xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

นักโทษชาย “ทักษิณ” “นาย” ของ “ทวี”?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ถึงตอนนี้ ทุกอย่างปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรมว่า “ขบวนการช่วยเหลือนักโทษชายทักษิณ ชินวัตร” นั้น พร้อมทำอย่างเพื่อ “เอื้อประโยชน์” ให้บุคคลเพียงคนเดียว โดย ไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหม ไม่สนใจกฎระเบียบ-ข้อบังคับ หรือกฎหมายบ้านเมือง ไม่รักในองค์กร ศักดิ์ศรีของหน่วยงาน ไม่อายเพื่อนร่วมงาน หรือครอบครัวลูกหลานที่ต้องอับอายขายหน้าเพราะการกระทำของตัวเอง

ทั้งนี้ บุคคลที่ต้องกล่าวถึงคงหนีไม่พ้น “ทวี สอดส่อง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จาก “พรรคประชาชาติ” ที่เวลานี้ดูจะออกหน้าออกตาอธิบายเรื่องนักโทษชายทักษิณอย่างขมีขมันเป็นพิเศษ เรียกว่า เบียด “สมศักดิ์ เทพสุทิน” รองนายกรัฐมนตรี ที่เคยทำคะแนนไปก่อนหน้านี้ชนิดไม่ถึงฝุ่นเลยทีเดียว

ตัวอย่างล่าสุดที่โจษจันกันทั้งบ้านทั้งเมืองก็คือ เรื่องการใช้คำนำหน้าชื่อ น.ช.ทักษิณ ชินวัตร ว่า “นาย” ที่ “กรมราชทัณฑ์” ภายใต้การกำกับของ “ทวี” ซึ่งอยู่ๆ ก็ออกมาอธิบายเรื่องดังกล่าวแบบไม่มีต้นสายปลายเหตุ เพราะเมื่อย้อนไปดูในอดีตก็ไม่เคยเห็นว่า กรมราชทัณฑ์ในยุคไหนได้เคยให้ความใส่ใจในเรื่องนี้เป็นพิเศษ จะเรียกว่า งานนี้ “ออกนอกหน้า” ก็คงไม่เกินเลยไปจากความเป็นจริงเท่าใดนัก

หรือเป็นเพราะกระแสข่าวที่ร่ำลือกันหนาหูว่า “นาย” จะได้รับการพักโทษในช่วง “ต้นเดือน ก.พ.67” นี้ จึงจำต้อง “ทำคะแนน” ให้เข้าตากรรมการ ก็มิรู้ได้

กรมราชทัณฑ์ได้ออกเอกสารชี้แจง โดยอ้างว่า ตามมาตรา 4 ของพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 “นักโทษเด็ดขาด” หมายความว่า บุคคลซึ่งถูกขังไว้ตามหมายจำคุกภายหลังคำพิพากษาถึงที่สุดและให้หมายความรวมถึงบุคคล ซึ่งถูกขังไว้ตามคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย โดยการใช้คำนำหน้าชื่อว่า นักโทษเด็ดขาดชาย (น.ช.) หรือนักโทษเด็ดขาดหญิง (น.ญ.) จึงเป็นเพียงถ้อยคำที่ใช้ในการแบ่งประเภทของนักโทษเด็ดขาด โดยใช้เพศเป็นเกณฑ์กำหนดเท่านั้น ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย และการใช้คำนำหน้าชื่อเหล่านี้จะใช้ในงานราชทัณฑ์ขณะถูกควบคุมตัวอยู่ภายในเรือนจำ/ทัณฑสถานเท่านั้นหากต้องมีการเปิดเผยชื่อ-นามสกุล ออกสู่สาธารณชน จะไม่ใช้คำนำหน้าชื่อด้วย น.ช. หรือ น.ญ. เพื่อบ่งบอกสถานะความเป็นผู้ต้องขัง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ขององค์กรในการคืนคนดีสู่สังคม รวมถึงอาจกระทบต่อสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องขัง

