ ที่ต่างก็ได้รับคำชื่นชมในการอภิปรายในสภาฯ ที่ผ่านมา เป็นต้น

ขาดไม่ได้โลโก้ “แก๊งส้ม-สายล้ม” ที่เป็นตัวตึงระดับฮาร์ดคอร์ ที่เพิ่งเข้ามาเป็น สส.ไม่ได้มีส่วนในคดีของรุ่นพี่ ทั้ง “สาวไอซ์” รักชนก ศรีนอก สส.กทม. ที่แม้จะถูกศาลอาญาพิพากษาจำคุก 6 ปี ไม่รอลงอาญา ในคดีผิดตามมาตรา 112 และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ แล้ว แต่ก็ยังอยู่ในชั้นการต่อสู้อุทธรณ์-ฎีกา ถือว่ายังมีเวลาในสภาฯอีกพักใหญ่

ผนึกกับ “โตโต้” ปิยรัฐ จงเทพ สส.กทม. อดีตแกนนำการ์ดกลุ่มวีโว่ ที่ปัจจุบันเป็น ก็เพิ่งถูกอัยการสั่งฟ้องต่อศาลกาฬสินธุ์คดี มาตรา 112 เมื่อกลางปี 2566 และ “ลูกเกด” ชลธิชา แจ้งเร็ว สส.ปทุมธานี อดีตนักกิจกรรมนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่มีมีคดีมาตรา 112 อยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาลอาญา

เอาเข้าจริง “ทีมงานแถวสาม” ที่ว่ามาถือว่าไม่ขี้เหร่ เรียกว่ามีสายบู๊-บุ๋นครบเครื่อง แค่อาจจะต้องใช้เวลาเก็บเลเวลสั่งสมประสบการณ์อีกเล็กน้อย

สำคัญที่ภารกิจก็ไม่ได้หนักหนาถึงขั้นต้องปลุกกระแสนำพรรคชนะการเลือกตั้งครั้งหน้า แค่ประคองกระแส “ด้อมส้ม” รอวันที่ “บิ๊กบอส” จะได้คืนสนามลงมาเล่นเองเท่านั้น

จะว่าไปก็ไม่ได้มีแต่ พรรคก้าวไกล ที่ต้องร้อนๆ หนาวๆ ตระเตรียมแต่งตัว “แถวสอง-แถวสาม” ขึ้นมาแทนแกนนำตัวหลักที่ส่อต้องปิดฉากการเมือง เพราะในแวดวงการเมืองซุบซิบเสียงดังว่า “ค่ายเซราะกราว” พรรคภูมิใจไทย ก็อาการน่าเป็นห่วง

ผลพวงจากคดี “เสี่ยโอ๋” ศักดิ์สยาม ชิดชอบ อดีตเลขาธิการรพรรค ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีความผิดปกปิดทรัพย์สินกรณี ห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญ อันโยงใยไปถึงเงินบริจาคเข้าพรรคที่หากไล่เส้นทางแล้วก็อาจไม่พ้นกระเป๋า “เถ้าแก่พรรค” นำไปสู่การยุบพรรค และตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคเช่นเดียวกัน

แว่วว่า เบื้องแรกจะมีการดัน “หนุ่มนก” ไชยชนก ชิดชอบ ทายาท “พ่อเน” เนวิน และ “ป้าต่าย” กรุณา ชิดชอบ ขึ้นมาเสียบแทน “อาโอ๋” ในตำแหน่ง เลขาธิการพรรค แต่หากสถานการณ์ไปถึงการยุบพรรคจริง ก็คงจำเป็นต้องขึ้นรั้งตำแหน่งหัวหน้าพรรค แทน “อาหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล ไปเลย

จังหวะไทม์มิ่งลงตัว “ไชยชนก” ขึ้นนำพรรคช่วงอายุครบ 35 ปี ก็ขึ้นเถลิงเป็นรัฐมนตรีได้อีก หลังรอบนี้วืดไป เพราะอายุไม่ครบเกณฑ์หย่อนไปเพียงไม่กี่เดือน

แต่ต้องถามว่า ถึงวันนั้น พรรคภูมิใจไทย ยังจะได้อยู่ในสมการพรรคร่วมรัฐบาลหรือเปล่าเท่านั้น.




กำลังโหลดความคิดเห็น