ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - จะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม แต่การปล่อย “เอกสารลับ” หลุด จุดกระแสตัวเลขจีดีพีเติบโตต่ำจำเป็นต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจทุกวิถีทาง สอดรับกับคาดการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ ซึ่งออกมาประเมินจีดีพีไทยปีนี้จะเร่งตัวโตขึ้น 4.4% หากมีแรงหนุนจากมาตรการดิจิทัล วอลเล็ต พอดิบพอดี
ก่อนหน้าหนึ่งวันที่กระทรวงการคลัง จะแถลงตัวเลขเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการนั้น นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ส่งเอกสารข่าวของกระทรวงการคลัง ที่ยังมีตราประทับ “ลับ” สำหรับแถลงต่อสื่อมวลชนในวันที่ 24 มกราคม 2567 เรื่องการประมาณ การเศรษฐกิจไทยปี 2566 และ ปี 2567 เข้ามาในห้องไลน์ผู้สื่อข่าวทำเนียบรัฐบาล พร้อมกับมีข้อสังเกตประกอบว่า “สรุปแล้วจีดีพี ปี 66 เติบโตเพียง 1.8% เทียบกับที่ ธปท.คาดการณ์เอาไว้เมื่อต้นปี 66 ว่า จะเติบโตถึง 3.6% ถือเป็นการเติบโตที่ถดถอยลงกว่าปี 65 ที่เติบโต 2.6%”
หลังจากมีข่าวเผยแพร่ตามสื่อออนไลน์ต่างๆ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แจ้งว่า “รายงานข้างต้นยังเป็นเพียงฉบับร่าง ต้องมีการตรวจทานความถูกต้องทั้งตัวเลขและข้อความอยู่ ดังนั้น ขอได้โปรดอย่าเพิ่งนำออกเผยแพร่ จนกว่าจะได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการจากกระทรวงคลัง” พร้อมกับลบไฟล์ที่ส่งมาออกจากห้องไลน์
การปล่อยตัวเลขเศรษฐกิจที่ตีตรา “ลับ” ออกมาก่อนการแถลงอย่างเป็นทางการ ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า การคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2566 - 2567 ของกระทรวงการคลัง ซึ่งมี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี นั่งควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สวนทางกับคาดการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มองว่า เศรษฐกิจไทยปี 2566 ขยายตัว 2.4% และปี 2567 ขยายตัว 3.2% ส่วนอีกหน่วยงานเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศคือ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์ปี 2566 ขยายตัว 2.5% และปี 2567 ขยายตัว 2.7-3.7%
สรุปว่า ธปท. และ สภาพัฒน์ ยังเห็นว่าเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มเติบโตดี มีแต่เพียงคลังที่มองว่าโตต่ำเป้ามาก
ขณะเดียวกัน กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) สรุปการประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยประจำปี 2566 โดยมีมุมมองที่สอดคล้องกับทางการไทยต่อแนวโน้มเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัว แม้จะชะลอลงบ้างจากการดำเนินนโยบายการเงินเข้มงวดของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก การปรับเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน
IMF คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2566 จะขยายตัวที่ประมาณร้อยละ 2.5 และคาดว่าในปี 2567 จะเร่งขึ้นเป็นร้อยละ 4.4 (กรณีรวมผลมาตรการ Digital Wallet) จากการพื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการบริโภคภายในประเทศที่เติบโตต่อเนื่อง
สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป IMF คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 1.3 และ 1.7 ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในกรอบเป้าหมายของ ธปท.