สังคมได้ยินได้ฟังแล้วก็อดคิดไม่ได้ว่า คำว่า “นาย” ที่ “กรมราชทัณฑ์” อยากให้เรียก “ทักษิณ” ตามที่ว่านั้น มีนัยเป็นเพียงแค่คำนำหน้านามเท่านั้น หรือหมายถึง “นาย” ที่สื่อความหมายไปในบริบทของความเป็น “เจ้านาย” มากกว่ากันแน่

 เปิดสายสัมพันธ์ “เสี่ยวีสายตรงชินวัตร” 

ความจริง ต้องบอกว่า “ทวี สอดส่อง” ไม่ใช่คนแปลกหน้าสำหรับ “นายชื่อทักษิณ” ด้วยคือ อดีตข้าราชการสายตรง “ชินวัตร” มาอย่างยาวนาน ดังนั้น จงอย่าแปลกที่ “เสี่ยวี” จะแบบเบอร์ได้เข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน อย่างแทบไม่ต้องแก่งแย่งแข่งขันกับใคร

และแน่นอน สังคมรู้กันดีกว่า “พรรคประชาชาติ” ที่ “เสี่ยวี” สังกัดนั้น มีความแนบแน่นกับ “พรรคเพื่อไทย” และ “ทักษิณ ชินวัตร” เพียงใด จะใช้คำว่าเป็น “พรรคสาขา” ของพรรคเพื่อไทยก็คงไม่เกินเลยไปจากความเป็นจริงเท่าใดนัก

ที่พิเศษไปกว่านั้นก็คือ “ว่ากันว่า” ชื่อของ “เสี่ยวี” กับเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงนี้ถูกวางไว้ตั้งแต่ก่อนจะมีการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 ด้วยซ้ำ เพราะรู้ดีว่า เป็นตำแหน่งสำคัญที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิภาพของ “นายทักษิณ” ที่กำลังเตรียมตัวกลับมารับโทษจำคุก

เช่นเดียวกับ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้เซ็นประกาศกระทรวงเมื่อปี 2563 กำหนดให้ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ดำเนินการออกระเบียบ “ระเบียบขังนอกคุก” ตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ 2560 ก็ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา “สมศักดิ์” ก็ขนลิ่วล้อกลับมาเข้าสังกัดพรรคเพื่อไทยที่สังคมรับรู้กันโดยถ้วนทั่วว่า อยู่ใต้อาณัติของ “นช.ทักษิณ”

สอดรับกับเหตุการณ์ปัจจุบันกับการที่ “นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ” ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม หรือที่ปรึกษานายทวี สอดส่อง ออกมาร่ายยาวเกี่ยวกับข้อสงสัยของสังคมเกี่ยวกับ นช.ทักษิณ เอาไว้ว่า น.ช.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งอยู่ระหว่างการนอนพักรักษาตัวภายนอกเรือนจำ โดยอยู่ที่ รพ.ตำรวจ นานเกินกว่า 120 วัน ถือว่าเข้าเงื่อนไขและปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย

นายสมบูรณ์อ้างว่าที่ถูกกฎหมายเพราะได้รับการตรวจสอบจากหลายหน่วยงาน เช่น สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน, สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นต้น โดยเฉพาะสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน มีตัวแทนขึ้นไปบนชั้น 14 รพ.ตำรวจ และได้พบนายทักษิณ ด้วย

และนายสมบูรณ์ยืนยันว่า ตนในฐานะข้าราชการการเมือง เชื่อมั่นว่านายทักษิณนอนพักที่ รพ.ตำรวจ จริง ไม่ได้อยู่ที่คอนโดฯ อย่างที่สังคมเคลือบแคลงสงสัย

ถามว่า “นายสมบูรณ์” จะหาญกล้าออกนอกหน้าโดยมิได้รับ “ไฟเขียว” จาก “นาย” กระนั้นหรือ

สิ่งที่ต้องค้นหาคำตอบประการต่อมาก็คือ นายสมบูรณ์เป็นใคร

นายสมบูรณ์ก็คือ ปาร์ตี้ลิสต์อันดับที่ 3 ของพรรคประชาชาติ ในช่วงเลือกตั้งที่ผ่านมา

