"ปัญญาพลวัตร"
"ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"
เจอร์เก้น ฮาเบอร์มาส (เกิด พ.ศ. 2472)นักสังคมวิทยาและนักปรัชญาชาวเยอรมันผู้มีชื่อเสียง นำเสนอมุมมองที่มีเอกลักษณ์และมีอิทธิพลเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องอำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขอบเขตของการดำเนินการด้านการสื่อสารและพื้นที่สาธารณะ ทฤษฎีของฮาเบอร์มาสวางกรอบคิดสำหรับการทำความเข้าใจอำนาจที่ไม่ใช่แค่เป็นเพียงกลไกในการควบคุมหรืออำนาจหน้าที่เท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่สามารถได้มาจากวาทกรรมและความมีเหตุผลของปัจเจกบุคคลในสังคมประชาธิปไตย
แนวคิดเกี่ยวกับอำนาจของฮาเบอร์มาสประกอบด้วย อำนาจการสื่อสาร (communicative power) ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ (deliberative democracy) และวิกฤติความชอบธรรม ( legitimation crisis)
อำนาจในการสื่อสารเกิดขึ้นในบริบทของวาทกรรมและการโต้แย้งอย่างมีเหตุผล เป็นพลังที่เกิดจากความสามารถในการโน้มน้าวและบรรลุฉันทมติผ่านการสนทนา อำนาจการสื่อสาร หมายถึง ความสามารถในการโน้มน้าวผู้อื่นผ่านการโต้แย้งอย่างมีเหตุผล การใช้วาทกรรม และการโน้มน้าวใจ เป็นสามารถโดยธรรมชาติของมนุษย์ในการพิจารณาไตร่ตรองอย่างมีเหตุผลในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การสื่อสารที่ชอบธรรมจะดำเนินการในสถานการณ์การสื่อสารในอุดมคติ ซึ่งผู้เข้าร่วมทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกันในการมีส่วนร่วมในการสื่อสารที่เปิดกว้างและเป็นกลาง อันเป็นรูปแบบอำนาจที่ปราศจากการบีบบังคับและมีความเป็นอิสระ ซึ่ทำให้ผู้เข้าร่วมการสนทนาสามารถบรรลุฉันทามติและแก้ไขข้อขัดแย้งได้
ลักษณะสำคัญของอำนาจการสื่อสารตามแนวคิดของฮาเบอร์มาส ประกอบด้วย 1) การเน้นเหตุผลและการโต้แย้ง ซึ่งการตัดสินใจขึ้นอยู่กับจุดแข็งของการโต้แย้งและความสามารถในการโน้มน้าวผู้อื่นโดยใช้เหตุผลและหลักฐานเชิงตรรกะ 2) ความเปิดกว้างและการไม่แบ่งแยก ซึ่งผู้เข้าร่วมกระบวนการสื่อสารทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกันในการแสดงความคิดเห็นและการรับฟัง 3) การมุ่งเน้นไปที่ฉันทมติ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อการเข้าถึงความเข้าใจร่วมกันผ่านการพูดคุยและการเคารพซึ่งกันและกัน แทนที่จะยัดเยียดเจตจำนงของกลุ่มหนึ่งให้กับอีกกลุ่มหนึ่ง 4) การไม่บีบบังคับและความเป็นอิสระ ซึ่งอำนาจการสื่อสารพยายามที่จะเพิ่มขีดความสามารถให้กับบุคคลและชุมชนผ่านการมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ
อำนาจการสื่อสารแสดงออกในพื้นที่สาธารณะที่เป็นชุมชนเสมือนจริงหรือในจินตนาการซึ่งไม่จำเป็นต้องมีอยู่ในพื้นที่ที่สามารถระบุตัวตนก็ได้ พื้นที่สาธารณะมีลักษณะที่เปิดกว้าง ไม่แบ่งแยก และแสดงบทบาทในการอำนวยความสะดวกในการอภิปรายและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหมู่ประชาชน ในพื้นที่สาธารณะ บุคคลจะมีส่วนร่วมในการอภิปรายอย่างมีเหตุมีผล วิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องสาธารณะ และสร้างความคิดเห็นสาธารณะร่วมกัน
พื้นที่สาธารณะมีหลายประเภท อย่างแรกคือพื้นที่สาธารณะในสื่อมวลชนแบบดั้งเดิม (เช่น หนังสือพิมพ์และข่าวโทรทัศน์) ซึ่งทำหน้าที่แจ้งข้อมูลข่าวสารให้สาธารณชนทราบเกี่ยวกับเหตุการณ์ปัจจุบันและเป็นเวทีสำหรับการอภิปรายและการสร้างวาทกรรมสาธารณะผ่านบทบรรณาธิการ จดหมายถึงบรรณาธิการ คอลัมภ์แสดงความคิดเห็น และบทความวิเคราะห์สถานการณ์ต่าง ๆ
อย่างที่สองคือ พื้นที่สาธารณะในโลกออนไลน์และดิจิทัล การถือกำเนิดของอินเทอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์ทำให้พื้นที่สาธารณะรูปแบบใหม่ถือกำเนิดขึ้น เช่น ฟอรัมออนไลน์ บล็อก แพลตฟอร์มสื่อสังคม และแม้แต่การแสดงความคิดเห็นบนเว็บไซต์ข่าว เวทีเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นพื้นที่สาธารณะร่วมสมัย ช่วยให้บุคคลจำนวนมากสามารถมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น การอภิปราย และการถกเถียงโต้แย้งกันได้อย่างอิสระ
