xs
xsm
sm
md
lg

อำนาจในมุมมองนักปราชญ์ (15-4): มิเชล ฟูโกต์ – กลยุทธ์การต่อต้านและตอบโต้อำนาจ / Phichai Ratnatilaka Na Bhuket

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




"ปัญญาพลวัตร"
"ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

 ในการวิเคราะห์พลวัตของอำนาจ มิเชล ฟูโกต์ ได้เน้นย้ำถึงธรรมชาติของการต่อต้านอำนาจว่าเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ที่ใดมีอำนาจ ที่นั่นย่อมมีการต่อต้านเสมอ เพราะอำนาจพยายามที่จะควบคุมและครอบงำ การกระทำ ความคิด และพฤติกรรมของผู้อื่น ทว่า แนวโน้มโดยธรรมชาติต่อการควบคุมนี้จะสร้างการตอบโต้จากผู้ที่ถูกควบคุมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ บุคคลและกลุ่มมีสิทธิเสรีภาพ มนุษย์ไม่เพียงแต่ตอบสนองอำนาจโดยเฉยเมยเท่านั้น พวกเขามีความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ตั้งคำถามต่อผู้มีอำนาจ และต่อต้านความพยายามที่จะควบคุมพวกเขาด้วยกลยุทธ์ที่หลากหลาย


อำนาจมิใช่วิหารอันศักดิ์สิทธิ์ตั้งตระหง่านอยู่อย่างโดดเดี่ยวแยกขาดจากบริบทสังคม หากแต่มีอยู่หลายรูปแบบและกระจายไปทั่วโครงสร้างทางสังคม ลักษณะการกระจายตัวเช่นนี้สร้างโอกาสให้บุคคลและกลุ่มในการท้าทายอำนาจในระดับต่าง ๆ และผ่านกลยุทธ์ที่หลากหลาย ในด้านหนึ่งโครงสร้างอำนาจมักจะทำให้ความไม่เท่าเทียมกันและความอยุติธรรมยังคงอยู่ต่อไป แต่ในอีกด้านหนึ่งก็สร้างเงื่อนไขของความไม่พอใจและความขุ่นเคืองซึ่งสามารถจุดไฟแห่งการต่อต้านขึ้นมาได้

ประเด็นสำคัญของแนวคิดเรื่องการต่อต้านอำนาจของฟูโกต์มีสี่ประการด้วยกัน

 ประการแรกคือ การต่อต้านดำรงอยู่ภายในระบบอำนาจและแพร่หลาย การต่อต้านไม่ใช่การตอบสนองต่ออำนาจจากภายนอกที่กระทำต่อผู้คนเท่านั้น หากแต่เป็นคุณลักษณะโดยธรรมชาติของความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ดำรงอยู่ทุกหนแห่ง

การต่อต้านดำรงอยู่ภายในระบบอำนาจใด ๆ เสมอ นั้น เป็นสิ่งที่ปรากฏออกมาจากภายในระบบอำนาจนั้น เนื่องจากความสัมพันธ์ทางอำนาจมักไม่มั่นคงและถูกโต้แย้งอยู่เสมอ แม้แต่ระบบอำนาจที่ทรงพลังที่สุดก็ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ที่อยู่ภายใต้อำนาจเหล่านั้น และผู้ที่ตกอยู่ใต้อำนาจก็สามารถหาทางบั่นทอนเพื่อล้มล้างอำนาจได้เสมอด้วยวิธีการเล็ก ๆ ที่พวกเขาพอจะทำได้ ยิ่งกว่านั้นการต่อต้านนั้นมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง ไม่จำกัดเพียงบางเวลา สถานที่ หรือบุคคลเท่านั้น แต่เกิดขึ้นเสมอ แม้บางครั้งอาจมองไม่เห็นก็ตาม การต่อต้านไม่ใช่เกิดแค่ในรัฐบาลและองค์กรทางการเมือง แต่ยังดำรงอยู่ในครอบครัว โรงเรียน และความสัมพันธ์ทางสังคมรูปแบบอื่น ๆ ด้วย กล่าวได้ว่าตราบเท่าที่อำนาจดำรงอยู่ ก็ย่อมมีโอกาสเกิดการต่อต้านอยู่เสมอ สิ่งสำคัญคือต้องตระหนักว่าการต่อต้านไม่ได้นำไปสู่การโค่นล้มระบบอำนาจเก่าเสมอไป แต่ก็สามารถทำให้ระบบเหล่านั้นมีเสถียรภาพและมีประสิทธิภาพน้อยลง ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสในการสร้างพื้นที่สำหรับอำนาจรูปแบบใหม่ที่มียุติธรรมมากกว่ากิดขึ้น

