xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ดรามา “สิงโต” สัตว์เลี้ยงเศรษฐี จ่อรื้อ กม. เลี้ยงสัตว์ป่าดุร้าย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  ประเด็นร้อนแรง “สิงโตนั่งรถหรู สะท้อนไลฟ์สไตล์เศรษฐี” สร้างความตื่นตะลึงอย่างมากหลังในโซเชียลมีเดียมีการแชร์ภาพ “ลูกสิงโต” สวมปลอกคอสำหรับสัตว์เลี้ยงนั่งอยู่ท้ายรถหรูเปิดประทุน โดยมีผู้ขับขี่เป็นนักธุรกิจชาวศรีลังกา ขับตระเวนในย่านกลางเมืองพัทยา จ.ชลบุรี เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จนเกิดคำถามต่อกรณีการนำสัตว์ป่าออกสู่พื้นที่สาธารณะ โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องความปลอดภัยของผู้คนโดยรอบบริเวณ 

และไม่นานมานี้เคยเกิดกรณีเพื่อนบ้านร้องเรียนการเลี้ยง  “ลูกสิงโตขาว”  แบบปล่อยอิสระในบริเวณบ้านพักใน จ.ชลบุรี ซึ่งมีเจ้าของเป็นชาวจีน สร้างความปริวิตกเรื่องความปลอดภัยในการเลี้ยงสัตว์ป่า จนเป็นประเด็นร้อนทำให้กรมอุทยานฯ ต้องออกมาคุมเข้มไปแล้วครั้งหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงสิงโตในประเทศไทยเป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ เนื่องจากเป็นสัตว์ป่าควบคุมในประเภท ก (สิงโต) แต่ผู้เลี้ยงจะต้องขออนุญาตอย่างถูกต้อง การครอบครองสิงโตส่วนใหญ่จะนำเข้ามาเพื่อเพาะเลี้ยงในสวนสัตว์ แต่ตอนหลังมีการขอนุญาตเพื่อสันทนาการ และเลี้ยงในบ้านเหมือนกับสัตว์ป่าในบัญชีไซเตสอื่นๆส่วนรายละเอียดการเลี้ยงอยู่ภายใต้เงื่อนไขห้ามก่อความเดือดร้อนต่อผู้อยู่อาศัย หรือส่งผลกระทบต่อเพื่อนบ้านละแวกใกล้เคียง ซึ่งพื้นที่ใช้เลี้ยงสิงโตต้องมีบริเวณกว้างขวาง กรงอยู่ในพื้นที่ 4 คูณ 4 เมตร หากผู้เลี้ยงไม่ปฏิบัติตามที่ระบุถือว่ามีความผิด

ทั้งนี้ การเลี้ยงสิงโตเป็นที่นิยมของกลุ่มชาวต่างชาติและคนไทยในพื้นที่ จ.ชลบุรี มีการแจ้งครอบครองเป็นบุคคลทั่วไปคนไทย 4 รายและสวนสัตว์ 1 แห่งรวม 15 ตัว โดยมีผู้แจ้งการครอบครองสิงโตทั่วประเทศจำนวน 153 ตัว ทั้ง ที่เป็นบุคคลและสวนสัตว์เอกชน 24 ราย