นอกจากนี้ IMF ยังเห็นว่านโยบายการเงินในปัจจุบันมีความเหมาะสม และควรติดตามความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินอย่างใกล้ชิด ซึ่งสอดคล้องกับกรอบการดำเนินนโยบายการเงินของ กนง. ที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และระบบการเงินมีเสถียรภาพ พร้อมสนับสนุนแผนของ ธปท.สำหรับภาคการเงินในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ผ่านการออกเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม และการดูแลหนี้เรื้อรัง
IMF ให้คำแนะนำทางการไทยให้ความสำคัญกับการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลและเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการลดทอนผลกระทบจากการแบ่งขั้วทางภูมิเศรษฐศาสตร์ (geo-economic fragmentation) รวมทั้งสนับสนุนการเพิ่มผลิตภาพ (productivity) โดยเฉพาะการเพิ่มพูนทักษะแรงงาน การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านต่าง ๆ ตลอดจนการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและปรับกฎเกณฑ์ทางธุรกิจให้เหมาะสม เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ตามศักยภาพ
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงคาดการณ์ตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจที่เป็นกระแสสังคมว่าไม่อยากสร้างวาทกรรมเศรษฐกิจวิกฤตหรือไม่ เพราะยืนยันตลอดเวลาว่าเศรษฐกิจไม่ดี และพิจารณาหามาตรการต่างๆ เข้ามากระตุ้นตลอดเวลา และมั่นใจว่าจะมีนโยบายอื่นที่คลอดออกมาด้วย ไม่ใช่แค่เรื่องดิจิทัล วอลเล็ต
ส่วนความเห็นของผู้ว่าการ ธปท. ที่ให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศโดยมองว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่วิกฤต ก็เป็นเรื่องของท่านผู้ว่าฯ ที่พูดไป เป็นความเห็นต่าง แต่เชื่อว่า สศค.และ ธปท. คุยกันตลอด ความเห็นต่างเป็นธรรมดาของการอยู่ร่วมกัน ส่วนจะให้เห็นด้วยกันได้หรือไม่นั้นต้องพูดคุยกัน ทุกคนมีหน้าที่ ตนก็มีหน้าที่หามาตรการกระตุ้นการคลัง
ตัวเลขเศรษฐกิจที่ ธปท. มองว่า ยังไม่วิกฤต แต่กระทรวงคลัง มองว่า โตต่ำเป้าเข้าสู่โซนวิกฤต มีผลต่อการเดินหน้าโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ที่รัฐบาลกำลังผลักดันออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท มาดำเนินโครงการ โดยข้อกฎหมายกำหนดว่าจะกู้ได้เศรษฐกิจต้องเข้าขั้น “วิกฤต” ซึ่งรัฐบาลกับหน่วยงานเศรษฐกิจของรัฐ ยังมีความเห็นกันไปคนละทาง
เดินหน้า “หมื่นดิจิทัล” เต็มสูบ
แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ กล่าวตอนหนึ่งในวงเสวนาหัวข้อ “จับสัญญาณบวกส่งออก ปลุกเศรษฐกิจดิจิทัลไทยในตลาดโลก”ในงานสัมมนา “Thailand 2024 The Great Challenges เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ขยายโอกาส” เมื่อวันที่ 24 ม.ค.2567 ที่โรงแรมพลูแมน คิงพาวเวอร์ กรุงเทพฯ ว่า รัฐบาลมีเรือธงในการใช้เครื่องมือแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าดิจิทัล วอลเล็ต เดินหน้าต่อไม่ได้ เพราะเศรษฐกิจขณะนี้ยังไม่วิกฤตมากเพียงพอ แต่ข้อมูลผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั้งหมด 2 แสนราย กว่า 97% มองว่าวิกฤต ต้องถามผู้ว่า ธปท. ว่าเคยฟังหรือเคยดูข้อมูลเหล่านี้หรือไม่ ถ้าหากถามนักธุรกิจ ผู้ประกอบการ สตาร์ทอัพ และประชาชนส่วนใหญ่พูดเหมือนกันหมดว่าวิกฤต