แต่ถ้าจะลงลึกก็ต้องใช้คำว่า เป็นอดีตข้าราชการอัยการ เคยเป็นสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เคยเป็นกรรมการ หรือบอร์ดรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง และที่ต้องขีดเส้นใต้สองเส้นก็คือ เป็นที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายของบีทีเอส กรุ๊ป

คงไม่ต้องสาธยายขยายความกระมังว่า พรรคประชาชาติมีสายสัมพันธ์ดีกับบริษัทหรือนายทุนคนไหน

และคงไม่ต้องสาธยายขยายความด้วยว่า นอกจากพรรคประชาชาติแล้ว “คนที่คุณก็รู้ว่าใคร” มีสายสัมพันธ์กับพรรคการเมืองใดอีก

ดังนั้น คงพอจะสรุปได้แล้วกระมังว่า ทำไม “นายสมบูรณ์” ถึงได้รับไฟเขียวให้มาอธิบายเรื่อง “นายทักษิณ”

 เปิดลับวันพักโทษ “เทวดาชั้น 14” 

นอกเหนือจากความพยายามที่จะทำทุกวิถีทางเพื่อให้นักโทษชายทักษิณได้นอนแบบสบายอกสบายใจอยู่บนชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจแล้ว อีกกระบวนการหนึ่งที่กำลังดำเนินการคู่ขนาน กับการรักษาตัวนอกเรือนจำ ก็คือ การผลักดันเรื่อง “พักโทษ” ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

ทั้งนี้ กระทรวงยุติธรรมได้ให้ “นายสิทธิ สุธีวงศ์” รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และโฆษกกรมราชทัณฑ์ มาร่วมแถลงข่าวกับทีมงานของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม เมื่อวันที่ 17 ม.ค.67 ที่ผ่านมา โดย “รองฯสิทธิ” ระบุถึงประเด็นโครงการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษว่า คุณสมบัติของ “นช.ทักษิณ” หากดูจากหลักเกณฑ์ที่ว่าเป็น “ผู้ต้องขังเด็ดขาดชั้นกลาง-สูงวัย-มีอาการเจ็บป่วย” ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับการพิจารณาในโครงการพักการลงโทษ กรณีมีเหตุพิเศษ แต่ทางกรมยังไม่ได้รับรายงานจาก “เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ” ซึ่งตรงนี้ต้องรอ “นัสที ทองปลาด” ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เสนอรายชื่อ “นช.ทักษิณ” ว่าเข้าเกณฑ์โครงการพักการลงโทษมายังอธิบดีกรมราชทัณฑ์

กระนั้นก็ดี ถ้าดูตามแถลงการณ์ของกรมราชทัณฑ์ที่ “อ้าง” ความจำเป็นในการอนุญาตให้ “นช.ทักษิณ” รักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจต่อไป ซึ่งมีคีย์เวิร์ดที่ว่า มีอาการป่วยโรคที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ และต้องดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อให้พ้นจากสภาวะ “อันตรายแก่ชีวิต” ก็เชื่อว่า “นช.ทักษิณ” จะได้พักโทษ โดยที่ไม่ได้กลับไปนอนค้างในเรือนจำแม้แต่คืนเดียว

 ทวี สอดส่อง

 ทักษิณ ชินวัตร
ทั้งนี้ หากนายทักษิณผ่านเข้าโครงการพักการลงโทษได้จริง กรมคุมประพฤติจะต้องไปหาข้อมูลว่าใครจะเป็นผู้อุปการะผู้ต้องขัง และเมื่อพักโทษจะประกอบอาชีพอะไร และจะต้องรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติอย่างไรบ้าง หรือกำหนดอาณาบริเวณ รวมทั้งการห้ามเดินทางออกนอกประเทศ หรือแม้แต่การติดกำไล EM ซึ่งจะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการพักการลงโทษที่จะพิจารณา