 ในประเทศไทยสามารถหาซื้อลูกสิงโตได้ตามฟาร์มที่มีใบอนุญาต โดยราคาลูกสิงโตแตกต่างตามสายพันธุ์ อาทิ ลูกสิงโตขาว ราคาเริ่มต้น 550,000 - 2,000,000 บาทต่อตัว (ขึ้นอยู่ที่เกรดสี), ลูกสิงโตสีน้ำตาล ราคาเริ่มต้น 300,000 บาทต่อตัว, ลูกไลเกอร์ หรือ สิงโตผสมพันธุ์เสือโคร่ง ราคาเริ่มต้น 2,000,000 บาทต่อตัว, ลูกสิงโตสีขาวตาฟ้า เริ่มต้น 2,000,000 บาทต่อตัว เป็นต้น 
กล่าวสำหรับกรณีลูกสิงโตนั่งรถหรูเปิดประทุนที่ปรากฎเป็นข่าวดัง ทางเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, ตำรวจท่องเที่ยว, ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง และตำรวจป่าไม้ ได้เดินทางไปตรวจสอบสอบบ้านเลขที่ 354/42 ภายในซอยเขาพระตำหนัก 5 ม.12 ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นบ้านที่เลี้ยงลูกสิงโตตัวดังกล่าว พบว่าลูกสิงโตได้มีการแจ้งครอบครองสัตว์ป่าควบคุมประเภท ก (สิงโต) ไว้ที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) จ.ราชบุรี และปัจจุบันมีอายุประมาณ 9 เดือน หมายเลขไมโครชิปรหัสประจำตัว 900219001878562 น้ำหนักประมาณ 30 กิโลกรัม ส่วนผู้ครอบครองคือ  น.ส.สว่างจิต โกสูงเนิน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการแจ้งขออนุญาตนำมาครอบครองที่บ้านเลขที่ 354/42 ม.12 ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ส่วนชายชาวต่างชาติที่ปรากฏในคลิปพาลูกสิงโตนั่งรถเบนท์ลีย์ มูลค่ากว่า 20 ล้าน ตระเวนชมเมืองพัทยานั้น เป็นนักธุรกิจชาวศรีลังกา อายุ 53 ปี ซึ่งเดินทางกลับประเทศบ้านเกิดไปแล้วตั้งเมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2567

 นายก้องเกียรติ เต็มตำนาน ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) เปิดเผยว่าการเลี้ยงสิงโตเป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ เพราะเป็นสัตว์ป่าควบคุมในประเภท ก แต่ต้องมีการขออนุญาตอย่างถูกต้อง แต่กรณีที่เป็นปัญหาคือการนำขึ้นบนรถเปิดประทุนพาชมวิวทั่วเมืองพัทยา ถือเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง และถือเป็นความผิด เพราะสิงโตเป็นสัตว์อันตรายที่ต้องมีการควบคุม มิฉะนั้นอาจเกิดอันตรายแก่ผู้ที่ใกล้ชิดได้

ดังนั้น การกระทำดังกล่าว ถือว่าเป็นการนำสิงโตซึ่งเป็นสัตว์ป่าควบคุม ประเภท ก. (ดุร้าย) มาโชว์ในที่สาธารณะ ไม่ดูแลรักษาในสถานที่ครอบครองที่แข็งแรงปลอดภัย และเคลื่อนย้ายสิงโตมาโดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาต มีความผิดตามระเบียบกรมอุทยานฯ ว่าด้วยการแจ้งและการรับแจ้ง และการครอบครองซึ่งสัตว์ป่าควบคุม และซากสัตว์ป่าควบคุมพ.ศ.2565 จำคุกไม่เกิน 6 เดือนปรับไม่เกิน 50,000 บาท

สำหรับการเคลื่อนย้ายต้องจัดระบบอย่างเหมาะสมปลอดภัยและไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้อื่น การเปลี่ยนแปลงสถานที่เลี้ยงให้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ก่อนการเคลื่อนย้ายไม่น้อยกว่า 15 วัน การนำไปจัดแสดง หรือวัตถุประสงค์ที่แตกต่างจากการเลี้ยงหรือการเก็บรักษาตามปกติระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน ให้ยื่นแบบแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนการเคลื่อนย้าย

อย่างไรก็ตามประเด็นร้อนที่เกิดขึ้น ทำให้ทางกรมอุทยานฯ เตรียมทบทวนการอนุญาตเลี้ยงสิงโตซึ่งนับเป็น 1 ใน 10 สัตว์ป่าควบคุม ชนิด ก. สัตว์ในกลุ่มสัตว์ขนาดใหญ่ ดุร้าย

 นายอรรถพล เจริญชันษา  อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่ากรมอุทยานฯ มีแนวคิดห้ามบุคคลไม่ให้ครอบครองสัตว์ดุร้ายที่อาจจะเป็นอันตรายอีกต่อไป เพราะถือว่าไม่มีความจำเป็น หากไม่ใช่สวนสัตว์ก็จะไม่อนุญาตให้ครอบครองอีกต่อไป เพราะที่ผ่านมาพบปัญหาการละเลยการดูแลเรื่องความปลอดภัย แม้มีการแจ้งครอบครองแบบบุคคลทั่วไป เลี้ยงในบ้านแบบสัตว์เลี้ยงทั่วไปอย่างถูกกฎหมาย แต่ต้องยอมรับว่าไม่มีการควบคุมซึ่งอาจเป็นปัญหาในอนาคต

