xs
xsm
sm
md
lg

เส้นทางศรีวิชัย : เครือข่ายทางการค้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในทะเลใต้ยุคโบราณ ตอน ราชวงศ์เมาลิตอนต้นฟื้นอำนาจสมาพันธรัฐศรีวิชัย (ประมาณ พ.ศ.1633-1773)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ดร.เกียรติกำจร มีขนอน

โดย ดร.เกียรติกำจร มีขนอน

ราชวงศ์เมาลิอาจสืบเชื้อสายมาจากปุโรหิตชาวทมิฬที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่จัมบิหรือเมืองใดเมืองหนึ่งในเกาะสุมาตราหรือแหลมมลายู อาจเป็นผู้ทำพิธีทางศาสนาเมื่อมีผู้ติดตามมากขึ้นจึงรวบรวมคนขึ้นครองอำนาจที่จัมบิ คล้ายคลึงกับฑปุนดา หิยัม ศรีชยนาศผู้ก่อตั้งสมาพันธรัฐและฑปุนดาไศเลนทร์ผู้ก่อตั้งราชวงศ์ไศเลนทร์ที่เป็นผู้นำทางศาสนามาก่อน ต่อมาอาจแต่งงานกับเจ้าหญิงศรีวิชัยและสร้างเครือข่ายเครือญาติสั่งสมอิทธิพลในสมาพันธรัฐศรีวิชัยแข่งกับเคดาห์ที่โจฬะควบคุมอยู่ หลังจากเมืองลังกาสุกะได้แยกตัวออกจากอาณาจักรโจฬะสำเร็จในปีพ.ศ.1587 อิทธิพลของอาณาจักรโจฬะที่มีต่อเมืองศรีวิชัยทางตอนเหนือฝั่งอ่าวไทยจึงเสื่อมลง ไชยา ตามพรลิงค์และลังกาสุกะไม่อยู่ใต้อิทธิพลของโจฬะ ตามพรลิงค์ได้ส่งทูตอิสระไปจีนอีกในปีพ.ศ.1613 เนื่องจากโจฬะควบคุมเคดาห์ที่อยู่บริเวณช่องแคบมะละกากับเมืองบนเกาะสุมาตราเท่านั้นตามหลักฐานโบราณคดีที่ขุดพบ ประมาณปีพ.ศ.1622-1625 การค้าของศรีวิชัยเริ่มย้ายจากปาเล็มบังไปจัมบิโดยสันนิษฐานจากโบราณวัตถุที่ขุดพบที่นั่น ราชวงศ์เมาลิที่เริ่มส่งทูตไปจีนในปีพ.ศ.1622 เพื่อแข่งกับราชวงศ์ไศเลนทร์ภายใต้อิทธิพลโจฬะที่เคดาห์ ดูตาราง 1


คณะทูตจากศรีวิชัยไปจีนหลังจากปีพ.ศ.1633 ไม่มีทูตของโจฬะพ่วงไปด้วย ราชวงศ์เมาลิแห่งจัมบิชนะในการแย่งชิงอำนาจกันระหว่างเคดาห์และจัมบิและขับไล่อิทธิพลของโจฬะออกจากสมาพันธรัฐศรีวิชัย มีจารึก โลบุ ทัว (พ.ศ.1631) เป็นภาษาทมิฬที่เมืองบาโรชและจารึกนิวสุในอาเจะห์บนเกาะสุมาตราเป็นจารึกสุดท้ายที่แสดงร่องรอยของพวกทมิฬโจฬะ ในปีพ.ศ.1637-1638 สมาพันธรัฐศรีวิชัยส่งทูตเข้าเฝ้าจักรพรรดิซ่งเจ๋อจง (พ.ศ.1628-1643) ในปีพ.ศ.1643 จีนอนุญาตให้ปาไซ (ลามูรีหรืออาเจะห์) เปร์ลัค และโกตาซินาค้าขายกับจีนโดยตรงได้ซึ่งแสดงว่าเมืองเหล่านี้ได้แยกตัวเป็นอิสระจากสมาพันธรัฐศรีวิชัย ในช่วงนี้พุทธศาสนาเถรวาทแบบลังกาวงศ์ได้เผยแผ่เข้ามาสู่เมืองตามพรลิงค์ เนื่องจากมีการพบการหลักฐานตั้งถิ่นของชาวสิงหลที่นครศรีธรรมราชแต่ไม่พบที่ไชยาจึงไม่สามารถระบุได้ว่าไชยาได้เปลี่ยนมานับถือพุทธศาสนาแบบเถรวาทหรือไม่ แผนที่กู่จิ๊นหัวหยีชื้ออื้อจงเย่าถู (古今华夷區域總要圖‎) หรือแผนที่แสดงข้อมูลสำคัญของจีนและแดนคนเถื่อนจากอดีตถึงปัจจุบันเขียนขึ้นในปีพ.ศ.1642 และพิมพ์เมื่อพ.ศ.1673 ระบุที่ตั้งของศรีวิชัยในสมัยราชวงศ์ซ่ง