อย่างไรก็ดี สำหรับนักโทษเด็ดขาดนั้นมีการจัดชั้นนักโทษไว้ 6 ชั้นด้วยกัน โดยเรียงจากดี ไปแย่คือ 1.ชั้นเยี่ยม 2.ชั้นดีมาก 3.ชั้นดี 4.ชั้นกลาง 5.ชั้นต้องปรับปรุง (หรือ ชั้นเลว) และ6.ชั้นต้องปรับปรุงมาก (หรือ ชั้นเลวมาก)

ในกรณีของ นช.ทักษิณ อย่างที่รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์กล่าวไปก็คือ เพิ่งต้องโทษจึงถูกจัดว่าเป็น “ชั้นกลาง” ซึ่งหากอยู่ชั้นกลางนี้ นช.ทักษิณ จะไม่มีโอกาสได้รับสิทธิพักการลงโทษแต่อย่างใด โดยต้องมีการทำชั้น คืออย่างน้อยต้องเป็นนักโทษชั้นดีก่อนจึงจะมีโอกาสได้รับสิทธิ

กล่าวคือ การพักการลงโทษ “กรณีปกติ” น.ช.ทักษิณจะเข้าเกณฑ์พักการลงโทษ ในชั้นดี ในวันที่ 18 มิถุนายน 2567 (หรือ 1 ใน 5 ของกำหนดโทษ หรืออีกเกือบครึ่งปี) ตามกฎกระทรวงกำหนดประโยชน์ฯ ข้อ 42 (3) แต่เนื่องจาก น.ช. ทักษิณจะได้รับการเลื่อนชั้น จากชั้นกลางเป็นชั้นดี ในวันสิ้นเดือนมิถุนายน 2567 จึงมีผลทำให้ได้รับพักการลงโทษ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป

ส่วนการพักการลงโทษ “กรณีมีเหตุพิเศษ” โดยคุณสมบัติและหลักเกณฑ์การพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ เนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรงหรือพิการ หรือมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป จะต้องเป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นกลางขึ้นไป จำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือ 1 ใน 3 แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า (ตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 มาตรา 52 (7) พักการลงโทษ เมื่อนักโทษเด็ดขาด ได้รับโทษมาแล้วไม่น้อยกว่าหกเดือน หรือหนึ่งในสามของกำหนดโทษ ตามหมายศาลในขณะนั้น แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า)

ซึ่งในกรณีของ น.ช. ทักษิณจะได้รับพักการลงโทษ ต่อเมื่อจำคุกมาแล้ว 6 เดือน ซึ่งจะเข้าเกณฑ์การพักโทษ ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567

 นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ

 นายสิทธิ สุธีวงศ์
ทั้งนี้ หาก น.ช.ทักษิณ ขอพักการลงโทษในกรณีอายุ 70 ปีขึ้นไป จะต้องประกอบไปด้วย

- ผลการประเมิน ตามแบบประเมินคัดกรองปัญหาสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาวในชุมชน กรมอนามัย มีค่าคะแนนไม่เกิน 11 คะแนน ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ หรือช่วยเหลือตัวเองได้น้อย (พยาบาลเรือนจำเป็นผู้ทำการประเมิน และรับรองโดยผู้บัญชาการเรือนจำ ซึ่งในความเป็นจริงก็คือ ในเวลานี้ไม่มีพยาบาล หรือ ผบ.เรือนจำ คนใดกล้ารับรอง

- หรือหากขอพักการลงโทษในกรณีเจ็บป่วยร้ายแรง จะต้องมีแพทย์ จำนวน 2 คน ตรวจรับรองความเจ็บป่วยว่า เจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรง ที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เช่น โรคไตวายเรื้อรัง ที่มีการล้างไตทางช่องท้อง โรคมะเร็งระยะแพร่กระจาย เป็นต้น ซึ่งในกรณีนี้เช่นกัน คือยังไม่มีแพทย์คนใดกล้ารับรอง