นายภูมิธรรม กล่าวว่า ปัจจุบันหากดูจากเศรษฐกิจโลก ทุกคนมองเหมือนกันหมดว่าเรากำลังจะฟื้นตัวแต่ยังมีปัจจัยไม่แน่นอน เช่น สงครามระหว่างประเทศ นำไปสู่ต้นทุนพลังงานสูงขึ้น ต้นทุนการผลิตและต้นทุนการขนส่งที่ปรับสูงขึ้นด้วย ทำให้เศรษฐกิจโลกยังไม่แน่นอนแม้มีแนวโน้มไปได้ดีขึ้น แต่คำว่าไปได้ดีขึ้นไม่ได้หมายความว่าอยู่กับที่แล้วดีขึ้น จะต้องมีปัจจัยที่เราแหวกวงล้อมออกไปได้ ก็ขึ้นอยู่กับประเทศต่างๆ ว่าจะคุมสภาพต่างๆ ได้ และดึงการมีส่วนร่วมของประชาชนได้อย่างไรบ้าง
นายภูมิธรรม กล่าวย้ำว่า ดิจิทัล วอลเล็ต คือ การดึงประชาชนเข้ามากู้วิกฤตด้วยกัน แจกเงินคนละ 10,000 บาท ไม่ได้คำนึงถึงคนจนหรือรวย แต่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีโอกาสใช้สอย เพื่อให้เกิดบรรยากาศและการเพิ่มกำลังซื้อ ซึ่งจะช่วยขยับขับเคลื่อนกลไกเศรษฐกิจทั้งหมดเนื่องจากเครื่องจักรเศรษฐกิจหลายตัวดับลงเกือบหมด ทำให้การนำเงินไปเพิ่มกำลังซื้อ เพื่อขยับขึ้นมาหมุนวงจรเศรษฐกิจได้อีกหลายรอบ อันนี้เป็นหัวใจสำคัญ แต่ยังไปไม่ได้ เพราะยังมีการตั้งคำถามอยู่ ถือเป็นข้อพึงสังวร ไม่ใช่ข้อพึงปฏิบัติ รัฐบาลจึงจะเดินหน้าทำเรื่องนี้ต่อไป เพียงแต่นำข้อเสนอแนะต่างๆ มาร่วมรับฟังด้วย
ข้อทักท้วงและเสนอแนะสำหรับการดำเนินโครงการแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต มีมาอย่างต่อเนื่อง นับจาก ธปท. นักวิชาการ คณะกรรมการกฤษฎีกา คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ล่าสุด ผู้ตรวจการแผ่นดิน รับเรื่องร้องเรียนตรวจสอบโครงการฯ และส่งหนังสือขอให้รัฐบาลชี้แจงภายในวันที่ 30 มกราคม 2567 ซึ่งนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมชี้แจงทำความเข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นส่วนงานใดก็ตามที่ประสงค์จะรับทราบข้อมูล เรายินดีตอบสนอง ไม่มีความกดดันใดๆ
ขณะเดียวกัน ฟากฝั่งวุฒิสภา เตรียมซักฟอกรัฐบาลในเรื่องดังกล่าวด้วย โดย นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา พร้อมด้วย สว.ที่ร่วมลงชื่อสนับสนุนญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมวุฒิสภา เพื่อให้รัฐบาลชี้แจงและตอบข้อซักถาม โดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 ของรัฐธรรมนูญ ยื่นญัตติต่อ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เพื่อให้ดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
นายเสรี กล่าวว่า มี สว.ที่ร่วมลงชื่อเสนอญัตติ รวม 98 คน โดยประเด็นที่ยื่นอภิปรายนั้นจะพุ่งเป้าไปยังเรื่องปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง เพราะรัฐบาลน่าจะแก้ปัญหาได้ดีกว่านี้ แต่กลับไปวนอยูกับเรื่องนโยบายเงินดิจิทัล ทั้งที่การกระตุ้นเศรษฐกิจ มีอีกหลายวิธี ไม่ได้มีแค่การแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต อย่างเดียว
สำหรับประเด็นนโยบายการแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต ที่ระบุว่ากระตุ้นเศรษฐกิจนั้น สว.จะซักถามรัฐบาลในประเด็นแหล่งเงินที่นำมาใช้ในการดำเนินนโยบาย จะเป็นภาระของประเทศหรือไม่ รัฐบาลต้องคิดให้ดีว่าการที่ประเทศจะเป็นหนี้ 5 แสนล้าน จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาวได้จริงหรือไม่ ส่วนตัวมองว่ากระตุ้นได้แค่ในระยะสั้น เพราะเป็นการแจกเงินแบบครั้งเดียวจบ
ตัวเลขเศรษฐกิจปี 66 โตแค่ 1.8%