ทั้งนี้ กรมอุทยานฯ ได้กำหนดสัตว์ป่าควบคุม ชนิด ก. สัตว์ในกลุ่มสัตว์ขนาดใหญ่ ดุร้าย มี 10 ชนิด 3 กลุ่ม ได้แก่ เสือชีตาห์ สิงโต เสือจากัวร์ กอริลลาภูเขา กอริลลา ชิมแปนซีธรรมดา โบโนโบ อุรังอุตังสุมาตรา อุรังอุตังบอร์เนียว และงูอนาคอนดาเขียว




ปัจจุบันมีผู้ขออนุญาตครอบครองสิงโตทั่วประเทศ ทั้งบุคคล และนิติบุคคล 24 ราย สิงโตทั้งหมด 153 ตัว สิงโตถือเป็นสัตว์ป่าควบคุมที่ต้องแจ้งการครอบครอง โดยเป็นสัตว์ควบคุมชนิด ก. ผู้ขออนุญาตต้องมีมาตรการการควบคุมที่เข้มแข็ง เข้มงวด เพราะเป็นสัตว์ที่มีความดุร้าย อาจจะสร้างความหวาดกลัว หรือทำอันตรายแก่ผู้อื่นได้ หากไม่แจ้งมีการแจ้งการครอบครอง จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ หรือหากไม่ปฏิบัติตามระเบียบ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 ตามรายงานข่าวระบุว่าประเทศในแถบเอเชียมีค่านิยมการเลี้ยงสิงโตและเสือในฐานะสัตว์เลี้ยงประดับบารมีโชว์หรูหรา เช่น กลุ่มประเทศอาหรับ เศรษฐีหลายคนในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์นิยมนำเสือที่เป็นสัตว์เลี้ยงออกมาเดินตามท้องถนน รวมถึงพาขึ้นไปอยู่บนรถยนต์หรูส่วนตัว และมักโพสต์รูปภาพลงในโซเชียลมีเดีย เพื่อแสดงออกถึงฐานะทางสังคมของตน 

ต่อมาในปี 2017 รัฐบาลสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ออกกฎหมายห้ามเลี้ยงสัตว์ป่าอย่างเด็ดขาดเมื่อ พร้อมกับกำหนดให้ประชาชนที่ครอบครองสัตว์ป่ามาก่อนหน้ากฎหมายฉบับนี้ จะต้องทำการส่งสัตว์ในครอบครองของตัวเองให้กับทางการดูแลแทน สืบเนื่องมาจากองค์กรพิทักษ์สัตว์ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้แสดงออกถึงความกังวลต่อเรื่องนี้ โดยมองว่าสัตว์ป่าเหล่านี้อาจเป็นอันตรายต่อผู้ที่อยู่ใกล้ชิดในที่สาธารณะได้

โดยกฎหมายฉบับดังกล่าว กำหนดว่า ห้ามบุคคลใดก็ตามครอบครองสัตว์ป่าทุกชนิด โดยจะอนุญาตให้มีการครอบครองได้โดยเฉพาะสวนสัตว์ คณะละครสัตว์ อุทยาน และการเลี้ยงสำหรับการวิจัยเท่านั้น หากผู้ใดฝ่าฝืน อาจมีโทษจำคุกถึงหกเดือน และปรับเป็นเงินจำนวนกว่า 500,000 เดอร์แฮม (ประมาณ 4.85 ล้านบาท) และโทษจะหนักขึ้นเป็นค่าปรับถึง 700,000 เดอร์แฮม (ประมาณ 6.8 ล้านบาท) หากพบว่ามีการนำสัตว์ป่าภายใต้การครอบครองไปใช้เพื่อคุกคามบุคคลอื่น

 สำหรับประเทศไทย กรมอุทยานฯ อยู่ระหว่างเตรียมทบทวนการอนุญาตเลี้ยงสิงโตซึ่งนับเป็น 1 ใน 10 สัตว์ป่าควบคุม ชนิด ก. สัตว์ในกลุ่มสัตว์ขนาดใหญ่ ดุร้าย เตรียมห้ามบุคคลไม่ให้ครอบครองสัตว์ดุร้ายที่อาจจะเป็นอันตรายอีกต่อไป เพราะความกังวลเรื่องปลอดภัยเช่นเดียวกัน 


กำลังโหลดความคิดเห็น