ทั้งนี้ทั้งนั้น จากเงื่อนไข กฎระเบียบ และกฎหมายที่ค่อนข้างตายตัวข้างต้น เปลี่ยนแปลงได้ยาก จึงไม่น่าแปลกใจที่จะมีการโยนหินถามทางมาจากในกระทรวงยุติธรรม และแกะดำในกรมราชทัณฑ์ ในการสร้างทางลัด และช่องพิเศษทุกวิถีทางให้ นช.ทักษิณพ้นโทษให้เร็วที่สุดด้วยการพักการลงโทษ “กรณีมีเหตุพิเศษ” เพื่อให้สมกับที่ นช.ทักษิณ เคยประกาศลั่นไว้ก่อนกลับประเทศไทยว่า จะ “ไม่ยอมติดคุกแม้แต่วันเดียว” นั่นเอง

ตรงตามที่ “สว.เอ๋” สมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ออกมาดักคอไว้ว่า การพิจารณาพักโทษ “นช.ทักษิณ” ต้องเริ่มพิจารณาหลังจากวันที่ 22 ก.พ.67 หรือครบ 6 เดือนที่เข้ารับโทษจำคุก แต่การที่กรมราชทัณฑ์และฝ่ายการเมืองออกมาแถลงว่า ขณะนี้เข้าเกณฑ์พักโทษเป็นกรณีพิเศษแล้วนั้น จึงเป็นเรื่องที่ไม่ปกติ และอาจทำให้เกิด “วิกฤตศรัทธา” ของกระบวนการยุติธรรมไทยมากขึ้น

สิ่งที่ “บิ๊กๆ” ในกรมราชทัณฑ์ รวมทั้ง “นายทวี สอดส่อง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จะต้องตอบคำถามก็คือ ยินยอมที่จะ “ปิดแผ่นฟ้าด้วยฝ่ามือ” ด้วยการกระทำที่ขัดต่อระเบียบ และกฎหมายของกรมราชทัณฑ์แทบจะทุกขั้นตอน เพียงเพื่อเอาใจ “นาย” โดยที่ไม่สนใจว่า กระบวนการยุติธรรมของประเทศจะพินาศฉิบหายเพียงใดเท่านั้นหรือ?

 เปิดลับนักโทษโคตร VVIP  

ข้อมูลเบื้องลึกเกี่ยวกับ นช.ทักษิณ ตั้งแต่เดินทางกลับมาถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 มี “ความพิสดาร” อยู่หลายประการด้วยกัน ซึ่งแต่ละข้อล้วนแล้วแต่มีเงื่อนงำที่ชวนให้แสดงถึงความเป็น “นักโทษโคตร VVIP” ในทุกขั้นตอน

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อออกจากสนามบินดอนเมือง นช.ทักษิณได้ไปฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ในระหว่างกระบวนการฟังคำพิพากษา ตอนแรกทนายของนช.ทักษิณ ไม่ยอมให้พิมพ์ลายนิ้วมือ เหมือนผู้ต้องหาด้วยซ้ำไป แต่เจ้าหน้าที่ไม่ยอม จึงต้องดำเนินการพิมพ์ลายนิ้วมือ นอกจากนี้ หลัง นช.ทักษิณเสร็จสิ้นกระบวนการรับฟังคำพิพากษาศาลฎีกา และเดินทางมายังเรือนจำกรุงเทพมหานครด้วยรถยนต์โตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์กันกระสุน โดยถึงเรือนจำเวลาประมาณ 11.30น. นช.ทักษิณได้เข้าไปในห้องทำบัตรนักโทษของเรือนจำพิเศษกรุงเทพ โดยไม่ได้ดำเนินการตัดผมเหมือนนักโทษทั่วไป รวมทั้งไม่ได้เข้าสู่เรือนจำแต่ไปยังสถานพยาบาลของเรือนจำ (ไม่ใช่ โรงพยาบาลราชทัณฑ์) เพื่อไปดำเนินการตรวจโรค และกักโควิด

