xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

กำจัดจุดอ่อน “อาชญากรเด็ก” บทเรียนจากคดีฆ่า “ป้าบัวผัน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - คดีสะเทือนขวัญที่อยู่ในความสนใจของสังคมไทยเวลานี้ คงหนีไม่พ้น “คดีฆาตกรรมป้าบัวผัน” หญิงวัยกลางคนสติไม่สมประกอบ พบร่างถูกฆ่าทิ้งสระน้ำข้างโรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.สระแก้ว นำไปสู่การจับกุม “ลุงเปี๊ยก” สามีของผู้ตาย แต่พบพิรุธ “จับแพะ” กระทั่ง “คดีพลิก” กล้องวงจรปิดจับพฤติกรรมเหี้ยมของ “5 วัยโจ๋ อายุ 13 - 16 ปี” ซึ่งในจำนวนนั้นเป็น “ลูกตำรวจ” ลงมือก่อเหตุทำร้ายร่างกายป้าบัวผันสู่ฆาตกรรมอำพราง

นับเป็นอีกครั้งที่เกิดการถกเถียงในสังคมไทยกับ “กฎหมายคดีกับเด็กและเยาวชน” กับโทษสถานเบาเกินกว่าพฤติการณ์ร้ายแรงที่ก่อเหตุ นับตั้งแต่เกิดเหตุเยาวชนอายุ 14 ปีก่อเหตุยิงภายในศูนย์การค้าสยามพารากอน จนมีผู้เสียชีวิตหลายรายเมื่อช่วงเดือน ต.ค. 2666 แต่กลับไม่ต้องรับโทษอย่างสาสม รวมทั้งแพทย์ลงความเห็นว่า ผู้ก่อเหตุมีอาการป่วยจิตเวช ต้องรับการรักษาอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะหาย เพื่อเป็นการป้องกันอันตรายของเด็กที่อาจก่อกับสังคม ซึ่งไม่สามารถระบุกรอบเวลาการรักษาตัวได้

สำหรับ “คดีป้าฆาตกรรมบัวผัน” ผู้ก่อเหตุทั้ง 5 คน ที่ร่วมกันทำร้ายร่างกายฆ่าและอำพรางศพ เป็นเด็กและเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี ประกอบด้วย 1. แบงค์ อายุ 13 ปี, 2. กัส อายุ 13 ปี, 3. เชน อายุ 14 ปี, 4. โก๊ะ อายุ 14 ปี และ 5. บิ๊ก อายุ 16 ปี ที่ถูกจับจ้องคือ 2 ใน 5 ผู้ต้องหาเป็นลูกตำรวจในท้องที่เกิดเหตุ

นับเป็นประเด็นใหญ่ที่ทุกฝ่ายต้องร่วมถอดบทเรียนถึงพฤติกรรมเด็กที่ยกระดับความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ การไม่ให้คุณค่าความเป็นมนุษย์ และขาดความเห็นอกเห็นเห็นใจผู้อื่น ตลอดจนหาแนวทางเพื่อยับยั้งเหตุอาชญกรรมในกลุ่มเด็กและเยาวชน เพื่อให้อัตราความรุนแรงและความถี่การเกิดเหตุลดลง

“สังคมตื่นตระหนกกับความคิดของเขา เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง แต่สังคมไม่เคยถอยกลับไปดูเลยว่า มันเกิดอะไรขึ้นกับพวกเขา สังคมเชื่ออย่างสนิทเลยว่าเด็กคนนี้คือปีศาจ เราเชื่อกันเช่นนั้น” ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก กล่าวถึงกรณีเด็กและเยาวชนก่ออาชญกรรมรุนแรง

 พลิกปูม 5 โจ๋ทรชน
ฆาตกรรมป้าบัวผัน 

ย้อนกลับไปวันที่ 12 ม.ค. 2567 ตำรวจภูธรอรัญประเทศ ได้รับแจ้งเหตุจากพลเมืองดีว่าพบศพหญิงคนหนึ่งบริเวณบ่อน้ำบริเวณหลังปั๊มน้ำมัน ปตท.เก่า (ร้าง) ข้างโรงเรียนอนุบาลศรีอรัญโญทัย ถนนสุวรรณศร อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว หลังจากเจ้าหน้าที่ได้ทำการพิสูจน์พลิกศพ พบว่ามีร่องรอยถูกคนร้ายฆ่าทุบศีรษะและใบหน้าสภาพเละ