 ประการที่สอง การต่อต้านมีความหลากหลาย ตั้งแต่การต่อต้านระดับจุลภาค (การต่อต้านในชีวิตประจำวัน การบ่อนทำลายบรรทัดฐาน) ไปจนถึงการต่อสู้ร่วมกันของประชาชนต่อโครงสร้างอำนาจที่กดขี่ การต่อต้านอำนาจไม่ได้มีรูปแบบเดียว แต่แสดงออกด้วยกลยุทธ์ที่หลากหลาย

การต่อต้านอาจมาจากบุคคล กลุ่ม และชุมชนที่มีมุมมอง แรงจูงใจ และทรัพยากรที่แตกต่างกันอย่างมากมาย ซึ่งอาจรวมถึงทุกอย่างตั้งแต่ผู้ไม่เห็นด้วยคนเดียวไปจนถึงการเคลื่อนไหวทางสังคมขนาดใหญ่ เช่น การเคลื่อนไหวของ LGBTQ+ ไปจนถึงการประท้วงด้านสิ่งแวดล้อม การก่อวินาศกรรมในที่ทำงาน ไปจนถึงการแสดงออกทางศิลปะ กลยุทธ์การต่อต้านยังสามารถทำงานได้ทั้งในระดับจุลภาค เช่น การไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดหรือระเบียบเล็กน้อย และระดับมหภาค เช่น การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม หรือการปฏิวัติ การเลือกกลยุทธ์ใด ในระดับใด ขึ้นอยู่กับบริบทเฉพาะและพลวัตของอำนาจในขณะนั้น

กลยุทธ์การต่อต้านสามารถปรับเปลี่ยนและเกิดขึ้นได้อย่างสร้างสรรค์ โดยผุดขึ้นมาในลักษณะที่ไม่คาดคิดและพัฒนาไปตามกาลเวลา กลยุทธ์หล่านี้ทำให้โครงสร้างอำนาจเดิมคาดเดาไม่ได้และควบคุมได้ยาก ขอบเขตระหว่างการต่อต้านรูปแบบต่าง ๆ อาจพร่ามัวและเปลี่ยนแปลงได้ บุคคลและกลุ่มอาจมีส่วนร่วมในกลยุทธ์ต่าง ๆ พร้อมกัน และการกระทำบางอย่างอาจถูกตีความว่าเป็นการต่อต้านหรือไม่ขึ้นอยู่กับบริบทและความตั้งใจของผู้กระทำ

ในการวิเคราะห์ความบ้าและอารยธรรม ฟูโกต์แสดงให้เห็นว่า ผู้คนที่ถูกมองว่าเป็น "คนบ้า" ต่อต้านการบังคับเข้ารับการรักษาพยาบาลผ่านการกระทำต่าง ๆ เช่น การแสร้งทำเป็นเจ็บป่วย การขัดขวางกิจวัตรประจำวันของโรงพยาบาล และก่อตั้งชุมชนทางเลือก และในงานของเขาเรื่อง “วินัยและการลงทัณฑ์” ระบุว่านักโทษต่อต้านการสอดแนมของระบบเฝ้าระวังในคุก (Panopticon) ด้วยเทคนิคต่าง ๆ เช่น การแกล้งทำเป็นว่าเชื่อฟัง การนินทาเกี่ยวกับผู้คุม และการสร้างเครือข่ายลับ

 ประการที่สาม การต่อต้านเป็นการกระทำเชิงกลยุทธที่ไม่ได้ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าหรือเป็นสากล แต่ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์เชิงอำนาจและบริบทเฉพาะ ซึ่งจำเป็นต้องมีการเจรจาต่อรองและปรับตัว

การต่อต้านเชิงกลยุทธ์จะมุ่งเน้นเป้าหมาย ไม่ได้เป็นการสุ่ม แต่ขับเคลื่อนโดยจุดมุ่งหมายเฉพาะ บุคคลหรือกลุ่มประเมินพลวัตของอำนาจที่พวกเขาเผชิญ และกำหนดกลยุทธ์เพื่อให้บรรลุผลลัพธ์ที่ต้องการ ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการแบบกำหนดเป้าหมาย การหาแนวร่วม หรือการแทรกแซงเชิงวาทกรรมที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อทำให้โครงสร้างอำนาจที่ครอบงำอ่อนกำลังลงหรือเกิดการปรับรูปลักษณ์ใหม่

