สุราคือ เครื่องดื่มที่ได้มาจากการกลั่นและเมรัยคือ เครื่องดื่มที่ได้มาจากการหมักดอง ทั้งสองประเภทนี้มีแอลกอฮอล์ผสมดื่มแล้วทำให้มึนเมา เป็นเหตุประมาทขาดสติ ไม่มีความยั้งคิด กระทำผิดศีลธรรมและกฎหมายได้ ดังนั้น คำสอนของพุทธในส่วนที่เป็นศีลสำหรับคฤหัสถ์ และในส่วนที่เป็นพระวินัยสำหรับนักบวชในพุทธศาสนา จึงห้ามมิให้ดื่มโดยมีคำอธิบายให้เหตุผลว่า การดื่มสุราและเมรัยจนมึนเมา จะเป็นเหตุให้กระทำผิดศีลข้ออื่นได้เช่น เมาแล้วฆ่าสัตว์ เมาแล้วลักทรัพย์ และเมาแล้วประพฤติในกาม รวมไปถึงการพูดโกหกได้
ดังนั้น ศีล 5 ข้อห้ามมิให้ดื่มสุราและเมรัย จึงเป็นหัวใจสำคัญในการป้องกันมิให้ผิดศีล 4 ข้อที่เหลือ
ถึงแม้ว่าการดื่มสุราเมรัยจะเป็นข้อห้าม แต่ก็มีพุทธานุญาตเป็นข้อยกเว้นให้ใช้สุราผสมยาเพื่อรักษาโรคได้ และเกี่ยวกับพุทธานุญาตข้อนี้ อรรถาจารย์ได้มีคำอธิบายขยายความไว้ชัดเจนว่า เหล้าแทรกยาควร แต่ยาแทรกเหล้าไม่ควร พูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ถ้าปริมาณเหล้าน้อยกว่ายาหรือใช้เหล้าเป็นส่วนผสมยาอนุญาตให้ใช้ได้ แต่ถ้าปริมาณเหล้ามากกว่ายาถึงขั้นกินแล้วเมาไม่อนุญาตให้ใช้ เพราะฉะนั้น ยาดองเหล้าที่วางขายเป็นโหลจึงไม่เข้าข้อยกเว้นข้อนี้ เพราะกินแล้วเมาจนขาดสติที่เรียกกันว่าเมายาดองนั่นเอง
ประเทศไทยเป็นเมืองพุทธมีประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ และศาสนาพุทธห้ามมิให้ดื่มสุราและเมรัย แต่เหตุใดคนไทยติดเหล้าติดเบียร์ถึงขั้นเป็นเหตุสำคัญในการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในเทศกาลปีใหม่ และสงกรานต์มาเป็นอันดับหนึ่งในทุกปี
เกี่ยวกับประเด็นนี้ ตอบได้ไม่ยากถ้าท่านอ่านเพียงหันไปดูวิถีชีวิตในชนบทที่เช้าลงมาเข้าไร่ เข้าสวน ตกเย็นตั้งวงก๊งเหล้าขาวเป็นประจำทุกวัน นอกจากการดื่มเหล้าเป็นอาจิณในชีวิตประจำวันแล้ว งานเทศกาล งานตาย งานแต่ง ล้วนแล้วแต่มีสุราเป็นจุดร่วมในวงสนทนาทุกงานไป
ในยุคที่ไม่มีการผูกขาดผลิตเหล้าขาว ชาวบ้านต้มเหล้ากินเอง โดยเฉพาะในโอกาสที่มาชุมนุมกันเพื่อร่วมงานประเพณีเช่น งานลงแขกเกี่ยวข้าว ดำนา ก็มีการต้มสุราไว้เลี้ยงดูกัน แต่หลังจากมีการให้สัมปทานผลิตเหล้าขาว และมีการเข้มงวดกวดขันห้ามมิให้มีการต้มเหล้าขาว ชาวบ้านก็หันมาซื้อเหล้าขาวจากผู้ผลิตรายใหญ่ กำไรจึงตกเป็นของคนขายเหล้าขาวอย่างเป็นกอบเป็นกำ จึงได้มีการปรับขึ้นภาษีและนำภาษีที่เก็บได้ส่วนหนึ่งมาให้ สส.มารณรงค์เพื่อลดการดื่มสุรา ซึ่งเป็นต้นเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ อาชญากรรม รวมไปถึงการเจ็บป่วยอันเกิดจากสุรา
จากการดำเนินการเพื่อลดจำนวนผู้ดื่มสุรา ที่ผ่านมาถ้าดูจากผลอันเกิดจากสุราเป็นเหตุเช่น เมาแล้วขับทำให้เกิดอุบัติเหตุก็ดี เมาแล้วก่อปัญหาก่อการทะเลาะวิวาทก็ดี รวมไปถึงจำนวนผู้ป่วยอันเกิดจากการดื่มสุราก็ดี อนุมานได้ว่าไม่ได้ผลเท่าที่ควรจะเป็น ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า การนำภาษาบาปมาเพื่อดำเนินการลดจำนวนคนบาปลง ไม่ได้แก้ปัญหาสังคมอันเกิดจากเหล้าเบียร์ จึงควรหาวิธีการใหม่มาใช้แก้ปัญหานี้ เป็นต้นว่า ควบคุมคุณภาพสุราโดยลดปริมาณแอลกอฮอล์ลงให้อยู่ในระดับที่ดื่มในปริมาณเท่าเดิมแล้วไม่เมา และในขณะเดียวกัน เพิ่มราคาให้สูงขึ้นเพื่อป้องกันมิให้ผู้มีรายได้น้อยหาซื้อมาดื่มในปริมาณมากได้
ดังนั้น การที่รัฐบาลปรับลดภาษีเหล้าเบียร์ลง โดยอ้างว่ากระตุ้นการท่องเที่ยว เพื่อก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้น จึงไม่สอดคล้องกับแนวทางที่ลดจำนวนผู้ดื่ม อันเป็นเหตุให้เกิดปัญหาสังคมลง ตรงกันข้ามจะทำให้ปัญหาเพิ่มขึ้นเพราะเมื่อราคาถูกลง คนจนก็มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นเมื่อซื้อได้มากขึ้นคนเมาก็เพิ่มขึ้น คนเมาเพิ่มขึ้นปัญหาอันเกิดจากคนเมาก็เพิ่มขึ้น จึงเท่ากับแก้ปัญหาด้วยการสร้างปัญหาในทำนองเดียวกัน มือเปื้อนล้างด้วยน้ำโสโครกก็ยิ่งเปื้อนมากขึ้นนั่นเอง