ทราบชื่อในเวลาต่อมาคือ “ป้าบัวผัน” หรือ “ป้ากบ” มีชื่อจริงว่า “น.ส.บัวผัน ตันสุ” อายุ 47 ปี ซึ่งเป็นคนในพื้นที่ รู้จักกันว่าเป็นหญิงวัยกลางคนสติไม่สมประกอบ ชอบดื่มเหล้าและมักเดินไปมาอยู่ในละแวกนั้น เป็นที่รู้จักของคนในชุมชนแม้สติไม่ดีแต่ไม่เคยทำร้ายใคร

ภายหลังจากพบร่างไร้วิญญาณของ “ป้าบัวผัน” ผู้ต้องหาแสดงตัวทันที “ลุงเปี๊ยก” หรือ “นายปัญญา คงแสนคำ” อายุ 54 ปี ซึ่งเป็นสามีของผู้เสียชีวิต ได้เข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยให้การรับสารภาพว่าเป็นผู้ก่อเหตุทำร้ายร่างกายป้าบัวผันจนเสียชีวิต โดยพฤติการณ์ตนเอาเก้าอี้ฟาดศีรษะถึงแก่ความตายแล้วเอาศพไปทิ้งบ่อน้ำ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงส่งดำเนินคดีไปยังศาลจังหวัดสระแก้ว และนำตัวไปฝากขังตามกฎหมาย

แต่อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้สื่อข่าวที่ลงพื้นที่พบพิรุธจากคำให้การของลุงเปี๊ยกอยู่หลายจุด ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่ปักใจเชื่อในคำให้การของผู้ต้องหา พร้อมดำเนินการสืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติม

กระทั่ง 14 ม.ค. 2567 “คดีพลิก” หลังจากนักข่าวช่อง 8 พบหลักฐานจากกล้องวงจรปิด ตามจุดต่าง ๆ ตามคำให้การของ “ลุงเปี๊ยก” ตรวจสอบกล้องวงจรปิดหลายจุดตามลำดับเวลาก่อเหตุฆาตกรรมแต่กลับปรากฏว่าไม่พบภาพของ “ลุงเปี๊ยก” แต่กล้องวงจรปิดจับภาพ “กลุ่มวัยรุ่น 5 คน กำลังรุมทำร้าย ป้าบัวผัน” และมีการนำหลักฐานไปมอบให้ตำรวจ สภ.อรัญประเทศ จนนำมาสู่การจับกุมกลุ่มผู้ต้องหาตัวจริงซึ่งทั้งหมดเป็นเด็กและเยาวชน

กล้องวงจรปิดพบว่าเวลาประมาณ 02.00 น. ของวันที่ 12 ม.ค. 2567 ป้าบัวผันนั่งอยู่ที่ร้านสะดวกซื้อแห่งหนึ่ง สาขาอรัญประเทศ ภายในซอยบำรุงราษฎร์ เขตเทศบาลเมืองอรัญประเทศ ปรากฏว่ากลุ่มวัยรุ่น 5 คนขับขี่มอเตอร์ไซค์ 2 คัน เข้าไปเต้นยั่วยุให้ป้าบัวผันโกรธ ทำให้เจ้าตัวปาขวดน้ำใส่กลุ่มวัยรุ่น จากนั้นวัยรุ่นทรชนได้ทำร้ายร่างกายป้าบัวผัน มีการฉุดกระชากขึ้นรถจักรยานยนต์ และได้ขับรถจักรยานยนต์ดังกล่าวมุ่งหน้าไปทางจุดทิ้งศพ

เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงตั้งข้อสังเกตว่ากลุ่มวัยรุ่น 5 คน เป็นผู้ก่อเหตุ และทำการสอบสวนวัยรุ่นผู้ก่อเหตุทั้งหมดสารภาพว่าเป็นคนทำร้ายป้าบัวผันจริง โดยกลุ่มผู้ก่อเหตุเล่าเหตุว่าได้เข้าไปกลั่นแกล้งหญิงสติไม่ดี จนทำให้เธอรำคาญโวยวายกระทั่งปาขวดใส่ ทำให้กลุ่มวัยรุ่นไม่พอใจและได้เข้าทำร้ายร่างกายจนป้าบัวผันเสียชีวิตในที่สุด กลุ่มวัยรุ่นเดนนรกให้การสารภาพว่าที่ทำไปเพราะทำตามเพื่อน

สำหรับกลุ่มวัยรุ่นผู้ก่อเหตุประกอบด้วย ด.ช.แบงค์ อายุ 13 ปี, ด.ช.กั๊ด อายุ 13 ปี, ด.ช.โก๊ะ อายุ 14 ปี, นายบิ๊ก อายุ 16 ปี และ ด.ช.เชน อายุ 14 ปี ซึ่งเป็นลูกชายของข้าราชการตำรวจ ตำแหน่งรองสารวัตรสืบสวน สภ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว

นอกจากนี้ ในเวลาต่อมามีข้อมูลเปิดเผยพฤติกรรมของกลุ่มวัยรุ่นทรชนตามมาเป็นหางว่าวว่า เป็นกลุ่มที่มักมารวมตัวกันสร้างความรำคาญให้กับชาวบ้านในเวลากลางคืน มักถืออาวุธไล่ทำร้ายกัน มีพฤติกรรมพูดจาข่มขู่ชาวบ้าน ข่มขู่เผาร้านค้า และเรื่องการลักขโมยสิ่งของ

เฟซบุ๊กเพจ “อีซ้อขยี้ข่าว” แฉวีรกรรมกลุ่มโจ๋ผู้ก่อเหตุว่า อย่างน้อยๆ มีคดีความเด็กกลุ่มนี้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง 2 คดี คดีแรกวันที่ 1 ธ.ค. 2566 มีวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งจุดไฟเผาศาลตายายบริเวณริมถนน และอีกคดีในวันที่ 4 ธ.ค. 2566 มีเหตุวัยรุ่นไล่ฟันทำร้ายคู่อริตาย ซึ่งต้องรอตำรวจตรวจสอบความชัดเจนว่ามีความเกี่ยวข้องกันหรือไม่

ขณะที่ เฟซบุ๊กเพจ “อีจัน” โพสต์ข้อความแชตจากรุ่นพี่ที่คุยกับหนึ่งในกลุ่มวัยรุ่นผู้ก่อเหตุดังกล่าว โดย “รับสารภาพ” เป็นคนลงมือฆ่าป้าบัวผัน และระบุชัดเจน “เชน” ซึ่งเป็นลูกตำรวจเป็นคนเริ่ม” โดยอ้างว่าที่ทำเพราะป้าบัวผันทำให้เพาเวอร์แบงก์ตนหาย แต่ข้อเท็จจริงเชนทำตัวเอง เพราะวิ่งไล่ป้าบัวผันแล้วทำตกหาย โดยรุ่นพี่ถามว่าทำไมไม่นำส่งโรงพยาบาล เรื่องจะไม่ใหญ่โตแบบนี้ กลุ่มวัยรุ่นอ้างว่า “โก๊ะ” เป็นคนบอก “เชน” ซึ่งเป็นลูกตำรวจให้เตะหน้า จากนั้น “เชน” บีบคอแล้วจับป้าบัวผันกดน้ำ แล้ว “โก๊ะ” ก็เอาเหล็กตีศีรษะถึงแก่ความตาย นอกจากนี้ รุ่นพี่คนดังกล่าวถามว่าทำไมเพื่อนที่ที่เหลือไม่ห้าม คำตอบที่ได้ “ห้ามมันก็ด่าบ่น” นำไปสู่เหตุฆาตกรรมเสทือนขวัญที่ปรากฎเป็นข่าวดัง

 เคลือบแคลงการทำงานของตำรวจ 

แม้มีคำสั่งย้ายรองสารวัตรสืบสวน พ่อของเยาวชนที่ร่วมก่อเหตุออกจากพื้นที่ให้ไปปฏิบัติหน้าที่ประจำกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสระแก้ว แต่สังคมก็ยังเคลือบแคลงการทำงานของตำรวจ กรณี “จับแพะ”

พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยถึงกรณีที่ตำรวจ สภ.อรัญประเทศ จับตัว “ลุงเปี๊ยก” สามีของ “ป้าบัวผัน” อายุ 47 ปี ผู้เสียชีวิต ก่อนความจริงปรากฏว่า ผู้ก่อเหตุคือกลุ่มเยาวชน 5 คน เอาไว้ว่า “ลุงเปี๊ยก” เข้ามามอบตัวกับตำรวจและรับสารภาพก็ได้พาตัวไปชี้จุดเกิดเหตุ รวมทั้งเก็บพยานหลักฐาน เพื่อส่งตรวจแต่ผลยังไม่ออก และยังมีเหตุสงสัยทางคดี จึงต้องส่งตัวไปฝากขังไว้ก่อนตามกฎหมาย หลังจากนั้นได้ส่งชุดสืบสวนไปตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิดตามข้อสงสัย เมื่อได้ภาพจากกล้องวงจรปิดมาแล้ว ก็พบว่าผู้ก่อเหตุฆาตกรรมไม่ใช่ลุงเปี๊ยก จึงได้ไปทำเรื่องขอปล่อยตัวออกจากเรือนจำทันที

ในประเด็นนี้ พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีตนายตำรวจ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม วิพากษ์ว่าประชาชนว่าคดีที่เกิดขึ้นเข้าข่ายการจับแพะโดยสุจริต เนื่องจากพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่ทำให้เชื่อว่าอาจมีการพยายามปกป้องผู้กระทำความผิด ประการสำคัญประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญาฯ) ซึ่งเป็นแม่บทของการสอบสวนได้กำหนดขั้นตอนการสอบสวนไว้หมดแล้ว แต่ปัญหาคือพนักงานสอบสวนไม่ได้ทำตามนั้น

อย่างไรก็ตาม พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ได้สั่งการให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.ท.สมประสงค์ เย็นท้วม ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 ลงไปตรวจสอบ และ หากพบว่ามีตำรวจนายใดเข้าไปเกี่ยวข้องทางคดีก็จะดำเนินการอย่างไม่ละเว้น

ขณะที่ พล.ต.อ สุรเชษฐ์ ได้เดินทางไปยังกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสระแก้ว เพื่อติดตามคดีฆาตกรรมป้าบัวผัน รวมทั้งสอบปากคำลุงเปี๊ยกด้วยตนเองแต่ลุงเปี๊ยกยังคงตอบเหมือนว่าเป็นคนฆ่า ยอมรับสารภาพเพื่อให้เรื่องจบและยุติปัญหา ไม่มีใครมาบงการตนเอง

คำถามคือทำไม “ลุงเปี๊ยก” ถึงรู้พฤติการณ์ในคดี ถึงขั้นทำแผนได้เป็นฉากๆ ใกล้เคียงกับข้อเท็จจริง โดยพ่อของผู้ต้องหา ซึ่งมีตำแหน่งเป็นรองสารวัตรสืบสวน สภ.อรัญประเทศ พื้นที่เกิดเหตุ แม้มีคำสั่งย้ายจากพื้นที่แล้ว สังคมก็เกิดคำถามว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการชี้นำสู่การจับแพะหรือไม่

บิ๊กโจ๊กชี้แจงว่าคดีนี้ตำรวจทำตามขั้นตอน เมื่อโดยเฉพาะเมื่อมีการควบคุมตัวลุงเปี๊ยก เนื่องจากมีข้อสงสัยเรื่องกางเกงเปื้อนเลือด แต่ต้องรอผลดีเอ็นเอ ซึ่งถ้าตามขั้นตอนก็ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 7 วัน แต่ทางชุดสืบก็ยังคงหาพยานหลักฐาน เพื่อมายืนยันว่าเป็น “ลุงปัญญา” จริงหรือไม่ จนกระทั่งพบความจริงว่าเป็นฝีมือของแก๊งวัยรุ่น 5 คน และนำไปสู่การจับกุมผู้ต้องหาตัวจริง และปล่อยตัวลุงปัญญาสู่อิสรภาพ