สำหรับคาดการณ์ตัวเลขการเติบโตเศรษฐกิจ ที่มีการหลุดเอกสารลับก่อนแถลงอย่างเป็นทางการนั้น นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงผลการประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2566 เมื่อวันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมา ระบุว่า เศรษฐกิจไทย ปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 1.8 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.6 ถึง 2.0) ชะลอลงจากปี 2565 ที่ขยายร้อยละ 2.6 โดยมีปัจจัยสำคัญจากการหดตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรมสะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index: MPI) โดยเฉพาะสินค้าในหมวดยานยนต์ และคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนมูลค่าส่งออกสินค้าทั้งปี 2566 คาดว่าจะหดตัวที่ร้อยละ -1.5 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -1.8 ถึง -1.3) ซึ่งเป็นผลจากอุปสงค์ที่ชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย ขณะที่มูลค่าการนำเข้าจะหดตัวที่ร้อยละ -1.9 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -2.2 ถึง -1.7)
ในส่วนของสถานการณ์ค่าเงินบาทในปี 2566 มีความผันผวนโดยอ่อนค่าในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2566 และแข็งค่าขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 สาเหตุหลักมาจากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจจีน และนโยบายการเงินผ่อนคลายของญี่ปุ่น โดยค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ปี 2566 เฉลี่ยที่ 34.81 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากค่าเฉลี่ยปี 2565 ที่ร้อยละ 0.7
นอกจากนั้น ยังพบว่าตลาดหลักทรัพย์และตลาดพันธบัตรของไทยในปี 2566 ที่ผ่านมา มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดทุนไทยสุทธิ -3.3 แสนล้านบาท ทั้งตลาดหลักทรัพย์และตลาดพันธบัตรไทยที่ -1.9 และ -1.4 แสนล้านบาท ตามลำดับ โดยนักลงทุนต่างชาติมีการขายสุทธิหลักทรัพย์ไทยต่อเนื่องตลอดทั้งปี
สำหรับในปี 2567 กระทรวงการคลัง คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 2.8 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.3 ถึง 3.3) โดยปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการคาดว่าจะยังสามารถขยายตัวได้ และภาคการท่องเที่ยว คาดว่าในปี 2567 จะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาในประเทศไทยจำนวน 33.5 ล้านคน ขยายตัวที่ร้อยละ 19.5 ต่อปี เป็นการเพิ่มขึ้นจากนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนและมาเลเซียเป็นสำคัญ และมีรายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 1.48 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.6 ต่อปี ส่งผลดีต่อธุรกิจการท่องเที่ยวและสาขาที่เกี่ยวข้อง
ส่วนการส่งออกสินค้าคาดว่ามีแนวโน้มขยายตัวชะลอตัวลงเล็กน้อยตามอุปสงค์ในตลาดโลกและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ขยายตัวชะลอตัวลง ทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.2 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.7 ถึง 4.7) และมูลค่าการนำเข้าสินค้าจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.0 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.5 ถึง 4.5)
ขณะที่รายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลคาดว่าจะเบิกจ่ายได้คิดเป็นอัตราเบิกจ่ายที่ร้อยละ 99.5 และ 64.0 ตามลำดับ รายจ่ายลงทุนเบิกจ่ายอัตราลดลงจากปีก่อนหน้าเนื่องจากความล่าช้าในการอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567
ด้านเสถียรภาพภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ร้อยละ 1.0 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.5 ถึง 1.5) เนื่องจากราคาน้ำมันดิบดูไบจะอยู่ในระดับทรงตัวที่ 82 ดอลลาร์ สหรัฐฯต่อบาร์เรล ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในปี 2566 ที่ 81.9 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล เป็นผลมาจากการชะลอตัวของอุปสงค์น้ำมันดิบโลก