การต่อต้านจะกลายเป็นกลยุทธ์เมื่อเกี่ยวข้องกับการเลือกวิธีการ เวลา และทรัพยากรโดยเจตนา เช่น การเลือกที่จะใช้ถ้อยคำเสียดสีแทนการเผชิญหน้าโดยตรง หรือการปรับตัวให้เข้ากับกลุ่มอื่น ๆ เพื่อให้เกิดผลกระทบมากขึ้น หรือการรอช่วงเวลาสำคัญที่จะโจมตี กลยุทธ์มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของพลวัตของอำนาจและสถานการณ์ที่คาดไม่ถึง กลยุทธ์ที่ได้ผลในบริบทหนึ่ง อาจไม่ได้ผลในอีกบริบทหนึ่งก็ได้ การเคลื่อนไหวต่อต้านจึงต้องมีความยืดหยุ่นและปรับกลยุทธ์ให้เหมาะสมอยู่เสมอ

กลยุทธ์การต่อต้านไม่ได้เกิดขึ้นในสุญญากาศ แต่ดำรงอยู่ในบริบททางประวัติศาสตร์ สังคม และการเมืองที่เฉพาะเจาะจง รูปแบบที่ใช้ ประสิทธิภาพ และข้อจำกัดถูกกำหนดโดยสถานการณ์เฉพาะและความสัมพันธ์ทางอำนาจในขณะนั้น กลยุทธ์การต่อต้านยังเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้และอาจเกิดขึ้นมาทันที แม้ว่ารูปแบบการต่อต้านบางอย่างอาจมีการวางแผนไว้ แต่รูปแบบอื่น ๆ อีกมากมายเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยได้รับแรงหนุนจากความคับข้องใจ โอกาส หรือเจตจำนงร่วมของประชาชนที่ถูกกดขี่ กลยุทธ์ต่อต้านที่ผุดขึ้นมาในระหว่างการต่อสู้อาจทรงพลังและทำให้อำนาจครอบงำสั่นคลอนได้ เพราะพวกเขาไม่สามารถคาดการณ์และควบคุมได้

อย่างไรก็ตามผลลัพธ์ของการต่อต้านอำนาจมีลักษณะเป็นปลายเปิดและไม่แน่นอน ไม่สามารถถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าได้ แม้แต่แผนที่จัดทำขึ้นอย่างมีกลยุทธ์ก็อาจเผชิญกับความพ่ายแพ้ หรือประสบกับข้อจำกัดที่ไม่คาดคิดอันเนื่องมาจากพลวัตของอำนาจและอิทธิพลของปัจจัยภายนอก

พลังของการต่อต้านขึ้นอยู่กับปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลยุทธ์และสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ลักษณะทั้งสองไม่ได้แยกจากกัน แต่เป็นการเสริมกำลังซึ่งกันและกัน กลยุทธ์มุ่งหวังที่จะมีอิทธิพลต่อธรรมชาติของความสัมพันธ์ทางอำนาจ ในขณะที่สถานการณ์สามารถสร้างโอกาสสำหรับกลยุทธ์ใหม่ ๆ ที่คาดไม่ถึงได้เกิดขึ้น การต่อต้านที่มีประสิทธิภาพต้องการความสมดุลระหว่างทั้งสองเรื่อง การเน้นกลยุทธ์มากเกินไปอาจนำไปสู่ความแข็งตัวและตัดขาดจากประสบการณ์ชีวิตของผู้ที่เผชิญกับการกดขี่ ในทางกลับกัน การพึ่งพาสถานการณ์อย่างเดียวอาจนำไปสู่การกระทำที่ส่งเดชสะเปะสะปะโดยไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน

 ประการที่สี่ การต่อต้านเป็นสิ่งที่ต้องผลิตและใช้ความคิดเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งพัฒนามาจากการโต้แย้งวาทกรรม เรื่องเล่า และบรรทัดฐานที่ครอบงำสังคม และเปิดโอกาสนำเสนอวิสัยทัศน์และรูปแบบทางสังคมใหม่ขึ้นมา รูปแบบการต่อต้านเช่นนี้มีมากกว่าการต่อต้านหรือปฏิเสธกลุ่มที่มีอำนาจเหนือกว่า แต่เป็นเรื่องที่ประชาชนผลิตและสร้างสรรค์อย่างมีจินตนาการถึงสิ่งใหม่ ๆ อย่างกระตือรือร้น