โดยระหว่างนั้นทางผู้สื่อข่าวที่ไปติดตามทำข่าว ไม่สามารถติดต่อทางผู้กำกับการ สภ.อรัญประเทศ เพื่อให้ชี้แจงเรื่องคดีได้ ก็เลยไม่มีการชี้แจงการทำงานของตำรวจ กระทั่งมาปรากฏเป็นข่าวว่าเป็นการจับแพะ

คดีนี้ไม่มีอะไรซับซ้อน และจากการฟังข้อมูลไม่มีตำรวจที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือผู้ต้องหาแต่อย่างใด แต่ถ้าสืบสวนในเชิงลึกว่ามีคนช่วยเหลือจริง ยืนยันเอาผิดให้ถึงที่สุด ไม่มีการช่วยเหลือ แต่หลังจากนี้แล้ว สิ่งที่ต้องทำต่อก็คือ การขยายผลกวาดล้างแก๊งวัยรุ่น ที่ตั้งตัวเป็นอันธพาล ก่อเรื่องวิวาท และทำชาวบ้านให้เดือดร้อนให้สิ้นซาก

อย่างไรก็ดี ประเด็นที่กำลังถูกสังคมจับตา คือปรากฏคลิปเสียงเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวน สถานีตำรวจภูธรอรัญประเทศ ได้มีการบังคับขู่เข็ญให้ “ลุงเปี๊ยก” รับสารภาพ ซึ่งจากการตรวจสอบเบื้องต้นข้อเท็จจริงปรากฏว่า เป็นเสียงของเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนในสังกัดสถานีตำรวจภูธรอรัญประเทศ นอกจากนี้ ยังมีหลักฐานคลิปวิดีโอและพยานให้ข้อมูลว่า “ลุงเปี๊ยก” ถูกกลุ่มชายฉกรรจ์ใช้ถุงดำคลุมศีรษะ ซ้อม ล่ามโซ่ และบีบบังคับให้รับสารภาพว่าเป็นคนลงมือฆ่านางบัวผัน

ทั้งนี้ มอบหมายให้ชุดสืบสวนภาคและส่วนกลางลงพื้นที่ไปตรวจสอบ หากเป็นเรื่องจริงถือว่าผิดกฎหมายเป็นการอุ้มทรมาน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องถูกดำเนินคดีอาญาทั้งหมด ตำรวจนายไหนที่เกี่ยวข้องต้องสั่งย้ายออกจากพื้นที่แล้วมาตั้งคณะกรรมการสอบสวน หากพบความผิด โดนลงดาบทั้งวินัยและอาญาแน่นอน ผู้บังคับการจังหวัดได้รับคำสั่งไปแล้ว และจะดำเนินการให้ความจริงปรากฏโดยเร็ว

พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ยอมรับว่าต้นทุนทางสังคม ตำรวจมักจะติดลบอยู่แล้ว แต่ตำรวจทั้งประเทศมีอยู่กว่า 200,000 นาย เมื่อมีผู้ก่อเหตุที่เป็นลูกตำรวจ หรืออดีตตำรวจ ก็มักจะเป็นข่าว แต่อยากให้เห็นว่าที่ผ่านมาก็มีเยาวชนที่ก่อเหตุอาชญากรรมที่ไม่ใช่ลูกตำรวจอยู่จำนวนไม่น้อย จึงอยากให้เชื่อมั่นว่า ที่ผ่านมาตำรวจก็ทำคดีไปตามพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ เช่นเดียวกับคดี ครูเจี๊ยบ น้องหยอด ที่พยายามทำให้เห็นวงจรอาชญากรรมของเครือข่ายนี้ให้ได้มากที่สุด

โดย พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ มีแนวคิดถึงการปรับแก้ไขเกณฑ์อายุผู้รับโทษในคดีอาญา ตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อศึกษาข้อมูล ทำสถิติรวบรวมคดีอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับเด็กย้อนหลัง 5 ปี เพื่อนำมาวิเคราะห์ถึงพฤติกรรม และจะส่งต่อให้กระทรวงยุติธรรมพิจารณาดำเนินการในการแก้กฎหมายกับเยาวชนที่กระทำผิดร้ายแรง เบื้องต้นตั้งเป้าให้สำเร็จภายใน 3 เดือน พร้อมนำเสนอให้กับรัฐบาลส่งเรื่องต่อไปยังกระบวนการยุติธรรม

 กฎหมายอุ้มเยาวชนเกินไป? 