ส่วนเสถียรภาพภายนอกประเทศ ดุลบริการมีแนวโน้มจะกลับมาเกินดุลตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2567 มีแนวโน้มที่จะกลับมาเกินดุล 10.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 1.8 ของ GDP อย่างไรก็ดี ต้องติดตามสถานการณ์หนี้ภาคครัวเรือน โดยล่าสุด ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2566 มียอดคงค้างอยู่ที่ 16.2 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 90.9 ของ GDP
โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวทิ้งท้ายว่า การพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนและมีเสถียรภาพในระยะยาวนั้น ควรให้ความสำคัญในประเด็นสำคัญในเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Development) เช่น การพัฒนาการใช้พลังงานที่ยั่งยืน การลงทุนในด้านดิจิทัล และการพัฒนาด้านคมนาคมเชื่อมโยงภูมิภาคต่าง ๆ จะช่วยสร้างโอกาสใหม่ ๆ และทำให้ประเทศไทยสามารถเป็นศูนย์กลางในระดับภูมิภาคได้ รวมทั้งการพัฒนาทักษะ (Skills Development) การเตรียมแรงงานให้มีทักษะที่จำเป็นสำหรับเศรษฐกิจโลกมีความสำคัญและจะส่งเสริมความสำเร็จในระยะยาวได้ดี และการรักษาเสถียรภาพทางการคลัง (Fiscal Stability) มุ่งมั่นในการบริหารจัดการการคลังอย่างรอบคอบ โดยคำนึงถึงการใช้จ่ายของรัฐ และระดับหนี้สาธารณะอย่างรับผิดชอบ เพื่อรักษาความยั่งยืนทางการเงินในระยะยาว ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถเผชิญกับความเสี่ยงและความท้าทายต่าง ๆ ในอนาคตได้
นอกจากนี้ ยังควรติดตามปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิด เช่น ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกในภูมิภาคต่าง ๆ ที่อาจรุนแรงมากขึ้น อาจเป็นข้อจำกัดและส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป เช่น การแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ สถานการณ์สู้รบระหว่างอิสราเอลและฮามาส ที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานให้ปรับตัวสูงขึ้น และ ความยืดเยื้อของสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน สถานการณ์การเลือกตั้งผู้นำของประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศรัสเซีย และประเทศอินเดีย เป็นต้น ที่อาจส่งผลต่อการดำเนินนโยบายระหว่างประเทศของไทย รวมถึงความผันผวนของตลาดการเงินโลก จากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของประเทศคู่ค้าหลัก และปัญหาสถาบันการเงินในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป และ สถานการณ์เศรษฐกิจของจีน ที่อาจส่งผลต่อการส่งออกและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวของไทย
อันดับตก เศรษฐกิจไทยรั้งที่ 51 ของโลก
นอกเหนือจากตัวเลขเศรษฐกิจต่ำ อันดับการเติบโตในอนาคตของประเทศไทย ยังตกอีกด้วย โดย คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CBS) ร่วมกับ World Economic Forum (WEF) เผยแพร่รายงานอนาคตการเติบโต The Future of Growth Report 2024 ซึ่งทำการสำรวจและวิเคราะห์ทิศทางการเติบโตในอนาคตของประเทศต่างๆ ครอบคลุม 107 ประเทศทั่วโลก พบว่า ประเทศไทยอยู่ลำดับที่ 51 โดยอันดับ 1 ของโลก คือ ประเทศสวีเดน ตามด้วยสวิสเซอร์แลนด์ ฟินแลนด์ และเดนมาร์ก
สำหรับในแถบประเทศเอเชีย ญี่ปุ่นนำโด่งในลำดับที่ 11 ตามด้วยเกาหลี (12) และสิงคโปร์ (16) ในขณะที่มาเลเซีย อยู่ลำดับที่ 31 เวียดนาม 36 อินโดนีเซีย 50 และไทยลำดับ 51 จากคะแนนรวมที่ถ่วงน้ำหนักทั้ง 4 มิติแห่งการเติบโตของประเทศ ได้แก่ ด้านนวัตกรรม (Innovativeness) ด้านความครอบคลุมของโครงสร้างพื้นฐาน (Inclusiveness) ความยั่งยืน (Sustainability) และความยืดหยุ่น (Resilience)