แนวทางนี้ไม่ใช่การรื้อระบบที่มีอยู่ แต่เกี่ยวกับการสร้างระบบใหม่ควบคู่ไปกับระบบเก่า ลองนึกถึงชุมชนชายขอบที่สร้างเครือข่ายการศึกษา ระบบการดูแลสุขภาพ หรือสหกรณ์ทางเศรษฐกิจของตนเอง ทั้งยังเป็นเรื่องเกี่ยวกับการฟื้นฟูสิทธิเสรีภาพ กำหนดความเป็นจริงของตนเอง และส่งเสริมทางเลือกอื่นในการรู้ ความเป็นอยู่ และการกระทำ สิ่งนี้สามารถเห็นได้ในการเคลื่อนไหวต่าง ๆ เช่น ความพยายามในการบุกเบิกที่ดินของชนพื้นเมือง การสร้างแพลตฟอร์มสื่อทางเลือก หรือการพัฒนาสกุลเงินในชุมชน

รูปแบบการต่อต้านที่มีการแสดงออกด้วยจินตนาการที่ลุ่มลึกและสร้างสรรค์ผ่านศิลปะ ดนตรี วรรณกรรม และการผลิตทางวัฒนธรรมในรูปแบบอื่น ๆ จะบั่นทอนความชอบธรรมของวาทกรรมและบรรทัดฐานที่ครอบงำสังคม การสร้างเรื่องราวใหม่ ๆ เพื่อท้าทายความเชื่อดั้งเดิม และการนำเสนอวิสัยทัศน์ทางเลือกขึ้นมาเป็นการท้าทายสภาพอำนาจที่เป็นอยู่และเปิดโอกาสสำหรับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ลองนึกถึงบทบาทของศิลปะบนถนน (Street Art) ในการเน้นย้ำถึงความอยุติธรรมทางสังคม พลังของดนตรีที่สร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการกระทำทางสังคมและการเมืองร่วมกันของประชาชน หรือศักยภาพของการเสียดสีและอารมณ์ขันในการล้มล้างอุดมการณ์ที่กดขี่ กลยุทธ์เหล่านี้สร้างความหวั่นไหวแก่กลุ่มที่ครองอำนาจในสังคมได้ทั้งสิ้น

พลังการผลิตและการสร้างสรรค์ไม่ใช่รูปแบบของการต่อต้านที่แยกจากกัน แต่เชื่อมโยงกันและเสริมสร้างซึ่งกันและกัน ตัวอย่างเช่น การสร้างสวนชุมชน (พลังการผลิต) อาจมาพร้อมกับจิตรกรรมฝาผนังที่แสดงถึงอธิปไตยทางอาหาร (พลังสร้างสรรค์) การเน้นย้ำถึงพลังการผลิตและความคิดสร้างสรรค์ของฟูโกต์นำเสนอจุดแตกต่างที่สำคัญต่อมุมมองการต่อต้านแบบดั้งเดิมที่มุ่งเน้นไปที่การปฏิเสธและการทำลายล้างเพียงอย่างเดียว เตือนเราว่า แม้จะเผชิญกับการกดขี่ แต่จิตวิญญาณของมนุษย์ยังคงรักษาความสามารถในการผลิต สร้างสรรค์ และสร้างโลกที่ดีขึ้นได้

การที่อำนาจและการต้านทานมีความสัมพันธ์เชิงพลวัตทำให้อำนาจมีการปรับตัวเพื่อตอบโต้การต่อต้านได้เช่นกัน บางครั้งกลุ่มอำนาจสามารถหยุดยั้งผู้ท้าทายโดยใช้วิธีการหลากหลาย เช่น การเลือกการสนับสนุนกลุ่มย่อยบางกลุ่มในขบวนการต่อต้าน การสร้างความแตกแยกในขบวนการต่อต้าน การหยิบฉวยแนวคิดหรือข้อความของฝ่ายต่อต้านมาใช้ และการทำลายศักยภาพการประสานงานและสื่อสารของฝ่ายต่อต้าน

 แต่ในประวัติศาสตร์อันยาวนานของมนุษย์มีหลักฐานมากมายนับไม่ถ้วนที่แสดงให้เห็นว่า ขบวนการต่อต้านอำนาจครอบงำสามารถรื้อถอนโครงสร้างที่กดขี่ และส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเชิงบวกที่มีความเป็นธรรม เคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้คนมากขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น