เหตุการณ์ครั้งนี้นำมาสู่ข้อถกเถียงแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับอายุของเด็กและเยาวชน รวมทั้งการเพิ่มโทษให้เด็กและเยาวชน เป็นเรื่องทางยากในทางปฏิบัติ เพราะประเทศไทยมีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่เคยตกลงไว้บนเวทีประชุมระดับสากลโลก โดยสาระสำคัญของกฎมายคดีเด็กและเยาวชนหากกระทำความผิดอาญา มุ่งเน้นให้เด็กและเยาวชนหลุดพ้นจากพฤติกรรมการกระทำความผิดและแก้ไขให้กลับมาเป็นคนดี

ตามกฎหมายระบุว่า เด็กที่อายุไม่เกิน 12 ปี ไม่ต้องรับโทษ ส่วนคนที่อายุ 12 - 15ปี ถ้าทำผิดไม่ต้องรับโทษแต่ศาลมีอำนาจสั่งมาตรการพิเศษ ให้เข้าสู่กระบวนการคุมประพฤติได้มากที่สุดถึงอายุ 18 ปี และ อายุ 15 - 18ปี หากทำผิดศาลจะสั่งลงโทษหรือไม่ก็ได้ ถ้าลงโทษให้ลดลงกึ่งหนึ่ง แต่หากไม่ลงโทษ ให้เข้าสู่มาตรการฟื้นฟู ส่งไปคุมประพฤติที่สถานพินิจเด็กและเยาวชน ได้จนถึงอายุ 24 ปี

นั่นหมายความว่า เยาวชนผู้ก่อเหตุทั้ง 5 คน หากได้รับโทษตามกฎหมาย จะเข้าสู่กระบวนการคุมประพฤติ เพราะทั้งหมดเพราะถือเป็นเด็กและเยาวชนอายุ เกิน 18 ปีตามเงื่อนทางกฎหมาย

ล่าสุด เยาวชน 5 คน ผู้ก่อคดีฆาตกรรมอำพรางป้าบัวผัน ถูกควบคุมตัวอยู่ที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดสระแก้ว พนักงานคุมประพฤติกำลังอยู่ในกระบวนการพิจารณาพฤติการณ์แห่งคดีเพื่อรายงานส่งศาลพิจารณาต่อไป

ขณะที่ นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง อธิบดีอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน เกี่ยวกับเรื่องกฏหมายเด็กและเยาวชน สะท้อนปัจจุบันมาตรการในคดีอาญาเด็กและเยาวชนโทษไม่ได้สูงมากนัก แต่กฎหมายแพ่งผู้ปกครองต้องชดใช้ค่าเสียหายให้ครอบครัวเหยื่อด้วย

อย่างไรก็ตาม สถิติเด็กกระทำความผิดไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่สิ่งที่ต้องทบทบคือการก่อเหตุแต่ละครั้งสร้างความสูญเสียมากขึ้น

โดยข้อมูลจากกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน พบว่าสถิติคดีอาญา 5 อันดับที่พบมากที่สุด ปี 2565 คือ 1.ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด 4,907 คดี 2.เกี่ยวกับทรัพย์ 2,006 คดี 3.เกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย 1,703 คดี 4.เกี่ยวกับอาวุธ และวัตถุระเบิด 868 คดี และ 5.ความผิดอื่น ๆ 1,503 คดี รวม 12,194 คดี และ ปี 2566 1.ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ 3,110 คดี 2.เกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย 2,999 คดี 3.เกี่ยวกับทรัพย์ 2,622 คดี 4.เกี่ยวกับอาวุธ และวัตถุระเบิด 1,530 คดี และ 5.ความผิดอื่น ๆ 1,079 คดี