หรือในวันที่ถูกส่งตัวมายังโรงพยาบาลตำรวจด้วยอาการนอนไม่หลับ แน่นหน้าอก วัดความดันโลหิตสูง ระดับออกซิเจนปลายนิ้วต่ำ ก็มีคำถามที่น่าสนใจ จากผู้คร่ำหวอด และวงในราชทัณฑ์ว่า การที่ นายสิทธิ สุธีวงศ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ในฐานะโฆษกประจำกรมราชทัณฑ์ อ้างว่า นช.ทักษิณ มีอาการโน่นนี่ จนทำให้พยาบาลเวรเรือนจำ ได้ติดต่อขอคำแนะนำกับแพทย์ที่ทัณฑสถานโพรงพยาบาลราชทัณฑ์ และแพทย์ได้สอบถามอาการโดยละเอียดแล้ว พบมีโรคประจำตัวหลายโรค และทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ขาดเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีศักยภาพ จึงเห็นควรส่งตัวไปโรงพยาบาลตำรวจที่มีความพร้อม มีเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีศักยภาพสูงกว่านั้น พยาบาลหรือแพทย์คนเซ็นคือใคร? ชื่ออะไร? เวรผู้ใหญ่ที่ทำหน้าที่แทน ผอ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพ นั้นคือใคร?

ขณะเดียวกันในเชิงลึกมีรายงานว่า ในวันที่ 22 สิงหาคม 2566 นั้น เมื่อเข้าไปในเรือนจำ นช.ทักษิณออกอาการโวยวาย และว่ากันว่ามีการต่อรองกับฝ่ายการเมือง ขั้วอำนาจเก่าอย่างหนัก จน “เนติบริกรคนดัง” ในรัฐบาลนั้น ต้องเข้าไปในเรือนจำพิเศษกรุงเทพด้วย และในที่สุดต้องมีการอนุญาต เปิดไฟเขียวให้ นช.ทักษิณ ออกมานอนอยู่ที่ ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ

นอกจากนี้ เมื่อ นช.ทักษิณ ไม่ยอมอยู่ในเรือนจำ และจะออกมาอยู่ที่ห้องพิเศษชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจก็เกิดกระบวนการเร่งรัดการขอพระราชทานอภัยโทษให้ นช.ทักษิณ อย่างเร่งด่วน จนในที่สุดในวันที่ 1 กันยายน 2566 มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 140 ตอนที่ 40ข พระราชทานพระมหากรุณาอภัยลดโทษ จากโทษจำคุก 8 ปีจากคำพิพากษาของศาลฎีกา 3 คดี เหลือเพียง 1 ปี เนื่องจากเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำคุณประโยชน์ให้ประเทศชาติ จงรักภักดี และมีอาการป่วย ยอมรับการกระทำผิดและสำนึกในความผิด

อย่างไรก็ดี ข้อสังเกตที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้มีหลายประเด็นด้วยกันคือ

1.ผู้สนองพระบรมราชโอการพระราชทานพระมหากรุณาอภัยลดโทษฉบับดังกล่าว ผู้ลงนาม รับสนองพระบรมราชโองการ คือ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” มิใช่ “นายเศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีที่เพิ่งรับสนองพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ไปเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2566 แต่อย่างใด

2.เป็นการพระราชทานพระมหากรุณาอภัยลดโทษจาก 8 ปี เหลือ 1 ปี ซึ่งแตกต่างจากราชประเพณีในอดีต กรณีในอดีตที่การอภัยโทษให้ทั้งหมด คือ ไม่เหลือโทษจำคุกต่อเลย

3.ว่ากันว่า การพระราชทานพระมหากรุณาอภัยลดโทษจาก 8 ปี เหลือ 1 ปี นั้นทำให้ “ฝ่ายทักษิณ” ช็อก และตกใจทำอะไรไม่ถูก เพราะเป็นเรื่องที่ผิดคาดอย่างยิ่ง

ด้วยเหตุนี้ฝั่งทักษิณจึงต้องเดินเกม “เอื้อให้ทักษิณพ้นคุก” ด้วยวิธีการคือ

หนึ่ง ให้ นช.ทักษิณนอน รพ.ตำรวจได้นานเท่าที่สุดโดยไม่ต้องกลับไปเรือนจำพิเศษกรุงเทพ