นอกจากนั้นยังมีพื้นที่สาธารณะในรูปแบบอื่นที่สำคัญอื่น ๆ อีกไม่น้อยที่ดำรงอยู่ในสังคม ที่เห็นได้ชัดเจนและดำรงอยู่คู่กับสังคมมาอย่างยาวนานหลายศตวรรษคือ พื้นที่สาธารณะทางวิชาการและทางปัญญา ซึ่งนักวิชาการและนักศึกษาถกเถียงและอภิปรายประเด็นทางปัญญาและสังคมต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง พื้นที่เหล่านี้มีความสำคัญต่อการพัฒนาและการเผยแพร่แนวคิดไปสู่สังคมในวงกว้าง
พื้นที่สาธารณะอีกประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในปลายศตวรรษที่ 20 คือ พื้นที่สาธารณะที่สร้างโดยภาคประชาสังคมและองค์กรพัฒนาเอกชนผ่านกิจกรรมของพวกเขา เช่น การประชุมสาธารณะ การรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ พื้นที่สาธารณะเหล่านี้มักจะอภิปรายในประเด็นสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ การพัฒนาที่ยั่งยืน สิทธิมนุษยชน พหุวัฒนธรรม และประเด็นใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงของสังคม
มีพื้นที่สาธารณะดั้งเดิมอีกอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นมายาวนานในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ตามวิถีชีวิตของผู้คนในสังคม เช่น ร้านกาแฟ ร้านเสริมสวย และสวนสาธารณะ สถานที่เหล่านั้นทำหน้าที่เป็นพื้นที่สาธารณะที่ผู้คนมารวมตัวกันเพื่อหารือเกี่ยวกับการเมือง ปรัชญา และเหตุการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะในยุโรปศตวรรษที่ 17 และ 18 และในสังคมไทยก็คือสภากาแฟ ที่ชาวบ้านมาพบปะสนทนาสถานการณ์การเมืองและสังคมในร้านกาแฟที่กระจายอยู่ในเมืองและหมู่บ้านโดยทั่วไป
แนวคิดเกี่ยวกับอำนาจที่สำคัญอีกประการของฮาเบอร์มาสคือ ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ ซึ่งมีหลักการสำคัญคือ การตัดสินใจในรูปแบบของการเป็นประชาธิปไตยนั้นจะต้องดำเนินการด้วยการพิจารณาไตร่ตรองอย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นเพียงการรวบรวมความชอบแบบเดียวกันเพื่อลงคะแนนเสียงแบบดั้งเดิมเท่านั้น ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือจะพิจารณาประเด็นในการตัดสินใจด้วยหลักฐาน ใช้ความคิดอย่างมีเหตุผล ครอบคลุมทุกแง่มุมทั้งเหตุที่สนับสนุนและเหตุผลที่โต้แย้ง และที่สำคัญคือไม่บีบบังคับหรือการควบคุมบงการ หรือบิดเบือนด้วยข้อมูลเท็จหรือการใช้เหตุผลที่เป็นตรรกะวิบัติ อีกทั้งยังอนุญาตให้ผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนข้อโต้แย้ง พิจารณาจุดยืนของตนอย่างชัดเจน และมุ่งเป้าไปที่การสร้างฉันทมติ หรืออย่างน้อยก็เป็นการทำความเข้าใจร่วมกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในประเด็นที่ต้องตัดสินใจ
กล่าวได้ว่าประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือให้ความสำคัญกับคุณภาพของการอภิปรายมากพอ ๆ กับการตัดสินใจ ผู้เข้าร่วมจะต้องให้เหตุผลสำหรับความคิดเห็น พิจารณามุมมองที่แตกต่างกัน และมีส่วนร่วมในกระบวนการอภิปรายที่มีเหตุผล และสิ่งสำคัญของระบอบประชาธิปไตยแบบไตร่ตรองอีกอย่างคือ ผู้เข้าร่วมทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกันในการพูดและรับฟัง กระบวนการนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อรวมมุมมองที่หลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มชายขอบหรือกลุ่มที่มีอำนาจน้อยกว่าเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจ โดยพยายามที่จะบรรลุการตัดสินใจที่ทุกคนยอมรับได้ผ่านการสร้างฉันทมติ อันเป็นการให้ความสำคัญกับกระบวนการตัดสินใจมากพอ ๆ กับผลลัพธ์ของการตัดสิน กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ผลลัพธ์ของการตัดสินใจไม่ว่าจะเป็นนโยบาย กฎหมาย หรือมาตรการใด ๆ จะมีความชอบธรรมได้ ก็ต้องเป็นผลมาจากการอภิปรายสาธารณะอย่างทั่วถึง ครอบคลุม และมีเหตุผล