ขณะที่ช่วงอายุขณะกระทำผิด พบในปี 2565 อายุเกิน 15 ปี แต่ไม่ถึง 18 ปี จำนวน 10,360 คดี อายุเกิน 10 ปี แต่ไม่เกิน 15 ปี 1,788 คดี และอายุ 18 ปีขึ้นไป 46 คดี ส่วนในปี ปี 2566 พบว่า อายุเกิน 15 ปี แต่ไม่ถึง 18 ปี มีการกระทำผิด 10,118 คดี อายุเกิน 10 ปี แต่ไม่เกิน 15 ปี 2,402 คดี และอายุ 18 ปีขึ้นไป 43 คดี

โดยสถิติคดีอาญาในเด็กและเยาวชนพบช่วง 2 ปีล่าสุด คดีอาญาเฉลี่ยปีละกว่า 12,000 คดี โดยพบเกิดขึ้นในเด็กและเยาวชนชายเป็นส่วนใหญ่กว่า 90% ขณะที่เด็กและเยาวชนหญิงมีอัตราอยู่ที่ราว 10% และในช่วง ม.ต้น ถือเป็นช่วงที่น่าเป็นที่สุดเพราะมีสถิติคดีอาญาสูงที่สุด

อย่างไรก็ดี กระบวนการยุติธรรมและข้อกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนของประเทศไทย มีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับบริบทเรื่อยมา โดยองค์กรของรัฐที่มีบทบาทสําคัญในการดําเนินการโดยตรง คือ ศาลเยาวชนและครอบครัว กรมพินิจและคุ้มครองเด็ก กระทรวงยุติธรรม

โดยกระบวนการและขั้นตอนในการจับกุมเด็กและเยาวชนมีความแตกต่างจากกระบวนการที่ใช้เมื่อจับกุมผู้ต้องหาที่เป็นผู้ใหญ่ ทั้งนี้ สำนักงานกิจการยุติธรรม อธิบายหลักกฎหมาย พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 และ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 29) พ.ศ. 2565 อ้างอิง มาตรา 5 พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวฯ กำหนดว่า คดีอาญาที่มีข้อหาว่าเด็กและเยาวชน ทำความผิดให้ยึดอายุของเด็กและเยาวชนในวันที่กระทำผิด โดยกฎหมายกำหนดด้วยว่า ศาลเยาวชนและครอบครัวจะเป็นองค์กรที่มีอำนาจพิจารณา พิพากษา และมีคำสั่งในคดีที่เด็กและเยาวชนเป็นผู้ต้องหา ไม่ว่าจะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา หรือความผิดตาม พ.ร.บ. อื่นๆ สาระสำคัญของกฎหมายจะมีลักษณะคุ้มครองและให้สิทธิเด็กและเยาวชน โดยจะเน้นแก้ไขและบำบัดฟื้นฟูพฤติกรรมมากกว่าการนำตัวเด็กและเยาวชนมาลงโทษ

ทั้งนี้ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 29) พ.ศ.2565 (เพิ่มเกณฑ์อายุเด็กในกรณีที่เด็กกระทำความผิดอาญา) มีสาระสำคัญว่าการปรับเพิ่มเกณฑ์อายุขั้นต่ำในการรับโทษทางอาญาของเด็กจาก 10 ปี เป็น 12 ปี เพื่อให้มีความเหมาะสมกับเหตุผลทางการแพทย์ มาตรฐานของรัฐธรรมนูญ และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก รวมถึงการปกป้องคุ้มครองเด็ก และการแก้ไขปัญหาเด็กตามกลไกการทบทวนสิทธิมนุษยชนของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ การสงเคราะห์ คุ้มครองสิทธิ และสวัสดิภาพของเด็ก

คำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ เพื่อให้เด็กที่อายุไม่ถึงเกณฑ์ที่จะต้องรับโทษทางอาญาหรือเป็นผู้ต้องหาที่อ่อนความรับผิดทางอาญาสามารถออกจากกระบวนการยุติธรรมได้เพิ่มขึ้น และได้รับการปฏิบัติในการคุ้มครองสวัสดิภาพที่เหมาะสมกับลักษณะของการกระทำความผิดของเด็กตามหลักอาชญาวิทยา กล่าวคือการนำเด็กเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตั้งแต่อายุยังน้อย จะเป็นผลเสียมากกว่าผลดี

พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เปิดเผยว่าเด็กและเยาวชนก่อเหตุคดีร้ายแรงส่วนใหญ่ศาลจะพิจารณาให้เข้าสู่กระบวนการฝึกอบรมเข้าสู่โปรแกรมบำบัดฟื้นฟูทางด้านจิตใจ ฝึกฝนอาชีพ และการศึกษา เพื่อให้กลับตัวเป็นคนดี

เรื่องของการปรับแก้โทษปรับช่วงอายุการรับโทษของเด็กและเยาวชนให้หนักขึ้น ตามหลักสากลมีการทำวิจัยช่วงอายุที่เหมาะสมกับการรับโทษไว้หมดแล้ว ซึ่งตามหลักสากลมีการระบุไว้ว่าเด็กที่กระทำความผิดอายุไม่เกิน 14 ปีไม่ต้องรับโทษ ในขณะที่ประเทศไทยลดช่วงอายุที่ต้องโทษน้อยกว่าหลักสากล คือ เด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปี เมื่อกระทำผิดไม่ต้องรับโทษ

ทั้งนี้ การรับโทษของเด็กและเยาวชนเป็นการฝึกอบรมเป็นหลัก ซึ่งจำนวนปีที่ต้องคุมประพฤติและฝึกอบรมจะมาจากดุลพินิจของศาลซึ่งจะพิจารณาจากความหนักเบาของความผิดในคดีที่ก่อเหตุ แต่อย่างไรก็ตาม ตามหลักการพิจารณาก็ยังมองว่าเด็กสามารถพัฒนาและแก้ไขได้ จึงทำให้โทษของเด็กไม่รุนแรงถึงขั้นจำคุกอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

นายโกมล พรมเพ็ง รองอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน สะท้อนว่าสถิติการกระทำผิดของเด็กส่วนใหญ่ เกิดจากครอบครัวแตกแยกกว่า 70% ส่วนอีก 30% ไม่ใช่ครอบครัวที่อบรมดูแล ดังนั้น ครอบครัวและชุมชนถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญในการสร้างเด็กและเยาวชนที่มีคุณภาพขึ้นมา ต้องคอยสอดส่องพฤติกรรมของเด็กและคอยแจ้งเตือนหากพฤติการณ์ก้าวร้าว ไม่อยากให้ปล่อยปละละเลยจนไปถึงขั้นก่ออาชญากรรม

สำหรับประเด็นที่สังคมต้องการให้เปลี่ยนแปลงกฎหมาย จากเดิมเด็กที่กระทำผิดต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญา อายุ 10 - 18 ปี ปัจจุบันได้มีการแก้ไข พ.ร.บ.เพิ่มเติม ตามประมวลกฎหมายอาญา ฉบับ 29 พ.ศ. 2565 มีผลอยู่ระหว่างบังคับใช้ จากเด็ก 10 ปี เป็นระหว่างอายุ 12- 18 ปี ที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

ดังนั้น หากมีการแก้ไขต้องมีการประเมินผลกฎหมายไประยะหนึ่ง เพราะจากการศึกษาทางการแพทย์มองว่าเด็กอายุ 7 - 12 ปี เป็นเด็กประถมศึกษา ยังไม่มีพัฒนาการด้านร่างกาย การคิดวิเคราะห์แยกแยะถูกผิด หรือควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ที่นำไปสู้การก่อความรุนแรงหรือกระทำความผิด ดังนั้น กรมพินิจฯ จึงต้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 12 ปี หากกระทำผิดก็จะเข้าสู่กระบวนการแก้ไขฟื้นฟู ตาม พรบ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546

สุดท้าย ตามหลักการพิจารณาทางกฎหมายมองว่าเด็กสามารถพัฒนาและแก้ไขได้ จึงทำให้โทษของเด็กไม่รุนแรงถึงขั้นจำคุก คงต้องติดตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีแนวทางอย่างไรกับการจัดการปัญหาพฤติกรรมเด็กที่ยกระดับความรุนแรง จนนำไปสู่การก่อเหตุอาชญกรรรมสะเทือนขวัญอย่างทุกวันนี้




กำลังโหลดความคิดเห็น