รูป 2. แผนที่กู่จิ๊นหัวหยีชื้ออื้อจงเย่าถู (??????????)  แหล่งที่มา https://zh.m.wikipedia.org/wiki/File:Chinaoldmap95.jpg
ราชวงศ์ซ่งอนุญาตให้พ่อค้าเอกชนค้าขายมากขึ้น ศรีวิชัยส่งทูตมาจีนบ่อยกว่าประเทศอื่นๆ หลังจากราชวงศ์ซ่งเสียเมืองเปี้ยนจิงให้กับอาณาจักรจินของพวกหนี่เจินในปีพ.ศ.1670 เมืองหลวงได้ย้ายไปหังโจว สมาพันธรัฐศรีวิชัยส่งทูตไปอีกในปีพ.ศ.1671 สมัยจักรพรรดิซ่งเกาจง (พ.ศ.1670-1705) ที่เมืองหังโจว ในปีพ.ศ.1697 นักภูมิศาสตร์ชาวมอรอคโคชื่อมูฮัมหมัด อัล-อิดริซี (Muhammad Al-Idrisi พ.ศ.1643-1708) เรียนที่คอร์โดบาในสเปน บันทึกว่ามีพ่อค้าจีนมาค้าขายที่สมาพันธรัฐศรีวิชัยมากขึ้นและพ่อค้าจากสมาพันธรัฐศรีวิชัยในเกาะสุมาตราและพ่อค้าจากเกาะมาดากัสการ์มักจะแวะชายฝั่งทะเลตะวันออกของแอฟริกาเพื่อทำการค้ากัน พ่อค้าพวกนี้ค้าขายกันง่ายเพราะภาษาใกล้เคียงกัน เขากล่าวว่าคนในซาบาก (ศรีวิชัย) และเกาะแซนซิบาร์ติดต่อกันได้เพราะเข้าใจภาษาของกันและกันเพราะภาษามลายูแพร่หลายจากศรีวิชัยไปถึงแอฟริกาตะวันออกและมาดากัสการ์ และคนต่างชาติมาอยู่ที่ศรีวิชัยเยอะ เป็นหลักฐานแสดงว่าชาวมาดากัสการ์น่าจะอพยพมาจากหมู่เกาะอินโดนีเซีย

ต่อมาในปีพ.ศ.1699 สมาพันธรัฐศรีวิชัยได้ส่งทูตไปจีนถึง 3 ครั้งในสมัยจักรพรรดิซ่งเกาจงเช่นกันในนามของศรีมหาราชาแห่งศรีวิชัยซึ่งอาจเป็นพระราชบิดาของมหาราชาศรีมัตตะไตรโลกยราช ทูตได้ถวายกำยาน 111,675 จีน (หน่วยของจีน) และไม้จันทน์ ซึ่งทางจีนรับรองว่าเป็นกษัตริย์ต่างจากคณะทูตก่อนหน้านี้ที่จีนรับรู้ว่าเป็นผู้ปกครองเท่านั้น จักรพรรดิซ่งเกาจงจึงแต่งตั้งผู้นำชุมชนมลายูจากสมาพันธรัฐศรีวิชัยให้เป็นผู้ดูแลกิจการต่างประเทศที่กว่างโจว ต่อมาอาณาจักรสิงหลในเกาะลังกาได้โจมตีเมืองศรีวิชัยทางฝั่งทะเลอันดามันที่ตกเป็นของอาณาจักรพุกามในปีพ.ศ.1707 ในสมัยพระเจ้าสิทธู (พ.ศ.1656-1708) และพระเจ้าปรกรมพาหุที่ 1 แห่งศรีลังกาได้ปล้นเมืองปับผาละในปีพ.ศ.1723 ในสมัยพระเจ้านรปติสิทธูแห่งพุกาม (พ.ศ.1717-1753) นับเป็นอีกครั้งหนึ่งที่อาณาจักรในเอเชียใต้ยกกองทัพเรือโจมตีอาณาจักรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลังจากการรุกรานของอาณาจักรโจฬะในปีพ.ศ.1568 ซึ่งเมืองที่ถูกลังการุกรานข้างต้นเคยถูกอาณาจักรโจฬะโจมตีเมื่อครั้งที่รุกรานสมาพันธรัฐศรีวิชัย ในปีพ.ศ.1711 สมาพันธรัฐศรีวิชัยได้สร้างความสัมพันธ์กับอำมาตย์ในราชสำนักซ่งจนได้สถานะพิเศษกลับคืนมา ช่วงนี้ลังกาสุกะ ตามพรลิงค์ ศรีวิชัย (จัมบิ) ส่งผ้าไหมไปจีน

เอกสารอ้างอิง
ศ.มจ.สุภัทรดิศ.ดิศกุล พ.ศ.2535. ประวัติศาสตร์เอเชียอาคเนย์ถึง พ.ศ.2000. กรุงเทพฯ: สมาคมประวัติศาสตร์.
Heng, Derek. 2009. Sino-Malay Trade and Diplomacy: From Tenth through the Fourteenth Century. Singapore: ISEAS.

Kulke, Hermann. 2016. "Srivijaya Revisited: Reflection on State Formation of Southeast Asian Thalassocracy." Bulletin de l'École française d'Extrême-Orient 102: 45-95.

Kumar, Ann. 2011. "The Single Most Astonishing Fact of Human Geography: Indonesia's Far West Colony." Indonesia 92: 59-95.

Kumar, Ann. 2012. "Dominion over Palm and Pine; Early Indonesia's Maritime Reach." In Anthony Reid and the Study of the Southeast Asian Part, by Geoff Wade and Tina Li, 101-112. Singapore: ISEAS.

Miksic, John Norman, and Geok Yian Goh. 2017. Ancient Southeast Asia. London: Routledge World Archeology.

Munoz, Paul Michel. 2006. Early Kingdoms of the Indonesian Archipelago and the Malay Peninsula. Singapore: Editions Didier Millet.



กำลังโหลดความคิดเห็น