นายวิเลิศ ภูริวัชร คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CBS) เผยว่า จากการเปรียบเทียบผลประเมินของประเทศไทยกับผลประเมินโดยรวมของประเทศต่างๆ ทั่วโลก และผลประเมินของประเทศในกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางระดับบน พบว่า ประเทศไทยมีคะแนนด้านนวัตกรรม (Innovativeness) เท่ากับ 47.94 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก (45.2) และค่าเฉลี่ยของประเทศในกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางระดับบน (39.3) สะท้อนให้เห็นถึงความโดดเด่นของไทยในการเพิ่มขีดความสามารถด้านนวัตกรรม
สำหรับด้านความครอบคลุมของโครงสร้างพื้นฐาน (Inclusiveness) ประเทศไทยได้คะแนน 55.66 ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยโลก (55.9) และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางระดับบน (54.0) แสดงให้เห็นว่าไทยยังคงดำเนินการเพื่อการเติบโตที่เป็นธรรม และรวมทุกภาคส่วนเข้าไว้ด้วยกัน
ขณะที่ด้านความยั่งยืน (Sustainability) คะแนนของประเทศไทยเท่ากับ 40.84 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก (46.0) และค่าเฉลี่ยของประเทศในกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางระดับบน (44.0) จึงเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงความจำเป็นที่ต้องมีการเร่งดำเนินการเพื่อพัฒนาด้านความยั่งยืนของไทยให้เพิ่มมากขึ้น
ส่วนด้านความยืดหยุ่นและการปรับตัว (Resilience) ซึ่งแสดงถึงการปรับตัวต่อผลกระทบต่างๆ คะแนนของประเทศไทยเท่ากับ 51.5 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก (52.75) เล็กน้อย แต่ยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางระดับบน (50.0) สะท้อนให้เห็นว่าไทยมีความสามารถในการตอบสนอง และฟื้นฟูจากวิกฤติต่างๆ ได้พอประมาณ และควรมีการพัฒนาในด้านนี้ต่อไป
ดังนั้น ประเทศไทยควรเร่งเพิ่มขีดความสามารถในทุกด้าน แม้ว่าด้านนวัตกรรมจะทำได้ดี แต่ยังต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาในด้านต่างๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะด้านความยั่งยืน เพื่อเสริมสร้างคุณภาพของการเติบโตของประเทศให้ดียิ่งขึ้น
การนำเสนอรายงานในครั้งนี้ แสดงให้เห็นข้อมูลระดับประเทศ ที่ช่วยให้ผู้มีส่วนกำหนดนโยบาย และทิศทางในการพัฒนาการเติบโตของประเทศจาก 4 มิติ ที่สำคัญต่อการเติบโตของประเทศ ซึ่งจะเป็นเข็มทิศในการกำหนดแนวทางนโยบาย และกลยุทธ์สำหรับประเทศไทย เพื่อเสริมสร้างการเติบโตที่มีทั้งในด้านนวัตกรรม ด้านความครอบคลุมของโครงสร้างพื้นฐาน ด้านความยั่งยืน และด้านยืดหยุ่นให้ดียิ่งขึ้นไป
รายงานฉบับนี้ ยังเน้นย้ำถึงการชะลอตัวทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งคาดว่าจะลดลงสู่อัตราที่ต่ำที่สุดในรอบ 3 ทศวรรษภายในปี 2030 ท่ามกลางผลกระทบทางเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์อย่างต่อเนื่อง ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำนี้ทำให้เกิดความท้าทายระดับโลกที่รุนแรงขึ้น รวมถึงวิกฤตสภาพภูมิอากาศและสัญญาทางสังคมที่อ่อนแอลง ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าในการพัฒนา
ปัจจัยลบที่รุมเร้ารอบด้านทั้งภายในและภายนอก ท้าทายรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ซึ่งยังคลำทางพลิกฟื้นเศรษฐกิจ เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ให้กับประชาชนคนไทยที่ต่างเฝ้ารอคอยความหวัง