ความชอบธรรมของอำนาจเป็นสิ่งสำคัญในระบอบการเมืองทุกระบอบ ในเรื่องนี้ฮาเบอร์มาสได้เสนอแนวคิดเรื่องวิกฤติความชอบธรรม ( legitimation crisis) ขึ้นมาเพื่ออธิบายสถานการณ์ที่ระบบการเมืองเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญในการให้เหตุผลแก่การปกครองหรือนโยบายของตนต่อพลเมืองของตน วิกฤติความชอบธรรมเกิดขึ้นเมื่อมีความไม่เชื่อมโยงและไม่สอดคล้องระหว่างการกระทำของรัฐบาลกับค่านิยม ความเชื่อ และความคาดหวังของประชาชน ซึ่งนำไปสู่การสูญเสียความไว้วางใจจากประชาชนที่มีต่อระบอบการเมืองและองค์กรที่ใช้อำนาจ และอาจนำไปสู่การล่มสลายได้
วิกฤตการณ์ความชอบธรรมเกิดขึ้นเมื่อระบบบริหารปกครองสังคม (รัฐบาล กลไกของระบบราชการ และองค์กรอิสระของรัฐ) ไม่สามารถให้เหตุผลเพียงพอต่อนโยบายหรือการดำรงอยู่ของสถาบันและองค์กรเหล่านั้นต่อพลเมืองได้อีกต่อไป อาจเนื่องมาจากการที่ประชาชนรับรู้ว่า องค์กรเหล่านั้นไม่มีประสิทธิผล เต็มไปด้วยการทุจริต มีการกระทำที่แปลกแยก ห่างเหิน และไม่เป็นตัวแทนประชาชน หรือถูกมองว่าการกระทำและการตัดสินใจของพวกเขาขัดแย้งกับค่านิยม ความคาดหวัง และความต้องการของประชาชน
บ่อยครั้งที่วิกฤตการณ์ความชอบธรรมเกิดจากพลวัตทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงทางสังคม หรือความล้มเหลวทางนโยบายที่สำคัญ สถานการณ์เหล่านี้จะเผยให้เห็นความไร้สมรรถนะของรัฐบาลที่ไม่สามารถจัดการกับปัญหาและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งส่งผลให้กัดกร่อนความชอบธรรมของผู้มีอำนาจ
สำหรับในสังคมประชาธิปไตย วิกฤตความชอบธรรมสามารถเกิดขึ้นได้เมื่อมีช่องว่างที่สำคัญระหว่างอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่ประชาชนยอมรับ กับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นจากการกระทำและการตัดสินใจของผู้มีอำนาจ ที่ประชาชนรับรู้และรู้สึกว่าไม่เป็นไปตามครรลองประชาธิปไตย วิกฤตการณ์ความชอบธรรมมักจะนำไปสู่การเคลื่อนไหวทางสังคมหรือการประท้วง เนื่องจากกลุ่มต่าง ๆ ในสังคมพยายามที่จะจัดการกับข้อบกพร่องของรัฐบาลและองค์กรของรัฐนั่นเอง
หากวิกฤติความชอบธรรมมีความยืดเยื้อยาวนาน การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในการบริหารปกครองของประเทศก็มักเกิดขึ้นตามมา ตั้งแต่การปฏิรูปนโยบาย กฎหมายไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงมากขึ้น เช่น การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง วิกฤติความชอบธรรมเป็นสัญญาณบ่งบอกว่า รัฐมีความจำเป็นที่จะต้องกับปรับเปลี่ยนความคิด นโยบายและแนวทางการบริหารให้สอดคล้องกับค่านิยมและความคาดหวังของพลเมือง หาไม่แล้วการล่มสลายของระบอบก็จะตามมา ดังเช่นการล่มสลายของสหภาพโซเวียตส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากวิกฤตความชอบธรรม ซึ่งรัฐไม่สามารถปฏิบัติตามแรงบันดาลใจทางเศรษฐกิจและการเมืองของพลเมืองได้นำไปสู่การสูญเสียศรัทธาในระบบอย่างกว้างขวางและล่มสลายในที่สุด
กล่าวโดยสรุปแนวคิดเรื่องอำนาจของฮาเบอร์มาสให้ความสำคัญกับอำนาจการสื่อสาร โดยเฉพาะการสื่อสารที่เปิดกว้าง ใช้หตุผล และเป็นอิสระซึ่งเกิดขึ้นในพื้นที่เวทีสาธารณะ และยังนำเสนอประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือที่เน้นคุณภาพของการอภิปรายพอ ๆ กับผลลัพธ์ของการตัดสินใจ แต่หากการตัดสินใจใดของรัฐที่แปลกแยก ห่างเหิน และไม่สอดคล้องกับความต้องการ ค่านิยม ละผลประโยชน์ของประชาชน วิกฤติความชอบธรรมก็เกิดขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การเสื่อมศรัทธาและการล่มสลายของรัฐบาลและระบอบการเมืองได้