สอง ผลักดันเรื่องการเสนอขอพระราชทานอภัยโทษเพิ่มเติมใน 2 วาระสำคัญ คือ วันที่ 13 ตุลาคม 2566 และ วันที่ 5 ธันวาคม 2566 แต่ก็มิอาจส่งผลใด ๆ ได้ต่อ น.ช.ทักษิณ เพราะ น.ช.ทักษิณ เป็นเพียงแค่นักโทษชั้นกลาง ไม่สามารถได้รับการพระราชทานอภัยโทษเพิ่มเติมได้

นอกจากนี้ ยังทำให้ไม่มีการดำเนินการใด ๆ จากกรมราชทัณฑ์ และนักโทษคนอื่น ๆ ที่รอการพระราชทานอภัยโทษในวาระปกติกลับต้องรอเก้อ เพราะ ความเห็นแก่ตัวของ น.ช.ทักษิณ

สาม หาช่องทางยกเรื่อง “การคุมขังนอกเรือนจำ” ซึ่งระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วย ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง 2566 ที่มีสาระสำคัญ เกี่ยวกับสถานที่คุมขังอื่นที่ไม่ใช่เรือนจำ ว่า เรื่องดังกล่าวเกิดจาก พ.ร.บ. ราชทัณฑ์ 2560 ซึ่งมีการดำเนินการมาตั้งแต่สมัยนายสมศักดิ์ เทพสุทิน ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกฯ ขึ้นมาใช้ให้เร็วที่สุด

อย่างไรก็ตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วย ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง 2566 นั้นต้องมีการตั้ง คณะทำงานคัดกรอง ที่มีรองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ที่กำกับดูแล กองทัณฑวิทยาเป็นประธานร่วมกับผู้อำนวยการกองงานที่เกี่ยวข้องของกรมราชทัณฑ์ รวม 8 คน เพื่อร่างหลักเกณฑ์ ผู้ต้องขังที่เข้าข่ายคุมขังนอกเรือนจำเสียก่อน โดยคณะทำงานคัดกรอง 8 คนนี้ เรียกกันเล่น ๆ ว่า “8 อรหันต์”

ทว่า ในการประชุมของ คณะกรรมการคัดกรองการคุมขังในสถานที่คุมขัง ซึ่งถูกตั้งฉายาว่า การประชุมของ “8 อรหันต์” เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2567 ไม่มีการผ่านระเบียบใด ๆ ออกมา เนื่องจากไม่มีใครกล้า เพราะกลัวว่าจะเป็นการทำผิดกฎหมาย กลายเป็นรอยด่างพร้อยชีวิต และจะถูกเช็กบิลในภาคหลัง

เมื่อการประชุมของ คณะกรรมการคัดกรองการคุมขังในสถานที่คุมขัง 8 คน ในวันอังคารที่ 9 ไม่มีผลใด ๆ ออกมา ในวันวันที่ 11 มกราคม 2567 ในการประชุมของคณะกรรมการราชทัณฑ์ ที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรมหมายมั่นปั้นมือว่าจะต้องแสดงผลงานโชว์ นช.ทักษิณให้เป็นที่ประจักษ์จึงต้อง “เป็นหมัน” ไปโดยปริยาย

เมื่อคลำหาหนทางไปทางอื่นไม่ได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการขอพระราชทานอภัยโทษ ในวาระ 13 ตุลาคม, 5 ธันวาคม ก็ไม่ได้ การคุมขังนอกเรือนจำ ก็แห้ว การพักการลงโทษ “กรณีปกติ” ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะ น.ช.ทักษิณ ต้องทำชั้น ซึ่งต้องรออย่างน้อย ๆ ก็อีกเกือบครึ่งปี หรือในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม

สุดท้ายจึงต้องมาออกที่ช่องทางของ การพักการลงโทษ “กรณีมีเหตุพิเศษ” โดยอ้างว่า นช.ทักษิณ มีคุณสมบัติและหลักเกณฑ์การพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ เนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรงหรือพิการ หรือมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป ซึ่งมีการโยนหินถามทาง และเตรียมปูทางเอาไว้แล้วตั้งแต่ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา




กำลังโหลดความคิดเห็น